วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562
AI ไล่ล่าระบบราชการ ฟันธง 5 ปี ยึดงานแทนคน
หน่วยงานภาครัฐถือเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีช้าสุด อย่างไรก็ตามด้วยแรงบีบจากประชาชน และองค์กรธุรกิจ จะเป็นตัวผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐต้องก้าวไปสู่การให้บริการด้านดิจิตอลมากขึ้น “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ถึงผลกระทบของปัญญา ประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ของระบบราชการ
5 ปี AIกระทบระบบราชการ
โดยนายปกรณ์ เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าจะเห็นผลกระทบของ AI ต่อระบบราชการมากขึ้น ซึ่งข้าราชการยุคใหม่จะเข้าใจกับเรื่องพวกนี้เพราะเขาโตมากับเทคโนโลยี ต่างจากขนาดข้าราชการยุคก่อนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจไม่เอาเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามเอไอจะไม่ทำให้ขนาดโครงสร้างของระบบราชการเล็กลงได้ในทันที เพราะบางงานยังต้องใช้คนในการทำงาน เชื่อว่าถ้านำเทคโนโลยีฉลาดมาใช้ ข้าราชการอาจจะมีจำนวนน้อยลง ไม่จำเป็นต้องตั้งกรมใหม่ ไม่ต้องเพิ่มจำนวนคน แต่จะมีความฉลาดมากขึ้นโดยใช้อุปกรณ์ แต่จะไม่มีทันที ไม่ใช่เข้ามาทำงานแทนคนแล้วปลดข้าราชการออกคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่จะเป็นไปตามธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนโรงงานผลิตรถยนต์ที่ไม่ต้องมีคนก็ได้
“สังคมบีบให้ราชการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพราะสามารถซื้อของออนไลน์ จ่ายเงิน สามารถทำในโทรศัพท์มือถือได้ทั้งหมด เมื่อเอกชนเป็นแบบนั้นประชาชนก็คาดหวังภาครัฐแบบนั้นเช่นกัน ถามว่าทุกหน่วยพยายามหรือไม่ ตอบได้เลยว่าพยายาม”
ปกรณ์ นิลประพันธ์
เลขาธิการก.พ.ร. กล่าวอีกว่า งานราชการที่ยังต้องใช้กำลังคน คืองานด้านบริการ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือครีเอทีฟ การติดต่อประสานงาน งานที่ต้องตัดสินใจ เช่น การวินิจฉัยโรค การว่าความด้านกฎหมาย ส่วนประเภทงานที่ใช้กำลังคนลดลงเรื่อยๆ คือ งานเดินเอกสาร งานการประมวลผล การคิดคำนวณ-สถิติ โดยเฉพาะในตำแหน่งบัญชี ยกตัวอย่างธนาคารที่ปิดสาขามากขึ้น เพราะใช้เอไอทำงานแทนได้แล้ว มีโมบายแบงกิ้ง ที่ทุกอย่างทำออนไลน์ได้หมด
แนะทักษะข้าราชการอนาคต
นายปกรณ์ กล่าวชี้ให้เห็นถึงทักษะของข้าราชการในอนาคตที่จะต้องมีคือ 1. มีความรู้เรื่องทางการเงิน หรือ Financial Literacy 2. ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิตอล หรือ Digital Literacy ดังนั้น คนที่ทำงานอยู่กับกระดาษ เดินเอกสาร ประทับตราเอกสาร ที่ล้าสมัยมาก ที่ประเทศออสเตรเลียมีการปฏิรูประบบราชการใช้เวลาทด สอบเป็นปี ที่ทำให้ข้าราชการคนหนึ่งคนทำได้หมด ทั้งคิดได้ พิมพ์ได้และเดินไปส่งเอกสารได้ เช่นเดียวกับของเราตอนนี้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการส่งเอกสารแทนคน คนเดินเอกสารจึงน้อยลงไปเรื่อยๆ
“สำคัญคือผู้นำองค์กรต้องเป็นตัวอย่าง ถ้ายังเป็นผู้นำอนาล็อกอยู่ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจว่าเราอาศัยในโลกของคนรุ่นใหม่ โลกของไอทีที่เราไม่รู้จัก ถ้าเราเป็นคนโลกอนาล็อกที่อาศัยอยู่ในโลกไอที ถ้ายังไม่ปรับตัวไม่ทันจะยุ่ง และมีผลกระทบต่อระบบการทำงาน” นายปกรณ์ กล่าว
AI ช่วยแก้ปัญหาตรงจุด
เลขาธิการก.พ.ร. กล่าวถึงข้อดีของการใช้เอไอในระบบราชการว่า ถ้าระบบราชการเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด จะสามารถนำเอไอมาประกอบในการวิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ข้อมูล แล้วจะทำให้เราสามารถให้บริการประชาชนได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นได้ เร็ว สะดวกขึ้น ราคาถูกลง และไม่เหวี่ยงแหเหมือนแต่ก่อน ถ้าเหวี่ยงแหเหมือนแต่ก่อนก็เป็นการตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า เงินภาษีที่ใช้ไปก็ไม่คุ้มค่า เช่น เราบอกว่าชาวนาจน แต่เอไอบอกว่าชาวนาไม่ได้จนจากสาเหตุเดียวกัน วิเคราะห์ได้ว่าเขาจนเพราะอะไร จึงจะสามารถดีไซน์โปรแกรมในการช่วยเหลือชาวนาได้ง่ายขึ้น ตรงกับเป้าหมายมากขึ้น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเขาก็ใช้เอไอในการวิเคราะห์ข้อมูลว่าผู้ที่มาลงทะเบียนขอรับสวัสดิการมีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อช่วยเหลือได้ตรงเป้าแทนที่จะให้เงินเหมือนกันทุกคน
ด้านการท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวในประเทศแล้วเขาเช่า Pocket wi-fi ซึ่งเราสามารถดูการประมวลผลการใช้งาน wi-fi ได้ว่านักท่องเที่ยวชอบไปเที่ยวที่ไหน และดูว่าทำไมแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงกันแต่ไม่มีคนไปเที่ยวหรือเที่ยวน้อย ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่ไม่มีคนไปเที่ยวเกิดขึ้นมาได้ ได้รับโอกาสบ้าง เพื่อกระจายความเจริญทุกพื้นที่
ส่วนการป้องกันการทุจริต กรณีคนเสียภาษีถ้าอยู่ในระบบ แล้วมีการใช้จ่ายเงินผิดปกติ เอไอสามารถเตือนเราได้ว่าผู้เสียภาษีรายไหนมีการใช้จ่ายที่ผิดปกติ ทั้งที่มีการซื้อรถ ซื้อข้าวของมหาศาล แต่กลับแจ้งเสียภาษีน้อยผิดปกติ ก็น่าสงสัยต้องมีอะไรบางอย่าง ซึ่งเรื่องนี้เริ่มมีการใช้กันแล้ว โดยในต่างประเทศมีการใช้กันแล้วเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ผิดปกติอะไร
การดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมี “Smart watch” ถ้าสามารถให้กับทุกคน ทำให้ราคาถูกลง และฟีเจอร์ไม่ต้องเยอะ แค่สามารถวัดความดัน ชีพจร การออกกำลังกาย แล้วสวมให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง ส่งสัญญาณไปที่โรงพยาบาลที่มีการบันทึกข้อมูล หมอก็จะสามารถแทร็กข้อมูลได้ว่าคนไข้แต่ละรายเป็นอะไร สามารถนำไปใช้ในโครงการหมอชุมชน หมอครอบครัวได้ ก็จะทำให้ง่ายขึ้นในกรณีที่เกิดอะไรขึ้นกับคนไข้ เมื่อมีการส่งมาโรงพยาบาลก็ดึงข้อมูลจากนาฬิกาเพื่อรักษาได้แม่นยำขึ้น เพราะตลอด 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนที่ผ่านมามันจะบันทึกว่าเรามีชีพจร ความดัน การออกกำลังกายเท่าไร หมอจะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ สามารถรักษาได้ตรงกับสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น ไม่ใช่เดาสุ่ม สามารถเรียกดูข้อมูลได้บนจอ เลขที่บัตรประชาชนเลขนี้ คุณลุงคุณป้าคนนี้ ข้อมูลสามารถดูเป็นกราฟได้ทันที
“รัฐบาลสิงคโปร์เขาแจกสมาร์ทวอชต์ แล้วให้ประชาชนเดิน แล้วนำจำนวนก้าวเดินที่บันทึกในนาฬิกาสามารถนำมาแลกคะแนนได้ ถ้าเดินมากแสดงว่าคุณออกกำลังกายเยอะ ถ้าออกกำลังเยอะโอกาสป่วยก็น้อย การกินยาก็น้อยลง แข็งแรงขึ้น ดังนั้นผลที่ออกมาไม่ใช่ออกมาเพียงเรื่องเดียว แต่อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นโอกาสจากมันได้ขนาดไหนมากกว่า”
ใช้คิวอาร์โค้ดยันตัวตน
นายปกรณ์ กล่าวยกตัวอย่างว่า ตอนนี้มีการพัฒนาการเข้าระบบล็อกอินยืนยันตัวตนของระบบราชการ ด้วยคิวอาร์โค้ดส่วนตัวของแต่ละคน โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ยูสเซอร์เนม และพาสเวิร์ด แต่จะใช่คิวอาร์โค้ดในการล็อกอินการทำงานซึ่งจะทำให้สะดวกขึ้น สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้มีการเริ่มการใช้คิวอาร์โค้ดในการทำงานแล้ว อย่างเช่นการประชุมก็ไม่ต้องแจกเอกสาร เพียงทำคิวอาร์โค้ดกลางขึ้นมาสำหรับการประชุม ผู้เข้าประชุมเพียงสแกนคิวอาร์โค้ดเอกสารการประชุมก็จะไปอยู่ในมือถือแล้ว
การทำคิวอาร์โค้ด ถ้าจะให้ดีคือข้อมูลไม่ควรไปอยู่ที่กูเกิลทำอย่างไรจะทำให้อยู่ในฐานข้อมูลของเราเองภายในประเทศ หรือการสั่งงานก็มีการสั่งงานผ่านไลน์ แต่ที่สำนักงาน ก.พ.ร. มีการใช้ระบบการสั่งงานผ่าน G-Chat เป็นระบบภายใน ข้อมูลจะที่อยู่ในคลาวด์ของ ก.พ.ร. เท่านั้น ไม่รั่วไหลไปไหน แต่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้ไลน์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากระบบนี้เมื่อมีความเสถียรคนก็เริ่มไปใช้มากขึ้น
“ผมเองก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาเซ็นเอกสารที่สำนักงานก.พ.ร.เท่านั้น เพราะสามารถเซ็นเอกสารเป็นลายเซ็นดิจิตอล ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเลต ได้แล้ว ในระบบที่ใช้อยู่จะแจ้งเข้ามามีเอกสารรอการลงนาม ก็เพียงกดเข้าไปลงนาม ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะไปดึงลายเซ็นมาใส่ในช่องว่างที่เรามาร์กไว้ ซึ่งมันก็คือตัวผมเซ็นเอง เพราะสามารถแทร็กดูได้ ก็จะมีการแจ้งเตือนกลับมาให้เราทราบว่าเราลงนามเรียบร้อยแล้ว มีเลขแจ้งยืนยัน ซึ่งเป็นระบบของ ก.พ.ร. ที่
กำลังจะแนะนำให้คนอื่นนำเอาไปใช้ ซึ่งเป็นมาตรการการลดการใช้กระดาษ ระบบราชการไปข้างหน้าเยอะ แต่ไม่ได้เป็นข่าวเปิดเผยกับประชาชน”
สัมภาษณ์ | หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,438 ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2562 http://m.thansettakij.com/content/378151
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"โคกหนองนาโมเดล" จากจุดเริ่มต้นชุมชนแห่งความเอื้ออาทร ผ่านหลักธรรมแห่งการให้
โครงการ "โคกหนองนาโมเดล" เป็นตัวอย่างที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนผ่านหลักธรรมและแนวคิดของการให้ ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างความยั่งยืนในชุม...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น