วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

ถ้าจะรักษาพระศาสนา จงรักษาวิถีชีวิตของสงฆ์



...........................

เรื่องนี้ยาวมากกกก
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการอ่าน
คือ เวลา และสติ

...........................

ญาติมิตรคงยังไม่ลืมเหตุการณ์ที่-อยู่มาวันหนึ่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของเราถูกจับสึก

อยู่มาวันหนึ่ง-ในช่วงเวลาโน้น-ผมไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ร่วมกับคนวัดอีกบางคน เรื่องสำคัญที่สนทนากันก็คือเรื่องพระผู้ใหญ่ถูกจับสึกตามที่ปรากฏเป็นข่าวรู้กันทั่วไปอยู่ในเวลานั้น

ในวงสนทนา ได้มีการถ่ายทอดข้อมูลทั้งเบื้องตื้นและเบื้องลึกสู่กันและกันจนตกผลึกดีแล้ว เราก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

เมื่อเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องถามถึงเรื่องถูก-ผิด

และก็เป็นอันว่าไม่ต้องพูดอะไรกันอีกต่อไป
เพราะเราท่านย่อมซาบซึ้งดีโดยทั่วกันถึงพุทธภาษิตที่ว่า

วโส อิสฺสริยํ โลเก

แปลว่า-อำนาจเป็นใหญ่ในโลก

เมื่อเรายังไม่ใช่ผู้อยู่เหนือโลก ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องอยู่ใต้อำนาจ

สงวนกำลังไว้ทำกิจที่ควรทำ
ดีกว่าเอาหัวชนกำแพง
เพราะกำแพงไม่พัง
แต่หัวเราจะพัง

------------------------

จากสถานการณ์ครั้งนี้ ผมมีความเห็นว่า สิ่งที่ต้องดึงกลับมาอย่างเร่งด่วนก็คือ วิถีชีวิตของสงฆ์

ผมเห็นว่า การที่สงฆ์ไม่ครองชีวิตตามวิถีชีวิตของสงฆ์นั่นเองที่เป็นพื้นฐานหรือรากเหง้าใหญ่ที่สุดของปัญหา และเป็นสาเหตุที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการกำจัดกวาดล้าง

เสียงสะท้อนจากเหตุการณ์นี้มี ๒ กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง สมน้ำหน้าพระ สะใจที่ถูกกวาดล้างออกไปเสียได้ กลุ่มนี้เห็นว่าพระทำผิด และเชื่อว่าพระทำผิดจริง ผิดวินัย ผิดวิถีชีวิตของสงฆ์ จึงสมควรโดน

อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นใจพระ เห็นว่าพระไม่ได้มีเจตนาทำผิด เพียงแต่รู้ไม่ทันเล่ห์กลทางกฎหมาย จึงไปกระทำการอันเข้าทางของผู้มีอำนาจ

และเห็นต่อไปอีกว่า ผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจเกินควร เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นยุติธรรม มีกรณีนั่นนี่โน่นอีกมาก-แม้แต่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีเดียวกับพระนี่เอง ก็ไม่เห็นผู้มีอำนาจจัดการอะไรเลย

ถ้าเป็นความผิด ก็เป็นการทำผิดเหมือนกัน แต่ถูกปฏิบัติต่างกัน
คนหนึ่งโดน แต่อีกคนหนึ่งไม่โดน

การที่ผู้คนมีความเห็นต่างกันเช่นนี้ รากเหง้าใหญ่ที่สุดก็มาจากการไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยอันเป็นที่มาของวิถีชีวิตของสงฆ์และเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา

จริงอยู่ ถ้าผู้มีอำนาจไม่มีธรรม พระจะอยู่ในวิถีชีวิตของสงฆ์หรือไม่อยู่ก็คงต้องถูกโดนรังแกจนได้

แต่เสียงสะท้อนจะต่างกัน

ถ้าพระไม่ครองตนอยู่ในวิถีชีวิตของสงฆ์ แล้วถูกผู้มีอำนาจจัดการ ประชาชนจะสมน้ำหน้า จะยืนอยู่ข้างผู้มีอำนาจ

ถ้าพระครองตนอยู่ในวิถีชีวิตของสงฆ์ แล้วถูกผู้มีอำนาจจัดการ ประชาชนจะเห็นใจพระ จะยืนอยู่ข้างพระ

ในที่สุด ผู้มีอำนาจที่ไม่มีธรรมจะอยู่ไม่ได้

การครองตนอยู่ในวิถีชีวิตของสงฆ์จึงเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ป้องกันพระศาสนา และป้องกันสังคมนั้นเองด้วย

กิจที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเอาวิถีชีวิตของสงฆ์กลับมา ก็คือการศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย ปฏิบัติตาม และบอกกล่าวสั่งสอนกันต่อๆ ไป

กิจเช่นนี้ควรเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ที่จะต้องจัดต้องทำต้องดำเนินการ

ขออภัยที่จะต้องกล่าวตามตรงว่า ทุกวันนี้พระภิกษุสามเณรที่ไม่รู้พระธรรมวินัยมีมากขึ้น

ที่รู้ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม-กล่าวคือไม่ดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตของสงฆ์ หากแต่ยกเหตุผลความจำเป็นนั่นนี่โน่นขึ้นมาอ้าง-ก็มีมากขึ้น สามารถเห็นได้ทั่วไปจนดูเป็นเรื่องปกติ

จนในที่สุดจะกลายเป็นว่าไม่มีใครรู้จักวิถีชีวิตที่แท้จริงของสงฆ์-ตามพระธรรมวินัย

ยกตัวอย่างในบางเรื่อง เช่น-การออกบิณฑบาต

ปัจจุบันพระภิกษุสามเณรส่วนหนึ่ง-ซึ่งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ-ไม่ต้องออกบิณฑบาตก็มีอาหารฉัน

การไม่ออกบิณฑบาตกลายเป็นชีวิตปกติ

การออกบิณฑบาตเสียอีกกลายเป็นชีวิตที่ผิดปกติ หรือบางทีกลายเป็นเรื่องตื่นเต้น เห็นเป็นความพิเศษ เอาไปยกย่องชื่นชม ทั้งๆ ที่เป็นกิจที่พระเณรต้องทำเป็นปกติแท้ๆ

เพราะไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถ่องแท้ เวลานี้ก็เริ่มมีกระแสความคิดว่า สังคมเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของสงฆ์จำเป็นต้องเปลี่ยน จะให้ทำอะไรเหมือนสมัยพุทธกาลทุกอย่างไม่ได้อีกแล้ว

ความจริงก็คือ-ไม่มีใครบอกว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้

เราบอกกันแต่ว่าเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องไม่ทำลายหลักการ

ถ้าพระเณรเห็นว่าทุกมื้อซื้อฉันสะดวกกว่า จะเกิดอะไรขึ้น

พระเณรก็จะไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาพระธรรมวินัย-อย่างน้อยที่สุดก็ในเรื่องธรรมเนียมหรือกิจวัตรในการบิณฑบาต เพราะเมื่อไม่ออกบิณฑบาตก็ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้กิริยามารยาทและวัฒนธรรมในการบิณฑบาต

ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องมีบาตร

ต่อไปอีก บาตรอันเป็น ๑ ในอัฐบริขารที่ต้องมีครบในเวลาอุปสมบทก็จะมีไว้พอเป็นพิธี

แทนที่จะสนใจเรื่องการบิณฑบาต พระเณรก็จะสนใจแต่ว่า-จะได้เงินจากไหนมาซื้ออาหารประจำวัน

จากวิธีดำรงชีพด้วยการแสวงหาอาหารจากชาวบ้าน
เปลี่ยนไปเป็นแสวงหาเงินเพื่อเป็นค่าอาหาร

ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา = ชีวิตนักบวชอาศัยโภชนะที่ได้มาด้วยปลีแข้ง-หลักการพื้นฐานของวิถีชีวิตสงฆ์ก็ถูกทำลาย

ที่ร้ายกว่านั้นก็คือเดี๋ยวนี่เกิดวิธีบิณฑบาตแปลกๆ เช่น

ยืนบิณฑบาต

และเวลานี้ก้าวหน้าเป็นนั่งบิณฑบาตด้วยแล้ว

บิณฑบาตหมุนเวียน สมประโยชน์กับแม่ค้า

บิณฑบาตเอาไปขาย เอาไปเลี้ยงครอบครัว

ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาก็คือบิณฑบาตเงิน

นี่เป็นจุดเล็กๆ จุดเดียวที่สามารถทำลายพระศาสนาได้อย่างคาดไม่ถึง

เพราะความไม่รู้ ชาวบ้านก็ตกเป็นเหยื่อ-ด้วยการสนับสนุนพระเณรที่กระทำเช่นนั้น

ทางแก้ก็คือต้องจัดการศึกษาพระธรรมวินัย-จัดอย่างเป็นการฝึกศึกษาจริงๆ เรียนรู้แล้วปฏิบัติในชีวิตจริง

เป็นการศึกษาเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง

ไม่ใช่การศึกษาเพื่อสอบได้-อย่างที่เรากำลังหลงทางกันจนกู่ไม่กลับอยู่ในเวลานี้

จะจัดการศึกษาเพื่อสอบได้ เพื่อสถิติ เพื่อวุฒิ เพื่อปริญญาอะไรก็ตาม-แบบที่ชาวโลกเขาจัดกัน-ก็จัดไปถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องจัด

แต่การศึกษาเพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้องแล้วเอาความรู้ไปเป็นพื้นฐานแห่งการประพฤติปฏิบัติ เพื่อการดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ จะต้องจัดให้มีขึ้นในชีวิตจริง

กิจเช่นนี้ควรเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ที่จะต้องจัดต้องทำต้องดำเนินการกับพระภิกษุสามเณรผู้เป็นสมาชิกขององค์กร แล้วเผยแผ่ให้แพร่หลายออกไปสู่ประชาชน

ให้ชาวบ้านรู้พระธรรมวินัยไปพร้อมๆ กับชาววัด

------------------------

ก็ต้องกลับมาย้ำคำเดิม คือต้องจัดการศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อเรียกสำนึกให้กลับคืนมาว่า อะไรห้ามทำ และอะไรต้องทำ

จนถึงบัดนี้ ผมได้ข้อยุติส่วนตัวแน่นอนแล้วว่า การจัดการแก้ไขหรือพัฒนาใดๆ เกี่ยวกับพระศาสนานั้น อย่าไปขอหรือไปเสนอให้คณะสงฆ์ทำอะไรเป็นอันขาด

ถ้าคนบอก-คนเสนอไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือท่าน
ท่านจะไม่ฟังและจะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

ทางออกมีทางเดียวคือ เราต้องทำเอง

“เรา” ในที่นี้หมายถึงทุกคนทุกเพศทุกวัยที่รักและหวังดีต่อพระศาสนา

ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัย

ศึกษาจนรู้แล้ว เข้าใจดีแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติตาม

หลักปฏิบัติก็ชัดเจนอยู่แล้ว-ทำสิ่งที่ต้องทำ ไม่ทำสิ่งที่ห้ามทำ

พร้อมๆ ไปกับบอกกล่าวเผยแพร่ให้รู้ทั่วกันกว้างออกไป

ศึกษาจนรู้ตรงกันว่าวิถีชีวิตของสงฆ์คืออะไร คืออย่างไร และจะช่วยกันสนับสนุนพระเณรให้สามารถดำรงวิถีชีวิตไว้ได้ด้วยวิธีการอย่างไร

เมื่อรู้แล้วเข้าใจแล้วก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ
ไม่ศรัทธาผิดๆ
ไม่ชื่นชมผิด ๆ
ไม่สนับสนุนผิดๆ

ยกตัวอย่างเพื่อความชัดเจน

๑ ในส่วนพระธรรม

ที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาและเป็นอันตรายระดับลึกก็คือ คนทั้งหลายไปไม่ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะติดตาขายคำสอนของอาจารย์

ทุกวันนี้เราได้ยินแต่คนชื่นชมคำสอนของอาจารย์นั่น อาจารย์โน่น คำสอนของสำนักนั้น สำนักโน้น

แต่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง “คำสอนของพระพุทธเจ้า”

พระพุทธศาสนาเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงประกาศไว้เมื่อประมาณ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว

พระพุทธศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อปีที่แล้ว โดยการคิดค้นของอาจารย์ท่านไหนหรือสำนักไหน

โปรดทราบว่า อาจารย์และสำนักต่างๆ ก็ยังจำเป็นต้องมี

แต่มีในฐานะเป็นผู้นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาบอก แล้วพาคนทั้งหลายไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ไม่ใช่ตั้งตัวเป็นเจ้าของพระธรรมเสียเอง

เรายังเคารพนับถือครูบาอาจารย์และสำนักต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่หน้าที่ของเราคือไปเฝ้าพระพุทธเจ้า คือไปให้ถึงคำสอนที่ถูกต้องแท้จริงของพระพุทธเจ้า

ไม่ใช่ติดอยู่ที่คำสอนของอาจารย์

พระธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คำสอนของอาจารย์ ต้องจับหลักนี้ไว้ให้ดี

หลักการ-ขั้นตอน วิธีศึกษาพระธรรมวินัยทำอย่างไร จะได้ว่ากันต่อไปข้างหน้า

๒ ในส่วนพระวินัย

ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงพุทธบัญญัติ พระเณรทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ อย่าคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง อย่างเช่น

- พระเลี้ยงแม่ อาบน้ำประแป้งให้แม่ กอดแม่

คนสมัยนี้ชื่นชมยินดี สรรเสริญกันมากว่าพระท่านทำดีทำถูกแล้ว

นี่ก็เพราะไม่รู้และไม่รับรู้ว่ามีพระวินัยบัญญัติห้ามพระทำเช่นนั้น ถ้าอยากจะเลี้ยงแม่ มีวิธีอื่นๆ อีกที่พระวินัยอนุญาตไว้ แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีจับเนื้อต้องตัวแม่

ศึกษาพระวินัยก็จะเข้าใจและปฏิบัติถูกต้อง

- เอาเงินใส่บาตรแทนอาหาร กำลังมีผู้นิยมทำกันมาก

ให้เหตุผลว่าใส่อาหารพระท่านก็ได้แต่อาหาร ใส่เงิน พระท่านจะได้เอาเงินไปซื้อของที่จำเป็นอื่นๆ

เหตุผลนี้มีคนเห็นด้วยค่อนโลก

สนับสนุนกันด้วยเหตุผลที่ว่า-สังคมเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของสงฆ์จำเป็นต้องเปลี่ยน จะให้ทำอะไรเหมือนสมัยพุทธกาลทุกอย่างไม่ได้อีกแล้ว

พระวินัยบัญญัติไว้ชัดเจนว่าห้ามพระรับเงิน ห้ามพระซื้อ-ขาย

แต่พระวินัยก็มีทางออก

ตรงทางออกนี่แหละที่ไม่ยอมศึกษาเรียนรู้กัน

ไม่ออกตรงที่ท่านเปิดทางไว้ให้ อ้างว่ายุ่งยาก มากเรื่อง ไม่สะดวก

แหกคอกออกทางอื่นสะดวกกว่า

ตรงนี้แหละที่ผมว่า-ต้องเอาวิถีชีวิตของสงฆ์คืนมา

ซึ่งถ้ามองจากตรงนี้-ตรงที่เราพากันเตลิดออกนอกทางมาไกลถึงเพียงนี้แล้ว-จะเห็นว่าเป็นการยากนักหนาที่จะเอาวิถีชีวิตของสงฆ์คืนมา

ยากจนคนค่อนโลกเชื่อว่าทำไม่ได้

อย่างที่คนค่อนโลกเชื่อว่า ถ้าพระไม่หยิบเงินออกมาจ่ายด้วยตัวเอง พระจะครองชีวิตพระอยู่ไม่ได้เอาทีเดียว

แนวคิดเดิม-พระไม่ต้องใช้เงินจึงจะสามารถดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ได้
แนวคิดใหม่-พระไม่ใช้เงินจะไม่สามารถครองชีวิตพระอยู่ได้

ลองคิดดูเถิดว่า แนวคิดของผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนาเปลี่ยนจากเดิมไปเพียงไร

มันยิ่งกว่าหน้ามือเป็นหลังมือด้วยซ้ำไป

และผู้รู้ท่านบอกว่า แก้ทิฐิความเห็นของคนนั้น ยากยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

หลักพระวินัยบางเรื่อง คนก็ยังไม่ยอมเข้าใจ เช่นกรณีลักทรัพย์

คนทั่วไปเข้าใจตามหลักกฎหมายที่ว่า ต้องได้ทรัพย์นั้นไปอยู่ในครอบครองจึงจะถือว่าความผิดสำเร็จ

ตลอดจนเข้าใจว่า ถ้าเอาทรัพย์มาคืนเจ้าของ ก็เป็นอันไม่มีความผิด

แต่พระวินัยไม่ได้ว่าอย่างนั้น

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด-พระขโมยวัว

ท่านว่าพระตั้งใจขโมยวัวขณะที่วัวยืนอยู่กับที่

พระทำให้วัวก้าวขาออกจากที่ที่มันยืนอยู่

ขาที่ ๑ ก้าวไป ยังไม่เป็นความผิด

ขาที่ ๒ ขาที่ ๓ ก้าวไป ก็ยังไม่เป็นความผิด

แต่เมื่อขาที่ ๔ ก้าวพ้นจากที่ ความผิดสำเร็จเรียบร้อย

พระต้องอาบัติปาราชิกทันที ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เอาวัวไปไหนเลยนี่แหละ

ไม่ต้องพูดถึงกรณีเอาทรัพย์ไปแล้วเอามาคืน-ว่าจะไม่มีความผิด

จะเห็นว่า พระวินัยละเอียดอ่อนกว่ากฎหมายหลายชั้น

เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจหลักพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง

จะเข้าใจได้ถูกต้อง ก็ต้องศึกษาเรียนรู้

ไม่ใช่นึกเอาเอง เข้าใจเอาเอง

พระธรรมวินัยตามที่ยกมาพูดนี้เป็นเพียง “ตัวอย่าง”

ท่านว่าพระธรรมวินัยนั้นมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

เพราะฉะนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายมหาศาลที่ควรรู้และต้องช่วยกันรู้

มิเช่นนั้น พระเณรก็จะปฏิบัติผิด
ชาวบ้านก็จะสนับสนุนผิดๆ หรือไม่ก็คัดค้านผิดๆ

------------------------

คุณสมบัติของผู้รักษาพระศาสนา

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พญาวสวัตดีมารได้เข้าไปกราบทูลว่า บัดนี้พระองค์ก็ได้ตรัสรู้สมความปรารถนาแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว ขอให้ปรินิพพานเสียเถิด

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ขอเวลาประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อพุทธบริษัทมีความรู้ความสามารถที่จะรักษาพระศาสนาสืบต่อไปได้แล้วพระองค์ก็จะปรินิพพาน

พระพุทธองค์เสด็จประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ พรรษา จนมีพุทธบริษัทแพร่หลายพรั่งพร้อมแล้ว พญาวสวัตดีมารก็ได้เข้าไปกราบทูลทวงสัญญา

ตามคำของมารที่กราบทูล เป็นอันพระพุทธองค์ทรงยอมรับว่า บัดนี้พุทธบริษัทมีความสามารถที่จะรักษาพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้แล้ว ก็จึงตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

คำของมารที่กราบทูลเฉพาะความตอนที่แสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัทมีว่าดังนี้ -

.........

เอตรหิ โข ปน ภนฺเต ภิกฺขู ภควโต สาวกา
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุ (ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

วิยตฺตา เป็นผู้ฉลาด

วินีตา ได้รับแนะนำดีแล้ว

วิสารทา เป็นผู้แกล้วกล้า

พหุสฺสุตา เป็นพหูสูต

ธมฺมธรา เป็นผู้ทรงธรรม

ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

สามีจิปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติชอบ

อนุธมฺมจาริโน ประพฤติตามธรรม

สกํ อาจริยกํ อุคฺคเหตฺวา เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว

อาจิกฺขนฺติ เทเสนฺติ ปญฺญเปนฺติ ปฏฺฐเปนฺติ วิวรนฺติ วิภชนฺติ อุตฺตานีกโรนฺติ
ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นได้

อุปฺปนฺนํ ปรปฺปวาทํ สหธมฺเมน สุนิคฺคหิตํ นิคฺคเหตฺวา สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสนฺติ
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

.........

นี่คือคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้

ขอความกรุณากลับไปอ่านซ้ำอีกหลายๆ เที่ยว แล้วลองสรุปดูว่าคุณสมบัติของพุทธบริษัทที่พระพุทธองค์ทรงรับรองว่าจะสามารถรักษาสืบทอดพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้นั้นมีอะไรบ้าง

------------------------

ผมได้อ่านซ้ำอีกหลายเที่ยวแล้ว ขออนุญาตถอดความออกมาตามสติปัญญา เป็นหลักปฏิบัติหรือหน้าที่ของชาวพุทธได้ว่า -

๏ ศึกษาเล่าเรียน
๏ พากเพียรปฏิบัติ
๏ เคร่งครัดบำรุง
๏ มุ่งหน้าเผยแผ่
๏ แก้ไขให้หมดจด

--------------

ขออนุญาตขยายความสั้นๆ

๏ ศึกษาเล่าเรียน

ค้นคว้าอ่านเขียนเรียนพระธรรมสม่ำเสมอ อันไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อันไหนไม่ใช่ อย่าคิดเป็นอันขาดว่ารู้แล้ว

๏ พากเพียรปฏิบัติ

อย่าเรียนเพื่อรู้อย่างเดียว ลงมือปฏิบัติด้วย
คุณธรรมใดๆ ที่ยังไม่มีในตน ขวนขวายบำเพ็ญให้เกิดมี ที่มีแล้วทำให้มีมากยิ่งๆ ขึ้นไป

๏ เคร่งครัดบำรุง

จะดีจะชั่วอย่างไร อย่าทิ้งวัด อย่าทิ้งพระ อย่าเอาความบกพร่องของท่านมาทำให้เราบกพร่องต่อหน้าที่ของเราไปอีกคนหนึ่ง

ถ้าพวกเราไม่ดูแลกันเอง แล้วจะหวังให้ใครเขาเห็นใจ

คนเก่าท่านสอนว่า ถ้าไม่ศรัทธาที่จะไหว้พระ ก็ขอให้มีศรัทธาที่จะไหว้ผ้าเหลืองอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์

๏ มุ่งหน้าเผยแผ่

ช่วยกันประกาศพระธรรมวินัยที่ถูกต้องทุกโอกาสทุกช่องทางที่สามารถทำได้

แนะนำสั่งสอนคนในครอบครัว

ขยายไปถึงญาติมิตรในวงกว้างออกไป

นั่นหมายถึงว่าต้องหาความรู้ไว้ให้พอด้วย

๏ แก้ไขให้หมดจด

ใครสอนผิด พูดผิด และประพฤติผิดต่อพระรัตนตรัย อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระที่จะไปทักท้วงชี้แจง ตรงกันข้าม ต้องถือว่าเป็นธุระโดยตรงที่จะต้องช่วยกันแก้ไข และต้องทำด้วยวิธีละมุนละไมมีเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ไปทะเลาะกัน

..................

วิธีศึกษาพระธรรมวินัย ต้องตั้งหลักกันที่พระคัมภีร์ก่อน

การเริ่มต้นที่พระคัมภีร์ไม่ได้แปลว่าติดคัมภีร์ หรือที่มีผู้เรียกว่า “นักคัมภีร์”

คำนี้มีนัยเหยียดๆ เหมือนกับจะว่าเป็นพวกคิดอะไรเองไม่เป็น เอะอะก็อ้างคัมภีร์ท่าเดียว

เหตุที่ต้องไปตั้งหลักที่พระคัมภีร์ก็เพราะพระคัมภีร์ซึ่งหมายถึงพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานชั้นต้นเดิม ที่ภาษาวิชาการเรียกว่า หลักฐานชั้นปฐมภูมิ (Primary sources) ที่สืบทอดมาถึงมือเราในเวลานี้ เหนือไปกว่านี้ก็ไม่มีอีกแล้ว

แปลว่าพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาเถรวาทของเราไปตัดสินสิ้นสุดหรือชนเพดานอยู่ที่พระไตรปิฎก

เราจึงต้องไปตั้งต้นกันที่นั่น

ต่อจากพระไตรปิฎกก็สืบสายลงมาถึงอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตลอดสายของพระคัมภีร์

เราก็ศึกษาให้ตลอดสาย อย่างที่ท่านพูดว่า-พระบาลีว่าอย่างนี้ อรรถกถาว่าอย่างไร ฎีกา-อนุฎีกาว่าอย่างไร

ต่อจากนั้นลงมาอีกจึงศึกษาว่าเรื่องนั้นๆ โบราณาจารย์ บูรพาจารย์ท่านว่าอย่างไร จนถึงอาจารย์สุดท้ายปลายแถวท่านว่าอย่างไร

จากนั้นจึงมาถึงตัวเรา-เราเห็นอย่างไร เข้าใจอย่างไร

ลำดับการศึกษาต้องเป็นดังที่ว่ามานี้

จะเห็นได้ว่า การศึกษาตามลำดับเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเผด็จการทางวิชาการที่ห้ามคิดนอกตำรา

จะคิดนอกตำราก็คิดได้ แต่ต้องศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่าตำราท่านว่าไว้อย่างไร ดังที่กล่าวมาแล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อปีที่แล้ว โดยการคิดค้นของอาจารย์ท่านไหนหรือสำนักไหน

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า และหลักฐานชั้นต้นสุดบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ไม่ใช่มาจับตอนเอาที่ปลายแถว

พระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ว่าอย่างไร ศึกษาให้ตรงตามนั้น

ต่อจากนั้นตัวเราว่าอย่างไร เห็นด้วยกับพระไตรปิฎกหรือเห็นแย้งเห็นต่าง ก็ว่าไปได้เต็มที่

จะไม่เชื่อพระสูตรไหน
จะบอกว่าพระสูตรไหนไม่ใช่พระพุทธพจน์
จะเชื่อตอนนี้ แต่ไม่เชื่อตอนโน้น
จะบอกว่าพระไตรปิฎกเล่มนั้นเล่มนี้เชื่อไม่ได้
หรือแม้แต่จะปฏิเสธพระไตรปิฎกทั้งหมด
ก็ทำได้เต็มที่
ไม่มีใครบังคับให้ต้องเชื่อหรือไม่ต้องเชื่อ

ขอแต่เพียงให้มีความซื่อตรง

ไม่เชื่อ ไม่นับถือก็ไม่ควรเข้ามาอยู่ในพระศาสนานี้

จะเข้ามาอยู่ในพระศาสนาด้วย
แล้วก็ประกาศคัดค้านคำสอนไปด้วย
อย่างนี้ไม่ใช่ความซื่อตรง

เราจะบอกว่าคัมภีร์ผิด ความเห็นของเราถูก ก็ว่าได้ แต่จะบอกว่าความเห็นของเรานี่แหละคือคำสอนของพระพุทธเจ้า คือคำสอนในพระพุทธศาสนา อย่างนี้ไม่ได้

เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือคำสอนในพระพุทธศาสนาตามหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก

ถ้าแน่ใจว่าความเห็นของเราถูก ก็บอกไปตามตรงว่านี่เป็นความเห็นของเรา

แต่การเอาความเห็นของเราไปใส่พระโอษฐ์พระพุทธเจ้า หรือเอาไปแทนที่พระไตรปิฎก แบบนั้นไม่ใช่การกระทำที่ถูกต้อง

ที่ผิดพลาดในเวลานี้ก็คือ-ส่วนมากไปเริ่มต้นที่คำสอนของครูบาอาจารย์ก่อน คือฟังจากครูบาอาจารย์ก่อนแล้วก็เชื่อว่านั่นคือคำสอนที่ถูกต้อง

พระไตรปิฎก พระบาลี อรรถกถา ฎีกาว่าอย่างไร ไม่รู้ ไม่รับรู้ ไม่สน รับรู้อย่างเดียวว่าอาจารย์ฉันสอนอย่างนี้ ฉันพอใจอย่างนี้

แต่ที่หนักมากก็คือ-ฉันขอยืนยันว่าคำสอนของอาจารย์ฉันนี่แหละคือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า

นั่นก็คือเอาคำสอนของอาจารย์ไปแทนที่พระไตรปิฎก

ถ้าคำสอนนั้นไม่ตรงกับคัมภีร์ ก็พยายามตีความให้ตรงให้จงได้

เวลานี้ก้าวหน้าไปถึงขั้นที่ว่า ถ้าคำสอนนั้นไม่ตรงกับคัมภีร์ก็บอกว่าคัมภีร์อาจจะตกหล่น หรือคลาดเคลื่อน เพราคัดลอกสืบต่อกันมาหลายทอด โอกาสที่จะผิดเพี้ยนย่อมมีได้เสมอ แต่คำสอนของอาจารย์ฉันถูกต้องแน่นอน ไม่ผิดเพี้ยน

และที่บางอาจารย์บางสำนักนิยมยกขึ้นมาอ้างกันอยู่ในเวลานี้อีกแนวหนึ่งก็คือ-สำนวน “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า”

สำนวนนี้มาจากพระสูตรนี้ - พึงสดับ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราถือด้วยผ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่าพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่างนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก? เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่บอก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว? เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับแห่งทุกข์ นี้ทางปฏิบัติดำเนินเพื่อความดับแห่งทุกข์ ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก? เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้นเราจึงบอก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับแห่งทุกข์ นี้ทางปฏิบัติดำเนินเพื่อความดับแห่งทุกข์

สีสปาสูตร สังยุตนิกาย มหาวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙ ข้อ ๑๗๑๒-๑๗๑๓

พระสูตรนี้แหละที่เอาไปพูดกันสั้นๆ ว่า “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า” ความมุ่งหมายที่ยกขึ้นมาพูดก็เพื่อจะบอกว่า คำสอนของข้าพเจ้าหรือคำสอนของอาจารย์ข้าพเจ้าแม้จะไม่มีหรือไม่ตรงกับพระไตรปิฎก ก็ไม่ควรจะมาบอกว่าเป็นคำสอนที่ผิด เพราะนี่เป็น “ใบไม้ในป่า” คือเป็นคำสอนส่วนที่พระพุทธเจ้าไม่ได้นำมาตรัสสอน แต่ข้าพเจ้าและอาจารย์ของข้าพเจ้ากำลังนำมาสอนเพื่อให้คำสอนของพระพุทธเจ้าสมบูรณ์ขึ้น

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ชอบอ้างทฤษฎี “ใบไม้ในกำมือกับใบไม้ในป่า” อ่านพระสูตรนี้ไม่ตลอดหรือไม่ก็จงใจแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ที่พระองค์ไม่ทรงนำ “ใบไม้ในป่า” มาตรัสสอนก็เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์

“ใบไม้ในป่า” เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ไม่นำมาตรัสสอน
ไม่นำมาตรัสสอน เพราะไม่มีประโยชน์
นั่นก็คือ “ใบไม้ในป่า” เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์
แต่นักเผยแผ่ศาสนายุคใหม่พยายามจะเอา “ใบไม้ในป่า” มาสอนอีก

จะให้เข้าใจว่ากระไร

เราทั้งหลายที่เข้ามาอยู่พระศาสนาของพระพุทธเจ้าจึงควรเข้าใจ และเมื่อเห็นใครเอา “ใบไม้ในป่า” มาสอนก็ควรที่จะช่วยกันรู้ทัน

------------------------

เวลานี้มีแนวคิดชนิดหนึ่งกำลังได้รับความนิยม นั่นคือแนวคิดที่ว่า
อย่าบังคับให้พระไปนิพพานกันนักเลย ให้ท่านอยู่ทำประโยชน์แก่สังคมก็พอแล้ว

แนวคิดนี้มีพื้นฐานมาจากความจริงที่ว่า คนทุกวันนี้กิเลสหนาปัญญาหยาบ ยังตัดกิเลสไปนิพพานไม่ได้ พระภิกษุสามเณรก็อยู่ในระดับเดียวกับชาวบ้านนั่นเอง ทำไมจะต้องมากะเกณฑ์ให้ท่านต้องไปนิพพานด้วยเล่า

ฟังแล้วน่าคล้อยตาม

แต่ความจริงแนวคิดนี้พลาดถึง ๒ ชั้น!

พลาดชั้นแรก คือเข้าใจนิพพานคลาดเคลื่อน-คลาดเคลื่อนมากๆ ด้วย

เวลานี้คนส่วนมากพากันเข้าใจว่านิพพานคือโลกอีกโลกหนึ่ง จะบรรลุได้ก็ต้องหลังจากตายแล้ว และคนที่จะไปนิพพานคือคนที่ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น นอกจากปลีกตัวออกจากสังคม แล้วก็ปฏิบัติธรรมมุ่งหน้าไปนิพพานสถานเดียว

แนวคิดแบบนี้พลาดอย่างไร ขอให้ดูความจริงสมัยพุทธกาล ก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าเองก็ดี พระอรหันต์ทั้งหลายก็ดี ท่านได้บรรลุถึงภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน” เรียบร้อยแล้ว แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ยังอยู่ในสังคม ไม่ได้หลบลี้หนีหน้าไปไหน พระพุทธองค์ทรงทำงานเพื่อสังคมอยู่ถึง ๔๕ ปี พูดภาษาชาวบ้านคือทำงานจนตาย พระอรหันต์ทั้งหลายก็ช่วยกันทำงานจนตายทั้งนั้น

ยิ่งบรรลุนิพพาน ยิ่งทำงานช่วยสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าดูให้ทั่วทั้งบริษัท ๔ ก็จะเห็นแต่คนทำงานเพื่อสังคมทั้งสิ้น

อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นฝ่ายคฤหัสถ์ แม้จะยังไม่บรรลุนิพพาน แต่ที่เป็นอริยบุคคลมีอยู่เป็นอเนกอนันต์ คนเหล่านี้ทำงานเพื่อสังคมอย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพมาก

เฉพาะที่มีหลักฐานบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ก็มีให้อ่านกันไม่หวาดไหว
ที่ไม่ได้บันทึกไว้อีกเท่าไร ประมาณไม่ได้

ทั้งท่านที่ถึงนิพพานแล้วและที่ถึงกระแสนิพพาน (คือต้องได้บรรลุนิพพานแน่นอน) ล้วนแต่ยังอยู่ในสังคมทั้งสิ้น ยังทำประโยชน์ให้แก่สังคมทั้งหมด ไม่มีใครทิ้งสังคมเอาตัวรอดไปแต่ผู้เดียว-อย่างภาพในจินตนาการผิดๆ ของบางพวกบางคน

อย่างเช่นคำที่พูดกันว่า-เถรวาทเป็นนิกายที่เอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียว จึงถูกเรียกว่า “หีนยาน” ยานชั้นต่ำ ยานของคนที่ตัดช่องน้อยแต่พอตัว

ถ้าเฉลียวใจคิดถึงความเป็นจริงและข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่โทนโท่ ก็จะคิดได้ทันทีว่าเป็นคำกล่าวหาที่ไร้สาระสิ้นดี

นิพพานนั้นใครจะบรรลุ ผู้นั้นต้องปฏิบัติดำเนินด้วยตนเอง ไม่มีผู้วิเศษที่ไหนสามารถบันดาลให้ใครบรรลุนิพพานได้ เพราะฉะนี้จึงไม่มีความหมายของ “มหายาน” ที่หมายถึงยานที่พาคนไปนิพพานได้เยอะๆ อย่างที่มักตีขลุมกัน

กลับมาเข้าใจกันให้ถูกต้องว่า นิพพานคือภาวะที่สามารถบรรลุได้ในชีวิตนี้ เมื่อบรรลุแล้วสามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้ในชีวิตนี้ และควรพยายามไปนิพพานกันในชาตินี้ทีเดียว ไม่ต้องรอชาติหน้าหรือชาติไหนอีกแล้ว

อีกประการหนึ่งคือต้องขอร้องให้ลบภาพเก่าๆ ออกจากความเข้าใจเสียทีว่า คนจะบรรลุนิพพานได้ต้องไปนั่งหลับตาภาวนาอยู่คนเดียวในป่า

ถ้าศึกษาประวัติที่บันทึกไว้ในคัมภีร์จะพบว่ามีคนเป็นอันมากที่บรรลุมรรคผลขณะที่กำลังทำงานตามหน้าที่อยู่นั่นเอง (เคยอ่านพบว่ามีสตรีนางหนึ่งบรรลุธรรมขณะที่กำลังทำกับข้าวอยู่หน้าเตาไฟด้วยซ้ำ ขณะที่เขียนเรื่องนี้ยังไม่มีโอกาสสืบค้น ยังไม่ยืนยัน เดี๋ยวจะเป็นการกล่าวตู่คัมภีร์)

การจะไปนิพพานจึงไม่ได้แปลว่า จะต้องละทิ้งภารกิจที่ควรทำอื่นๆ ทั้งหมด ไม่รับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น เปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นอีกแบบหนึ่ง-เหมือนกับว่าต้องหายไปจากสังคมหรือหายไปจากโลกโดยสิ้นเชิงอย่างที่มักเข้าใจกัน

ดังนั้น แทนที่จะพูดว่า อย่าบังคับให้พระไปนิพพานกันนักเลย ให้ท่านอยู่ทำประโยชน์แก่สังคมเถิด

ก็ควรจะช่วยกันพูดใหม่ คือพูดถวายกำลังใจแก่พระว่า ขอพระคุณทั้งปวงเร่งปฏิบัติดำเนินเพื่อบรรลุถึงนิพพานเข้าเถิด การอุปถัมภ์บำรุงทุกประการเป็นพนักงานโยมจะจัดถวายเอง เมื่อบรรลุนิพพานแล้วขออาราธนาให้ช่วยสงเคราะห์สังคมอันมืดบอดนี้ให้เห็นทางสว่างด้วยเถิด

พลาดชั้นที่สอง ก็คือคำพูดว่า “อย่าบังคับให้พระไปนิพพานกันนักเลย” เป็นคำพูดที่เบี่ยงเบนและส่งเสริมให้เกิดการเบี่ยงเบนขึ้นในวิถีชีวิตของสงฆ์

ในพิธีบรรพชาอุปสมบทมีคำกล่าวขอบรรพชาตอนหนึ่งที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมว่า

สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย อิมํ กาสาวํ คเหตฺวา ปพฺพาเชถ มํ ภนฺเต อนุกมฺปํ อุปาทาย.

แปลว่า “ท่านเจ้าข้า ขอท่านโปรดอนุเคราะห์รับผ้ากาสาวะนี้ ยังข้าพเจ้าให้บวชเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นที่ออกไปจากทุกข์ทั้งปวงเถิด”

เป็นที่รู้กันมาแต่ครั้งพุทธกาลว่า ผู้ออกบวชมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การ “ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”

วัตถุประสงค์นี้ผู้บวชเป็นผู้พูดบอกแก่คณะพระสงฆ์ด้วยตัวเอง

ดังนั้น การพูดว่า “อย่าบังคับให้พระไปนิพพานกันนักเลย” จึงเป็นคำพูดที่ทำให้เกิดการบิดเบือนเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ของการบวช เป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการบวช และเป็นการสนับสนุนให้พระกลายเป็นคนเสียคำพูด

ได้ทราบว่าปัจจุบันในคำกล่าวขอบรรพชา แทบทุกสำนักได้ตัดข้อความว่า “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย” (เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นที่ออกไปจากทุกข์ทั้งปวง) ออกด้วยเหตุผลบางอย่าง

แต่การตัดข้อความนี้ออกก็ไม่อาจตัดวัตถุประสงค์ที่แท้จริงออกไปจากวิถีชีวิตของสงฆ์ตามอุดมการณ์-หลักการแห่งการบวชในพระพุทธศาสนาออกไปได้แต่ประการใด

กล่าวคือ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องยืนยันว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบวชก็คือไปนิพพาน ไม่ใช่เพื่อเลี้ยงชีพหรือเพื่อผลประโยชน์แอบแฝงอื่นใดทั้งสิ้น

ส่วนจะไปได้หรือไปไม่ได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องพยายามไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้โลกเห็นว่า-กำลังพยายามไปอยู่

การดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ให้ได้-คือวิธีพิสูจน์ตัวเอง

ไม่ไปนิพพานก็ไม่เป็นไร แต่ต้องดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ให้ได้

------------------------

อย่างไรที่เรียกว่า วิถีชีวิตของสงฆ์

วิถีชีวิตของสงฆ์ก็คือ -

การครองชีพตามรูปแบบของภิกษุ
การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามหน้าที่ของภิกษุ
บนหลักการ :
ทำสิ่งที่กำหนดไว้ว่า “ต้องทำ”
ไม่ทำสิ่งที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามทำ”

แต่ถ้าจะให้ชี้ไปที่หลัก วิถีชีวิตของสงฆ์ก็คือ นิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ที่เรียนกันมาแล้วตั้งแต่วันแรกที่บวช ตามรูปแบบที่พระอุปัชฌาย์ “บอกอนุศาสน์”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต สรุปความไว้ว่า -

นิสสัย : ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต 4 อย่าง คือ

๑. ปิณฑิยาโลปโภชนะ : โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต รวมทั้งภัตตาหารที่เป็นอติเรกลาภ 10 อย่าง

๒. บังสุกุลจีวร : ผ้านุ่งห่มที่ทำจากของเขาทิ้ง รวมทั้งผ้าที่เป็นอติเรกลาภ 6 อย่าง

๓. รุกขมูลเสนาสนะ : ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ รวมทั้งที่อยู่อาศัยที่เป็นอติเรกลาภ 5 อย่าง

๔. ปูติมุตตเภสัช : ยาน้ำมูตรเน่า รวมทั้งเภสัชที่เป็นอติเรกลาภ 5 อย่าง

เรียกสั้นๆ ว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช

อกรณียกิจ : กิจอันบรรพชิตไม่ควรทำ ๔ อย่าง ทำแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ คือ
๑. เสพเมถุน
๒. ลักของเขาตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป
๓. ฆ่ามนุษย์
๔. อวดคุณพิเศษ (อุตตริมนุสสธรรม) ทีไม่มีในตน

.............

จะเห็นได้ว่า ถ้ายึดตามพระธรรมวินัย บรรพชิตในพระพุทธศาสนาก็เป็นอยู่ง่ายอย่างยิ่ง และด้วยเครื่องยังชีพเพียงแค่นี้มีผู้เดินทางไปถึงพระนิพพานได้แล้วเป็นจำนวนมากมายเหลือคณานับ

อีกหลักหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นวิถีชีวิตของสงฆ์ ก็คือ กิจวัตร ๑๐ อย่าง

เราเห็นพระคุ้นตาคุ้นใจ จนอาจจะลืมนึกไปว่าพระท่านมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง

หน้าที่ของพระ-ท่านเรียกว่า “ธุระ”-มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ

๑ ศึกษาให้รู้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร แล้วเว้นข้อควรเว้น ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามคำสอน เรียกว่า “คันถธุระ” แปลว่า หน้าที่เรียนคัมภีร์ นี่ก็คือศึกษาพระธรรมวินัย

๒ ปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้สิ้นกิเลสตามแนวคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” แปลว่า หน้าที่ฝึกใจให้รู้แจ้งจริง

พูดสรุปด้วยภาษาง่ายๆ ว่าอย่างนั้น

บวชแล้วต้องทำงาน ๒ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นและง่ายต่อการปฏิบัติ โบราณาจารย์ของไทยท่านจึงเอาธุระ ๒ อย่างนั้นมาแจงเป็นกิจวัตร

เรียกกันมาว่า “กิจวัตร ๑๐ อย่างของภิกษุ” มีรายการดังนี้ -

-------------
๑ ลงอุโบสถ
-------------
หมายถึง ประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ คือศีล ๒๒๗ ข้อ ทุกครึ่งเดือน ตามกำหนดที่ถือกันมาก็คือในวัน ๑๕ ค่ำ หรือ ๑๔ ค่ำกรณีเดือนขาด เรียกสั้นๆ ว่า “ลงโบสถ์”

ท่านว่าในศาสนาของพระพุทธเจ้าบางองค์ในอดีตกาล ๗ ปีพระสงฆ์ลงโบสถ์กันหนหนึ่ง แต่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์นี้กำหนด ๑๕ วันลงโบสถ์หนหนึ่ง

----------------------
๒ บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
----------------------
พระต้องออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน กิจข้อนี้ท่านสอนไว้ตั้งแต่วันแรกที่บวช เป็นการยืนยันว่าพระดำรงชีพอยู่ได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ให้ตระหนักว่าต้องทำตนเป็นคนเลี้ยงง่าย และต้องทำหน้าที่ของพระให้เต็มที่ อย่าให้เสียข้าวสุกชาวบ้านเปล่าๆ

พระบางรูปที่ไม่ออกบิณฑบาต ต้องมีคำอธิบายได้ตามพระวินัยว่าทำไมจึงไม่บิณฑบาต

---------------------
๓ สวดมนต์ไหว้พระ
---------------------
ตามปกติ พระในเมืองไทยจะชุมนุมกันเพื่อสวดมนต์ไหว้พระวันละ ๒ เวลา คือเช้าครั้งหนึ่ง และเย็น (หรือค่ำ) อีกครั้งหนึ่ง เรียกรู้กันว่า ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ถ้าในระหว่างเข้าพรรษา ๓ เดือนก็จะเพิ่มพิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่งในเวลาตีสี่

-----------------------------------
๔ กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
-----------------------------------
ข้อนี้ก็คือทำความสะอาดที่อยู่ และทำความสะอาดวัด โดยมากพระเณรท่านมักจะทำทุกวันในเวลาบ่ายๆ กวาดวัดเสร็จ สรงน้ำ ได้เวลาทำวัตรเย็นพอดี

ผลโดยตรงของกิจวัตรข้อนี้คือวัดสะอาด แต่ผลพลอยได้ที่ดีมากๆ ก็คือเป็นการบริหารร่างกาย แบบเดียวกับการออกบิณฑบาตที่ผลพลอยได้ก็คือเป็นการเดินออกกำลังนั่นเอง

เวลานี้วัดต่างๆ-โดยเฉพาะวัดในกรุงหรือวัดในเมือง-ละทิ้งวิถีชีวิตชาววัดข้อนี้กันแทบจะหมดแล้ว

ได้ทราบว่าวัดในเมืองหลายๆ วัด พระเณรไม่เคยกวาดวัด เพราะทางวัดใช้ระบบจ้างคนทำความสะอาดแทน อ้างว่าสะดวกดี

นี่คือการทำลายวิถีชีวิตของสงฆ์อย่างเบาปัญญาที่สุด

มีเรื่องตลกที่ขำไม่ออก คือท่านผู้มีศรัทธารายหนึ่งซื้อเครื่องออกกำลังที่เรียกกันเป็นคำฝรั่งว่าฟิตเนสไปถวายพระเถระรูปหนึ่ง (น่าจะมีผู้ทำอย่างนี้กันหลายแห่ง) เพื่อให้พระได้ออกกำลังรักษาสุขภาพ

พระไม่ออกบิณฑบาต ไม่กวาดวัด ซึ่งเป็นการออกกำลังตามวิถีชาววัด

แต่มีเวลาออกกำลังด้วยการเล่นฟิตเนส - นี่มันอะไรกัน

นี่คือตัวอย่างการทำลายวิถีชีวิตของสงฆ์อย่างน่าสลดใจ

-----------------
๕ รักษาผ้าครอง
-----------------
ข้อนี้เป็นการปฏิบัติตามพระวินัย ผ้าไตรจีวรเป็นบริขารประจำตัวที่จำเป็นมาก สมัยโบราณผ้าสำหรับทำไตรจีวรหายาก จึงต้องใช้อย่างประหยัด คือน้อยชิ้นที่สุด ตามวินัยกำหนดให้มีเพียง ๓ ชิ้น (ไตรจีวร = ผ้าสามผืน) และต้องใช้ให้คุ้มค่า ชุดหนึ่งต้องใช้ให้ได้ ๑ ปี การทอดกฐินปีละครั้งก็คือเป็นวาระผลัดเปลี่ยนไตรจีวรชุดใหม่ประจำปีนั่นเอง

รักษาผ้าครองก็คือดูแลให้ไตรจีวรอยู่กับตัวเสมอ มีศีลข้อหนึ่งบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่เอาไตรจีวรติดตัวไว้ครบชุดแม้เพียงคืนเดียวก็ต้องอาบัติ

------------------
๖ อยู่ปริวาสกรรม
------------------
ปริวาส-เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นผิดในกรณีที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ เป็นการลงโทษแบบอารยชน เช่นตัดสิทธิ์บางอย่างเป็นต้น และให้อยู่ในความควบคุมของคณะสงฆ์ เทียบคล้ายกับกักบริเวณทำนองนั้น

พระสมัยก่อนท่านอ้างว่า แม้ไม่ได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็ควรอยู่ปริวาสเพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีล ผิดหรือไม่ผิดไม่แน่ใจ แต่มายอมรับโทษไว้ก่อน เกินดีกว่าขาด-ประมาณนั้น

-----------------------------
๗ โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ
-----------------------------
ข้อนี้คำเก่าท่านเรียก “กายบริหาร” ไม่ได้แปลว่าทำท่าดัดตัวหรือยืดเส้นยืดสาย แต่หมายถึงดูแลร่างกายให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เป็นนิตย์ จะรวมไปถึงการรักษาสุขภาพให้ปกติด้วยก็ได้

วันที่เรียกกันว่า “วันโกน” ก็สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามกิจวัตรข้อนี้

-------------------------------------------
๘ ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
-------------------------------------------
ข้อนี้เป็นกิจที่สำคัญมาก คันถธุระทั้งหมดอยู่ในข้อนี้ เป็นที่มาของคำว่า “บวชเรียน” คือบวชแล้วต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้รู้เข้าใจชัดเจน ที่ยก “สิกขาบท” ขึ้นมาเป็นหลักก็เพราะเป็นศีลของพระ จำเป็นต้องรู้ ไม่รู้ก็ทำผิด ทำผิดก็เพราะไม่รู้ จึงต้องเรียนให้รู้ นอกจากสิกขาบทแล้วคำสอนอื่นๆ ก็ต้องศึกษาด้วย

เรื่องอื่นๆ จะศึกษาหรือไม่ศึกษา ไม่ว่ากัน แต่เรื่องพระธรรมวินัย ต้องศึกษา ไม่ศึกษาถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

ส่วน “ปฏิบัติพระอาจารย์” หมายถึงพระที่บวชยังไม่เกิน ๕ พรรษา ตามหลักพระวินัยต้องอยู่ในความปกครองของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อท่านจะได้อบรมสั่งสอนการควรเว้นควรประพฤติทั้งปวงให้เข้าใจ เมื่ออยู่ในความปกครองของท่านก็ต้องปฏิบัติกิจต่างๆ ที่ศิษย์จะพึงปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์ ช่วงเวลาที่เข้าปฏิบัติกิจต่อท่านนี่เองเป็นโอกาสที่ท่านจะแนะนำสั่งสอนไปด้วยในตัวว่าอะไรควรทำอย่างไร ทำอย่างไรผิด ทำอย่างไรถูก คือสอนกันด้วยการกระทำจริง (learning by doing)

ศึกษาสิกขาบทเหมือนภาคทฤษฎี ปฏิบัติพระอาจารย์เหมือนภาคปฏิบัติ

อาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติพระศาสนาที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันมาโดยทางนี้มากที่สุด คือศิษย์รับถ่ายทอดมาจากอาจารย์ แล้วศิษย์ก็ถ่ายทอดไปยังศิษย์รุ่นต่อๆ ไป

-------------
๙ เทศนาบัติ
-------------
คำนี้แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “แสดงอาบัติ” (เทศนา = แสดง) คำเก่าพูดว่า “ปลงอาบัติ” เป็นกิจอย่างหนึ่งของพระ มีแนวคิดทำนองเดียวกับการอยู่ปริวาสกรรม กล่าวคือ ปริวาสกรรมเป็นขั้นตอนการเปลื้องความผิดอันเกิดจากอาบัติหนัก แต่เทศนาบัติเป็นขั้นตอนการเปลื้องความผิดอันเกิดจากอาบัติเบา ซึ่งจะพ้นผิดได้ด้วยการเปิดเผยการกระทำผิดต่อเพื่อนพระด้วยกัน ลงท้ายด้วยรับปากว่าจะสำรวมระวังไม่กระทำผิดเช่นนั้นอีกต่อไป

พระสมัยก่อนนิยมแสดงอาบัติเมื่อฉันเช้าเสร็จแล้วตอนหนึ่ง ก่อนจะทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นอีกตอนหนึ่ง รวมทั้งก่อนจะลงโบสถ์ด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นเวลาที่พระมาอยู่พร้อมหน้ากัน เหมาะที่จะเปิดเผยความผิดของตนให้เพื่อนพระด้วยกันรับทราบ

เทศนาบัติไม่ได้มีเจตนาจะให้ประมาทชะล่าใจไปว่าทำผิดก็ไม่เป็นไร แสดงอาบัติเสียแล้วก็พ้นผิด แต่เป็นการย้ำเตือนให้สังวรระวังตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

-----------------------------------------
๑๐ พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น
-----------------------------------------
ปัจจเวกขณะ แปลว่า การไตร่ตรองใคร่ครวญในกิจที่กำลังทำ

เวลาพระจะฉันภัตตาหาร ๑ นุ่งห่มจีวร ๑ เข้าอยู่อาศัยในกุฎิที่พัก ๑ ฉันยาเมื่ออาพาธหรือป้องกันโรค ๑ ทั้ง ๔ เวลานี้จะต้องไตร่ตรองใคร่ครวญก่อนว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อมิให้เกิดความประมาทเมามัวเพลิดเพลินติดใจในสิ่งนั้นๆ เรียกว่า พิจารณาปัจเวกขณะ บางทีก็เรียกสั้นๆ ว่า “ปัจจเวกขณ์” (มักออกเสียงว่า ปัด-จะ-เหฺวก) ถ้าไม่ทำเช่นนี้ถือว่าประมาท บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ในฐานะเป็นหนี้ชาวบ้าน ไม่สมกับที่เข้ามาบวช การพิจารณาเช่นนี้นับเข้าในภาวนาชนิดหนึ่ง

คำว่า “เป็นต้น” แสดงเจตนาว่าให้พิจารณาธรรมะอื่นๆ ด้วย ว่าโดยเนื้อหานี่ก็คือ “วิปัสสนาธุระ” นั่นเอง

ตอนท้ายของกิจวัตร ๑๐ อย่าง มีคำสรุปว่า -

กิจวัตร ๑๐ เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน

เคยได้ยินพระสมัยใหม่ตั้งคำถามว่า กิจวัตร ๑๐ อย่างดังว่านี้มีมาในพระไตรปิฎกหรือเปล่า

ไม่ทราบเจตนาในการตั้งคำถาม แต่เดาว่า-เพื่อจะโต้แย้งว่า ถ้าไม่ได้มีมาในพระไตรปิฎก ก็ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม

คำตอบก็คือ กิจวัตร ๑๐ อย่างไม่ได้มีมาเป็นชุดสำเร็จรูปในพระไตรปิฎกเหมือนหลักธรรมทั้งหลาย เป็นแต่เพียงโบราณาจารย์-เข้าใจว่าในยุครัตนโกสินทร์นี่เอง-ท่านเก็บจากตรงนั้นตรงโน้นมารวมกันเข้าไว้ แต่อาจชี้ได้ทั้งหมดว่าข้อไหนมีอยู่ตรงไหนในพระไตรปิฎก

ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ากิจวัตรทั้ง ๑๐ นี้มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า

แต่อยู่ที่ว่า กิจวัตรทั้ง ๑๐ นี้ควรที่พระจะปฏิบัติตามหรือเปล่า

ถ้าไม่ปฏิบัติกิจวัตรเหล่านี้ วันๆ ท่านจะทำอะไร
ท่านจะเอาอะไรที่มีในพระไตรปิฎกมาปฏิบัติกันเมื่อไร

ประเด็น-ต้องมีมาในพระไตรปิฎก-นี้ บางสำนักตีกรอบให้แคบเข้าไปอีกว่า-ต้องเฉพาะที่เป็นพระดำรัสตรัสเองของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า “พุทธวจนะ” เท่านั้น อื่นจากนี้ถึงจะมีมาในพระไตรปิฎก ก็ไม่เอา

ผมเคยได้ยินพระเถระรูปหนึ่งท่านย้อนให้ว่า-ถ้าเช่นนั้นคุณก็ต้องกลับใช้ตะเกียงใช้ไต้ จะใช้ไฟฟ้าไม่ได้ เพราะไฟฟ้าไม่มีในพระไตรปิฎก

โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เฟซบุ๊ก พวกนี้ ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีในพระไตรปิฎก

------------------------

อีกหลักหนึ่งที่ควรนำมาใช้ในการดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์คือ ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณะ - ข้อที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๑๐ อย่าง

บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า -

๑. เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ

๒. ปรปฏิพทฺธา เม ชีวิกา ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย

๓. อญฺโญ เม อากปฺโป กรณีโย อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้

๔. กจฺจิ นุ โข เม อตฺตา สีลโต น อุปวทติ ตัวของเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่

๕. กจฺจิ นุ โข มํ อนุวิจฺจ วิญฺญู สพฺรหฺมจารี สีลโต น อุปวทนฺติ ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

๖. สพฺเพหิ เม ปิเยหิ มนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น

๗. กมฺมสฺสโกมฺหิ กมฺมทายาโท กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ เรามีกรรมเป็นของตัวเราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

๘. กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่

๙. กจฺจิ นุ โขหํ สุญฺญาคาเร อภิรมามิ เรายินดีในที่สงัดหรือไม่

๑๐. อตฺถิ นุ โข เม อุตฺตริมนุสฺสธมฺมา อลมริยญาณทสฺสนวิเสโส อธิคโต โสหํ ปจฺฉิเม กาเล สพฺรหฺมจารีหิ ปุฏฺโฐ น มงฺกุ ภวิสฺสามิ คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง

ที่มา: อังฺคุตรนิกาย ทสกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๔ ข้อ ๔๘ หน้า 91-92

.................

เมื่อจะกล่าวโดยสรุป พระภิกษุสามเณรผู้จะดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ย่อมมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ -

(1) ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต = สำรวมระวังในพระปาติโมกข์

(2) อาจารโคจรสมฺปนฺโน = ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร

(3) อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี = มีปรกติเห็นภัยในความผิดเพียงเล็กน้อย (แม้ความผิดเพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นเรื่องน่ากลัว ไม่กล้าละเมิด)

(4) สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ = สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

(5) กายกมฺมวจีกมฺเมน สมนฺนาคโต กุสเลน = ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล

(6) ปริสุทฺธาชีโว = มีอาชีพบริสุทธิ์ (ดำรงชีวิตอยู่อย่างบริสุทธิ์)

(7) สีลสมฺปนฺโน = ถึงพร้อมด้วยศีล

(8) อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร = คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย (คือระวังตัวเมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส นึกคิด)

(9) สติสมฺปชญฺเญน สมนฺนาคโต = ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

(10) สนฺตุฏฺโฐ = เป็นผู้สันโดษ

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒ เป็นต้น

------------------------

เมื่อชาวบ้านทักท้วงเตือนติงความประพฤติของพระเณร มักจะมีเสียงโต้แย้งตอบกลับว่า

๑ ชาวบ้านรักษาศีล ๕ ข้อก็ยังไม่ได้ ไม่ควรจะมาว่ากล่าวพระเณรที่มีศีล ๒๒๗ ข้อ

๒ ตอนที่คุณบวช คุณก็เคยประพฤติย่อหย่อนมาเหมือนกันไม่ใช่หรือ

๓ มีความรู้ดีอย่างนี้น่าจะมาบวชนะ จะได้ช่วยกันรักษาพระศาสนา

๔ พระเณรยังเป็นปุถุชน จะเอาอะไรกันนักหนา เอาแค่มีพระไว้ให้ชาวบ้านทำบุญก็พอแล้ว

๕ ตักน้ำใส่ตุ่มมันก็ต้องหกออกนอกตุ่มบ้างเป็นธรรมดา จะไม่ให้หกเลยหรือไร

ถ้าเห็นด้วยกับคำโต้แย้งเหล่านี้ ก็แปลว่าไม่ต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร อะไรที่บกพร่องย่อหย่อนก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นต่อไปนั่นเอง

ถ้าคิดอย่างนี้ก็คือไม่คิดจะรักษาวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ให้ได้นั่นเอง

------------------------

ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้คือภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าวิถีชีวิตของสงฆ์

แม้จะยังไม่ไปนิพพาน แต่ถ้าดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ได้ ก็ยังรักษาพระศาสนาไว้ได้ เพราะวิถีชีวิตของสงฆ์คือที่ปรากฏตัวของพระศาสนา

ดำรงวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ไม่ได้
ก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้

จะเรียนทางโลก
จะเรียนเอาปริญญาเหมือนชาวบ้าน
แม้แต่จะหยิบเงิน รับเงิน ใช้เงินในเมื่อเกิดความจำเป็น
หรือแม้จะบกพร่องในวินัยเล็กๆ น้อยๆ

ถ้ายังตั้งใจรักษาวิถีชีวิตของสงฆ์ไว้ได้เต็มที่ไม่บกพร่อง

ไปเรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ทุกวัน
แต่ทำวัตรเช้า-เย็นไม่เคยขาด
บิณฑบาตเลี้ยงชีพไม่เคยเว้น
กวาดวัดไม่เคยละเลย
ศึกษาพระธรรมวินัยไม่เคยละทิ้ง
ฯลฯ

ทำได้แบบนี้ ผมเชื่อว่าชาวบ้านที่มีน้ำใจเป็นธรรมก็พร้อมที่จะอนุโมทนา

ขอเพียงอย่าประกาศว่า “อาตมาเป็นพระปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ จะมาเอาอะไรกันนักหนา” แล้วก็เลยเข้าใจว่าคำประกาศแบบนี้ทำให้ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของสงฆ์ คือไม่ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็ได้

ความจริงแล้วพระธรรมวินัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับฝึกอบรมพระปุถุชนนั่นเอง เพราะพระอริยะท่านแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้พระธรรมวินัยมาคอยควบคุมบังคับอะไรท่านอีกแล้ว

ยิ่งประกาศว่าเป็นปุถุชน ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้พระธรรมวินัยมากที่สุด

ถ้านิพพานก็ไม่ไป
พระธรรมวินัยก็ไม่รักษา
วิถีชีวิตตามเพศบรรพชาก็ไม่ดำรง
การบวชเข้ามาเป็นสงฆ์จะมีสถานะเป็นอะไร?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๓ มกราคม ๒๕๖๒
๑๒:๑๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...