วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ปลัดมท." เผยผลอบรมนายอำเภอแล้ว 432 อำเภอ ขับเคลื่อนอำเภอ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข"



"ปลัดมท." เผยอบรมนายอำเภอไปแล้ว 432 อำเภอ พร้อมติดตามและขับเคลื่อนโครงการอำเภอ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" แบบบูรณาการอย่างเต็มที่ ย้ำ ทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุด วอนทุกฝ่ายเร่งสานงานในพื้นที่อย่างจริงจัง เพราะความทุกข์ของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้

เมื่อวันที่ 6  กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 4 ที่เข้ารับการฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 6 – 10 กุมภาพันธ์ 2566 และบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ทำไมต้อง CAST” โดยได้รับความเมตตาพระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เข้าร่วมพิธีเปิดเเละรับฟังการบรรยาย ณ ห้อง War Room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยการบรรยายในครั้งนี้ได้มีการบรรยายผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมีนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายอรรษิษฐ์ สัมพันธ์รัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังด้วย พร้อมกับคณะผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 1,080 คน จาก 108 อำเภอ เข้าร่วมพิธีเปิดและรับฟังการบรรยายพิเศษ 



 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระบรมราโชบายที่ทรงมุ่งหวังทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นัยยะที่สำคัญ คือ ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องสนอง ด้วยการทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดความชัดเจน ที่เป็นรูปธรรม ภายใต้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) มาใช้ ซึ่งเป็นฐานคิดที่สำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายของโครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ที่แท้จริง คือ การปิดจุดอ่อนของการทำงานแบบเดิมที่พอถึงฤดูกาลโยกย้ายข้าราชการ “คนใหม่มารับตำแหน่งไม่สามารถสานงานของคนเก่าได้” กระทรวงมหาดไทยจึงพยายามหาแนวทางในการทำให้รอยต่อของภารกิจเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยให้นึกถึงพี่น้องประชาชนที่ยังมีความทุกข์ยาก มีความลำบาก และไม่ได้รับโอกาสที่เหมาะสม ซึ่งความทุกข์เหล่านี้รอไม่ได้ จึงเกิดเป็นแนวคิดให้นายอำเภอในฐานะผู้นำในระดับพื้นที่ต้องเร่งสร้างทีม (Team) เพื่อบูรณาการภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขในพื้นที่ พร้อมกับสร้างภาคีเครือข่ายเข้มแข็งในการขับเคลื่อนภารกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง 



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า นอกจากการสานงานอย่างไร้รอยต่อแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเห็น คือ การเกิดขึ้นของหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และการขับเคลื่อนเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน มุ่ง Change for Good ด้วยแนวคิด 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา” ที่กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ไปร่วมประกาศเจตนารมณ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในฐานะผู้นำในพื้นที่ จะต้องมีหน้าที่ระดมสรรพกำลัง โดยการกำหนดเป้าหมายการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำหลักการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การกระทำทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีล้วนเกิดจากความคิด ให้พึงระลึกว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นายอำเภอต้องปลุกเร้าและกระตุ้นให้ทีมที่เป็นจิตอาสาที่มาวันนี้ กลับไปขยายผลเสริมสร้างความเข้มแข็งของทุกทีมในพื้นที่ ทั้งที่เป็นทางการ คือ ทีมข้าราชการ และบุคลากรของอำเภอ และท้องถิ่น และทีมที่เป็นกลไกประจำพื้นที่ คือ ท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดจำนวน ขอให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในอำเภอ นำหลักการทำงานแบบ “บวร บรม ครบ” มาใช้ รวมทั้ง บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืนที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ก็สามารถนำมาใช้เป็นกลไกการขับเคลื่อนภารกิจการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ในพื้นที่ได้ 



 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเน้นย้ำว่า กลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด คือ การให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ การสร้างคนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบทันที (Disruptive) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะความร่วมมือจากทุกท่านผู้เสียสละ คุณสมบัติของผู้ที่จะขับเคลื่อนงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีใจ และมีอุดมการณ์ (Passion) ส่วนความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) สามารถหาได้ในพื้นที่อำเภอ เพราะผู้นำไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่ผู้นำมีหน้าที่บูรณาการและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ขับเคลื่อนให้ไปสู่เป้าหมายให้ได้เป็นการ Change for Good สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น และหากพวกเราทุกอำเภอลุกขึ้นมาช่วยกันทำก็จะทำให้เกิดเป็น Momentum for Change ให้กับสังคมไทยระดับจังหวัด และระดับประเทศต่อ ๆ ไป



นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแนวคิด Sustainable Village ผ่านหนังสือ Sustainable City และกระทรวงมหาดไทยได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้ขยายผลให้เป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ได้คัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพน้อยที่สุดในแต่ละตำบลของทุกอำเภอ และได้ใช้ข้อมูล กชช.2ค ในการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งพบว่าร้อยละ 84 มีข้อมูลตรงกัน และจะเร่งตรวจสอบอีกร้อยละ 16 ต่อไป เพื่อนำหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกมาพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน และขยายผลคู่ขนานให้ทุกหมู่บ้านที่มีความพร้อมได้ร่วมพัฒนาไปด้วยกัน ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของหมู่บ้านยั่งยืน คือ มีการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ใช้พื้นที่ภายในบ้าน และภายในหมู่บ้านปลูกพืชผล ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ฯลฯ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้กิน พร้อมกับนำไปแบ่งปันให้แก่คนในชุมชนได้ ซึ่งผลผลิตที่เหลือจากการแบ่งปันก็นำไปขายสร้างเป็นรายได้เสริม อีกทั้งจะต้องส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อน ควบคู่กับการเพิ่มแร่ธาตุในดิน เป็นต้น  นอกจากนี้ จะต้องนำหลักการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขมาใช้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่าง ๆ และภูมิคุ้มกันต่อภัยอันตรายอื่น ๆ ด้วย รวมถึงมีการถ่ายทอดภูมิปัญญา องค์ความรู้ประจำถิ่น การทำอาหาร การแปรรูป การถนอมอาหาร งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีการดูแลกันภายในหมู่บ้านในลักษณะคุ้ม หรือ ป๊อก หรือ หย่อมบ้าน ที่ใช้หลักการพึ่งพากันและกันระหว่างคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างรอยยิ้มและความสุขให้แก่คนชุมชน/หมู่บ้าน ดังปรากฎตัวอย่างความสำเร็จมากมาย อาทิ ที่บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร, ตำบลโก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี, บ้านป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน หรือ บ้านโพนฮาด ต.ดงครั่งน้อย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด 

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านนายอำเภอและผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมที่เป็นทีมของนายอำเภอในวันนี้ ขอขอบคุณที่เสียสละ และตั้งใจที่จะร่วมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข อย่างยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ขอให้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ ช่วยร่วมกันระดมสมอง ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน เพื่อขับเคลื่อนสนองแนวพระราชปณิธานการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้บรรลุมรรคผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ในทุกมิติอย่างยั่งยืน

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ช่วยวางกรอบโครงสร้างหนังสือนิยายอิงธรรมะเรื่อง "เขียนธรรม"

ช่วยเขียนเนื้อเรื่องจำนวน 3 หน้ากระดาษA4 " บทที่ 8: การลงพื้นที่เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ สันติสุขและมะปรางร่วมทำโครงการเกษตรอินทรีย์ การทด...