วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

ฝึกเด็กอาชีวะอีสานรู้ทันสังคมออนไลน์วิถีพุทธ




วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณี จ.ศรีสะเกษ นิมนต์พระวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดีฝึกเด็กอาชีวะกว่า 300 คนภาคอีสาน รู้ทันสังคมออนไลน์วิถีพุทธ



วันที่ 1 ก.พ.2561 ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณี จ.ศรีสะเกษ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า  เป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาอาชีวศึกษา 12 สถาบันในภาคอีสาน จำนวน 300 คน ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ วิทยาลัยต้นแบบด้านวิถีพุทธที่นำคำสอนทางพระพุทธศาสนาลงสู่วิถีชีวิตวิถีปฏิบัติ ทำให้มีนักศึกษาจำนวนมากเข้ามาเรียนเพราะได้ทั้งวิชาชีพ วิชาการ วิชาชีวิต ซึ่งดำเนินกิจกรรมโดยอุบาสิกา ดร.ระเบียบ ถิรญาณี ในฐานะผู้บริหาร ถือว่าเป็นวิทยาลัยต้นแบบของอาชีวศึกษาที่นำวิถีพุทธมาสู่ผู้บริหาร ครูและนักศึกษาอย่างแท้จริง



"มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการได้รับการพัฒนาที่ถูกต้อง วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีใช้การพัฒนาผ่านไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา และกระบวนการพัฒนาผ่านภาวนา 4 คือ กาย ศีล จิต ปัญญา ถือว่าวิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีให้โอกาสเด็กทุกรูปแบบ ซึ่งในอดีตเด็กจะผ่านเหตุการณ์ใดมาก็มาแต่ที่นี่ให้โอกาสทุกคนในการเรียนรู้ ให้โอกาสเพื่อมีที่ยืนในสังคม ด้วยการเข้ามาพัฒนาตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยพระพุทธเจ้าทำเป็นแบบอย่างด้วยการให้โอกาสทุกคนได้เข้ามาบวชหรือศึกษาธรรม การศึกษาเท่านั้นจะสามารถยกระดับชีวิตและจิตใจให้สูงขึ้น การเรียนรู้จึงสร้างให้เขาได้ตระหนักรู้ด้วยตัวของเขาเองผ่านการเจริญสติ ด้วยการเริ่มด้วยความสงบ จบด้วยความฉลาด" พระวิทยากรกระบวนการธรรมะโอดี กล่าวและว่า



ดังนั้น การพัฒนาจิตใจจึงมีความสำคัญสำหรับนักศึกษาในยุคปัจจุบัน เพื่อการรู้ทันสิ่งที่เข้ามาในชีวิต จึงมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ตระหนักรู้ด้วยตนเอง หมายถึงการมีสติและโยนิโสมนสิการนั่นเอง จึงขออนุโมทนาบุญกับคุณแม่อุบาสิกา ดร.ระเบียบ ถิรญาณี ในการมุ่งมั่นพัฒนามนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ด้านกาย พฤติกรรม จิตใจและปัญญา มีพลังในการเบิกบานรับใช้เพื่อนมนุษย์เปลี่ยนแปลงสังคมในจุดที่ยืน


............


(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat)



"พระว.วชิรเมธี"แนะใช้สื่อออนไลน์แบบรู้เท่าทัน







"พระว.วชิรเมธี"แนะใช้สื่อออนไลน์แบบรู้เท่าทัน บริโภคอย่างเป็นนาย  ลงทุนในตัวเอง พร้อมกับมีความรับผิดต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ ด้วยการประยุกต์คำสอนพระพุทธเจ้าเข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ ขับเคลื่อนวงล้อพระธรรมสู่คนสมัยใหม่ พร้อมเตือนอย่าใช้เพื่ออย่าก่อให้เกิดความเกลียดชัง



ระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค. 2561  ที่หอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีการประชุมวิชาการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ CSD สัมพันธ์ ครั้งที่ 17 (คุณธรรมจริยธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน)  ซึ่งมีคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา จากสถานการศึกษาต่างๆ เข้าร่วมประมาณ  1,500รูป/คน  พิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ม.ค.โดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะอธิการบดี มจร เป็นประธาน พร้อมบรรยายโดยแนะให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 รวมทั้งหลักโอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้า เป็นหลักแห่งการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม หากยึดหลักดังกล่าวในการพัฒนาสังคมจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน



ต่อมาวันที่  30 ม.ค.2561 พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย ประธานศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ปาฐกถาธรรม เรื่อง "Gen Z กับการสร้างสังคมใหม่" และมีการทำคลิปเผยแพร่มียอดไลค์มากถึง  50,000 ครั้งละเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาวันที่ 31 ม.ค.2561 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้่ถอดใจความนำมาเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊ก นาม "Pramote OD Pantapat" ความว่า 



งานวันนี้เป็นงานที่มีความสำคัญต่อสังคมและต่อโลก โดยได้เห็นมิติของนิทรรศการโดยมีคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนสังคมและประเทศ คนรุ่นใหม่เกิดมาแล้วก็ต้องเจอไอโพนไอแพด เฟชบุ๊ก เจอเพลงปานามา คนในยุคของ Gen Z จะอยู่อย่างไรให้มีความหมายและมีคุณค่า ขอแนะนำผ่าน 4 ประเด็น คือ



1)รู้ทันเทคโนโลยี   2)บริโภคเทคโยโลยีอย่างเป็นนาย  3)ลงทุนในตัวเอง  4)มีความรับผิดต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์



โลกปัจจุบันเป็นวิกฤตและเป็นโอกาสโลกเชื่อมโยงเดียวกัน แต่จิตใจไปไม่ถึงจึงทำให้เห็นความคับแคบ แม้ประเทศที่เคารพความเป็นมนุษย์สูงสุดอย่างอเมริกา การเหยียดผิวก็กลับมาอีก รู้สึกแบ่งแยกคนผิวดำคนผิวขาว กลุ่มสุดโต่งทางศาสนามีอิทธิพลเพราะเทคโนโลยีที่เชื่อมโลกทั้งโลก เทคโนโลยีขยายแต่ใจคนขยายไม่ทัน เลยมีการปะทะมีความขัดแย้งกระจายไปทั่วโลก ในยุคปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยถึง 65 ล้านคน ยังมีการแบ่งแยกสูง ขนาดเทคโนโลยีสูงสุดแล้ว เราเกิดมาในโลกนี้ต้องรู้เท่าทันว่าโลกมิใช่มีแต่ความสวยงามเท่านั้น ยังมีด้านที่ใจคนก้าวไม่ทัน เป็นระบบนิเวศใหม่ของโลก ไม่ได้ขึ้นโดยอเมริกา จึงแนะนำไปอ่านหนังสือ"เมื่อโลกไม่หมุนตามอเมริกา" ว่าอเมริกาได้สูญเสียปัญญาวิชาการและเทคโนโลยี นี่คือสภาวะการรู้ทันเทคโนโลยี



คำว่าการรู้ทันมิใช่ความหมายว่าใช้เป็น แต่รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยมีเทคโนโลยีเป็นผู้ครองบทบาท พอเทคโนโลยีเกิดมาขึ้นใหม่ เช่น ยูทูป เฟชบุ๊ก เราจะเห็นว่าธนาคารปิดตัวไปเยอะมาก หลายวัดในปัจจุบันการทำบุญเป็นระบบคิวอาร์โค๊ด ป้องกันเรื่องเงินทอนเป็นอย่างดี เทคโนโลยีถึงแต่การจัดยังไม่ถึง เราสามารถติดตามความเคลื่อนของคนทั้งโลก เพลงปานามาทะลุกำแพงวัด นี่คือโลกของเราได้สั่นสะเทือนเพราะบทบาทของเทคโนโลยี ย้อนไปเวลา 20 ปี ตื่นมาพร้อมนาฬิกาปลุกเข้าห้องน้ำ แต่ปัจจุบันเราตื่นมาแล้วมาดูสิ่งที่เราโพสต์ไว้เมื่อคืน เทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา นี่คือภูมิศาสตร์ใหม่ของโลก



ก่อนที่สติปจ๊อปจะเสียชีวิตเขาได้พาครอบครัวไปเที่ยวเพื่อหาชั่วโมงทองคำของชีวิต เขาคือคนที่เกิดมาเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เอาคอมพิวเตอร์ใหญ่เท่าบ้าน ลดขนาดเหลือเท่าฝ่ามือ ชื่อสติปจ๊อบจึงอยู่ในหนังสือประดิษฐกรรมทุกเล่มของโลก ในวันหนึ่งสติปจ๊อบนั่งคิดถึงคุณค่าชีวิตแถวอเมริกา นั่งจิบกาแฟอย่างมีความสุข ขณะที่เขากำลังนั่งจิบกาแฟเขาเห็นเด็กถือสมาร์ทโพน ทำให้เขาคิดว่า ถ้าเด็กเข้าถึงเทคโนโลยีนั่นคือโอกาสทางการศึกษา นั่นคือสิ่งที่เขาภูมิใจ เขาบอกว่าผมไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับความรวย หรือเจ้าของนามว่า ชายที่รวยที่สุด แต่รู้สึกตื่นเต้นว่า"โลกนี้ดีขึ้นกว่าเรามาถึง"นี่คือคำพูดของผู้ชายที่เกิดเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ด้วยเทคโนโลยี ทำให้ภูมิศาสตร์ของโลกเปลี่ยนไป ทำให้เรารู้เห็นเชื่อมปฏิสัมพันธ์ง่ายขึ้นสะดวกขึ้น เราจึงรู้เท่ารู้ทัน เราไม่มีทางปฏิเสธเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่ไม่ได้วัดที่อายุ แต่เป็นที่อยู่ในยุคปัจจุบันที่ปฏิวัติสื่อเทคโนโลยี เราคือคนรุ่นใหม่แม้อายุจะ 70 แล้ว ถ้าเราใช้เฟชบุ๊กเป็น เราจะใช้เพชบุ๊กอย่างไรให้เป็นนาย



ปัจจุบันมีคนใช้สื่อในทางลบเยอะมาก ใช้บ่น ใช้ประชดชีวิต ใช้ไปทานอาหารไม่อร่อยอัพเฟชแล้วด่า หรือไปทานอาหารทันสวยต้องถ่ายก่อนกิน เที่ยวแจ้งสถานะว่าเราอยู่ที่ใด แต่ที่แย่มากๆ คือ " ใช้แล้วก่อให้เกิดความเกลียดชัง " น่ากลัวมาก ใช้แล้วส่งเสริมทัศนคติในการแบ่งแยก ใช้เเล้วก่อให้เกิดความรุนแรง แชร์ โพสต์ ถือว่าใช้สื่อไม่เป็น ตัวอย่างของการใช้สื่อเป็นในสังคม สื่อรายงานข่าวมีพระสงฆ์รูปหนึ่งในจังหวัดชลบุรีกำลังแบกปูนขึ้นภูเขา ลูกศิษย์ก็ถ่ายภาพขึ้นเฟชบุค เป็นข่าวใหญ่ พอวันต่อมามีจิตอาสามาเป็นจำนวนมาก เป็นปรากฏการณ์ด้านบวกของสื่อออนไลน์ บริโภคสื่ออย่างเป็นนาย วัดบ้านนอก สร้างเสร็จแบบงง ๆ จิตอาสาเหล่านั้นมาจากไหน นี่คือการบริโภคสื่ออย่างสร้างสรรค์ เราต้องใช้สื่อเป็นนาย และชาวนาคนหนึ่งใช้สื่อเทคโนโลยีบังคับรถไถจนควายยืนมองรถไถแบบงงๆ เป็นชาวบ้านดิจิตัล รู้เท่าทันสื่อสามารถนำสื่อมาใช้มากกว่าคนที่อยู่สังคมเมือง ทำอย่างไรคนรุ่นใหม่จะก้าวไปถึงในการใช้สื่อ คำตอบคือ มีสติในการบริโภคสื่อ ตัวอย่างเช่น กระเป๋าของภริยาของผู้นำประเทศ สื่อนำเสนอว่าทำไมถึงมีศักยภาพซื้อกระเป๋าใบละสองล้าน ทำให้เกิดดราม่า



แต่สุดท้ายมีผู้มาเฉลยว่าเป็นกระเป๋าธรรมดาจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มีคนอีกมากมายที่ใช้สื่อไม่เป็น ลักษณะที่ว่า"ใช้สื่อเทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยภูมิปัญญาขั่นต่ำ" นี่คือสิ่งที่เราเห็น เราจะรู้เท่าทัน โรคร้ายที่มากับสังคมดิจิตัลคือ "โรคด่วนตัดสิน" ในการใช้สื่อ แม้แต่พระสงฆ์ก็ตกเป็นเหยื่อ ปัจจุบันหันมาจับผิดออกสื่ออย่างเดียว โดยพวกเดียวกัน คนรู้น้อยพลอยรำคาญ คนที่รู้มากจะเห็นช้างทั้งตัว เห็นแล้วจะเข้าใจจะมีแต่เมตตาและคำแนะนำ คนรู้น้อยวิจารณ์ด่า บรรยากาศของชุมชนแทนที่จะมีเมตตา แต่มีแต่จับผิด ทำให้เราพลังงานเต็มเชิงลบเต็มบ้านเต็มเมืองของเรา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้สื่อไม่เป็นพระทิเบตได้รางวัลแกรมมี่อวอตส์ ครั้งแรกของโลก สาขาธรรมคีตา สวดไพเราะที่สุดในโลก นั่นคือการใช้สื่อในเชิงสร้างสรรค์ มีโอกาสไปเรียนรู้กับดาไลลามะ เราไม่เห็นการพูดเชิงลบ มีแต่เห็นว่าเราจะช่วยเหลือสังคมอย่างไร เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ซึ่งตรงกับคณะสังคมศาสตร์มาก มีนักข่าวไปถามดาไลลามะว่า ท่านคิดอย่างไรคนนี้เป็นแบบนี้ ท่านตอบว่า "ขออภัยเราไม่ได้ฝึกมาให้พูดใครในเชิงลบ" ท่านจะพูดถึงความท่านไม่พูดถึงคน ท่านบอกว่ามนุษย์เป็นปุถุชนมีความผิดพลาดได้ ทั้งเราและเขา เราจึงไม่ควรจะด่าใคร ด้านงดงามของทุกๆ ศาสนาควรนำมาเสนอผ่านสื่อ เพราะสื่อคือเครื่องมือขยายที่ดีที่สุด เช่นพูดที่นี่คนฟัง 1,500 คน แต่ถ้าผ่านไลฟ์สดผ่านเฟชบุ๊ค สามารถฟังได้ทั่วโลก ทำนองเดียวกันเราใช้สื่อในทางลบก็ทำเกิดความเกลียดกัน ชังกันได้ทั้งโลก เราต้องหาหลักใหญ่ๆว่า " จะไม่ใช้สื่อเพื่อทำร้ายใคร " หลีกเลี่ยงการใช้สื่อในเชิงลบ



มีคนไปถามท่านรพินปราชญ์ชาวอินเดีย ว่า สิ่งใดง่ายที่สุด คือ การวิจารย์คนอื่น สิ่งใดยากที่สุดคือ การรู้จักตนเอง สิ่งใดยิ่งใหญ่ที่สุด คือ ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นเหตุให้ท่านมุ่งทำความดี ความจริง ความงาม ฉันไม่มีเวลาไปทำร้ายใคร ฉันเขียนเพื่อให้คนทั้งโลกสามารถอ่านและนำไปปฏิบัติได้ เราไปใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีก็ใช้เรา เราทุกคนต่างมีตัวตนในเฟชบุ๊ค เราใช้เผยแพร่ตัวตนของเรา คนอื่นก็เสพแล้วตัดสินเสมอ เราใช้เทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของเรา เเต่สังคมกำลังตัดสินเรา มีผู้ชายคนหนึ่งไปทำงานที่ญี่ปุ่นพอไปถึงญี่ปุ่นผู้บริหารให้ซองขาวพร้อมตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทย ด้วยการโค้งอย่างสุภาพ คนไทยจึงถามว่าทำไมถึงไล่ผมออก เพิ่งมาทำวันแรก ขอโทษที่ทำแบบนี้แต่เราชดเชยเต็มที่ ผู้ชายคนนั้นจึงขอเหตุผลว่าทำไมให้ผมออก คำตอบคือ เราให้ฝ่ายเทคโนโลยีไปตรวจสอบทุกช่องทางของคุณปรากฏว่าคุณมีทัศนคติทางการเมืองที่สุดโต่งมาก และมีหลายภาพที่คุณโพสต์ในโซเซียลเฟชบุ๊ค อนาคตกลัวว่าจะมีปัญหา ตกงานเพราะเทคโนโลยี ถ้าเราใช้อย่างไม่เท่าทันจึงน่ากลัว และผู้หญิงคนหนึ่งโพสต์ข้อความก่อนขึ้นเครื่องพอลงเครื่องชีวิตเธอเปลี่ยนไปในลบ เพราะข้อความที่โพสต์ไปนั้นเอง เป็นข้อความเชิงดูหมิ่น เราอาจจะโพสต์ขำ ๆ เเต่คนอื่นไม่คิดเหมือนเรา คนที่เกิดมาในยุคการปฏิวัติเครื่องสื่อสารคนรุ่นใหม่จะใช้ชีวิตอย่างไร



โลกยิ่งเข้าสู่ทุนนิยมบริโภคนิยมธรรมะยิ่งจำเป็นโดยเฉพาะสติและปัญญา สติจำเป็นทุกๆ กรณี เรามีเครื่องมือที่ทันสมัย มันใช้เราหรือเราใช้มัน เลือกให้ดีๆ ใช้เป็นเราได้งานทำ เหมือนเด็กหนึ่ง ติด 1 ใน 20  ของนิตยสารไทม์ ด้วยการนุ่งทางมะพร้าวแล้วอัพเฟชบุ๊ค เขาใช้สื่อในทางสรรค์ ใช้เป็นได้งานใหม่ ไปถึงเวทีโลกไปเดินแฟชั่นที่ปารีส จากเด็กบ้านนอกที่ชอบการออกแบบ เพราะอานุภาพของสื่อในทางสร้างสรรค์ "สื่อเป็นเครื่องมือขยายศักยภาพในการทำงาน"แต่ถ้าใช้สื่อไม่เป็นเป็นใบมรณบัตร เราต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ เราห้ามนักข่าวจากสื่อไม่ได้ เเต่เราต้องมีสติในการใช้ชีวิต เราต้องชีวิตอย่างมีสติ ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง



ในยุคนี้เป็นยุคแห่งการเรียนรู้ ถ้ามหาวิทยาลัยทั้งโลกไม่ปรับตัว ครูอาจารย์จะตกงาน หลายคณะในมหาวิทยาลัยไม่มีใครเรียน คนรุ่นใหม่เรียนที่ไหนก็ได้ มีการเปิดเรียนแบบออนไลน์ เพราะโลกของเทคโนโลยี คุณอยากเรียนที่ไหนได้ทั้งหมด "ประตูแห่งโอกาสเกิดขึ้นพร้อมเทคโนโลยี" ด้วยการลงทุนในตัวเอง ซึ่งการลงทุนในตนเองที่สำคัญมีกฎแห่งการลงทุน คือ"ลงทุนในตัวเอง"เราอยากประสบความสำเร็จ ความรู้ที่มีอยู่เพียงพอไหม อะไรคือจุดอ่อนของเรา อะไรคือจุดแข็งของเรา ดีกว่าคนอื่น เด่นกว่าคนอื่น เราต้องลงทุนในตนเอง เป็นนักขายแต่ขายไม่ได้ จึงมาวิเคราะห์ตนเองด้วยการไปเรียนการเป็นนักพูด ค้นพบว่าเขาพูดไม่เก่ง จึงเรียนการพูดและการพัฒนาบุคลิกภาพ หยิบก้อนหินก็เป็นเงิน ผู้ชายคนนี้บริจาคให้บิลเกตเป็นอันดับหนึ่ง เขาไปพูดที่ไหนที่น่าฟัง เป็นบุคคลชั้นนำของโลก เพราะเขาลงทุนในตัวเอง ก่อนนอนจะต้องดูคลิปภาษาอังกฤษภาษาจีน



ใครอยากเป็นนักพูดที่ตรึงตราภาษากายที่สุดยอดต้องไปดูนักพูดอย่างแจ๊คหม่า ใครอยากเป็นนักพูดชั้นยอดแบบโน้มน้าวต้องไปการพูดของสติปจอป ใครอยากเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ พูดน้อยต่อยหนักต้องไปดูอิลอนมัส ถือว่าเป็นครูชั้นยอด นี่คือการลงทุนในตนเอง การศึกษายุคใหม่มิใช่ในมหาวิทยาลัย บิลเกตกำลังเฝ้ามองว่าใครสร้างสรรค์ต่อสังคมด้วยการทำคลิปให้ เพราะ "สิ่งที่งดงามที่สุดที่เทคโนโลยีมอบให้กับโลก " เรารับแรงบันดาลใจจากใครเราสามารถเรียนรู้ หน้าตาบ้านๆ แต่ความฝันอินเตอร์ เรามีครูชั้นยอดในเทคโนโลยี ถือว่าเป็นประตูแห่งโอกาส คนรุ่นใหม่ต้องลงในตัวเอง ใครที่ใช้ทักษะเดิมในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะไม่ประสบความสำเร็จ ใครที่มีการพัฒนาตนตลอดจะมีที่ยืนที่ใหม่ๆ



เราต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่จำเป็นต้องเป็นมหาเศรษฐี นักการเมือง ผู้มีอำนาจ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จากที่เรายืนอยู่ เราอยู่ตรงไหนเรามาทัศนคติที่ดีต่อโลกต่อสังคม มีความรู้ที่ดี มีศักยภาพเราเปลี่ยนได้ทุกจุด แม้ว่าเราจะถูกหยิบไปวางไว้ตรงไหนของโลก ในชุมชนที่เชียงรายปัจจุบันมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ตายเพราะสารเคมีโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงทำวิจัย นักโภชนาการคนหนึ่งวิจัยว่าถ้ามีคนตาย 100 คน 73  คนตายเพราะไม่ถูกหลักโภชนาการ จึงมีแรงบันดาลใจทำเกษตรเมตตาเยียวยาทุกอย่าง เกษตรสังหารล้างผลาญทุกอย่าง เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งทำในแบบของเราในแบบบริบทของเรา แต่เราต้อง เอาชนะคำคน เอาชนะของสังขาร เอาชนะทั้งปณิธานของตนเอง ใครมีหัวใจนักสู้ไม่มีใครแพ้ ที่เเพ้เพราะเรายอมแพ้เอง



หลักเศรษฐศาสตร์ของพระพุทธเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ด้วยการขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร สิ่งสำคัญที่สะท้อนสังคมคือ การทำเพื่อคนอื่นของตูน บอดี้แสลม พอทำมีทั้งคนเชื่อและคนแช่ง มีคนด่าและคนชม แต่สิ่งที่ตูนทำเป็นธรรมะคุณจะหาธรรมะข้อใดก็ได้จากสิ่งที่ตูนทำ สมาธิ ปัญญา วิริยะ ระหว่างทางผู้ชายคนนี้หว่านโปรยความสุข ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมให้เห็น และรับผิดชอบสังคม 1,200  ล้าน จึงถามว่าในฐานะเราเป็นพระสงฆ์เราจะรับผิดชอบทางสังคมอย่างไรเพราะตูนจะไปจบการวิ่งที่เชียงราย จึงวาดภาพจิตโพธิสัตว์ให้ตูนคนนำไปประมูลได้ 25  ล้านบาท ทำไมคนจึงอยากได้ เพราะภาพที่วาดนั้นมีคุณตูนเป็นแรงบันดาลใจจึงวาดภาพนี้ ด้านที่งดงามคือเมตตา พื้นฐานของสังคมไทยเป็นพื้นฐานแห่งการให้ สิ่งที่คุณตูนทำถือว่าจุดติดเราจะต่อยอดอย่างไรที่ผู้ชายคนนี้ทำ



ดังนั้นจึงเป็นคลื่อนแห่งความเมตตาที่ผู้คนหนึ่งลุกขึ้นมาทำสังคม คนพร้อมจะช่วยสังคม แต่คนที่จะทำเพื่อสังคมต้องเป็นโครงการที่ดีจริงๆ คนพร้อมจะช่วยมีเยอะ อยู่ที่ฝีมือในการทำโครงการ ลักษณะตนเป็นที่พึ่งของตนจากนั้นต้องให้คนเขาได้พึ่ง จะให้สังคมพึ่งเราในเรื่องใดบ้าง นี่คือความรับผิดชอบทางสังคมด้วยการทำในแบบของเรา สาระสำคัญเรารับมามากแล้ว เราจะคืนอะไรให้กับสังคม คนที่ทำงานใหญ่ทำไมจึงสำเร็จ ทำไมคนถึงรักเขา



ความสำเร็จของตูนคือ" ก้ม กราบ กอด" อ่อนน้อมถ่อมตน กราบพระสงฆ์ กอดให้กำลังใจผู้คนข้างทาง เป็นคนที่มีธรรมะอยู่ในหัวใจมีความเบิกบานกับการรับใช้เพื่อนมนุษย์ ด้วยเจตนาที่แสนประเสริฐ ตูนจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราไปทำงานเพื่อสังคมว่าสังคมมีพลังงานบวกมากมายให้เราออกไปทำงาน พร้อมจะทำให้สังคมดีขึ้น ขอให้เราเรียนรู้จุดแข็งของสังคมแล้วคิดโครงการดีๆ ขึ้นมาทำ ทำโครงการอย่าสนใจแต่คำชมแต่เราต้องรับคำด่า "คำชมคำด่าราคาเท่ากัน คนที่ทำงานเพื่อสังคมอย่าแบกหามคำเหล่านี้ " เราเกิดมาเพื่อทำงาน อย่าใช้ที่แบบปลอดภัยแล้วไม่ทำงานนั่นไม่ใช่ชีวิต สุภาษิตฝรั่งกล่าวว่า " เรือที่จอดนิ่งๆ อยู่กับท่าเป็นเรือที่ปลอดภัย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เรือถูกสร้างขึ้นมา" คนที่เกิดมาอยู่เฉยๆ แล้วมีชีวิตที่ใสสะอาดไม่ผิดพลาดเลย นั่นเป็นชีวิตที่คุ้มค่าหรือ แล้วออกไปมีเบิกบานกับการรับใช้เพื่อนมนุษย์

"มจร"มอบวิทยานิพนธ์สันติศึกษาแก่สถาบันพระปกเกล้า





ผอ.สันติศึกษา"มจร" นำคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิต เข้าพบผู้บริหาร อาจารย์สถาบันพระปกเกล้า รับการปลุกเร้าสร้างสังคมสันติสุขแก่สังคม พร้อมมอบวิทยานิพนธ์สาขาสันติศึกษา



วันที่  31 มกราคม 2561 พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ด้วยความเป็นศิษย์เก่าของสถาบันพระปกเกล้า ทั้งหลักสูตรการจัดการความขัดแย้งฯ และหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ (ปปร.15) จึงได้รับการปลุกเร้าให้มีธรรมฉันทะ มุ่งมั่นทำงานรับใช้สังคมในวิถีที่เหมาะสมกับสมณะ  ที่สำคัญยิ่ง คือ การได้รับการปลูกฝังจากครูบาอาจารย์ และผู้บริหารจากสถาบันพระปกเกล้า ที่เข้ามาทำหน้าที่ประคับประคองนักศึกษาของสถาบันรุ่นแล้วรุ่นเล่า อาศัยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมสันติสุขในรูปแบบต่างๆ





"จึงได้นำคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิต สันติศึกษา เข้าพบปะพูดคุย และแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานในการพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษา และมอบวิทยานิพนธ์ สาขาสันติศึกษา แก่ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้การลงนามความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาระหว่างมหาจุฬาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า  MOU จึงเป็นเหมือนเครื่องมือคอยเตือนใจคนทำงานให้ระมัดระวังการบริหารจัดการหลักสูตรว่า ต้องมีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามแนวทางที่คณะกรรมการอุดมศึกษาได้วางกรอบเอาไว้" ผอ.หลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวและว่า



สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนทำงานอุ่นใจ คือ "ความเป็นลูกศิษย์" ที่มีครูบาอาจารย์อยู่ในสถาบันทั้ง 2  นั่นเอง และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น คณาจารย์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศ.วุฒิสาร ตันไชย อาจารย์วิทวัส ชัยภาคภูมิ พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ  ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ดร.ถวิลวดี บุรีกุล อาจารย์ศุภณัฐ อาจารย์อดุลย์ ขันทอง อาจารย์ปรัชญา อยู่ประเสริฐ คือ กัลยาณมิตรที่ดีอย่างยิ่งยวดในการช่วยเป็นหูเป็นตา และคอยย้ำเตือนวิถีในการทำงาน รวมถึงการเข้ามาช่วยเติมเต็มการพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาให้สามารถเป็นหลักสูตรที่จะช่วยสร้างทางรอดให้แก่สังคมไทยตามวิถีที่เหมาะสมแก่เหตุและปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินการ



การนำมวลศิษย์สันติศึกษามาพบครูบาอาจารย์เหล่านี้ จึงนับเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม เพื่อหวังผลในการน้อมนำข้อคิดความเห็น รวมถึงข้อห่วงใยต่างๆ ไปเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรสันติศึกษาให้สมกับความมุ่งมั่นและตั้งใจของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย หากไม่มีหลักสูตรต่างๆ ที่ได้เรียนจากสำนักงานศาลยุติธรรม และหลักสูตรต่างๆ จากสถาบันพระปกเกล้า ชีวิตนี้ คงมองไม่เห็นช่องทาง และแนวในการทำงานรับใช้สังคมตามที่ได้รับการบ่มเพาะจากสองสถาบันแห่งนี้ และที่สำคัญ วันนี้คงไม่มี "หลักสูตรสันติศึกษา ทั้งภาคภาษาไทยและอินเตอร์" ขออนุโมทนาขอบคุณพระธรรมที่มีอยู่ในครูบาอาจารย์ทุกตย



พร้อมกันนี้ พระมหาหรรษา ยังได้ ยกพุทธภาษิตที่ว่า ยาตานุยายี จ ภวาหิ มาณว อลฺลญฺจ ปาณึ ปริวชฺชยสฺสุ  มา จสฺสุ มิตฺเตสุ กทาจิ ทุพฺภิ มา จ วสํ อสตีนํ นิคจฺเฉติฯ (ขุ.ชา.28/994/348) พร้อมบทประพันธ์โดยพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร.กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดี มจร ความว่า  เดินตามรอยคนดีที่อยู่หน้า มือเคยเลี้ยงเรามาจงอย่าเผา  อย่าทำร้ายพวกพ้องมิตรของเรา  อีกคนเขลาไร้สติอย่าริตามฯ



ก้าวสู่ TQR มุ่งพัฒนามาตรฐานหลักสูตรอย่างยั่งยืน



พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า จะทราบได้อย่างไรว่า หลักสูตรได้มาตรฐานสากลจนทำให้ผู้รับบริการเกิดความมั่นใจ ถ้าไม่มีผู้เชี่ยวมารับรองมาตรฐานหลักสูตร" หลักสูตรสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย และวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "ก้าวสู่ TQR มุ่งพัฒนาหลักสูตรอย่างยั่งยืน" ระหว่าง 1-2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 08:30 เป็นต้นไป ณ ห้องพุทธเมตตา อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี รศ.ดร.สุบรรณ เอี่ยมวิจารณ์ กรรมการ TQR จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นวิทยากรนำสัมมนาเชิงปฏิบัติการ





"สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการนั้น เพื่อมุ่งนำหลักสูตรสาขาสันติศึกษา ภาคภาษาไทย และอินเตอร์ ทั้งปริญญาโท และปริญญาเอก หลักสูตรสาขาพระพุทธศาสนา ภาคอินเตอร์ ทั้งปริญญาโท และปริญญาเอก ขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูล หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุคมศึกษาแห่งชาติ (TQR : Thai Qualifications Register) ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว จะเป็นหลักสูตรนำร่องของมหาวิทยาลัยที่จะก้าวสู่การขึ้นทะเบียนในฐานข้อมูล TQR ของสำนักคณะกรรมการอุดมศึกษาต่อไป"

วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

"รินโปเชลามะน้อย"ระลึกชาติได้เสด็จเยือนไทย




เมื่อเวลา 9.00 น.วันที่ 31 ม.ค.2561  พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พร้อมด้วยคณะสงฆ์วัดสระเกศ พระเถรานุเถระมีพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ถวายการต้อนรับ สมเด็จพระราชินีอาชิ เชริง เป็ม วังชุก พร้อมด้วยพระธิดา และรินโปเชลามะน้อย เจ้าชายราชวงศ์ภูฏาน ที่มีพระชันษา 3 ปี ซึ่งสามารถระลึกชาติได้ พร้อมเจริญศาสนสัมพันธ์ พุทธเถรวาท - พุทธตันตรยาน ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ





ในโอกาสนี้ สมเด็จพระราชินีอาชิ เชริง เป็ม วังชุก พร้อมด้วยพระธิดา และรินโปเชลามะน้อย เจ้าชายราชวงศ์ภูฏาน ที่มีพระชันษา 3 ปี ซึ่งสามารถระลึกชาติได้ ประทานพระวโรกาส ให้พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมด้วยคณะสงฆ์ อีกทั้งพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เข้าถวายพระพร จากนั้นทรงเสด็จขึ้นไปสักการะบูชา พระบรมสารีริกธาตุ เป็นครั้งแรกที่ได้เสด็จมาเยือนวัดสระเกศ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุ ของเดิมแท้จากกรุงกบิลพัสดุ์ ประดิษฐานคู่กับพระอารามนี้(ภูเขาทอง) กว่า 100 ปี ทั้งทรงเห็นถึงความสำคัญของเจริญศาสนสัมพันธ์พระพุทธศาสนาที่สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่โลก
       


หลังจากนั้น เจ้าชายราชวงศ์ภูฏานพร้อมคณะได้เสด็จทอดพระเนตรพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร โดยมีพระโสภณวชิราภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ให้การตอนรับ





รินโปเช องค์ลามะน้อย เจ้าชายพระองค์นี้  เป็นพระโอรสของเจ้าหญิง พระธิดา ของสมเด็จพระราชินีอาชิ เชริง เป็ม วังชุก พระมเหสีองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉาเจ้า (เสด็จป้า) ของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนาม "กษัตริย์จิกมี" กษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน จึงถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เรื่องน่าปิติยินดียิ่ง ที่มี ท่านรินโปเช องค์ลามะน้อย ซึ่งได้กลับชาติมาเกิด ในสายกษัตริย์ ราชวงศ์ภูฏาน ซึ่งหาได้ยาก และยังได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาตันตรยาน (นิกายดรุกปะกัคยุ)
     


พระอัยยิกา (ยาย) พร้อมด้วย เจ้าชายลามะน้อย ได้เคยเสด็จฯ เยือนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดียทรงเล่าว่า รินโปเช องค์ลามะน้อยทรงจำได้ว่า เคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย เมื่อ ๘๒๔ ปีก่อน และทรงจำสถานที่ต่างๆ ได้แม่นยำ แม้แต่ห้องเรียนของพระองค์เอง จึงเป็นเหตุอัศจรรย์ยิ่งนัก ทรงปฏิสันถาร กับคณะสงฆ์ และคณะบุคคล อย่างอบอุ่น ถือเป็นนิมิตหมาย อันเป็นมหามงคลยิ่ง ที่รินโปเช องค์ลามะน้อย เจ้าชายแห่งราชวงศ์ภูฏาน จักได้เป็นกำลังสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาทั้งเถรวาท-ตันตรยาน เพื่อสร้างความร่มเย็นให้แก่พุทธศาสนิกชน และสันติภาพแห่งโลก


................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก พระวิสุทธิศาสนวิเทศ  กองงานวิสุทธิศาสนวิเทศวัดสระเกศ)

"พระว.วชิรเมธี"พร้อมหนุนวิจัยป.เอกสันติศึกษา





"พระว.วชิรเมธี"มอบ450ทุนศึกษา"ประถม-ป.เอก"  พร้อมส่งเสริมสนับสนุนการทำวิจัย ป.เอก สันติศึกษา "มจร"  มุ่งเสริมสร้างการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นกระบอกเสียงให้มหาจุฬาฯสร้างสันติสุขให้กับสังคม





ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงวันที่ 29 มกราคม ศิษยานุศิษย์ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย ประธานศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ต่างเดินทางไปร่วมงานอายุวัฒนมงคล พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมสมทบปัจจัยเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงพระนิสิต นิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระมหาวุฒิชัยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท  ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกจากคณะกรรมการบัณฑิตวิทยา มจร และมีเงื่อนไขคือเมื่อทำวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องนำเล่มวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ไปมอบให้กับศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวันเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป



และปี 2561 นี้ก็เช่นเดียวกัน ได้จัดงานภายใต้ชื่อ "วันแห่งการให้ปีที่ 5"  และได้มอบทุนทั้งสิ้น 450 ทุน โดยทุนการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท 6 ทุน และดุษฎีนิพนธ์ีระดับปริญญาเอก 4 ทุน สำหรับพระนิสิต นิสิต มจร โดยทุนละ 10,000 บาท ในจำนวนนี้มีพระนิสิตและนิสิตปริญญาเอกรุ่นแรก สาขาสันติศึกษา มจร ได้รับคัดเลือกเข้ารับมอบทุนด้วยจำนวน 3 รูป/คน 





ก่อนจะเริ่มพิธีมอบทุึนพระปราโมทย์ วาทโกวิโท พระนิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้เข้าถวายเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร แก่พระมหาวุฒิชัย เนื่องจากพระปราโมทย์ได้เคยสัมภาษณ์ช่วงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง" รูปแบบการฝึกอบรมแบบธรรมะโอดีเพื่อเสริมสร้างองค์กรสันติสุข " และเป็นพระต้นแบบด้านการเผยแผ่ในยุคปัจจุบันที่เข้าใจเข้าถึงคนในยุคปัจจุบัน  และวิทยานิพนธ์นี้ผ่านการทดลองและไปใช้จริง พร้อมกันนี้ได้นำเสนอโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกภายใต้เรื่อง "พระวิทยากรสันติภาพ" ทำให้พระมหาวุฒิชัยสนใจเป็นอย่างมาก พร้อมกล่าวว่า "ผมอ่านสาราณียธรรมของท่าน เขียนดีภาษางดงามมาก เป็นการสื่อสารเพื่อสันติภาพ เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ เป็นกระบอกเสียงให้มหาจุฬาฯ ผมตามอ่านอยู่และสิ่งสำคัญต้องทำเป็นหนังสือ เดี๋ยวผมถวายทุนเพิ่ม"



ขณะที่นายสำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร ได้เข้าถวายเล่มวิทยานิพนธ์ปริญญาโท เนื่องจากได้รับมอบทุนการระดับปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร เมื่อปี 2559 และเข้ารับทุนระดับปริญญาเอก เรื่อง "พุทธนวัตกรรมการใช้สื่อออนไลน์เพื่อสร้างสันติภาพของพระสงฆ์สู่สังคมไทย"



พระปราโมทย์ ได้ระบุว่า จุดเริ่มต้นของการเขียนจริงๆ โดยเฉพาะการเขียนลงเฟชบุ๊กนั้น เกิดจากการไปฟังการสัมมนา จากผู้เชี่ยวชาญ ครูบาอาจารย์ ก็สรุปลงในไลน์แล้วเรียบเรียงภาษาให้เชื่อมโยงเป็นภาษาที่สร้างความสันติสุข เพราะมองว่าเก็บไว้อ่านคนเดียวเป็นเพียงปัจเจกปัญญาทำอย่างไรจะให้คนอื่นได้อ่านด้วยเป็นสาธารณปัญญา ทำให้มีผู้คนเข้ามาอ่าน เป็นความสุขที่ได้แบ่งปัน เหตุผลลึกๆ คือ ความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้ดีให้คนอื่น เห็นอะไรดีๆแล้วหัวใจอยากแบ่งปันผ่านข้อความที่สร้างสรรค์ จนทำให้นักข่าวเชิงพุทธคือ นายสำราญซึ่งเรียนปริญญาเอกมหาจุฬาฯ นำไปสื่อสารเป็นข่าวออกไปทั่วโลกให้คนรับรู้ จึงเป็นข่าวสารด้านบวกในทางพระพุทธศาสนา เหตุสำคัญประการเพราะเราเรียนหลักสูตรสันติศึกษา มหาจุฬาฯ ความเป็นสันติศึกษาต้องเป็นต้นแบบของการสื่อสารออกไปเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น สื่อสารเชิงสร้างสรรค์มิใช่สื่อสารเพื่อทำลายใคร การโพสต์ในสื่อสารออนไลน์จึงเป็นชี้วัดภายในของบุคคลคนนั้น





ในโลกออนไลน์มีเรื่องราวมากมายทั้งเชิงลบและเชิงบวก ถ้าเราโพสต์ แชร์ คอมเมนท์ ด้วยภาวะอันขาดสติและมีอคติเพียงครั้งเดียวอาจจะนำไปสู่การใช้ชีวิตหรือการทำงานเพียงชั่วข้ามคืน อาจจะดังแบบบวกหรือดังแบบลบก็ได้ จากการศึกษาและการตกผลึกการโพสต์ในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งออก 3 ประเภท ในสื่อออนไลน์ โดยมีเฟชบุคเป็นสำคัญ คือ



1)"การโพสต์ธรรมดา"หมายถึง การโพสต์ทั่วไป เป็นอัตเดทชีวิตประจำ หรือการไปเที่ยวที่ใดก็โพสต์ วิวทิวทัศน์ เป็นการบอกเรื่องราว การโพสต์ธรรมดา" อ่านแล้วจิตใจอยู่ในระดับเท่าเดิม " ชีวิตผู้อ่านผู้โพสต์ไม่แย่ลงแต่ก็ไม่ดีขึ้น



2)"การโพสต์ดราม่า"หมายถึง การโพสต์ไปแล้วทำให้ตนเองและคนอื่นมีจิตใจแย่ลง เช่น การด่าทุกประเภท การบ่นชีวิต บ่นรถติด บ่นทุกรูปแบบ การประชดอะไรบางอย่าง มีการแชร์ในทางลบ ในการโพสต์ดราม่า "อ่านแล้วจิตใจต่ำลง"



3)"การโพสต์คุณค่า" หมายถึง การโพสต์แล้วทำให้จิตใจสูงขึ้น โพสต์แล้วกลับมาอ่านก็ยังทำให้รู้สึกจิตใจสูงขึ้น เช่น ประสบความผิดหวังในชีวิตแทนที่จะโพสต์ดราม่ากลับโพสต์คุณค่า ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น ทำให้เราได้ข้อคิดจากความผิดหวัง เป็นการโพสต์คำคม ข้อคิด หรือแชร์ข้อความดีๆ ที่ช่วยให้สังคมได้ข้อคิด แบ่งความรู้เพื่อให้สังคมดีขึ้น หรือ การโพสต์ข่าวสารทางบวกช่วยจรรโลงจิตใจ ถือว่าเป็นการโพสต์ให้เกิดคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่นสังคม





ประเด็นการโพสต์แบบดราม่า "เราต้องหาคุณค่าในดราม่าให้เจอก่อน " แล้วค่อยโพสต์ หมายถึง การหาคุณค่าในเรื่องดราม่าให้เจอก่อนโพสต์ เราเห็นใครทำอะไร ผิด เห็นใครทำอะไรพลาด อย่าเพิ่งแชร์หรือด่า เราต้องหาคุณค่าจากดราม่าให้เจอค่อยโพสต์ เราจะต้องฝึก หรือเวลามีเรื่องแย่ๆ กับเรา จงหาคุณค่าก่อนโพสต์ เพราะ " ในเรื่องดราม่ามีคุณค่าซ่อนอยู่เสมอ " คนทำผิดสอนเราว่าอย่าทำแบบนั้น คนทำพลาดสอนเราว่าอย่าทำแบบนั้น เราเจอเรื่องแย่ๆ ต้องกลับสอนตนเองว่าเราจะพัฒนาเองไม่แย่อีกอย่างไร เรื่องราวดราม่าที่เกิดขึ้นจะมีคุณค่าเสมอ หาให้เจอค่อยแชร์ค่อยโพสต์ เพราะสิ่งเราโพสต์ไปไม่สามารถย้อนคืนได้ บางครั้งจะกลับไปลบไม่ทันแล้ว เพราะเข้าไปอยู่ในกระทู้หรือความทรงจำของผู้คนเรียบร้อยแล้ว คิดก่อนโพสต์ พอมีเรื่องดราม่าเกิดขึ้น บอกตนเองว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้เรียนรู้เรื่องอะไร



ทุกครั้งที่จะโพสต์เรื่องดราม่าต้องคิดเสมอว่า " นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า " เราเห็นใครกำลังมีความทุกข์ เราอย่าไปแบ่งความทุกข์คนอื่นมาเป็นความทุกข์ของเรา ดราม่าได้แต่ต้องบอกว่า " นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า " ยิ่งเราโพสต์ แชร์ คอมเมนส์ ดราม่ามากๆ ชีวิตเราจะมีแต่เรื่องดราม่า เพราะเราให้ความสนใจสิ่งใด ใจจะดึงดูดสิ่งนั้น แต่ถ้าเราให้ความสนใจโพสต์ แชร์ คอมเมนต์ แบ่งปัน กดไลท์ เรื่องราวที่มีคุณค่า ชีวิตเราก็จะเจอแต่เรื่องดีๆ มีคุณค่ามีความสุขประสบความสำเร็จ ในชีวิต "จงเป็นมนุษย์ที่มุ่ง มอบคุณค่า ไม่เป็นมนุษย์ที่มุ่ง สร้างดราม่า " เป็นการสร้างสังคมที่งดงามจากปลายนิ้วของเราเอง



โดยเราทุกคนช่วยกันแชร์คุณค่ามากกว่าแชร์ดราม่า สังคมเรามีดราม่าเยอะมาก เป็นพลังลบ เราต้องช่วยกันแชร์พลังบวก คือ โพสต์คุณค่า ฝึกพลิกใจจากลบมาเป็นบวก เทคโลโลยี 4.0 แต่บางครั้งจิตใจเรายัง 0.4 เทคโนโลยีเป็นของกลางๆ ใช้ให้เกิดคุณค่าหรือดราม่าก็ได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีให้มีสติและปัญญา การสร้างสังคมของเราให้น่าอยู่เมื่อเราช่วยกันโพสต์คุณค่ามากกว่าดราม่า



ดังนั้น การโพสต์จึงมี 3 ประการ คือ โพสต์ธรรมดา โพสต์ดราม่า โพสต์คุณค่า สังคมจะน่าอยู่ถ้าเราช่วนกันโพสต์สิ่งที่เป็นคุณค่า แต่ถ้ามีเหตุต้องโพสต์ดราม่าจึงบอกว่า " เรื่องราวนี้สอนให้เรารู้ว่า " จึงมีคำสอนเรื่องการสื่อสารในโลกออนไลน์เตือนเราว่า "อย่าใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยภูมิปัญญาขั้นต่ำ" แม้จะทำความดีแล้วยังมีเรื่องราวดราม่าจงมองคุณค่าให้เจอให้เรื่องราวนั้น เพราะตาที่สวยที่สุด คือ ดวงตาที่มองความดีคุณค่าของคนอื่น ถามตนเองว่าโพสต์ดราม่าหรือโพสต์คุณค่าในแต่ละวัน อย่าลืมว่าเรื่องดราม่ามีเรื่องคุณค่าซ่อนอยู่เสมอ การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันจึงต้องมีสติและปัญญา ลักษณะที่ว่านิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงเป็นมนุษย์ที่มอบคุณค่ามากกว่ามนุษย์ที่สร้างดราม่า ภายใต้ เทคโนโลยี 4.0แต่อย่าให้จิตใจของเราเป็น 0.4



พระปราโมทย์ ระบุด้วยว่า ไร่เชิญตะวันเป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นสันติภาพทุกศาสนาสามารถเข้ามาเรียนรู้ในความเป็นพหุวัฒนธรรม โดยมุ่งการอยู่ร่วมกันมากกว่าการมุ่งทำร้ายกัน สันติภาพจึงเป็นเครื่องมือชี้วัดมนุษยชาติ ทุกคนต่างต้องการสันติภาพภายในและสันติภายนอก เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ทุกครั้งที่เดินทางมาไร่เชิญตะวันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของแหล่งเรียนรู้ในมิติต่างๆ นี่คือ ต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน



การอยู่ในสังคมนี้ไม่ได้วัดว่าใครเก่ง แต่วัดว่าใครจะสงบมากกว่ากัน ขนาดเราปฏิบัติขนาดนี้ เวลาเราเจอโลกธรรมมาทดสอบ เรายังออกนอกเส้นทางในบางครั้ง ถ้าเราสงบกิเลสตนเองได้ เราจะสามารถจัดการกับคนอื่นได้ คนเก่งมีมากในสังคม ซึ่งรู้สันติวิธีในการจัดการความขัดแย้ง แต่ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งได้เพราะภายในไม่สงบ ภายในยังฝึกไม่พอ เราต้องพัฒนาภายในอีกมากมาย เรามีเวลาไม่มากพอที่จะไปโกรธ เกลียดคนอื่น มีแต่เวลามอบความรักให้คนอื่น บางครั้งพวกเราเองยังรักกันไม่ได้ แล้วเราจะไปรักใครได้จะต้องฝึกรักพวกเดียวกันก่อนจะไปรักคนอื่น เราต้องฝึกเป็นสะพาน สะพานที่มีความเข้มแข็งเพื่อให้คนอื่นก้าวข้าม



ดังนั้น การมีโอกาสเดินทางมาไร่เชิญตะวันเป็นการมารับพลังภายในเพื่อเตรียมออกไปทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ เพราะโลกนี้มีอะไรมากมาย เราจะต้องพัฒนาตนให้มีสันติภายในก่อน ซึ่งสังคมปัจจุบันท้าทายเรามาก เราจึงต้องมีสติ ขันติ สันติ เดินตามแนวทางของพระพุทธเจ้า ภายใต้คำว่า "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี"


..........

(หมายเหตุ : ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ีที่เฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระปราโมทย์ วาทโกวิโท)

วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษโกอินเตอร์ส่งนิสิตเตรียมจัดถกสันติภาพที่สวีเดน




วันที่ 30 ม.ค.2561 พระราชธรรมสารสุธี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) รองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษและคณะผู้บริหารวิทยาลัยสงฆ์ มจร ศรีสะเกษ นำคณะกราบลาพระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศวรมหาวิหารประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ  เพื่อเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน และเยี่ยมนิสิตปฏิบัติศาสนกิจ   โดยมีพระวิเทศปุญญาภรณ์ (เจ้าคุณสวีเดน) เลขานุการสหภาพพระธรรมทูตยุโรป  ถวายการต้อนรับ





พระวิเทศปุญญาภรณ์ กล่าวว่า ในการปฏิบัติศาสนกิจดังกล่าวมีลงนามสัญญาร่วมระหว่างวัดพุทธราม สวีเดนกับวิทยาลัยสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ เป็นความร่วมมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำงานระหว่างประเทศ ในการฝึกให้นิสิตได้ใช้ความรู้ความสามารถ และพัฒนาให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเป็นการฝึกนิสิตเพื่อรองรับงานในพระศาสนาในอนาคต ในยุค 4.0.   โดยในปี 2561 ในปีนี้จะรับนิสิตเพิ่มเป็น 5 รูป  จาก มจร ศรีสะเกษ  โดยการเดินทางในครั้งนี้คณะได้เยี่ยมวัดพุทธาราม. ที่เมืองสตอกโฮล์มและเมืองBonden





"การเดินทางในครั้งนี้ใช้บริการรถไฟสายเหนือขบวนขึ้นเหนือที่มีมายาวนานที่สุดเป็นหลัก เพื่อให้คณะได้มีโอกาสชมทัศนียศึกษาภูมิประเทศของสวีเดนและแสกนดิเนเวีย ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน นับเป็นโครงการที่ดี  ในโอกาสนี้จึงนำคณะเข้าร่วมฟังการประชุมเตรียมงานจัดประชุมสันติภาพโลกที่จะจัดขึ้น ในวันที่ 30 มิถุนายนปีนี้ นับว่าจะเป็นพลังหนุนการทำงานพระศาสนาสู่สันติภาพโลกต่อไปด้วย" พระวิเทศปุญญาภรณ์ กล่าวและว่า



เพราะประเทศสวีเดนในปีนี้นอกจากจะเป็นประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสันติภาพโลกแล้วยังเป็นเจ้าภาพจัดประชุมพระธรรมทูตโลก หรือประสมัยสามัญประจำปีของสหภาพพระธรรมทูตไทยในยุโรปอีกด้วย ในวันที่ 8-9 กรกฏาคม 2561 ณ วัดพุทธาราม ที่เมืองโบเดน(Boden) จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดียิ่งที่เรามีพระธรรมทูตไทย ที่พระพระพรหมสิทธิในฐานะประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้สนับสนุนงานและมีนโยบายให้พระธรรมทูตทั่วโลก  ให้ทำงานร่วมกัน กับชาวโลก





ทั้งนี้พระวิเทศปุญญาภรณ์ หรือเจ้าคุณสวีเดนที่ได้รับหน้าที่ที่มีบทบาทสำคัญเชื่อมงานทั่งสองงานในระดับโลกให้เกิดขึ้นในเวทีสันติภาพโลกในครั้งนี้. โดยสามารถเข้าร่วมประชุมและร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมได้ที่วัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน โทรศัพท์(0046)738268999 ไลน์thestar2017 อีเมล์ ckk48@hotmail.com

"พระว."แนะคนเจนแซดต้องใช้สื่อให้เป็นมีงานทำ




"มจร"จัดประชุมวิชาการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ CSD สัมพันธ์ ครั้งที่ 17  คุณธรรมจริยธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน อธิการบดีแนะยึดหลักพอเพียงร.9 -คำสอนพุทธเจ้าทำสังคมยั่งยืน ขณะที่พระว.วชิรเมธีชี้คนเจนแซดต้องใช้สื่อให้ดีมีงานทำ ใช้สื่อผิดที่มีสิทธิ์ตกงาน





ระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค. 2561  ที่หอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา มีการประชุมวิชาการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมระดับชาติ CSD สัมพันธ์ ครั้งที่ 17 (คุณธรรมจริยธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน)  โดยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ม.ค.โดย พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ในฐานะอธิการบดี มจร เป็นประธาน พร้อมบรรยายความว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 รวมทั้งหลักโอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้า เป็นหลักแห่งการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม หากยึดหลักดังกล่าวในการพัฒนาสังคมจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน


ขณะที่พระครูปริยัติกิตติธำรง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มจร  กล่าวว่า โครงการ CSD นี้  เกิดจากพัฒนาการความร่วมมือของมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพอาจารย์ การเรียนการสอนที่ตอบสนองกับการปฏิบัติงาน และการแก้ไขปัญหาของชุมชน สังคม รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้มีความเป็นวิชาชีพในสาขาพัฒนาชุมชนและสังคมมากขึ้น



"โดยในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานพิจารณาเห็นว่า การนำมิติของคุณธรรมจริยธรรมหรือจริยศาสตร์ที่ว่าด้วยการให้คุณค่าความดีมาพิจารณาในเรื่องของการพัฒนา เป็นสิ่งที่เหมาะสมในการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับการประชุมดังกล่าวมีนักวิชาการจากทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งนิสิต นักศึกษา เข้าร่วมประชุม ทั้งยังเป็นกิจกรรมหนึ่งในการเฉลิมฉลอง 130 ปี แห่งการสถาปนา มจร ด้วย"  คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มจร  กล่าว



ทางด้านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จ.เชียงราย ประธานศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ปาฐกถาธรรม เรื่อง "Gen Z กับการสร้างสังคมใหม่" ในวันที่ 30 ม.ค.โดยแนะว่า  คนเจนแซดควรใช้สื่อที่ทันสมัยอยู่ในมือให้เป็น นำเสนอกิจกรรมของตัวเองผ่านทางสื่อ เพราะหากมีความสามารถใช้สื่อได้ดีก็มีงานทำ แต่ถ้าใช้สื่อผิดที่มีสิทธิ์ตกงานเช่นกัน




วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

"มจร"คลอดหลักสูตรป.ตรีพุทธนานาชาติ




"มจร"คลอดหลักสูตรป.ตรีพุทธนานาชาติ รองรับนิสิตต่างประเทศสร้างสันติสุขให้กับสังคมยุคดิจิทัล



วันที่ 27 ม.ค.2561 พระธรรมปัญญาบดี นายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้ลงนามประกาศมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่องโครงสร้างหลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ พ.ศ.2561 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27  มกราคม 2561 เป็นต้นไป



ทั้งนี้หลักสูตรปริญญาตรีในระดับนานาชาติ จะมี 120 หน่วยกิตเท่านั้น  เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการเปิดสอนปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เน้นกลุ่มเป้าหมายนิสิตที่มีความสามารถพิเศษ (Talent) จากสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ทั้งภาคพื้นยุโรป อเมริกา ออสเตรีย เอเซีย และเเอฟริกา  นิสิตกลุ่มนี้จะเข้ามาศึกษาพร้อมกับทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพระพุทธศาสนาต่างๆ ทั่วโลก เพื่อพัฒนาให้เป็นพระธรรมทูตที่สามารถออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลก ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ สอดรับกับความต้องการของสังคมโลกที่กำลังต้องการสันติสุขในสังคมยุคดิจิทัล



พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ เปิดรับเฉพาะปริญญาโทและปริญญาเอกเท่านั้น  นี่จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของมหาวิทยาลัย ที่จะเปิดหลักสูตรปริญญา สาขาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมหาจุฬาฯ ที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ



วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

ทำบุญวันเกิด95ปี"แผน วรรณเมธี"ประธานพ.ส.ล.




วันที่ 27 ม.ค.2561 ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ สำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กรุงเทพฯ พระโสภณวชิราภรณ์ เป็นประธานสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ในพิธีทำบุญขึ้นปีใหม่ที่จัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และทำบุญวันเกิด 95 ปี นายแผน วรรณเมธี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ในการนี้พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นผู้บรรยายธรรม 


มส.มอบโล่สื่อ-คนดีส่งเสริมคุณธรรม




วันที่ 25 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา ที่สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมมจิตโต) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล "สาขาสื่อมวลชน ข่าวส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม" ตามที่ มูลนิธิคนดี (ประเทศไทย) ร่วมกับ บมจ. ซีพี ออลล์ จัดโครงการมอบรางวัล "คนดีประเทศไทย ปีที่ 9 ประจำปี 2559-2560" เพื่อเชิดชูบุคคล และสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวสารด้านคุณธรรมจริยธรรมอย่างต่อเนื่อง อันสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทย


 รับรางวัล คนดีประเทศไทย ปีที่ 9 ประจำปี 2559-2560 มีดังนี้



1.สาขาประชาชน รางวัลกิตติมศักดิ์ ได้แก่ นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้แสลม ผู้ดำเนินโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อรณรงค์คนไทยร่วมสมทบทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์มอบแก่โรงพยาบาลต่างๆ



2.สาขาประชาชน ได้แก่ นายสุวรรณฉัตร พรหมชาติ พนักงานขับรถแท็กซี่วัย 38 ปี เจ้าของฉายาแท็กซี่อุ้มบุญทำหน้าที่รับผู้ป่วย ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไปส่งโรงพยาบาลโดยไม่คิดเงินมากว่า 20 ปี


3.สาขาประชาชน (สำนึกดี) ได้แก่ นายเจน พวงมาลี อดีตข้าราชการครูเกษียณปี 2550 โดยหลังเกษียณอายุราชการ ได้ตระเวนสอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางสลับกัน 54 โรงเรียน เป็นเวลา 10 ปีจนถึงปัจจุบันโดยไม่รับค่าตอบแทน


4.สาขาเยาวชน ได้แก่ ด.ช.วัฒนชัย เที่ยงธรรม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ของโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่พบรถกระบะเสียหลักตกคูน้ำริมถนน จึงตัดสินใจกระโดดน้ำลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย



และ 5.สาขาสื่อมวลชน ข่าวส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมดีเด่น จำนวน 16 รางวัล แบ่งเป็นสาขาโทรทัศน์ 9 รางวัล ได้แก่ ละครธรรมนำชีวิต สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, รายการปันฝันปันยิ้ม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, รายการธรรมะวันอาทิตย์ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, รายการรู้ธรรมนำชีวิต สถานีโทรทัศน์ช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี (ช่อง 9 เอ็มคอต เอชดี), รายการธรรมรส ธรรมรัฐ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย,รายการสุขทุกวัน 7 วัน 7 กูรู สถานีโทรทัศน์อัมรินทร์ทีวี, รายการอรุณแสงธรรม สถานีโทรทัศน์นิวส์18, รายการพุทธปัญญาภิรมย์ สถานีโทรทัศน์ ทีเอ็นเอ็น24 และ โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ช่องทรูปลูกปัญญา



ส่วนสาขาหนังสือพิมพ์มี 2 รางวัล ได้แก่ คอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และคอลัมน์พระเครื่อง หนังสือพิมพ์ข่าวสด



สาขาสื่อวิทยุมี 3 รางวัล ได้แก่ รายการธรรมะทำไม สถานีวิทยุจ.ส.100, รายการศีลรักษาใจ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 MHzและ รายการเมล็ดพันธุ์ความดี สถานีวิทยุ FM 96.5 MHz คลื่นความคิด บมจ.อสมท. และ



สื่อเว็บไซต์ 2 รางวัล ได้แก่ คอลัมน์ธรรมะกับชีวิต ผู้จัดการออนไลน์ (MGR Online) และ คอลัมน์คนดีของสังคม เดลินิวส์ออนไลน์



สำหรับรายการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม จากช่องทรูโฟร์ยู และช่องทรูปลูกปัญญานั้น  ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ผู้อำนวยการหัวหน้าสายงานทรูปลูกปัญญา มีเดีย และผู้อำนวยการผลิตโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม เป็นตัวแทนรับมอบ อันสะท้อนถึงคุณภาพรายการที่ได้รับการยอมรับ และเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มทรู มุ่งมั่นพัฒนาและนำเสนอคอนเทนต์ที่ดีและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่เยาวชนและสังคมไทยต่อไป

ปศุสัตว์โคราชหนุนพัฒนาเถ้าแก่เล็กบัวใหญ่



วันที่ 26 ม.ค.2561 เทศบาลเมืองบัวใหญ่ ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดร้าน ซีพี พอร์ค ช็อป เถ้าแก่เล็ก ไพโรจน์ฟาร์ม ยกระดับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ได้มาตรฐานปลอดภัย ส่งมอบ เนื้อสัตว์ สด สะอาด ปลอดภัยและผลิตภัณฑ์คุณภาพจากซีพีเอฟ ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงต้นทาง ตรงถึงมือพี่น้องชาวบัวใหญ่ โดยมี น.สพ.พศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา และนายนิพนธ์ ลิ้มวงศ์ยุติ นายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่ เป็นประธานในพิธีเปิดร้าน โดยมี นายประเสริฐ พุ่งกุมาร รองประธานกรรมการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมด้วยนายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร และคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ร่วมด้วย
         


น.สพ.พศวีร์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้เร่งพัฒนาสินค้าเกษตรและสินค้าปศุสัตว์ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มไปจนถึงสถานที่จำหน่าย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ และปลอดภัย โดย ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกับซีพีเอฟ เดินหน้าสนับสนุนเถ้าแก่เล็ก และผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ซีพี พอร์คช็อป และตู้หมูชุมชนในจังหวัดนครราชสีม ให้สอดคล้องกับหลักการมาตรฐานปศุสัตว์ OK ของกรมปศุสัตว์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคได้รับประทานเนื้อสัตว์จากแหล่งผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการ คุณภาพสูง สด สะอาด

เริ่มแล้ว!ขับเคลื่อน"ตำบลช่อสะอาดแห่งแรกของไทย"




หลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ป.ป.ช.จังหวัด ถกนายอำเภอปรางค์กู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกท้องถิ่น สพฐ.และกศน. ยกตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ต้นแบบนำร่อง



วันที่ 25 มกราคม 2561ที่ผ่านมา หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา มจร ร่วมกับมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดศรีสะเกษ (ป.ป.ช.) ร่วมกันปรึกษาหารือกับนายอำเภอปรางค์กู่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารท้องถิ่นในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดศรีสะเกษ (สพฐ.)  และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด (กศน.)   เพื่อหาแนวทางและแสวงหาฉันทามติในการพัฒนาตำบลต้นแบบในฐานะ "ตำบลช่อสะอาดแห่งแรกของประเทศไทย" ซึ่งการขับเคลื่อนตำบลช่อสะอาดครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการต่อยอดจากหมู่บ้านช่อสะอาดที่ได้โครงการจนประสบความสำเร็จมากว่า 3 ปีแล้ว ที่วัดบ้านท่าคอยนาง ตำบลสวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ และศาลาประชาคมตำบลสวาย




นายชล การะเกษ  กำนันตำบลสวาย กล่าวว่า จากเห็นพัฒนาการของหมู่บ้านช่อสะอาดแล้ว เชื่อมั่นว่า จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาตำบลช่อสะอาดประสบความสำเร็จ และที่สำคัญชาวบ้านส่วนใหญ่มีต้นทุนทางความเชื่อทางศาสนาที่ดี เชื่อว่าโครงการนี้จะดึงพลังความสามัคคีออกมา เพื่อสร้างตำบลช่อสะอาดให้เป็นตำบลแห่งความซื่อสัตย์ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืน



ขณะที่นายชาญชัย พลศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวสนับสนุนว่า ช่อสะอาดเกิดจากการเสริมพลังของมือในชุมชน ถ้ามือสะอาดแล้ว การทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนก็จะทำให้ชุมชนมีพลังในการพัฒนา เพราะความซื้อสัตย์จะช่วยพยังให้ชุมชนไว้เนื้อเชื้อใจซึ่งกันและกัน มีเอารัดเอาเปรียบกัน สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดจะระดมคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง



พระมหาหรรษา  ในฐานะผู้เริ่มพัฒนาต้นแบบหมู่บ้านช่อสะอาดร่วมกับนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 5 ของ ป.ป.ช. โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต เป็นที่ปรึกษา โดยได้ย้ำว่า ดีใจที่ได้เห็นผู้นำของตำบลสวายคือนายชลที่มองเห็นความสำคัญของโครงการพัฒนาตำบลต้นแบบของตำบลช่อสะอาดในครั้งนี้  แล้วกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ 10 หมู่บ้านในตำบลได้เห็นความสำคัญของการเข้าสู่ตำบลช่อสะอาด





"หมู่บ้านช่อสะอาดไม่สามารถเจริญเติบโตด้วยอย่างโดดเดี่ยว การที่จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาร่วมกับหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบล ต้องทำให้ทั้งตำบลสะอาด เพื่อให้พลังสะอาดช่วยขับไล่พลังสกปรก หรือพลังที่ไม่ดีให้อ่อนตัวลง พลังสะอาดจะช่วยกระตุ้นให้สังคมมีภูมิคุ้มกันในการร่วมกันต่อต้านการทุจริตตั้งแต่ระดับชุมชนฐานราก และดึงพลังแห่งความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อชุมชนออกมาร่วมสร้างและพัฒนาชุมชนให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน และเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป" พระมหาหรรษากล่าวและว่า




โครงการพัฒนาตำบลช่อสะอาดนี้ เป็นการทำงานแบบ Social Lab หมายถึงการเอาชุมชนเป็นห้องปฏิบัติการจริง โดยจะเริ่มต้นจากการที่ทีมงานทั้งนอกและในชุมชนร่วมกันใช้หลัก SWOT มาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงของแต่ละหมู่บ้าน ทั้ง 10 หมู่บ้านในตำบล แล้วนำประเด็นต่างๆ มาพูดคุยในแต่ละหมู่บ้าน ก่อนที่จะปรึกษาหารือกันในภาพรวม แล้วนำไปสู่การประชาคมทั้งตำบล เกี่ยวกับแผนที่ของเส้นทางการพัฒนาตำบลช่อสะอาด หลังจากนั้น จะเป็นการลงนามความร่วมเพื่อเข้าสู่การเป็นตำบลช่อสะอาดร่วมกัน ทั้งจากทุกหมู่บ้านในตำบล ส่วนงานท้องที่ท้องถิ่น และส่วนงานสนับสนุนภายนอกที่มาจากภาคเอกชน ส่วนงานราชการ และองค์กรทางศาสนา รวมถึงมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และมูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

"อภิสิทธิ์"เตือน!ปชช.มองศก.ไทยแย่กว่ายุคต้มยำกุ้ง



 "อภิสิทธิ์"เตือน!ปชช.มองศก.ไทยแย่กว่ายุคต้มยำกุ้ง  แนะศาสนาต้องไม่แยกจากวิถีชีวิตชุมชน




จากการเดินทางไปบรรยายเรื่อง "ประเทศไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร" ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ พระนิสิต นิสิต มจร และประชาชนทั่วไป เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2561 ที่ผ่านมานั้น



นายอภิสิทธ์ได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพของสังคมโลกปัจจุบันที่เรียกว่า "โลกาวิวัฒน์" ที่มีความเจริญด้วยเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการสื่อสารทำให้ประชาคมโลกไร้พรมแดน ขณะที่ประเทศไทยก็ได้ประกาศนำมาเป็นปัจจัยในการพัฒนาผลักดันให้เป็นประเทศที่เจริญแล้วหรือเรียกว่า "ไทยแลนด์ 4.0" แต่นายอภิสิสิทธิ์ก็เกรงว่า จะเป็นการพัฒนาที่ลืมรากฐานวัฒนธรรมไทย สูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ไทยหรือไม่ เพราะต้องมีความพอดีหากมีความเป็นชาตินิยมหรือ "ไทยนิยม" แต่ก็ต้องเคารพกติกาของสังคมประชาคมโลก หรือกติกาโลกด้วย



"เทคโนโลยีมีผลทั้งทางทำลายและสร้างสรรค์ เทคโนโลยีไม่ใช่แค่สะดวก แต่เทคโนโลยีเริ่มทำลาย เปลี่ยนวิถีชีวิตคน ประเทศที่เจริญแล้วกลัวหุ่นยนต์มาก พนักงานกลัวมาก เพราะหุ่นยนต์มาแทนการบริการของผู้คน ปัจจุบันธนาคารอาจจะต้องปิดสาขา วิชาอาชีพสูงๆ เช่น แพทย์ก็ไม่แน่นอน ต่อไปจะมีระบบคอมพิวเตอร์วินิจฉัยโรคแทนอาชีพแพทย์ได้"  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวและว่า



เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงจึงมีการเปลี่ยนพฤติกรรมคน วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไป  คนปัจจุบันต้องการความเป็นอิสระ คนปัจจุบันไม่นิยมนำตนเข้าไปผูกพันกับองค์กร แต่ต้องการที่จะเป็นเจ้าของกิจการเอง เรื่องสื่อเทคโนโลยีจึงทำให้เรามีสมาธิสั้นลง เราจะคาดหวังให้สังคมไทยอุดมด้วยปัญญา พื้นฐานสำคัญ คือ เราจึงต้องอ่าน พอไม่อ่านก็ฉาบฉวย เวลาจะใส่ร้ายป้ายสีใคร เราเขียนประโยคเดียวก็ทำร้ายใครได้ แต่เวลาเขียนอธิบายต้องเขียนยาว บอกว่าเกิน 7 บรรทัดไม่อ่านเป็นความท้าทาย น่ากลัวมากที่สุดคือการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เอาความเท็จใส่กัน



ขณะที่ธุรกิจสื่อสารมวลชนกังวลมาก เพราะทุกคนเป็นสื่อสารมวลชนด้วยตนเอง เพราะทุกคนสามารถไลฟ์สดด้วยตนเองผ่านทางเฟชบุ๊ค เทคโนโลยีเจริญทำให้คนมีความมั่นคงในชีวิตน้อยลง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจและสังคม



ปัญหาสังคมไทยมีความแตกแยก แบ่งขั้ว ตามอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งระบบประชาธิปไตยนั้นต้องฟังชาวบ้าน เพราะหากไม่ได้ฟังชาวบ้านจะทำให้ไม่เห็นความจริงตอบโจทย์ปัญหาไม่ได้ เมื่อขาดความเป็นประชาธิปไตยจึงทำให้ไม่เห็นหลากหลายมุมมอง ขณะที่ประชากรไทยเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย ปัจจุบันคนไม่แต่งงานหรือแต่งก็อายุ 40 ปีขึ้น แต่งแล้วไม่ต้องการมีลูก เจึงเป็นสังคมที่ขาดแคลนแรงงานจึงเป็นสังคมที่พึ่งแรงงานต่างด้าว



ปัญหาเศรษฐกิจ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีรายได้ระดับปานกลาง แต่รัฐบาลปัจจุบันกำลังจะพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญคือ ติดกับดัก ซึ่งเวลาพูดเรื่องเศรษฐกิจมีการกันพูดคนละภาษา แต่ประชาชนมองว่า ยุคนี้มีเศรษฐกิจแย่ขนาดว่า "ต้มยำกุ้ง" ที่ว่าแย่แล้ว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจแย่ยิ่งกว่า เพราะมีโครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลง



จากสภาพปัญหาดังกล่าวแล้ว "ประเทศไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร"



นายอภิสิทธ์ได้แนะว่าต้องวางแผนยุทธศาสตร์ โดยให้เริ่มที่การพัฒนาคนเตรียมความพร้อมของคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษา ซึ่งได้ยกจังหวัดพิษณุโลกมีการทดลองภาษาอังกฤษ ด้วยการให้ชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษเด็กอนุบาล เป็นโรงเรียนชายขอบชนบท ทำให้เด็กสื่อสารภาษาได้ดีมาก ปัจจุบันคนไปเรียนเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือ"ผู้บริหาร ครู นักเรียน จัดการเรียนรู้ร่วมกัน" ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจ ด้วยการเปิดโอกาสให้คิดทำกันเอง ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้หลักสูตรต่างๆ กลัว สกอ.มากเพราะมีตัวชี้วัดมากมายเพราะต้องการคุณภาพ



ด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เมื่อรัฐบาลตั้งความหวังเรื่อง 4.0 สร้างนวัตกรรมก็จะต้องสร้างคนให้รองรับในยุค 4.0 ธุรกิจ 4.0 ต้องสร้างกฎหมายรองรับ อย่าให้ผิดกฏหมายด้านคอมพิวเตอร์



ด้านการเมืองประชาธิปไตยไม่ใชามุ่งเลือกตั้งอย่างเดียว จะต้องเน้นการมีส่วนร่วม รับผิดชอบ ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ ตามหลักธรรมาภิบาล ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นอย่างประเทศจีน ต้องสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกัน ความเป็น 4.0 จึงจะเกิดขึ้น



สุดท้ายต้องย้อนกลับมาหาคำว่า "คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม" โดยศาสนาจะต้องเข้ามีส่วนร่วมส่วนช่วยให้คนในสังคมดีขึ้น โดยความจริงศาสนากับรัฐเราต้องพึงตระหนักระมัดระวัง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก "ศาสนาต้องไม่แยกจากวิถีชีวิตของชุมชน" ในอดีตวัดเป็นศูนย์กลางมีบทบาทในช่วยให้ชุมชน ศาสนาต้องบทบาทในการช่วยให้สังคมดีขึ้น ประเทศไทยจะเดินหน้าพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน การส่งเสริมการสร้างความเข้าใจระหว่างทุกศาสนาในประเทศไทย โดยเน้นการอยู่ร่วมกันเป็นที่สุด



ปัจจุบันนี้ศูนย์กลางการศึกษาของพระพุทธศาสนาในมหาจุฬาฯถือว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในโลก เพราะมีความก้าวหน้ามากสู่ระดับของนานาชาติโดยมีพระนิสิตจากทั่วโลกเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีวิทยาลัยเขตอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีส่วนช่วยสรรสร้างสังคม ชุมชน ให้เกิดสันติสุขได้



................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)


"หนอนชาเขียว"คว้าแชมป์หน้ากากนักร้อง3


         


วันที่ 25 ม.ค.2561 การแข่งขันในรายการสุดฮิต หน้ากากนักร้อง 3 (The Mask Singer) ทางช่องเวิร์คพอยท์ทีวี  เดินทางมาถึงรอบแชมป์ออฟเดอะแชมป์  ซึ่งแข่งกันระหว่าง หน้ากากหนอนชาเขียว แชมป์สาย B และหน้ากากนางอาย แชมป์สาย C  โดยมีการถ่ายทอดสดพร้อมกับผู้ชมทั้งประเทศ และผู้ชมยังมีส่วนร่วมด้วยการโหวตผู้เข้าแข่งขันที่ชื่นชอบผ่านทาง SMS อีกด้วย



การแข่งขันเริ่มต้นด้วยการโชว์เพลงคู่ของทั้ง 2 หน้ากากในเพลง "มหาลัยวัวชน"  ก่อนที่หน้ากากหนอนชาเขียวโชว์เป็นคนแรกในเพลง "บางระจัน" ของคาราบาว ขณะที่หน้ากากนางอาย ใช้เพลงของ 25Hours สู้ เมื่อทั้งสองคนร้องเสร็จ โลกออนไลน์คาดเดาว่าหน้ากากหนอนชาเขียวไว้ 2 คน ระหว่าง บอย-อนุวัฒน์(บอย พีชเมคเกอร์) และ ปาล์ม Instinct ขณะที่หน้ากากนางอาย อาจจะเป็น อะตอม ชนกันต์,บิว เดอะวอยซ์ หรือ เก่ง ธชย



และผู้ที่คว้าแชมป์รายการหน้ากากนักร้อง 3 (The Mask Singer 3) ชนะคะแนนโหวตจากผู้ชมนั่นก็คือ..."หน้ากากหนอนชาเขียว" ส่วนจะเป็นใครนั้นติดตามสัปดาห์หน้า ขณะที่หน้ากากนางอายคืออะตอม ชนกันต์


........

(หมายเหตุ : ที่มา http://www.banmuang.co.th/news/entertain/101209)

โรดแม็พเลื่อนแล้ว!




มติสนช. 196ต่อ12 ยืดใช้กม.เลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2561 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 และ 3 จำนวน 178 มาตรา ทั้งนี้ ในการพิจารณามาตรา 2 การให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น


นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการขยายเวลาบังคับใช้ว่า เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้ศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีกฎหมายหลายฉบับที่มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายด้วย  ซึ่งมีสมาชิกทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย


การพิจารณาดำเนินมาถึงเวลา 20.30 น. สมาชิกอภิปรายครบถ้วนทั้ง 178 มาตรา หลังจากนั้นที่ประชุม สนช.ได้เริ่มลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 โดยมาตรา 2 ว่าด้วยการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไป 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผลปรากฏที่มีประชุมเห็นด้วย 196 ต่อ 12 งดออกเสียง 14 คะแนน

"วิษณุ"เผยชงหลักสูตรแก้ขัดแย้งตั้งแต่อนุบาลตั้งสำนักงานแก้จน




วันที่ 25 ม.ค.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงเรื่องแผนปฏิรูปประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ 11 ด้านบวก 2 คณะ คือ ตำรวจและการศึกษา ทุกคณะร่างพิมพ์เขียวเสร็จแล้วได้ยกร่างที่หนึ่ง จนเป็นแผนปฏิรูปที่ชัดเจน และในเดือน มี.ค. หรือ ต้นเดือนเม.ย. จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาและประกาศใช้  แล้วเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ



ทั้งนี้แผนปฏิรูป 11 ด้านนั้น แต่ละคณะที่น่าสนใจ อาทิเช่น คณะปฏิรูปการเมือง เน้นการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม แบบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยจะให้มีโรงเรียนประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นด้วยการบรรจุเป็นหลักสูตรพิเศษสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา  คณะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านความเป็นธรรม



คณะปฏิรูปเศรษฐกิจ เน้นการแข่งขันลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน ด้วยการตั้งสำนักงานแก้ปัญหาความยกจน คณะปฏิรูปสื่อสารมวลชน เน้นดุลยภาพ เสรีภาพกับการกำกับด้วยความชอบธรรม หรือเสรีภาพบนความรับผิดชอบ , คณะปฏิรูปสังคม เน้นการสร้างบทบาทชุมชนให้เข้มแข็ง , คณะปฏิรูปพลังงาน เน้นส่งเสริมโซลาร์ฟาร์ม และ คณะปฏิรูปการทุจริต เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเบาะแสการทุจริต

กองทัพภาค2สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร



ปลัดกห.เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่สนามหน้าตึกกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี โคราช


วันที่ 25 ม.ค.2561 พลเอกเทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีพลโท ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นประธานดำเนินงาน  ที่ได้มีแนวคิดต้องการให้กำลังพลได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อเหล่านักรบ และทรงไว้ซึ่งความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่ได้นำพาชาติบ้านเมืองหลุดพ้นจากภัยสงครามการสูญเสีย จึงได้ดำเนินการจัดสร้างเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสืบไป ณ สนามหน้าตึกกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา











วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

"มาร์ค"ชี้ทางไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร



"มาร์ค"ชี้ทางไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร  ปชป.พร้อมทำไพรมารีโหวตชี้ยืด 90วันซ่อนเร้น!!



วัน 25 มกราคม  2561 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บรรยายพิเศษ  เรื่อง "ประเทศไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร"  แก่พระนิสิต นิสิต มจร และประชาชนทั่วไป


นายอภิสิทธิ์มองว่า สังคมไทยในอนาคตอันใกล้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุในกระแสความเจริญทางด้านเทคโนโยลีการสื่อสารสู่ ส่งผลให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นเดียวกัน มีสภาพเป็นคนรวยกระจุกแต่คนจนกระจาย ดังนั้น แนวทางการบริหารประเทศจะต้องรับเสียงจากประชาชนอย่างเช่นประเทศจีนที่เปิดประเทศทำให้ก้าวมาสู้กับประเทศมหาอำนาจได้ ต้องมีหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมความคิด และกระจายอำนาจ




ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.พูดถึงข้อเสนอแก้ไขมาตรา 2 ที่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน เพราะมีเหตุผลจริงๆ เป็นเรื่องการปฏิรูปการเมือง ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค สามารถกำหนดตัวผู้สมัครส.ส.แบบไพรมารีโหวต แต่พรรคการเมืองไม่อยากปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอะไรว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เราพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อการปฏิรูปพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคของประชาชน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของประเทศไทยพรรคประชาธิปัตย์ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพัฒนาพรรคปฎิรูปพรรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เข้ามามีบทบาทบริหารพรรคในระดับต่างๆ รวมถึงการทำงานการเมืองในภาระหน้าที่ต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดอยู่มาได้ถึง 72 ปี เป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งของประเทศไทย
       

     

“สาเหตุสำคัญที่ผู้คนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไป 90 วัน เพราะมองว่าเรื่องนี้มีวาระซ่อนเร้นไม่เป็นปกติ เพราะว่าถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามปกติหลังจากกฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้อย่างแยบยลเหมือที่ทำอยู่ขณะนี้แต่อย่างใด”รองหัวหน้าประชาธิปัตย์กล่าว

สาธุ!พระธรรมวิทยากรขอนแก่นจัดโครงการโลงศพเอื้ออาทร





สาธุ!พระธรรมวิทยากรขอนแก่นจัดโครงการโลงศพเอื้ออาทร แจกฟรีผู้ยากไร้แถมให้ข้าวสารผู้ไม่มีอันจะกิน





วันที่ 24 มกราคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระครูสมุห์อัครเดช โชติญาโณ  31 พรรษา พระธรรมวิทยากร รักษาการเจ้าอาวาสวัดสันติสุขวนาราม  ตั้งอยู่ทางเข้า ร.8 ค่ายสีหราชเดโชชัย ถ.มะลิวัลย์  ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น   ได้จัดโครงการมอบโลงศพแก่ชาวบ้านฟรี เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนที่มีญาติ พี่น้องเสียชีวิตโดยไม่ต้องเสียเงิน โดยได้แจ้งให้ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมสมทบทุนจัดหาผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวคือ "พระครูสมุห์อัครเดช โชติญาโณ พระธรรมวิทยากร" ซึ่งได้มีผู้แจงความจำนงค์ร่วมบริจาคจำนวนหนึ่ง



พร้อมกันนี้ทางวัดยังมีข้าวสารที่จะแจกจ่ายให้กับผู้ยากไร้ที่เดือดร้อน ไม่มีข้าวกินให้ติดต่อมารับข้าวสารที่วัดได้ฟรี โดยตั้งใจนำเงินที่ได้จากกิจนิมนต์-เทศนาธรรมไปซื้อข้าวสารไว้แจกจ่ายชาวบ้านผู้ยากไร้ทั้งหลายให้ได้มีข้าวกินอิ่มท้องเพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนในสังคมอย่างทั่วถึง

"สุเทพ-พวก"เฮ!ได้ประกันตัวคนละ6แสน



เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2561 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทนายความของ 9 แกนนำ กปปส. จำเลยคดีร่วมกันเป็นกบฏ ก่อการร้ายรวม 9 ข้อหา ฯได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันภัย คนละ 800,000 บาท รวม 7.2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้ง 9 ประกันตัวไป โดยตีราคาประกันคนละ 600,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

สภาสตรีฯ-สถ.ขึ้นดอยมอบเสื้อกันหนาวนักเรียน





เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางจิตรี จิวะสันติการ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นางมลสุดา ชำนิประศาสน์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนาไทย - เชียงใหม่ นางสาววรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ ประกอบพิธีถวายสักการะเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ เนื่องในโอกาสครบ 10 ปีของกาสิ้นพระชนม์ พร้อมมอบเสื้อกันหนาวให้ไออุ่นแก่นักเรียนผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ และเลี้ยงอาหารกลางวันนักเรียนผู้รับมอบ ณ โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่



ดร.วันดี กล่าวว่าสืบเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นที่ครอบคลุมทางภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยหนาว หลายครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ลำบากและฐานะยากจน ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนเสื้อกันหนาว และของใช้จำเป็นอื่น ๆ ในการดำรงชีวิต คณะกรรมการสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และองค์กรสมาชิกได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มและเสื้อกันหนาว รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยหนาว โดยได้ดำเนินการมอบไออุ่นแก่นักเรียนในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง เลย อุดรธานี นครพนม และ สกลนคร ผ่านองค์กรสมาชิกสภาสตรีแห่งชาติฯ และภาคีต่างๆ รวมจำนวน 2,500ตัว และในวันนี้ได้นำเสื้อกันหนาวให้ไออุ่นแก่นักเรียนในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวิฒนา จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3,000 ตัว



ทั้งนี้สภาสตรีแห่งชาติฯ เป็นศูนย์กลางขององค์กรสตรีทั่วประเทศ มุ่งมั่นส่งเสริมพัฒนาผู้นำสตรี งานส่งเสริมอาชีพ งานส่งเสริมการศึกษา งานพัฒนาเด็กและเยาวชน งานความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศ และที่สำคัญ คือ การหาทุนทรัพย์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติสืบไป การจัดกิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลุ่ล่วงไปได้ด้วยดีนั้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนาไทย เชียงใหม่ สมาคมสตรีนครเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนา และผู้บริหารท้องถิ่น ท้องที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นอย่างดี



พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมคณะฯได้พบปะผู้บริหาร สมาชิกสภา พนักงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ณ หอประชุมอำเภอกัลยาณิวัฒนา และตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองเจ็ดหน่วย ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งศูนย์ฯ ก่อตั้งโดยชาวบ้านหนองเจ็ดหน่วยเมื่อปี 2534 ซึ่งใช้โบสถ์คริสตจักรบ้านหนองเจ็ดหน่วยในการจัดการเรียนการสอน ต่อมาได้รับที่ดินจากโรงเรียนสหมิตรวิทยาและมีคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ ได้มาสร้างอาคารเรียนใหม่และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน ต่อมาได้โอนให้องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ดูแลปัจจุบัน
มีเด็กนักเรียนจำนวน 19 คน มีครูผู้ดูแลเด็ก 1 คน



ทั้งนี้การเดินทางตรวจเยี่ยมครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากนางสาวรัตนาภรณ์ เข็มกลัด ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่เป็นอย่างดียิ่ง

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

สสส.ยก"สุโขทัยโมเดล"นำรองธรรมนูญสุขภาพสงฆ์ทั่วไทย




"สสส."ยก"สุโขทัยโมเดล"นำรอง ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ หวังบูรณาการงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา





เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 พระราชวิมลเมธี เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ และเลขานุการ ครั้งที่ 1/2561 ณ วัดสังฆาราม อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ผอ.รพ.บ้านด่านลานหอย สรรพากรพื้นที่สุโขทัย ร่วมประชุมด้วย



การนี้ มีพระราชวรมุนี,ดร. (พล อาภากโร,ป.ธ.9) รองเจ้าคณะภาค 6, รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และประธานคณะทำงานโครงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เมตตาเป็นวิทยากรบรรยาย เรื่อง "งานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา และ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ระดับจังหวัด"



พระราชวรมุนี กล่าวว่า การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา จะสำเร็จได้ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การปฏิบัติได้ เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิด และคณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัย เห็นไปในทิศทางเดียวกัน (วิสัยทัศน์) รวมถึงมองเห็นภาพเดียวกันทั้งองค์กร และที่สำคัญเดินไปตามแผนที่วางไว้ (ยุทธศาสตร์) ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เรามีแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (2560-2564) คณะสงฆ์มีพันธกิจหรือภาระงานของคณะสงฆ์ 6 ด้าน คือ (1) ด้านการปกครอง (2) ด้านศาสนศึกษา (3) ด้านศึกษาสงเคราะห์ (4) ด้านเผยแผ่ (5) ด้านสาธารณูปการ (6) ด้านสาธารณสงเคราะห์ และเพิ่มธุระงานพิเศษอีก 1 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก



กล่าวโดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 2560-2564 เรากำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ของแผนฯไว้ว่า "พุทธศาสตร์มั่นคง ดำรงศีลธรรม นำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน" การจะขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ต้องอาศัยค่านิยมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ให้เดินหน้าไปได้ เหมือนน้ำมันเครื่องที่เป็นตัวหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่านิยม (Core Value) คือ "อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา สู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน"



วันนี้เรามียุทธศาสตร์ชาติ เป็นกรอบการพัฒนาระยะยาวของประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ส่วนคณะสงฆ์เราอยู่กันภายใต้พระธรรมวินัย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจารีตประเพณี ในปี 2560-2564 นี้เรามีแผนยุทธศาสต์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เป็น กรอบการพัฒนาระยะยาวของเราเพื่อดำเนินงานตามภารกิจทั้ง 6 ด้านที่จะขับเคลื่อนกิจการพระพุทธศาสนาให้เติบโตยั่งยืนในแต่ละด้าน ดังนี้ (1) ด้านการปกครอง การบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิพล เพื่อส่งมอบศาสนบุคคลที่มีคุณภาพ (2) ด้านศาสนศึกษา การจัดและการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อส่งมอบศาสนทายาท



(3) ด้านศึกษาสงเคราะห์ สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาสงเคราะห์แก่คฤหัสถ์ เพื่อส่งมอบโอกาสทางการศึกษาให้พุทธบริษัท (4) ด้านการเผยแผ่ การสื่อพุทธธรรมสู่สังคมให้เกิดสันติสุข เพื่อส่งมอบแนวทางการดำเนินชีวิตวิถีพุทธ(5)ด้านสาธารณูปการ การบริหารจัดการศาสนสมบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อส่งมอบสถานที่สำหรับพุทธศาสนิกชน (6) ด้านสาธารณสงเคราะห์ การอนุเคราะห์และสงเคราะห์ประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประชาชนผู้ทุกข์ร้อนเบื้องต้น และ (7) การพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาพื่้นที่สำหรับดำเนินกิจกรรมพระพุทธศาสนาระดับชาติและนานาชาติ



ในการดำเนินการ อาจจะต้องทำความเข้าใจกับนิยามศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เช่น เรามีสิ่งที่คณะสงฆ์ต้องทำร่วมกัน (พันธกิจ) ความเชื่อมั่นร่วมกันของคณะสงฆ์ (ค่านิยม) สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 5-20 ปีหลังการปฏิรูปกิจการฯ (วิสัยทัศน์) เป้าหมายหลักที่ต้องทำให้บรรลุวิสัยทัศน์ (เป้าประสงค์) กระบวนการขับเคลือนสู่เป้าหมาย (ยุทธศาสตร์) มีวิธีการเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ (กลยุทธ์) มีแผนงาน กิจกรรม งบประมาณ (โครงการ)



ความหมายง่าย ๆ ของคำว่ายุทธศาสตร์ คือ เราต้องดำเนินงานให้แตกต่างจากเดิมอย่างไร เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ งานปฏิรูปมีระยะในการดำเนินการตามแผนฯ เช่น ในปี 2560-2561 จะเป็นงานสร้างมาตรฐานกระบวนการทำงานมาตรการ แผน นโยบายในทุกด้านของกิจการคณะสงฆ์ ในส่วนคณะสงฆ์ระดับจังหวัด ก็จะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด พ.ศ. 2560-2564 เชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา พ.ศ.2560-2564 รวมถึงตัวอย่างการจัดทำแผนพัฒนาวัด



จะเห็นว่าโครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแผนงาน กิจกรรม งบประมาณในการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ และเป้าประสงค์ที่เรากำหนดไว้ ตามแผนแม่บทของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ต้องบูรณาการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งแผนยุทธศาสตร์จังหวัด หรือวัด กล่าวเป็นตัวอย่างในวันนี้ เช่น งานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มหาเถรสมาคมมีมติรับทราบและใ้หการขับเคลือ่นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 อยู่ในแผนงานของคณะกรรมการฝายสาธารณะสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม มีพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธาน และได้มีพิธีประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2560 เมื่อในวันที่ 20 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อใช้่เป็นกรอบและแนวทางในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์กันเองตามพระธรรมวินัย ชุมชนสังคมดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำชุมชนสังคม



การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนุน 20 พื้นที่นำร่องทั่วประเทศ เพื่อหวังบูรณาการงานปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา วันนี้จึงเป็นการหารือกับคณะพระสังฆาธิการ จ.สุโขทัย ที่ได้ร่วมกำหนัดให้้จังหวัดสุโขทัย้ข้าร่วมเป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่อง ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ในระดับจังหวัด โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ จังหวัดสุโขทัย โดยมีพระราชวิมลเมธีเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยเป็นที่ปรึกษา ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ มีคณะกรรมการประกอบด้วยเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และมีทีมเลขานุการทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์นำโดยฝ่ายสาธารณสุข



คณะสงฆ์จังหวัดสุโขทัยโมเดล หวังใช้การขับเคลืือนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ. 2560 เป็นกรอบและแนวทางบูรณาการแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาสู่การปฏิบัติ อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลศาสนบุคคล การสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรในเขตปกครองทำบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานราชการ และการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ตามมติมหาเถรสมาคม มติที่ 191/2560 และมติที่ 695/2560 โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ผอ.รพ.บ้านด่านลานหอย สรรพากรพื้นที่สุโขทัย ร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการ



เห็นได้ว่า การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติในระดับพื้นที่นี้ นับเป็นกิจกรรมภายใต้แผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยอยู่ในแผนงานด้านสาธารณสงเคราะห์ นับเป็นรูปแบบทำงานเชิงบูรณาการที่เห็นเป็นรูปธรรม ระหว่างคณะสงฆ์และภาคีเครือข่าย โดยยึดหลัก "ทางธรรม นำทางโลก" เพื่อ "พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" สืบไป



"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...