ทีมเศรษฐกิจพรรคชาติพัฒนากล้า ชูนโยบายเกษตรสร้างชาติให้โอกาสคนทุกวัย เสนอตั้งกองทุนธุรกิจสร้างสรรค์ จ้างงานผู้สูงวัย ต่อยอดคุณค่าแห่งชีวิต และดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุและคนพิการในบ้านด้วยอารยสถาปัตย์
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงนโยบายด้านการเกษตรของพรรคชาติพัฒนากล้าว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ได้เอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกร ให้ลืมตาอ้าปากได้มากนัก พรรคชาติพัฒนากล้า ขอนำเสนอนโยบาย “เกษตรสร้างชาติ เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี – อุตสาหกรรม” โดยยก 4 ข้อหลักเพื่อไปสู่เป้าหมายได้คือ 1.พัฒนาสินค้าเกษตรเป็นเกษตรพรีเมี่ยม เพิ่มคุณภาพการผลิต จำหน่ายในราคาสูงได้ ปัญหาของเกษตรกรเวลานี้คือ เน้นปริมาณ ไม่ได้เน้นคุณภาพมากนัก ทำให้สินค้าผลิตออกมาและขายไม่ได้ หรือขายได้ในราคาถูกไม่คุ้มต้นการผลิตที่สูงขึ้น สินค้าภาคการเกษตรเกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวง ที่มีนโยบายไม่สอดคล้องกัน ทำให้สินค้าภาคการเกษตรไม่สามารถแก้ปัญหาได้มาอย่างยาวนาน
2. ใช้เทคโนโลยีช่วยเกษตรแปรรูป โดยเสนอระบบ cloud factory ซึ่งเป็นระบบที่รัฐใช้เงินสนับสนุน มีโครงสร้างพื้นฐาน ให้ชาวบ้านมาใช้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ที่อุทยานหลวงปู่ทวด ต.บ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้นำท้องถิ่นได้รวบรวมสินค้าชุมชน นำมาแปรรูป และตั้ง อย.กลางเพื่อสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตตามออเดอร์ หมดปัญหาผลิตมาไม่รู้จะขายใคร 3. สอนเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่ผู้ผลิต ด้วยการค้าขายออนไลน์ ซึ่งมีตลาดแบบไร้พรมแดน หากทำได้ก็จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนมหาศาล ลืมตาอ้าปากได้ 4. ปรับโครงสร้างสหกรณ์เกษตรไทย ให้เป็นสหกรณ์ที่ต่างประเทศเขาทำกัน คือการรวมกลุ่มบริษัทที่ผลิตสินค้าเกษตรกร และผลักดันเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ถ้าทำได้ เกษตรกรไทยไม่มีจน
ด้านวรนัยน์ วาณิชกะ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้วยการศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วงวัย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงมากในสังคม ดังนั้นพรรคชาติพัฒนากล้า ขอเสนอ 3 นโยบายคือ 1.“กองทุนธุรกิจสรางสรรค์” สูงสุดรายละ 1,000,000 บาทต่อธุรกิจ ต่ำสุด 100,000 บาท ไม่จำกัดวุฒิ วัย ใครมีไอเดียสามารถเข้าถึงได้ ขอให้เป็นธุรกิจมีนวัตกรรม เป็นการสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมไม่จำกัดเพศ และวัย 2. นโยบาย “ สูงวัยไฟแรง งานใหม่ 500,000 ตำแหน่ง” วันนี้ประเทศไทยมีประชากร 68 ล้านคน มีการแบ่งเป็น คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า หลายคนอาจจะมองว่าผู้สูงวัยเป็นภาระ ซึ่งจริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ที่สามารถสร้างเงินให้กับระบบเศรษฐกิจได้ และเป็นการต่อยอดคุณภาพชีวิต ให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีคุณค่าต่อสังคม ต่อครอบครัว และต่อตัวเอง 3. นโยบาย “อารยสถาปัตย์ ปรับปรุงบ้าน 50,000 บาท ให้ผู้สูงวัยและผู้พิการ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน 1 ใน 3 ประสบอุบัติเหตุ หกล้มทุกปี และ 65% หกล้มในบ้านของตัวเอง นั่นแสดงให้เห็นว่า เราล้มเหลวด้านการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ นโยบายปรับปรุงบ้านจะเป็นทางออกที่ทางพรรคชาติพัฒนากล้าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น