วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

วัดคลองชันร่วมเทศบาลเมืองลาดสวายและภาคีประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข



วัดคลองชันร่วมเทศบาลเมืองลาดสวาย และภาคีเครือข่ายฯ ประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข สร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒

วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ที่วัดคลองชัน ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พระครูปริยัติธรรมธานี เจ้าอาวาสวัดคลองชัน และเลขานุการเจ้าคณะตำบลลาดสวาย เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส) ตามมติมหาเถรสมาคม คณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ โดยมีผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตั้งของวัดคลองชัน อาทิ เทศบาลเมืองลาดสวาย, โรงเรียนวัดคลองชัน, วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา, ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาคลองสี่, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านลาดสวาย ๒, ผู้นำชุมชนหมู่ที่ ๓ - ๔ - ๕ - ๗, กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมฯ โดยพร้อมเพรียงกัน

การประชุมฯ เริ่มต้นด้วย พระครูปริยัติธรรมธานี เจ้าอาวาสวัดคลองชัน และเลขานุการเจ้าคณะตำบลลาดสวาย ประธานการประชุมฯ นำบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวเปิดการประชุมฯ จากนั้น นายองอาจ ธรรมนิทา คณะทำงานขับเคลื่อนภารกิจ ๖ ด้านของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี กรรมการเลขานุการชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล ๕ ปทุมธานี ในอุปถัมภ์พระเทพรัตนสุธี และกรรมการผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายประสานงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข จังหวัดปทุมธานี บรรยาย หัวข้อ “๓ พันธกิจ ๕ส เครื่องมือ ๗ แนวทางการดำเนินงาน ๙ แนวปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่” ต่อด้วยประธานการประชุมฯ ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ของวัดคลองชัน และการแสดงความคิดเห็นของผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายฯ ที่ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานฯ เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ มุ่งสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส และเป้าหมาย “วัดมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง” วัดเป็นศูนย์กลางในการสร้างความสุขของชุมชน

สำหรับการดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข นั้น ซึ่งมีรายละเอียดการดำเนินงานโดยสรุป ดังนี้

- ๓ พันธกิจ คือ ๑. การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดและชุมชนให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นสถานที่สัปปายะ, ๒.การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของวัดและชุมชนด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ, ๓. การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาของวัดและชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา

- ๕ส เครื่องมือในการดำเนินงานเพื่อสร้างสัปปายะสู่วัด คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน, สร้างวินัย

- ๗ แนวทางการดำเนินงานสร้างสัปปายะสู่วัดด้วยวิถี ๕ส คือ ๑. ประกาศนโยบาย, ๒. กำหนดคณะกรรมการ, ๓. อบรมให้ความรู้, ๔. สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนผังวัด และวิเคราะห์พื้นที่เพื่อการพัฒนา, ๕. จัดทำแผนปรับปรุง, ๖. ลงมือปฏิบัติ, ๗. สรุปผลการดำเนินงาน

-๙ แนวปฏิบัติในการพัฒนาพื้นที่ ๕ส ในวัด คือ ๑. ป้ายชื่อวัด บริเวณหน้าวัด และแผนผังวัดโดยสังเขป, ๒. การจัดการจราจร ป้ายจราจร และที่จอดรถ, ๓. การจัดระบบคลังวัสดุสงฆ์ และการควบคุมการเบิก-จ่ายสิ่งของ, ๔. ห้องน้ำ, ๕. การจัดการขยะ, ๖. สภาพแวดล้อมทั่วไป (ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดภัย ของพื้นที่เปิดโล่งต่างๆ ภายในวัด), ๗. ระบบไฟฟ้า และการป้องกันอัคคีภัย, ๘. โรงครัว, ๙. อาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มส. เห็นชอบแต่งตั้ง "หลวงปู่ศิลา" ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ธรรมยุต รายงานผลการดำเนินงาน "หมู่บ้านรักษาศีล 5"

แนะประยุกต์ใช้ AI ในการเสริมสร้างหมู่บ้านศีลห้าจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาชุมชนไทยในทางที่ยั่งยืนและสันติสุข บนพื้นฐานของศีลธรรมและจริยธรรมในป...