วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

พลังศรัทธาล้น! พุทธไทย เมียนมา ล้านนา วันประชุมเพลิงสรีรสังขารพระภัททันตะ อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอลำปาง




 เมื่อวันที่ ๑๓ ม.ค.๒๕๖๒ มีพิธีประชุมเพลิงสรีรสังขารหลวงพ่อพระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ สานธชสิริปวระ ธัมมาจริยะ อัครมหาบัณฑิต (ดร.) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ จ.ลำปาง ที่ละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๕ ก.ค.๒๕๕๕ ร่วมสิริอายุ ๙๒ ปี ๗๒ พรรษา   ที่ฌาปนสถานชั่วคราว วัดไชยมงคล (จองคา) ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยมีพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พลตรีสุรคล ท้วมเสม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓๒ นายวาทิต ปัญญาคม นายอำเภอเมืองลำปาง นางจุรีรัตน์ ใจแข็ง ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำปาง ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

ประชาชนชาวไทยจากทั่วสารทิศที่เลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพ่อ ต่างก็พากันเดินทางกราบไหว้สรีรสังขารที่ตั้งอยู่บนปราสาทนกการะเวกหรือหัตสถีลิงค์ กันอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งคณะสงฆ์และประชาชาวเมียนมาอีกนับพันคน นอกจากนี้ยังมีประชาชนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้ามากราบไหว้สรีรสังขารของหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดถึงหน้าปราสาทได้ ขณะคนล้นออกไปจนถึงด้านหน้าวัด




ตลอดทั้ง ๒ วันของการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กราบไหว้สรีรสังขารของหลวงพ่อเป็นครั้งสุดท้าย มีประชาชนทยอยกันมาร่วมงานหลายหมื่นคนคน นอกจากนี้นยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่นำอาหารคาวหวานมาร่วมแจกทานให้ประชาชนได้รับประทานกันอย่างไม่อั้นตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ

สำหรับพิธีประชุมเพลิงสรีรสังขารของอดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ รูปแบบพิธีการทั้งหมดเป็นพิธีการในรูปแบบ การประชุมเพลิงพระอริยะสงฆ์เจ้าของชาวเมียนมาทุกขั้นตอน




พระภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ เกิดที่หมู่บ้านต่าสี่ อำเภอเหย่สะโจ่ จังหวัดปขุกกู่ ประเทศสหภาพเมียนมา  โดยเป็นบุตรชายคนที่ ๓ ของนางหง่วยหยี่ และนายโภเตด ด้วยโสรดิถี มกรนักขัตตฤกษ์ แรม ๑๔   ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา ตรงกับวันเสาร์ที่ ๘  มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ (จุลศักราช ๑๒๘๒  คริสตศักราช ๑๙๒๑)  ชื่อว่าด.ช.ตันหม่อง มีพี่น้องร่วมกัน ๔ คน    

ตระกูลนี้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า เมื่อเห็นว่าหมู่บ้านต่าสี่ยังไม่มีวัดเลย จึงได้ร่วมกันสร้างวัดต่าสี่ให้เป็นวัดประจำหมู่บ้าน และได้สร้างเจดีย์ทองประดิษฐานไว้ในวัดนั้นด้วย ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น้อมอัธยาศรัยของลูกหลานทุกคนให้ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์ เมื่อเด็กชายตันหม่องอายุได้ ๗ ขวบ มารดาบิดาได้นำท่านไปฝากไว้ให้เป็นลูกศิษย์วัด กับท่านอาจารย์อูญาณะ เจ้าอาวาสวัดโตงทัตในหมู่บ้านต่าสี่ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐



  
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางพระพุทธศาสนาของเด็กชายตันหม่อง เธอจึงได้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลและชั้นประถม แม้จะเป็นเด็กวัดตัวน้อยๆ ท่านก็มีความทรงจำที่เป็นเลิศกว่าผู้อื่น สามารถทรงจำบทสวดมนต์ต่างๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทรงจำพระปริตร์ ได้ทั้ง ๑๑ สูตร ทรงจำคัมภีร์นมักการะ คัมภีร์โลกนีติ ชยมังคลคาถา ชินบัญชร นาสนกรรม ทัณฑกรรม เสขิยวัตร และขันธกะ ๑๔ วรรค ทั้งภาคบาลีและคำแปล แม้กระทั่งโหราศาสตร์ที่นับตัวเลขด้วยคำภาษาบาลีที่เรียนยาก ท่านก็ได้เรียนจนเข้าใจและจำได้ไม่หลงลืม



   
เมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ท่านมีอายุ ๑๔ ปี ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร มีฉายาภาษาบาลีว่า “สามเณรธัมมานันทะ” โดยมีท่านอาจารย์อูจารินทะ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระอุปัชฌาย์ให้ท่านท่องจำกัจจายนสูตรและคำแปล ตามคัมภีรย์กัจจายนสุตตัตถะ ทั้งได้สอนคัมภีร์กัจจายนสังเขปให้ท่านด้วย

ต่อมา ได้ย้ายไปอยู่วัดปัตตปิณฑิการาม ในตัวอำเภอเหย่สะโจ่ โดยมีอาจารย์อูอุตตระเป็นเจ้าอาวาสและอาจารย์สอน ได้เรียนคัมภีร์เพิ่มเติมอีกหลายคัมภีร์ คือ คัมภีร์พาลาวตาระ กัจจายนะ สัททนีติสุตตมาลา อภิธัมมัตถสังคหะ เทฺวมาติกา ขุททสิกขา กังขาวิตรณี และพระวินัยปิฏก

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓ โดยมีท่านอาจารย์อูสุชาตะ ผู้เป็นศิษย์ท่านอาจารย์อูอุตตระ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พัทธสีมาวัดหญ่องเป่งต่า จังหวัดมอละไมฺยจุน มีนายพละกับนางเส่งมยะ ผู้อยู่บ้านเลขที่ ๒๐ ถนนสายที่สี่ ในจังหวัดมอละไมฺยจุน เป็นโยมอุปัฎฐากถวายเครื่องอัฎฐบริขาร นับว่าท่านได้ทำเพศแห่งสมณะให้มีความมั่นคงถาวรในพระพุทธศาสนา อันเข้าใกล้มรรคผลและนิพพานแล้ว

หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านอาจารย์อูอุตตระ ได้ส่งท่านไปศึกษาพระปริยัตติธรรมต่อ ในสำนักของท่านอาจารย์อูโกสัลลาภิวังสะ วัดมหาวิสุทธาราม จังหวัดมันดเล จึงได้ศึกษาคัมภีร์ไวยากรณ์ภาษาบาลี คือคัมภีร์ปทรูปสิทธิและคัมภีร์ปทวิจยะ

ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จังหวัดมันดเลเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางยุทธศาสตร์ เพราะเป็นเมืองหลวงอันดับสอง รองจากกรุงย่างกุ้ง จึงถูกโจมตีอย่างหนัก เป็นเหตุให้ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะ ย้ายจากจังหวัดมันดเลไปอยู่จังหวัดมะไลย ได้ศึกษาคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ฉันโทปกรณ์ สุโพธาลังการะ เภทจินตา และกัจจายนสาระ ในสำนักของท่านอาจารย์อูจันทโชติ เจ้าอาวาสวัดสิริโสมาราม หมู่บ้านกันจี จังหวัดมะไลย และยังได้ศึกษาคัมภีร์กัจจายนสุตตตัตถะ พร้อมทั้งวิธีการสร้างรูปคำศัพท์ ตามนัยของคัมภีร์กัจจายนะ นามปทมาลา และอาขยาตปทมาลา ได้ศึกษาคัมภีร์พระอภิธรรม คือ คัมภีร์ปรมัตถสรูปเภทนี มาติกา และธาตุกถา รวมทั้งคัมภีร์ปาราชิกกัณฑอรรถกถา (สมันตปาสาทิกา) ท่านพำนักอยู่ที่วัดสิริโสมารามรวม ๕ ปี จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง

ประกอบกับสมัยนั้น แถบจังหวัดปขุกกู่ และอำเภอเหย่สะโจ่ ไม่นิยมสอบสนามหลวง เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียนให้แตกฉานเท่านั้น ท่านจึงไม่สนใจเข้าสอบ ตั้งแต่เป็นสามเณรเรื่อยมาจนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง จึงได้เริ่มสอบสนามหลวง และสอบไล่ได้ชั้น “ปะถะมะแหง่”  แล้วย้ายจากวัดสิริโสมาราม ไปอยู่วัดมหาวิสุทธาราม จังหวัดมันดเล อันเป็นที่พำนักอยู่เดิม ในที่นั้น ท่านได้เรียนคัมภีร์ต่างๆ จากอาจารย์อูโกสัลลาภิวังสะ อูชาเนยยพุทธิ อูสุวัณณโชติภิวังสะ และอูอานันทปัณฑิตาภิวังสะ จนสอบได้ชั้น “ปะถะมะลัด”

หลังจากนั้น ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดเหว่หยั่นโผ่งต่า ได้เดินทางไปศึกษาคัมภีร์ปัฎฐานที่วัดปัฎฐานาราม ภูเขาสะกาย จังหวัดสะกาย เป็นพิเศษด้วย โดยมีท่านอาจารย์อูอินทกะ (อัครมหาบัณฑิต) เป็นผู้สอน จึงทำให้สอบไล่ชั้น “ปะถะมะจี” ได้เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ 

ในปีถัดมา ท่านได้ศึกษาคัมภีร์ต่างๆในชั้นธัมมาจริยะ จากท่านอาจารย์อูกัลยาณะ ผู้มีชื่อเสียงในการสอนคัมภีร์ชั้นธัมมาจริยะมากที่สุดในเมืองมันดเลในเวลานั้น จึงสอบไล่ชั้น “ธัมมาจริยะ” ได้ทั้ง ๓ คัมภีร์ คือ ปาราชิกบาลีและอรรถกถา สีลักขันธวรรคบาลีและอรรถกา ธัมมสังคณีบาลีและอัฎฐสาลินีอรรถกถา  จึงได้รับตราตั้งว่า “สาสนธชธัมมาจริยะ”  และยังสอบได้คัมภีร์พิเศษในชั้นธัมมาจริยะอีก คือ คัมภีร์มหาวัคคาทิอรรถกถา สังยุตตนิกายอรรถกถา และวิภังคาทิอรรถกถา จึงได้รับตราตั้งชั้นพิเศษว่า “สาสนธชสิริปวรธัมมาจริยะ” ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ใครๆจะทำตามท่านได้ เมื่อย้อนดูประวัติการสอบตั้งแต่ชั้นแรกถึงชั้นธัมมาจริยะ ของท่านอูธัมมานันทะแล้ว จึงได้รู้ว่าท่านสอบได้ทุกชั้นมาโดยตลอด ไม่เคยสอบตกเลย จึงได้รับความยกย่องจากอาจารย์และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในวัด ๓ แห่ง คือ วัดสิริโสมาราม จังหวัดมะไลย  วัดปัตตปิณฑิการาม อำเภอเหย่สะโจ่  และวัดเหว่หยั่นโผ่งต่า จังหวัดมันดเล  มาตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบชั้น “ปะถะมะจี” เสียอีก

เมื่อท่านเจริญอายุได้ ๓๗ ปี ช่วงเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ กรมการศาสนาของประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ท่านให้เป็นพระธรรมฑูต เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในต่างประเทศ ท่านจึงย้ายไปอยู่ในสังฆมณฑลกะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นทั้งกรมการศาสนา และมหาวิทยาลัยสงฆ์เพื่อการเผยแผ่ (ธัมมฑูตวิชชาลยะ) ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศญี่ปุ่น ในปีเดียวกันนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย ได้ส่งหนังสือไปถึงกรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่า ขอพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระปริยัตติธรรม มาเป็นอาจารย์สอนที่วัดโพธาราม กรมการศาสนาแห่งประเทศสหภาพพม่าพิจารณาดูความเหมาะสมแล้ว เห็นว่าควรจะส่งท่านอูธัมมานันทะมาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติที่ประเทศไทย จึงได้กราบเรียนโดยรับรองกับท่านว่า เมื่อท่านสอนพระปริยัติธรรมในประเทศไทยได้หนึ่งพรรษาแล้ว จะส่งต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น ท่านจึงได้เดินทางมายังวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่กรมการศาสนานิมนต์ ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒

เมื่อมาอยู่ที่วัดโพธาราม ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะได้ทำการสอนพระปริยัติติธรรมแก่พระภิกษุและสามเณรจำนวน ๒๐๐ รูป เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ยังไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นตามความมุ่งหมายเดิม เพราะท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ นิมนต์ให้อยู่สอนพระปริยัติธรรมต่อ ท่านจึงได้พำนักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเวลาถึง ๖ ปี

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ระหว่างที่ท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น กรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่าได้นิมนต์ท่านให้เดินทางกลับ เพื่อร่วมจัดทำคัมภีร์พจนานุกรมพระไตรปิฏก ฉบับบาลี-พม่า เล่มที่ ๑ และตรวจชำระคัมภีร์ต่างๆ มีสุโพธาลังการฎีกาเป็นต้น ในสมัยปัจฉิมฏีกาสังคายนา ที่มหาปาสาณคูหา กะบ่าเอ กรุงย่างกุ้ง ท่านจึงได้เดินทางกลับประเทศของท่านเป็นการชั่วคราว เพื่อร่วมจัดทำคัมภีร์ดังกล่าว เป็นเวลา ๑ ปี  หลังจากการทำสังคายนาพระบาลี อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งคัมภีร์ต่างๆ ได้สิ้นสุดลง ท่านก็ได้เดินทางกลับมาพำนักอยู่ที่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ตามเดิม

ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านอาจารย์อูเนมินทะ (อัครมหาบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ รูปที่ ๓ ชราภาพมากแล้ว จึงได้ทำหนังสือไปถึงกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า บอกความประสงค์ว่า จะนิมนต์ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะให้มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำอยู่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง ทางกรมการศาสนาประเทศสหภาพพม่า ก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ท่านทราบ ท่านจึงได้ย้ายจากจังหวัดนครสวรรค์มาอยู่ที่วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ ท่านย้ายมาอยู่ที่วัดท่ามะโอเพียง ๕ เดือนเท่านั้น ท่านอาจารย์อูเนมินทะ เจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ ก็มรณภาพลงด้วยโรคชรา  ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เพราะท่านเป็นผู้เรียนเก่ง สอนก็เก่ง มีความรักในการเรียนการสอนมากเป็นพิเศษ จึงไม่อยู่นิ่งเฉย ท่านเริ่มจัดการเรียนการสอนด้านพระปริยัติธรรม อันเป็นหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น ในวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ จนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงขึ้นตามลำดับ กิตติศัพท์ของท่านและสำนักเรียนดังกระฉ่อนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีพระภิกษุและสามเณรผู้ใฝ่ใจศึกษา เดินทางมาจากทั่วทุกมุมของประเทศ เพื่อสมัครเป็นศิษย์ผู้สืบสานการเรียนการสอนที่เข้าถึงแก่นแท้ของพระปริยัติศาสนา จะได้มีปรีชาสามารถจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวร สมกับเป็นพระศาสนาที่ประเสริฐสูงสุดในโลก เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์แขนงเอก จากท่านอาจารย์อูธัมมานันทะ ล้วนเป็นผู้ทรงความรู้ความสามารถที่จะสืบทอดเจตนารมย์ของบูรพาจารย์ จึงได้พากันเอาใจใส่ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง จนสามารถผลิตนักศึกษาให้สอบไล่ได้ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลีเป็นจำนวนมาก ทุกปีเสมอมา ทั้งมีความสามารถในการสอนและทรงจำคัมภีร์ต่างๆ ในระดับชั้นพระไตรปิฎกอันเป็นชั้นเรียนสูงสุดอีกด้วย

ท่านอาจารย์อูธัมมานันทะได้พร่ำสอนลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า “การศึกษาพระไตรปิฎกให้แจ่มแจ้งนั้น จำเป็นต้องอาศัยคัมภีร์พื้นฐาน ๔ คัมภีร์ คือ (๑) คัมภีร์บาลีไวยากรณ์ทั้ง ๓ สาย ได้แก่ คัมภีร์สายกัจจายนะ สายโมคคัลลานะ และสายสัททนีติ  (๒) คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา  (๓) คัมภีร์วุตโตทยฉันโทปกรณ์ และ (๔) คัมภีร์สุโพธาลังการะ  ท่านจึงสอนลูกศิษย์ให้ได้ศึกษาคัมภีร์พื้นฐานของพระไตรปิฎกทั้ง ๔ คัมภีร์นั้นให้ช่ำชองก่อน โดยการให้ทรงจำหลักสูตร ทั้งสอนและอธิบายให้เข้าใจในหลักสูตรอย่างแจ่มแจ้ง แล้วหมั่นสาธยายทบทวนไม่ให้ลืมเลือน และจัดพิมพ์คัมภีร์เหล่านั้นไว้เป็นหลักสูตรจนแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักปราชญ์สายบาลี ได้รับการยกย่องเรียกขานว่า “บาลีใหญ่” มีคัมภีร์ที่ได้รับการจัดพิมพ์แล้วรวม ๒๐ คัมภีร์ คือ

๑. กัจจายนะ                     ๒. ปทรูปสิทธิ  ๓. โมคคัลลานพฺยากรณะ        ๔. สัททนีติ สุตตมาลา ๕. นฺยาสะ                        ๖. อภิธานัปปทีปิกา ๗. สุโพธาลังการะ               ๘. วุตโตทยฉันโทปกรณ์  ๙. สุโพธาลังการะปุราณฎีกา     ๑๐. สุโพธาลังการะอภินวฎีกา ๑๑. ขุททสิกขาและมูลสิกขา     ๑๒. ธาตฺวัตถสังคหะ ๑๓. สัททัตถเภทจินตา           ๑๔. กัจจายนสาระ ๑๕. ณฺวาทิโมคคัลลานะ          ๑๖. พาลาวตาระ ๑๗. สังขฺยาปกาสกะ             ๑๘. สังขฺยาปกาสกฎีกา ๑๙. ปโยคสิทธิ                   ๒๐. วุตโตทยฉันโทปกรณ์แปล

ส่วนคัมภีร์ที่ท่านอาจารย์ได้รจนาขึ้นมี ๔ คัมภีร์ คือ      ๑. อุปจารนยะและเนตติหารัตถทีปนี      ๒. อุปสัมปทกัมมวาจาวินิจฉัย      ๓. สังขิตตปาติโมกขุทเทสวินิจฉัย
     ๔. คัมภีร์นานาวินิจฉัย    

๗๔ ปี ของท่าน ที่ได้อยู่ในร่มผ้ากาสาวพัตร์ ช่างเป็นชีวิตที่แสนประเสริฐสูงสุด บัดนี้ ท่านดำรงอยู่ในฐานะผู้มีวัยอันเจริญครบ ๘๘ ปี ผู้มีอัธยาศรัยอันถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาให้งดงามด้วยวิชชาคือพระปริยัติศาสนาที่ได้ศึกษามาอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ งดงามด้วยจรณะคือปฏิปทาอันเป็นข้อวัตรปฏิบัติอันคล้อยตามหลักพระสัทธรรมที่ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี งดงามด้วยโอวาทานุสาสนีที่ได้ตักเตือนพร่ำสอนมวลหมู่ศิษย์ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน ความงดงาม ความน่าเลื่อมใส ข้อวัตรปฏิบัติที่บริบูรณ์ของท่าน ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ต่างชื่นชมโสมนัส เคารพยำเกรง ถือปฏิบัติเอาเป็นแบบอย่าง พากันเรียกขานด้วยความเคารพและอบอุ่นยิ่ง ว่า “หลวงพ่อ ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ”

ด้วยผลงานด้านการสอนและการเรียบเรียงรจนาคัมภีร์อีกมายมายหลายคัมภีร์ รัฐบาลประเทศสภาพพม่า ได้รับทราบเกียรติคุณความดีในด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของท่าน จึงได้น้อมถวายตำแหน่ง “อัครมหาบัณฑิต” แด่หลวงพ่อ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงเป็นที่รู้จักกันในมงคลนามว่า “หลวงพ่อ ภัททันตะ ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต”   แม้มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของประเทศไทย ก็ได้ทราบเกียรติคุณของหลวงพ่อ จึงได้น้อมถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ท่าน

แม้เวลานี้ หลวงพ่อของพวกเรา จะชราภาพมากแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่ได้คำนึงถึงความชราภาพของตนเองเลย ยังมีดวงหทัยอันเต็มเปี่ยมด้วยเมตตา มีความอุตสาหะพร่ำสอนศิษยานุศิษย์ให้พยายามศึกษาเล่าเรียนอย่างสม่ำเสมอ มวลศิษยานุศิษย์เล่า ก็พากันถือปฏิบัติตามอย่างเคร่องครัด เพราะมาเล็งเห็นโทษที่ไม่ปฏิบัติตาม และเล็งเห็นประโยชน์อันประเสริฐที่ได้ปฏิบัติตาม จึงได้ช่วยกันขวนขวาย จัดการเรียนการสอนตามแนวที่หลวงพ่อได้สอนตนมา ให้สืบทอดถึงรุ่นลูกหลานต่อไปในอนาคต พากันหวังอยู่ว่า หลวงพ่อจะเบาใจและวางใจได้ว่า พระพุทธศาสนาที่แผ่ซ่านอยู่ในสายเลือดของท่านนั้น ได้รับการสืบทอดแล้วอย่างลงตัว สมกับเจตนารมย์ที่ได้ตั้งอธิษฐานไว้ว่า

“จิรํ ติฏฺฐตุ สทฺธมฺโม    ธมฺเม โหนฺตุ สคารวา” ขอให้พระสัทธรรมจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ขอให้ชนทั้งหลายจงมีความเคารพยำเกรงในพระธรรม

เมื่อวันที่ ๑๘-๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางกลับไปเยือนบ้านเกิดเพื่อสงเคราะห์หมู่ญาติ เพื่อเยี่ยมสำนักเรียนที่เคยเรียนเคยสอน และเยี่ยมสำนักที่เคยอยู่อาศัย เพื่อย้อนรอยสู่อดีตอันอบอุ่น สู่ความทรงจำอันยากจะลืมเลือน ที่อยากบอกเล่าให้ลูกศิษย์ทุกคนได้รับฟัง เมื่อเป็นโอกาสดีอย่างนี้ พวกเราเหล่าศิษย์จึงขอติดตามหลวงพ่อไปด้วย เพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง อย่างภาคภูมิใจและชื่นชมโสมนัส  



เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์


โครงสร้างของ “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” ทั้งหมดยึดถือตามแบบโบราณ นับตั้งแต่สะพานเชื่อมไปยังตัวปราสาท เพื่อใช้เคลื่อนย้ายโลงแก้วที่บรรจุสรีระสังขาร ทำด้วยไม้ไผ่แบบโบราณโดยใช้วิธีการขัดสานเป็นรูปร่าง 

ลักษณะพิเศษของ “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” มีรูปร่างโครงสร้างส่วนหัวและลำตัวทำจากโครงไม้ ตกแต่งด้วยกระดาษตะกั่วหลากสีสัน ทำลวดลายเป็นเกล็ด บริเวณส่วนหัวช้างมีความพิเศษคือสามารถขยับเคลื่อนไหวไปมาได้ โดยชิ้นส่วนคอและหัวต้องเคลื่อนไหวหมุนไปมา ใบหูสามารถพับกระพือไปมาได้ ดวงตาทั้ง ๒ ข้างต้องมีลักษณะกลมมน ขอบตาสีแดง ขนตายาวงอนสวยงาม และกะพริบได้ตลอดเวลาเสมือนมีชีวิตจริงๆ ในส่วนของปีกสามารถขยับขึ้นลงได้เหมือนจังหวะการบินของนก บริเวณส่วนหางทำจากเสื่อไม้ไผ่ ตัดเป็นรูปให้มีลักษณะเหมือนหางหงส์ มีลวดลายสวยงาม ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยสวยงามเมื่อได้พบเห็น นอกจากนั้นบริเวณงวงยังยืดหดได้ โดยทำจากผ้าเย็บเป็นทรงกระบอกเลียนแบบงวงช้าง มีเชือกร้อยอยู่ด้านในสำหรับดึงเคลื่อนไหวได้ โดยส่วนนี้จะติดตั้งคนละส่วนกับลำตัว มีกลไกใช้เชือกชักให้เคลื่อนไหวได้ ด้านหน้ามีขันเล็กๆ บรรจุข้าวตอกไว้เพื่อโปรย ลักษณะเหมือนช้างใช้งวงโปรยข้าวตอกเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังการจุดไฟประชุมเพลิงเผาศพปราสาทแล้ว ศรัทธาญาติโยมรวมทั้งลูกศิษย์ลูกหาของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพ จะรอแย่งผ้าเพดานซึ่งเป็นผ้าสังฆาฏิที่ขาดปลิวลงมาถึงพื้น เพื่อเก็บเป็นเครื่องบูชาสักการะหรือเป็นวัตถุมงคลไว้ติดตัว ส่วนท้องจะติดกับพื้นดินตามธรรมชาติของนกในป่า ขณะที่ส่วนยอดจะสร้างปราสาทตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามครอบบนตัวนกอีกชั้นหนึ่ง

บริเวณส่วนยอดมียอดปราสาทฉัตร ๙ ชั้น ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับตามสมณศักดิ์ของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพตามความเชื่อของชาวล้านนา โดย ๓ ชั้นแรก หมายถึง พระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ อีก ๕ ชั้นต่อมา หมายถึง พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโกนาคมโนสัมมาสัมพุทธเจ้า พระกัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโคตโมสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีอาริยเมตไตรโยสัมมาสัมพุทธเจ้า และชั้นที่ ๙ หมายถึง พระนวโลกุตรธรรมเจ้าเก้าประการ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑

ทั้งนี้ โดยรอบเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ทั้ง ๔ ทิศ จะมีเพดานที่ทำจากเสาไม้ไผ่สูง และขึงด้วยผ้าสังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่าของพระภิกษุสงฆ์) โดยเสาไม้ไผ่ทั้ง ๔ ต้นดังกล่าวเปรียบแทน “สีลวิสุทธิ” ซึ่งเป็นศีลของพระภิกษุสงฆ์ที่เรียกว่า “จตุปริสุทธิศีล” กล่าวคือ ศีลเป็นเหตุให้บริสุทธิ์ ๔ ประการ ได้แก่ 

๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล การสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์  ๒. อินทรียสังวรศีล การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  ๓. อาชีวปาริสุทธิศีล การเลี้ยงชีพในทางที่ชอบธรรม  ๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล การบริโภคปัจจัยด้วยการพิจารณา

ส่วนผ้าสังฆาฏิที่ขึงอยู่กับเสาไม้ไผ่ทั้ง ๔ ต้น ลอยกระพือโบกสะบัดอยู่เหนือยอดปราสาทนั้น เปรียบผ้ากาสาวพัสตร์เป็นดั่งธงชัยแห่งพระอรหันต์ที่อยู่เหนือโลก เหนือวัฏฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิด 

สำหรับฟืนที่จะใช้ในงานพิธีพระราชทานเพลิงสรีรสังขารนั้น ได้เลือกไม้มงคล ๗ ชนิดมาประกอบพิธีตามหลักพระอภิธรรม ได้แก่ ๑. ไม้ดอกแก้ว ๒. ไม้ขนุน ๓. ไม้จำปา ๔. ไม้จำปี ๕. ไม้ตุ้มคำ (ไม้มงคลท้องถิ่น) ๖. ไม้จันทน์ และ ๗. ไม้กฤษณา ซึ่งไม้บางชนิดหาได้ยากมาก ในวันงานพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารจะมีประชาชนเหล่าพุทธบริษัทเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชาวล้านนาเชื่อกันว่าการได้มาร่วมงานศพของพระสงฆ์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นสิริมงคลยิ่ง จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองทั้งกายและใจ

นกหัสดีลิงค์ เป็นนกใหญ่ตัวโตเท่าช้าง เรียกชื่อตามเจ้าของภาษาว่า “หัตถิลิงคะสะกุโณ” เรียกตามภาษาของเราว่า “นกหัสดีลิงค์” ตามประวัติศาสตร์ล้านนาเล่าขานสืบต่อกันมาว่า พญานกหัสดีลิงค์ เป็นหนึ่งในสัตว์ในเทวคติของชาวล้านนา อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีความพิเศษคือมีเพศเพียงดั่งช้าง เป็นนกที่มีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ มีพละกำลังดั่งช้างเอราวัณ ๓-๕ เชือกรวมกัน ซึ่งเป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตรา เจ้าเมืองผู้มีอำนาจบารมีสูง เชื่อกันว่าพญานกหัสดีลิงค์จะคาบเอาสังขารร่างของผู้วายชนม์เข้าไปยังดินแดนแห่งสรวงสวรรค์แห่งป่าหิมพานต์ ด้วยความเชื่อดังกล่าว ชาวล้านนาโบราณจึงนำมาเกี่ยวข้องกับพิธีศพ มีการสร้าง “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” ขึ้นในพิธีศพ โดยเชื่อกันว่าพญานกหัสดีลิงค์ซึ่งมีพละกำลังมีความแข็งแรงมากจะเป็น “พาหนะ” นำส่งดวงวิญญาณผู้วายชนม์ไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้าได้โดยสะดวก 

ความเชื่อของชาวล้านนาแต่อดีตกาลนิยมสร้าง “เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์” เพื่อบรรจุศพของกษัตริย์เจ้านายฝ่ายเหนือที่สิ้นชีพตักษัย รวมถึง พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพ เพื่อให้พิธีศพสง่างาม สมฐานะบารมี และเป็นการส่งดวงวิญญาณไปสู่ชาติสรวงสวรรค์ชั้นพรหมโลก เทวโลก แต่ในปัจจุบัน เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์นิยมสร้างเพื่อใช้ในพิธีศพของพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น

ในอดีตเมื่อเจ้านายฝ่ายเหนือสิ้นชีพตักษัย การจัดประเพณีศพของเจ้านายสมัยนั้นจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ ด้วยการสร้างบุษบกสวมทับพระโกศตั้งบนหลังพญานกหัสดีลิงค์ ฉุดลากด้วยช้าง และให้ชาวบ้านชาวเมืองเดินตามขบวนแห่ไปยังสุสาน ปัจจุบันพิธีศพเช่นนี้นำมาใช้กับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ด้วย ทั้งนี้ มีพงศาวดารโยนกตอนหนึ่ง จุลศักราช ๙๔๐ ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ความว่า “นางพระญาวิสุทธิเทวี ต๋นนั่งเมืองนครพิงค์ ถึงสวรรคต พระญาแสนหลวงจึงแต่งการพระศพ ทำเป๋นวิมานบุษบกตั้งอยู่บนหลังนกหัสดินทร์ตั๋วใหญ่ แล้วฉุดลากไปด้วยแฮงจ๊างคชสาร จาวบ้าน จาวเมืองเดินตวยก้น เจาะก๋ำแปงเมืองออกไปตางต่งวัดโลกโมฬี และทำก๋ารถวายพระเพลิง ณ ตี้นั้น เผาตึงฮูปนกหัสฯ และวิมานบุษบกนั้นตวย”

การสร้างเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ ไม่ได้มีแต่ในอาณาจักรล้านนาตามที่หลายคนเข้าใจ แต่ยังมีความเชื่อเดียวกันนี้ในเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า แต่รูปลักษณะตามจินตานาการจะแตกต่างกับทางล้านนา

เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ที่ว่านี้ สร้างขึ้นเพื่อถวายเกียรติให้สมฐานะบารมีแก่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ถึงแก่มรณภาพ ซึ่งเป็นที่เคารพรักยิ่งแก่มวลหมู่มนุษย์และเทพเทวา ไฟพระราชทานเพลิงศพนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่ทรงแสดงความเคารพรัก ความศรัทธา และเชิดชูเกียรติแก่พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่นั้นๆ พญานกหัสดีลิงค์ก็เท่ากับว่าเป็นพานรองรับไฟพระราชทานเพลิงศพของพระมหากษัตริย์นั่นเอง ดอกไม้มีพานเป็นภาชนะรองรับฉันใด พญานกหัสดีลิงค์ก็ใช้เป็นที่รองรับสรีระสังขารของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้เป็นที่เคารพรักฉันนั้น


Cr.#ข้อมูลประวัติจากหนังสืองานละสังขาร 100 วันหลวงพ่อใหญ่ พระมหาสมปอง มุทิโต : รวบรวม
Cr.#ข้อมูลเมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=47415
#บาลีใหญ่
#วัดท่ามะโอ
#พระภัททันตะ
#วัดไชยมงคล #วัดจองคา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนวทางนำ "เครือข่าย ไอที การวิจัย" ช่วยยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยยุค AI

การยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยในยุค AI จำเป็นต้องใช้เครือข่าย ไอที และการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่การวางแผนแ...