วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์-ปลัดมท.-ขรรค์ชัย" ร่วมปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” สถานปฏิบัติธรรม “สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร)” ปทุมธานี



สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สถานปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) คลอง 9 ปทุมธานี เพื่อเป็น Landmark ธรรมะและธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้นแบบพื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

มื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 14.00 น. เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นำนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขรรค์ชัย บุญปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาสถานปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ณ คลอง 9 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยได้รับเมตตาจาก พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต พระอารามหลวง พระราชสารเวที เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม พระอารามหลวง และพระเถรานุเถระ ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี  นายอดิเทพ กมลเวชช์ นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายคมสัน ญาณวัฒนา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน ปลัดจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และศิษยานุศิษย์ กว่า 200 คน ร่วมลงพื้นที่

(คลิปบรรยากาศ https://youtube.com/shorts/Dahpld-Aw40?feature=share)

โอกาสนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้ร่วมเอามื้อสามัคคี ขุดหลุม ปลูกต้นจามจุรี (ต้นก้ามปู) และต้นมะฮอกกานี ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และเติบโตเร็ว อันเป็นการน้อมนำหลักการตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นต้นแบบการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเดินเยี่ยมชมบริเวณพื้นที่ก่อสร้างพระวิหาร กุฏิ อาคารเสนาสนะ แปลงโคก หนอง นา และพื้นที่โดยรอบบริเวณ พร้อมทั้งร่วมรับฟังบรรยายสรุปความคืบหน้าของการดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย 1) เรื่องการดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่ โคก หนอง นา สัปปายะและรมณียสถาน 2) การสำรวจ ออกแบบและประมาณการราคาค่าก่อสร้างถนนและท่อระบายน้ำ 3) การหารือการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี 4) การดำเนินงานติดตั้งระบบไฟฟ้า 5) การยื่นขอรังวัดที่ดิน เพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินสำหรับการย้ายเสาไฟฟ้า 6) เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนาสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) คลอง 9 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นโครงการที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) ทรงประทานที่ดิน จำนวน 127 ไร่แห่งนี้ให้ก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรม โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ขนาดพื้นที่ 60 ไร่ เป็นสถานปฏิบัติธรรม ดำเนินการโดย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ส่วนที่ 2 ขนาดพื้นที่ 27 ไร่ เป็นแปลงเกษตรสาธิต ดำเนินการโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนที่ 3 ขนาดพื้นที่ 40 ไร่ ดำเนินการพัฒนาเป็นแปลงโคก หนอง นา เพื่อเป็นสัปปายะและรมณียสถานศูนย์ปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) โดยจังหวัดปทุมธานี ได้บูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาและขยายผลให้เป็นแหล่งเรียนรู้พัฒนาตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ลงนามร่วมกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการภาคีเครือข่ายการพัฒนาทุกมิติ ส่งเสริมสัมมาชีพ สัมมาปฏิบัติ เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ สร้างความสุขสังคมไทยขยายผล ช่วยสังคมโลกให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักธรรมนำทางโลก เพื่อให้เกิดสุขภาวะ 4 มิติ คือ กาย จิต สังคมและปัญญา


“ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยร่วมกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ดำเนินการบ่มเพาะฝึกอบรมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ในรูปแบบวิถีชาวบ้าน ด้วยการปั้นโคก ขุดหนอง และทำนา โดยมีข้าราชการ ประชาชน และจิตอาสา ได้นำไปดำเนินการจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่น ในพื้นที่อำเภอลำลูกกา เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการผ่านการฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพและการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติควบคู่กับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้มีความสมบูรณ์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2565 โดยได้มีการนัดหมายกันมาร่วมเอามื้อสามัคคี สัปดาห์ละ 1 ครั้งในทุกวันอาทิตย์” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ในการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ รวมทั้งทำให้ท่านนายอำเภอทุกอำเภอ ได้เป็น “ผู้นำ” ของ “ทีมอำเภอ” ที่เกิดจากพลังจิตอาสาทุกภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน มาร่วมกันบูรณาการพัฒนาสถานที่แห่งนี้ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เป็น “Landmark ธรรมะและธรรมชาติของจังหวัดปทุมธานี” เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดปทุมธานี รวมถึงประชาชนผู้สนใจ ได้มาศึกษาแล้วนำไปพัฒนาและต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง อันจะทำให้ชาวปทุมธานีสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับตนเอง และชุมชน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดความสุขแบบชาวบ้าน ประชาชนพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยวางกรอบโครงสร้างหนังสือนิยายอิงธรรมะเรื่อง "เขียนธรรม"

 ช่วยวางกรอบโครงสร้างหนังสือนิยายอิงธรรมะเรื่อง "เขียนธรรม" โดยมีเนื้อหานี้ประกอบ "ตัวละครหลัก สันติสุข: อดีตพระที่เคยศึกษ...