วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2562

เหรียญหลวงพ่อพรหม รุ่นแรกพระเกจิอาจารย์ที่หันหลังให้คำว่า'แพ้'



หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค  เป็นชาวเมืองกรุงเก่า หรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ ที่ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายหมี-นางล้อม โกสะลัง ในวัยเยาว์ได้ศึกษาร่ำเรียนหนังสือกับพระที่วัดใกล้บ้าน ได้ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อน อุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปากคลองยาง โดยมี หลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ถาวโร"

แล้วมาจำพรรษาที่วัดเขียนลาย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยด้านปริยัติธรรมจนแตกฉาน ต่อมามีความสนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ

เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงจนเข้าสู่เขตประเทศพม่า แต่ก็ยังไม่พบชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นพุทธภูมิสำหรับภาวนาหาความสงบวิเวก จึงเดินธุดงค์ต่อไปจนมาถึง ´ภูเขาช่องแค´ เมื่อไปถึงพื้นที่ก็เกิดฝนตกหนัก ชาวบ้านจึงบอกทางให้ไปหลบฝนในถ้ำ

คืนแรกหลวงพ่อพรหมได้มีนิมิตอันเกิดจากจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาแนะแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงให้ ท่านจึงใช้ถ้ำแห่งนี้ในการฝึกฝนบำเพ็ญภาวนาจนแก่กล้า

ศรัทธาของชาวบ้านก็เริ่มทยอยเข้ามา จากป่าอันรกร้างว่างเปล่าก็กลายเป็นเสนาสนะมากมาย พระภิกษุจากที่ต่างๆ เริ่มทยอยมาฝากตัวเป็นศิษย์รับคำสอน
จากท่าน

จึงซื้อที่ดินสร้างวัด กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ และเสนาสนะต่างๆ ให้ชื่อว่า ´วัดช่องแค´ และจำพรรษาที่นั่นตลอดมา จนมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖

หลวงพ่อพรหม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่หันหลังให้คำว่า ´แพ้´ เสมอมา เรียกได้ว่า ท่านเป็นทั้งหมอเทวดา วาจาศักดิ์สิทธิ์ และสร้างอภินิหารเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามานักต่อนัก จนชื่อเสียงขจรไกลเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล

หลวงพ่อพรหมท่านชอบ ‘ระฆัง’ การสร้างวัตถุมงคลของท่านส่วนใหญ่จึงมีรูประฆัง จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง กรรมวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลของท่านก็ไม่เหมือนใคร

ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัย หยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวนรอบๆ ๙ รอบ

จากนั้นนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆ โดยลืมตาเพ่งกระแสจิต แล้วนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคล จับบาตรใส่วัตถุมงคลแล้วเพ่งกระแสจิตอีกครั้ง

จนกระทั่งวัตถุมงคลเหล่านั้นมีรังสีพุ่งออกมา จึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมอีกครั้งหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธี

ลูกศิษย์ลูกหาทั่วทุกสารทิศมักเดินทางมากราบนมัสการขอพรและขอวัตถุมงคลอันทรงด้วยพุทธคุณครบครันจากท่าน

วัตถุมงคลของท่านนั้นมีหลายแบบหลายพิมพ์ ทั้งรูปเหมือนเนื้อผง-เนื้อโลหะ พระสมเด็จเนื้อผง-เนื้อโลหะ พระกริ่ง และเหรียญ เป็นต้น

วัตถุมงคลที่โดดเด่น โดยเฉพาะ “เหรียญหลวงพ่อพรหม รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๗” เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างโบสถ์ ในปีเดียวกัน

“ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่” สร้างด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ และทองแดงกะไหล่ทอง โดยมากเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง

มักจะเป็นแบบตัดหูเหรียญ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงพ่อพรหมนั่งขัดสมาธิ ห่มจีวรเฉียงบ่า พาดสังฆาฏิ ด้านบนศีรษะหลวงพ่อพรหมมีปรากฏอักขระโบราณ

ด้านล่างใต้ฐานองค์หลวงพ่อเขียนชื่อ “หลวงพ่อพรหม” ขอบเหรียญหลวงพ่อพรหม วัดช่องแคด้านหน้าตั้งนูนทำเป็น ๓ ชั้น ในชั้นที่ ๒ ทำเป็นจุดไข่ปลาเล็กๆ

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลาง จารึกคำว่า “อายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๙ ครั้งที่ ๑” ขอบเหรียญด้านหลังซ้าย เขียนว่า “วัดช่องแค” ขวาเขียนว่า “อำเภอตาคลี” ล่างเขียนว่า “จังหวัดนครสวรรค์”

สำหรับภาพ"เหรียญรูปไข่รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๐๗ หลวงพ่อพรหมวัดช่องแค เนื้อทองคำ" เป็นของ นาย กิตติ พจนานุภาพ นายกสมาคมจิตรางค์คนางค์อนุรักษ์พระเครื่องไทย

ที่สำคัญ คือ นายกฯ กิตติ ได้สมบัติของ "เฮียเจี้ย" พ่อเกิดเกล้ามาทั้งหมด จึงกลาย เป็นผู้สะสมพระเครื่องหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ที่ขึ้นชื่อว่ามากที่สุด จนได้ฉายาว่า

"นายกฯ กิตติ เจ้ากรมพระหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่"

นายกฯ กิตติ บอกว่า สมัยรุ่นๆ พ่อเป็นคนชอบทำบุญ และ เช่าพระสร้างใหม่ทุกวัดทุกสำนัก โดยจะเช่าเนื้อทองคำ เช่าโดยไม่ได้คิดอะไร

ทั้งนี้ นายกฯ กิตติ แนะนำว่า ด้วยความนิยมของเหรียญรุ่นดังกล่าวจึงมีการทำออกมาปลอมขายจำนวนมากเช่นกันและสนนราคาอยู่ที่ หลักแสน หลักล้าน

สำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องสาย หลวงปู่ทิม อิสริโก และ สายอื่นๆ เข้าไปเยื่ยมชมข้อมูลได้ที่

https://www.facebook.com/ศูนย์พระเครื่องหลวงปู่ทิมอิสริโก…/…


#เจ้ากรม
#พระทองคำ
#เหรียญรูปไข่รุ่นแรก
#หลวงพ่อพรหมวัดช่องแค
#หลวงพ่อพรหมถาวโร
#วัดช่องแค 
#นครสวรรค์ 
#พระเกจิอาจารย์ปากน้ำโพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนวทางนำ "เครือข่าย ไอที การวิจัย" ช่วยยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยยุค AI

การยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยในยุค AI จำเป็นต้องใช้เครือข่าย ไอที และการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่การวางแผนแ...