วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ปู จิตกร"ร่วมวงเสวนา ปชป. ชี้ "เว็บพนันออนไลน์” แก้ได้ถ้าทุกฝ่ายเอาจริงแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”



เมื่อวันที่ 13 กุภาพันธ์ 2566  คณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดเสวนา "เว็บพนันออนไลน์ อาชญากรร้ายสังคมไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พลตำรวจตรี ดร.วิชัย สังข์ประไพ  อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายจิตกร  บุษบา นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง ดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวว่าเว็บพนันออนไลน์น่ากลัวกว่าการพนันทั่วไป เพราะสามารถทะลุทะลวงเข้าถึงทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้นในสังคม และเป็นที่น่าเศร้าใจว่าในปัจจุบันมีข่าวคราวของตำรวจซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมายกลับเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้มองว่าการพนันออนไลน์คือมะเร็งร้ายของสังคมไทย ถ้าไม่เร่งแก้ไขและยังปล่อยให้เรื่องนี้ยังอยู่ในสังคมไทย 

ทางด้าน พล.ต.ต.ดร.วิชัย  สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม กล่าวว่า เว็บพนันออนไลน์เป็นอาชญากรร้ายก่อให้เกิดอาชญากรรม ถือเป็นภัยร้ายที่สำคัญที่สุด จากการสำรวจพบว่าเว็บพนันออนไลน์มีกว่า 30,000 เว็บไซต์ ซึ่งเติบโตขึ้นด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการคือ 1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.การพนัน มีโทษน้อยแค่ปรับ จำคุก หรือรอลงอาญา  2.เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง สนับสนุน ให้โอกาส 3.การบังคับใช้กฎหมายมีจุดบกพร่อง เว็บใหญ่รอด เว็บเล็กถูกจับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงหรือบล็อกได้ และที่น่าตกใจมากขณะนี้คือเว็บต่าง ๆ ที่เปิดให้ดูหนังฟรี จะแทรกโฆษณาชักชวนให้เล่นการพนัน ทำให้เด็กเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ชี้ชูวิทย์  กมลวิศิษย์คือตัวอย่างที่ดีในการที่ภาคประชาชนออกมาติดตามตรวจสอบ การกระทำความผิดของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้สังคมเข้มแข็ง พร้อมฝากถึงตำรวจในฐานะที่ตนเคยรับราชการตำรวจว่าอยากให้ตำรวจทุกคนเรียกศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมา ด้วยการทำงานตามหน้าที่ ตรงไปตรงมา ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องตั้งเป็นวาระแห่งชาติ ตำรวจต้องปราบปรามอย่างจริงจัง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน บ้านเมืองสงบต้องจบด้วยกฎหมาย ผมยืนยันว่าเว็บพนันออนไลน์ แก้ได้  หากทุกฝ่ายเอาจริง เพราะผมเคยทำได้ และเคยทำมาแล้วในการปราบปรามยาเสพติด” ผู้การแต้ม กล่าว

ทางด้าน นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้กับพนันออนไลน์ แต่ใช้กฎหมายพนันที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ไม่เข้ากับยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกฎหมายที่ดีต้องเจริญเติบโตไปพร้อมกับสังคม ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษมีคณะกรรมการการพนันหรือ Gambling Committee เพื่อกำกับดูแล ไม่เน้นลงโทษ แต่เน้นการสร้างข้อกำหนดทางกฎหมายเข้ามาช่วยควบคุม ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีกฎหมายระดับรัฐบาลกลาง ควบคุมการสื่อสารคมนาคม ลงโทษ จำคุก ผู้โฆษณา ผู้รับเงิน สำหรับบ้านเรามองว่าธนาคารต้องตั้งระบบให้เจ้าของเว็บและผู้เล่นไม่สามารถจ่ายเงินผ่านธนาคารได้ พร้อมทั้งระบุว่าหากจะแก้ปัญหาเรื่องพนันออนไลน์กลไกของรัฐต้องเข้มแข็ง และนอกเหนือจากกระทรวงดีอีเอสแล้ว กสทช. ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการควบคุม มีอำนาจสั่งบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อปิดกั้นการสื่อสารของเว็บพนันออนไลน์ได้ จึงฝากทั้งสองหน่วยงานให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่จริงจังเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข ไม่ใช่โยนความรับผิดชอบกันไปมาอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ในขณะที่ ปู จิตกร บุษบา นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง แสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนว่า เว็บพนันออนไลน์แข็งแรงเติบโตขึ้นทุกวันเกิดจากกลไกหลัก 3 ประการ  คือ 1. กลไกที่มนุษย์อ่อนแอ ต้องการความหวังในชีวิต หวังว่าเงินจะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น  สื่อนำเสนอข่าวคนถูกหวยซึ่งเป็นจิตวิทยาที่ผิดในการกระตุ้นให้คนอยากเล่น ทำให้เกิดกลไก อยากได้เงินเยอะๆ ไม่รู้จักพอ เว็บพนันออนไลน์ต่าง ๆ จึงจู่โจมได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องเดินไปบ่อน  2. กลไกสังคมไม่แข็งแรง ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ทำไมมีบ่อน มีซ่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง ในขณะที่รัฐบาลเป็นเจ้ามือหวยในนามสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงทำให้คนสับสนกับหลักเกณฑ์ศีลธรรมของสังคม  3. กลไกการบังคับใช้กฎหมาย โดยกฎหมายการพนันที่มีล้าหลังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้ร่วมสมัย อีกทั้ง ประเทศไทยไม่เคยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวด และตนเองเชื่อว่าหากสังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ก็จะสามารถลดปัญหาการเสี่ยงโชคเพื่อหวังมีรายได้จากการพนันได้

พร้อมฝากไปถึงทุกพรรคการเมืองว่า มีนโยบายการแก้ปัญหาเว็บพนันออนไลน์หรือไม่?  โดยต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่าอะไรเป็นบ่อเกิดและการดำรงอยู่ของการพนัน ควรหาฐานะและข้อสรุปของการพนันให้ได้ว่าจะทำให้ถูกกฎหมายหรือไม่ ชัดเจนอย่างไร ถูกควบคุมด้วยหน่วยงานใด และที่สำคัญหากจะทำให้ถูกกฎหมาย แล้วสังคมปลอดภัยจะปลอดภัยได้อย่างไร ควรต้องทำให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ เข้ามาพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ทำอย่างเข้มแข็ง และผู้บังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังเข้มงวด มีการปราบปรามแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน พนันออนไลน์” จึงจะช่วยแก้ปัญหาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...