วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

วุฒิสภาถกรายงานผลศึกษาแนวทางแก้จนและเหลื่อมล้ำด้วยการจัดการที่ดิน



เมื่อวันที่ 6  กุมภาพันธ์ 2566  การประชุมวุฒิสภา ในเวลา 09.30 น. วันนี้ (6 ก.พ.66) วาระสำคัญคือ พิจารณาวาระกระทู้ถามรัฐบาล ได้แก่ กระทู้ถามเป็นหนังสือและกระทู้ถามด้วยวาจา เช่น ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ “ภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน” และการพัฒนาอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

ทั้งนี้ ยังมีวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 2 เรื่อง ประกอบด้วย รายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการลดความยากจนและเหลื่อมล้ำด้วยการจัดการที่ดินและการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชน และรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของอากาศยานไร้คนขับโดยมาตรการความปลอดภัยด้านการบิน 

ทั้งนี้นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว.ได้รายงานประชาชนโดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 169)  พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและผู้ยากลำบากให้หลุดพ้น โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป, 27 ม.ค. 2566 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า 



 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา มีข้อเสนอเชิงนโยบายการพุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและผู้ยากลำบาก สำหรับกลุ่มที่ยังมีสุขภาพกาย-สุขภาพจิตอำนวย มีทัศนคติและพฤติกรรมเอื้อต่อการพัฒนา ให้นำเข้าสู่แนวทางและโครงการพัฒนาศักยภาพและการประกอบอาชีพ ให้หลุดพ้นจากจากสภาวะความยากจนเป็นรายครัวเรือน

1. เป้าหมาย 

พุ่งเป้านำพาครัวเรือนยากจนและถูกทอดทิ้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศก้าวพ้นความยากจน. มีหลักประกันในด้านอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งหม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค (ปัจจัย 4) รวมทั้งสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและน้ำสะอาด. เข้าถึงสวัสดิการรัฐและสวัสดิการชุมชน. มีกัลยาณมิตรและชุมชนเข้มแข็ง.

 2. ระบุครัวเรือนยากจนและผู้ยากลำบากให้ชัดเจน  

 ในขั้นแรก ค้นหาและระบุตัวคนจนและครัวเรือนยากจนโดยใช้มาตรฐานเส้นความยากจน(Poverty Line) ข้อมูล กชช.2ค.และดัชนีวัดการพัฒนามนุษย์(Human Achievement  Index – HAI) เป็นแนวทางในการกลั่นกรองและวินิจฉัยความยากจนในระดับชุมชน ท้องถิ่นและพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ใช้ จปฐ. เป็นเครื่องมือประเมินระดับความยากจนของครัวเรือน และใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนคนจนและ TPMAP  ในการคัดกรองอย่างคร่าวๆว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ  

 ขั้นสุดท้ายใช้กระบวนการทางสังคมโดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม ในลักษณะเดินสำรวจไปด้วยกัน ทำงานกันแบบทีมจิตอาสาที่ผสมผสาน และทำไปอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ  โดยมีตัวชี้วัดเชิงปฏิบัติการ

 “ตัวชี้วัดขาเข้า” ได้แก่ 1)ขาดแคลนปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค 2)ที่พักอาศัยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในเมืองและกทม.)  3)ไม่มีสันติสุข ขาดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชายแดนใต้)  4)มีรายได้สุทธิ** ต่ำกว่า 83 บาท/คน/วัน  5)ขาดกัลยาณมิตร-ชุมชนเข้มแข็ง

 สำหรับการพ้นสภาวะครัวเรือนยากจน หรือ “ตัวชี้วัดขาออก”  ที่ใช้เป็นประเด็นและเกณฑ์ประเมินความหลุดพ้นจากภาวะ “ครัวเรือนยากจน” ทั้งในระหว่างและภายหลังการปฏิบัตงานของทีมจิตอาสา ได้แก่

 1)มีหลักประกันในด้านปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค)  2)ที่พักอาศัยมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนในเมืองและกทม.)  3)มีสันติสุข ขาดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนชายแดนใต้)  4)มีรายได้สุทธิ*** มากกว่า 100 บาท/คน/วัน  5)มีกัลยาณมิตร-ชุมชนเข้มแข็ง

 หมายเหตุ  รายได้สุทธิ** หมายถึง รายได้จริง หักด้วยรายจ่ายประเภทชำระหนี้สินประจำวัน ซึ่งเป็นส่วนใช้จ่ายในการยังชีพประจำวัน  ซึ่งทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่ตัวเงิน แต่สามารถประเมินด้วยมูลค่าผลผลิตหรือการหาอาหารได้มาเพื่อการยังชีพสำหรับ 1 วัน

3. ถักทอเครือข่ายจิตอาสา  ค้นหากลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ  

 ถักทอเครือข่ายจิตอาสาโดยใช้พื้นที่อำเภอเป็นฐาน ทีมละ3-5 คน  องค์ประกอบล้วนเป็น “ผู้ที่แข็งแรง”  และมีใจอาสาสมัครช่วยเหลื่อเพื่อนบ้าน “ผู้ยังอ่อนแอ”  จัดกระบวนการฝึกอบรมก่อนปฏิบัติการ 

 ค้นหากลุ่มเป้าหมาย “ที่ใช่” ด้วยวิธีเดินเท้าสำรวจชุมชนอย่างละเอียด วิเคราะห์ 3 กลุ่มเป้าหมาย  กลุ่มที่ 1  สุขภายกาย-สุขภาพจิตไม่อำนวย  กลุ่มที่ 2  สุขภาพกาย-สุขภาพจิตอำนวย แต่ทัศนคติและพฤติกรรมไม่เอื้อ  แนวทางการช่วยเหลือสำหรับสองกลุ่มนี้ คือ เป็นพี้เลี้ยง ประสานหน่วยงานและองค์กรวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้อง นำพาพวกเขาให้เข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐและสังคมให้ได้มากที่สุด  ส่วนกลุ่มที่ 3  สุขภาพกาย-สุขภาพจิตอำนวย ทัศนคติและพฤติกรรมก็เอื้อ  ให้นำเข้าสู่แนวทางและโครงการพัฒนาศักยภาพและการประกอบอาชีพเพื่อการเอาชนะความยากจนแบบพุ่งเป้าต่อไป

4. จับคู่ จัดระบบพี่เลี้ยงจิตอาสา 

การค้นหาและเชิญชวน “พี่เลี้ยงที่ใช่” สำหรับทำหน้าที่เป็น “กัลยาณมิตร”ประกบคู่ กับครัวเรือนยากจนแบบ 1 ต่อ 1 หรือเป็นกลุ่มเช่น 3 ต่อ 3  พี่เลี้ยงต้องเป็นผู้มีจิตอาสา สมัครใจ มีเวลาให้ มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคงแข็งแรง มีประสบการณ์ความรู้ในการประกอบสัมมาชีพและความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคมท้องถิ่น

เริ่มจากการช่วยกันจัดทำบัญชีครัวเรือนให้มีรายละเอียดมากขึ้น ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งในด้านรายได้ รายจ่าย หนี้สิน เงินออม ที่ดินทำกิน ที่พักอาศัย ปัจจัยสี่ สาธารณูปโภค ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ชีวิต สุขภาพ เครือญาติ เพื่อนบ้าน ฯลฯ

จัดทำโครงการรูปธรรมใน “ขนาดจิ๋ว” เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำมาหากินและประกอบอาชีพ  เป็นโครงการเฉพาะครัวเรือน ที่มีความเป็นไปได้ ใช้งบประมาณน้อย อันอยู่ในวิสัยที่จะระดมทุนรับบริจาคหรือขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรในพื้นที่ได้ง่าย

5. รัฐบาลจัดโครงการสนับสนุนการแก้ความยากจนแบบพุ่งเป้า  

รัฐบาลจัดให้มีระบบงบประมาณสนับสนุนโครงการแก้จนรายครอบครัวของกลุ่มเป้าหมาย  มีสำนักงานโครงการเป็นกลไกดำเนินงาน  ให้มีสถานภาพเป็นโครงการพิเศษเฉพาะกิจของรัฐบาล  ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 5 ปี  กรอบงบประมาณไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เมื่อเสร็จภารกิจหรือหมดเวลาตามกำหนดแล้วให้ยุบตัวลงเพื่อมิให้เป็นภาระงบประมาณ

ให้กำกับดูแลโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และกระทรวงการคลัง  โดยมีสำนักงานบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ความยากจน ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาแล้ว เป็นกลไกดำเนินการ มีองค์กรภาคี “ร่วมปฏิบัติการ” ที่หลากหลาย อาทิ  

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)  กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  กระทรวง อว. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม  รวมทั้งเครือข่ายสภาประชาสังคมไทย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนคุณธรรม เครือข่ายสภาวัฒนธรรม เครือข่ายธนาคารคลังสมอง มูลนิธิพัฒนาไท  มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม ฯลฯ

 6. ตัวชี้วัด  

สำรวจทราบและจัดทำระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนและถูกทอดทิ้งที่แม่นยำในทุกจังหวัด

สามารถนำพาครัวเรือนยากจนและถูกทอดทิ้งก้าวพ้นความยากจนได้ร้อยละ 80 ภายใน 5 ปี

บิ๊กป้อม" ถกกก.แก้จนตามแนวพอเพียง ปลื้มปี 65 ตามเป้า100% ไฟเขียวงบฯปี 66 แนะใช้เป็นฐานรับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1/2566  ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์


ที่ประชุมได้รับทราบ ผลการดำเนินงานในภาพรวม ทั้ง 76 จังหวัด จากเป้าหมายครัวเรือนยากจนในระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) ปี65 พบว่า ศูนย์อำนวยการฯจังหวัด และ ศูนย์อำนวยการฯอำเภอ พร้อมทีมปฏิบัติการฯ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการ ให้ความช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายจำนวน 653,524 ครัวเรือน คิดเป็น 100% และพบปัญหาในแต่ละมิติ ดังนี้ 1) มิติสุขภาพ ส่วนใหญ่ประสบปัญหา คนอายุ 6ปีขึ้นไป ไม่ออกกำลังกายเนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของการมีสุขภาพดี 2) มิติความเป็นอยู่ ส่วนใหญ่ประสบปัญหา ครัวเรือนไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและบ้านมีสภาพไม่คงทนถาวร 3) มิติการศึกษา ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคนอายุ 15-59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทยและคิดเลขอย่างง่ายไม่ได้ รวมทั้งเด็กอายุ 6-14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับหรือออกจากการเรียนกลางคัน เนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจ และ 4) มิติรายได้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ประสพปัญหาการปลูกพืชได้เพียงปีละครั้ง ไม่มีปัจจัยการผลิต ขาดเงินทุน และขาดความรู้ด้านทักษะอาชีพ 5) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้พิการ ไม่ได้รับการบริการจากภาครัฐ เนื่องจากเข้าไม่ถึง หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ


จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ในปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย 4 แนวทางที่สำคัญ ได้แก่ แนวทางที่ 1 การเติมเต็ม ข้อมูลในระบบ TPMAP แนวทางที่ 2 ร่วมแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครอบครัว แนวทางที่ 3 ร่วมแก้ไขและพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และแนวทางที่ 4 ร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล 


ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบหมายให้ สภาพัฒน์ฯการ ประกาศตัวเลขกลุ่มคนเป้าหมายเร่งด่วน และมอบให้ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนฯ ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ข้อมูลจาก ระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินงาน เน้นการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน กลุ่มเปราะบาง และกล่มที่ต้องดูแลใกล้ชิด เพื่อได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ครบถ้วน ทั่วถึง ต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...