วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

รองเจ้าคณะกทม.นำนิสิตป.โท'มจร' ปฏิบัติวิปัสสนาเข้ม๗เดือนเมียนมา



รองเจ้าคณะกทม.นำนิสิตหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา 'มจร' วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส  ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเข้มข้นต่อเนื่องติดต่อกัน ๗ เดือนที่ประเทศเมียนมา



เมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒  ผู้สื่อข่าวรายงานจากประเทศสหภาพเมียนมาว่า  พระเทพสุวรรณเมธี ดร. รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการหลักสูตรบัณฑิตศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ได้รับบัญชามอบหมายจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ประธานกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ รองอธิการบดี มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ให้นำนิสิตหลักสูตรปริญญาโท เข้าฝึกกรรมฐานเพิ่มพูนประสบการณ์ ด้านการถามตอบสอบอารมณ์ และการเผยแผ่ในระดับนานาชาติ ณ สำนักวิปัสสนามหาสี สาสนเยกต่า กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมา 

พระเทพสุวรรณเมธี กล่าวความเป็นมาโครงการและหลักสูตรว่า  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม  ได้จัดทำหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ โดยมีข้อกำหนดว่า เมื่อนิสิตศึกษาครบหน่วยกิตการเรียน ๓ ภาคการศึกษาแล้ว จะต้องเข้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาติดต่อกันเป็นเวลา ๗ เดือน จึงจะมีสิทธิ์เสนอสอบวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ โดยวิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรนี้ เพียงแห่งเดียว ตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เป็นต้นมา มีผู้เข้าศึกษาตั้งแต่ต้นมาจนถึง ๒๕๖๑ จำนวน ๑๔ รุ่น รวม  ๕๘๐ รูป/คน  มีผู้สำเร็จการศึกษาและรับปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตแล้ว จำนวน ๓๘๔ รูป/คน”

พระเทพสุวรรณเมธี  กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน เราตั้งปรัชญาแผนพัฒนาไว้ว่า บาลีปริยัติก้าวหน้า พระพุทธศาสนามั่นคง เสริมส่งวิปัสสนาสู่สากล ดังนั้น ในการจัดโครงการปฏิบัติกรรมฐานทุกรุ่นตั้งแต่เปิดการศึกษามา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้ส่งนิสิตเข้าปฏิบัติเพิ่มพูนประสบการณ์อย่างเข้มข้น และเพื่อให้นิสิตมีศักยภาพเพียงพอในการเผยแผ่ระดับนานาชาติ ท่านได้จัดให้นิสิตปฏิบัติเข้มข้นต่อเนื่องในสำนักวิปัสสนาภาวนามหาสีสาสนเยกต่า ซึ่งเป็นสำนักกรรมฐานที่มีสาขากระจายทั่วโลกกว่า 500 สาขา โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ”

รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ประจำหลักสูตร ได้ติดตามการส่งมอบนิสิต เข้าปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มพูนประสบการณ์ ณ ประเทศเมียนมาร์ ครั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีผู้อยู่ระหว่างศึกษารายวิชาในชั้นเรียน จำนวน ๑๘ รูป/คน มีผู้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำและเสนอขอสอบวิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ จำนวน ๔๒ รูป/คน และมีผู้อยู่ระหว่างเข้าปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาติดต่อกัน ๗ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๒๓ รูป/คน แบ่งเป็นพระภิกษุ ๒๐ รูป ภิกษุณีมหายานชาวจีน ๑ รูป แม่ชี ๑ ท่าน คฤหัสถ์ชาย ๑ คน”

สำหรับปีการศึกษา ๒๕๖๑ รุ่นที่ ๑๓ ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติกรรมฐาน ๗ เดือน ได้แบ่งเป็น ๓ ระยะ ดังนี้  ระยะที่ ๑ ปฏิบัติเป็นเวลา ๔ เดือน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม “ธรรมโมลี” ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ ๒๘ กรกฎาคม – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ มีพระราวินธะสยาดอสำนักมหาสีสาสนเยกต่า เป็นพระวิปัสสนาจารย์

ระยะที่ ๒ ปฏิบัติและถือธุดงควัตรเป็นเวลา ๒ เดือน ณ สำนักปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา “วัดนาหลวง” ตำบลคำด้วง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ – ๒๔ มกราคม ๒๕๖๒ มีพระราชสิทธาจารย์และพระภาวนาธรรมาภินันท์เป็นพระวิปัสสนาจารย์  ระยะที่ ๓ ปฏิบัติเป็นเวลา ๑ เดือน ณ สำนักปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา “มหาสีสาสนเยกต้า” กรุงย่างกุ้ง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ ๒๙ มกราคม – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การปฏิบัติ การถาม-ตอบสอบอารมณ์และการเผยแผ่วิปัสสนาภาวนาในระดับนานาชาติ เพื่อเสริมส่งวิปัสสนาสู่สากล รวมตลอดโครงการเป็นระยะเวลา ๗ เดือนตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร”

ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าศึกษาหลักสูตรนี้ ติดต่อ : รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล  ดร.สุพิชฌาย์ พรพิชณรงค์ โทร ๐๘๕-๖๖๖๔๕๒๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนวทางนำ "เครือข่าย ไอที การวิจัย" ช่วยยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยยุค AI

การยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยในยุค AI จำเป็นต้องใช้เครือข่าย ไอที และการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่การวางแผนแ...