วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562

ภาพวาดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สำนักค้นคว้าทางวิญญาณและอาจารย์ลาวัณย์



ภาพวาดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สำนักค้นคว้าทางวิญญาณและอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) อาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)



“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”  หมายถึง วันที่ระลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จ พระมหาอุปราชาของพม่า 

เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” 

เดิมทีนั้น “วันยุทธหัตถี”  วันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจากนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่า การนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับ วันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ

ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า  "ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว  แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด"

โดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อย มาก  ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า "มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้" 

ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ  ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์  ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต  ครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ 

ยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่า เป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็น ที่เลื่องลือไปไกล

หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี  ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยคือ “พระพักตร์และพระวรกายของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเช่นไร”

การวาดภาพสมเด็จพระนเรศวรเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  โปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างภาพชุดเรื่องสมเด็จพระนเรศวรขึ้นเป็นครั้งแรก จำนวน ๙๔ ภาพ ซึ่งเป็นฝีมือการวาดของกลุ่มช่างหลวงหลายคน และยังมีการเขียนโคลงภาพพระราชพงศาวดารกำกับภาพด้วย ๓๗๖ บท ก่อนจะนำไปแสดงที่ท้องสนามหลวงในงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายหลายพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และยังพิมพ์เป็นสมุดพระราชทานแจกด้วย  นอกจากนี้แล้ว ยังมีภาพวาดสมเด็จพระนเรศวร ที่ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด คือ พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา 

อย่างไรก็ตาม ในสมัยปัจจุบัน มีการวาดภาพสมเด็จพระนเรศวรเช่นกัน แต่แตกต่างจากภาพวาดในสมัย ร.๕ ที่พระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอนยุธยา อย่างสิ้นเชิง  "พระพักตร์ ทรงพระเกศา และฉลองพระองค์" 

ทั้งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ  ในสมัยที่มีอาจารย์พร รัตนสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการสำนัก ได้มีการวาดภาพสมเด็จพระนเรศวรออกมา ๒ ภาพ คือ ภาพฉลองพระองค์ในวันทรงทำยุทธหัตถี และภาพวาดฉลองพระองค์ปกติ เมื่อวาดเสร็จได้พิมพ์แจกให้ผู้สนใจนำไปสักการบูชาหลายหมื่นใบ การเขียนรูปเหมือนของบุคคลที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย ไม่ว่าตัวจริงหรือรูปถ่าย และบุคคลนั้นก็เสียชีวิตไปแล้วด้วย เป็นกิจกรรมหนึ่งของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ  ทั้งนี้ สำนักค้นคว้าทางวิญญาณซึ่งมีบุคคลที่สามารถเข้าสมาธิได้ลึกมาก จนติดต่อกับโอปปาติกะ ในระดับเทพได้

นอกจากนี้แล้ว สถาบันค้นคว้าทางวิญญาณได้พิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณหลายเรื่องหลายกรณี ได้มีโอกาสออกไปสำรวจโบราณสถานหลายแห่งร่วมกับ อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ดีในทางศิลปะสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ และมีความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี 

เพื่อจะหาข้อมูลพิสูจน์ว่า โอปปาติกะซึ่งเคยมีความรู้เกี่ยวข้องกับโบราณสถานนั้นๆ เพื่อที่จะสามารถบอกเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโบราณสถานเจดีย์ หรือวิหาร พระพุทธรูป และอื่นๆ ได้มากน้อยเพียงไร เพื่อจะทำให้คนทั้งหลายเกิดความเชื่อได้อย่างสนิทใจ



ในการเขียนรูปบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ ได้รับความช่วยเหลือจาก อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ (ดาวราย) อาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี ๒๕๕๙ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ อาจารย์ศรีเพ็ญ จัตุทะศรี แห่งสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ โดย อาจารย์ลาวัณย์ จะเขียนตามคำบอกของอาจารย์ศรีเพ็ญ เมื่อเขียนออกมาแล้ว ปัญหาก็คือ คนที่เชื่อเป็นรูปเหมือนของอดีตกษัตริย์จริงๆ ก็มีอยู่ แต่คงไม่มากนัก คนที่ไม่เชื่อดูจะมีมากกว่า สำนักค้นคว้าทางวิญญาณจึงพยายามพิสูจน์ในเรื่องนี้



ทั้งนี้ อาจารย์ศรีเพ็ญ และอาจารย์ลาวัณย์ ได้ร่วมมือกันเขียนรูปเหมือนของอดีตกษัตริย์ของไทย ๑๒ พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนเม็งรายมหาราช ท่านเซนต์เบอร์นาร์ด พ่อหมอชีวกโกมารภัจ พระนางจามเทวี และเจ้าหญิงแสนหวี

อย่างไรก็ตาม การเขียนภาพจากการเข้าสมาธิของอาจารย์ศรีเพ็ญ และวาดภาพโดยอาจารย์ลาวัณย์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการวาดภาพ เพราะที่ผ่านมา มีภาพวาดของพระอริยสงฆ์ในอดีต ๒ รูป ที่ใช้วิธีการเดียวกัน คือ ภาพหลวงปู่ทวด และภาพหลวงปู่เทพโลกอุดร ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงของท่าน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครเห็นตัวท่านจริงๆ

เล่ากันว่าในสมัยที่อาจารย์พรยังอยู่เมื่อถึงเวลาทำการทดลองพิสูจน์วิญญาณ ในแต่ละครั้งจะสนุกและตื่นเต้นมาก  วิธีการพิสูจน์วิญญาณของอาจารย์พรนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่ทุกวิธีจำเป็นต้องมี “สื่อกลาง”ที่จะทำการติดต่อกับเหล่า” โอปปาติกะ “หรือดวงวิญญาณเหล่านั้นเพื่อสอบถามข้อมูล ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “สื่อกลาง “

ในครั้งนั้นคือ อ.ศรีเพ็ญ ปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ ทำหน้าที่บริหารงานแทนอาจารย์พรร่วมกับคณะกรรมการของมูลนิธิอาจารย์พรอีกหลายท่าน

อ.ศรีเพ็ญ เป็นศิษย์เอกที่อาจารย์พรท่านฝึกสอนด้านธรรมะและ สมาธิ ให้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนและเมื่อบวกกับความสามารถพิเศษที่มีมาแต่เดิมทำให้คุณศรีเพ็ญติดต่อกับเหล่าโอปปาติกะหรือเทพเบื้องบนชั้นสูงได้ 

ทั้งนี้ อ.ศรีเพ็ญ เล่าว่า ในสมัยก่อนอาจารย์พรท่านจะไปสอบธรรมะตามโรงเรียนต่างๆ แทบทุกโรงเรียนวิธีการสอนของอาจารย์พรนั้นสนุกและได้ความรู้เพราะท่านจะเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างการฝึกสมาธิให้ฟังด้วย 

เมื่อฟังแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์มาก อ.ศรีเพ็ญจึงชักชวนเพื่อนๆ ให้มาเรียนพุทธศาสนา กันที่วัดมหาธาตุท่านพระจันทร์ซึ่งอาจารย์พรท่านสอนอยู่ที่นั่น จนกระทั่งภายหลังได้เข้ามาช่วยงานอาจารย์พรเต็มตัวโดยเป็นหลักสำคัญในการช่วยติดต่อวิญญาณ

ความสามารถพิเศษตรงนี้ อ.ศรีเพ็ญ อธิบายว่า ไม่รู้ว่าตัวเองพิเศษ เมื่อตอนสมัยเด็กๆ เวลานอนทุกวันจะฝันว่าตัวเองนอนอยู่แล้วตัวลอยขึ้นและชอบเห็นอะไรที่คนอื่นไม่เห็น แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเราเห็นผิดปกติจากคนอื่นก็คิดว่าคนอื่นเขาเห็นเหมือนที่เราเห็น 

อย่างกำลังนั่งคุยก็เห็นคนอื่นเดินผ่าไปผ่านมา แล้วเวลานอนหลับก็จะมีคนมานั่งบนหัวนอนทุกวันแล้วเขาก็พูดอะไรให้ฟัง ตั้งแต่จำความได้ก็เป็นอย่างนี้มาเรื่อยตอนนั้นไม่เคยสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไรเพราะยังไม่ได้ฝึกสมาธิ”

“สมาธิ” ที่ อ.ศรีเพ็ญ ฝึกนั้นใช้หลักของ อานาปาณสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออกจนเมื่อ จิตนิ่ง “ความว่าง”ก็จะเกิด ช่วงเวลานี้เองที่คุณศรีเพ็ญได้ไปเห็นและสัมผัสกับ “โอปปาติกะ”หรือ “เทพชั้นสูงหลายๆ ท่าน ความสามารถทางด้านนี้ใช่ว่าจะเกิดได้กับทุกคน คงอยู่ที่พื้นเดิมและ บุญบารมีที่เคยสั่งสมมาแต่อดีตชาติด้วย

คุณศรีเพ็ญได้เล่าถึงการค้นคว้าพิสูจน์วิญญาณในสมัย อาจารย์พรให้ฟังว่า การค้นคว้าทางวิญญาณสมัยอาจารย์พรยังอยู่ก็มีหลายอย่าง ทั้งนี้ก็เพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของชีวิตหลังความตายว่าเมื่อตายไปแล้วมีชีวิตอยู่อย่างไร

บางคนคิดว่าเมื่อตายแล้วก็ต้องเกิดคือเกิดมาเป็นคนเท่านั้นแต่จริงๆ แล้วคนเราพอตายปุ๊บจะเกิดทันทีโดยเกิดเป็น "โอปปาติกะ" เป็นกายทิพย์ก่อนที่จะมาเกิดเป็นคนอีกทีหนึ่ง และช่วงที่เกิดเป็น”โอปปาติกะ“นั้น

"บางคนอาจจะมีชีวิตอยู่ยาวนานแล้วแต่ภพภูมิที่ได้ไปอยู่แต่ละชั้น แต่ละภูมิจะมีชีวิตยืนยาวไม่เท่ากัน ชีวิตกายทิพย์ไม่ใช่ชีวิตที่เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อหรือตามนุษย์ธรรมดา จะต้องฝึกสมาธิจนถึงขั้นที่เราจะเข้าไปสู่มิติอันนั้นได้ มีความละเอียดพอที่จะติดต่อกับท่านซึ่งตายไปและอยู่ในภพภูมิต่างๆ”

การค้นทางวิญญาณสมัย อาจารย์พรบอกว่าการติดต่อกับคนที่ตายไปแล้วจะมีอยู่ ๓ วิธี คือ  การเล่นผีถ้วยแก้ว การเข้าทรง และการติดต่อทางสมาธิ กรรมวิธีในการวาดภาพ วิธีการเขียน คือ ทุกครั้งที่จะลงมือเขียน อาจารย์ศรีเพ็ญจะต้องติดต่ออัญเชิญท่านไว้ก่อน ซึ่งหน้าที่ในการติดต่อนั้นเป็นของพ่อฤาษี  (เทพเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งมาช่วยเหลืองานของสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ) 

เมื่อท่านทรงอนุญาตและนัดเวลาแล้ว จึงจะเขียนได้ เมื่อถึงเวลาตามนัด คุณศรีเพ็ญจะเข้าสมาธิไปดูท่านก่อน ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน ๑ นาที เมื่อจำรูปร่างลักษณะส่วนที่จะเขียนได้แล้ว ก็จะออกจากสมาธิมาบอกให้อาจารย์ลาวัณย์เขียน 


ครั้งแรกอาจารย์ลาวัณย์ก็จะเขียนให้ดูก่อนตามคำบอก เมื่อไม่เหมือนก็จะต้องลบแล้วเขียนใหม่จนกว่าจะเหมือน และบ่อยครั้งที่สุดจะต้องเข้าไปดูอีก  เพื่อให้แน่ใจว่า เหมือนจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น กว่าจะเขียนขึ้นมาได้แต่ละรูปจึงต้องใช้เวลานานนับเป็นเดือนเป็นปี ในกรณีที่มีรายละเอียดเครื่องทรงเครื่องประดับมาก

วิธีการเขียนนี้ อาจารย์ศรีเพ็ญ ผู้เข้าสมาธิไปพบกับท่านใดก็ตามก็จะมาเล่าให้ศิลปินผู้เขียน คือ อาจารย์ลาวัณย์ฟัง อาจารย์ก็จะเขียนไปตามคำบอกเล่า อาจารย์ศรีเพ็ญ ก็จะต้องเข้าสมาธิ ออกจากสมาธิ สลับกันนับเป็นหลายสิบครั้ง 

เพื่ออธิบายรายละเอียดต่างๆ ให้อาจารย์ลาวัณย์ฟัง และเขียนแก้ไขไปเรื่อยๆ จนอาจารย์ศรีเพ็ญ บอกว่า เหมือนแล้วใช้ได้แล้ว ก็ถือว่าเสร็จงานไป

ความจริงแล้ววิธีการนี้ก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะตำรวจก็ใช้วิธีการนี้ในการสเก็ตช์ภาพคนร้าย  คนหาย จากพยานที่พอจำหน้าได้ เพียงแต่ตำรวจจะสเก็ตช์เพียงคร่าวๆ เพราะพยานเล่าได้จากความจำเท่านั้น 

แต่ อ.ศรีเพ็ญ เข้าสมาธิไปพบตัวจริงได้ตลอดเวลา จึงสามารถเล่ารายละเอียดได้มากกว่า ทำให้รูปมีความสมบูรณ์เหมือนมากกว่า 

ทั้งนี้ มีการพิสูจน์วิธีการเข้าสมาธิของอาจารย์ศรีเพ็ญ กับการวาดรูปของอาจารย์ โดยให้ไปเขียนรูปบุคคลในยุคปัจจุบันที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานนัก และมีญาติสนิทเหลืออยู่ เช่น ลูก สามี ภรรยา 

ที่สำคัญ คือทั้ง ๒ คนนี้ต้องไม่เคยพบเห็นผู้ตายมาก่อนเลย และต้องไม่เคยเห็นรูปด้วย เมื่อเขียนจนพอใจแล้ว ก็นำมาให้ญาติ พี่ น้อง ผู้ตายดู ถ้ายอมรับว่าเหมือนรูปญาติที่ตายไปแล้ว ก็ย่อมพิสูจน์ได้ว่า การติดต่อทางสมาธิกับโอปปาติกะรวมเทพต่างๆ นั้น เป็นไปได้จริง ซึ่งเป็นการพิสูจน์โดยปริยายว่า  ภพภูมิหลังการตายจากมนุษย์ไปแล้วมีจริงด้วย ซึ่งมีเอกสารและหลักฐานยืนยันหลายสิบกรณีในหนังสือชื่อ “ประวัติการสร้างอนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง"

#ภาพวาดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
#สำนักค้นคว้าทางวิญญาณ และ
#อาจารย์ลาวัณย์อุปอ
#Cr.เพจพระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รัฐบาลจัดใหญ่เตรียม 24 ขบวน อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากจีน คาดผู้เข้าร่วมกว่า 2,700 คน

พระเขี้ยวแก้วจีนเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างสูงในพระพุทธศาสนา การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐานในประเทศไทยสะท้อนถึงความร...