วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เตรียมระดมสมองทั่วประเทศ พัฒนาค่ายคุณธรรมที่พึงประสงค์ในยุคดิจิทัล



รองประธานปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ศธ. เผยเตรียมระดมสมองทั่วประเทศ พัฒนาค่ายคุณธรรมที่พึงประสงค์ในยุคดิจิทัล ภายใต้กรอบคิดการเรียนรู้ที่มีสติสมาธิเป็นฐาน 

วันที่ 28 ก.ค.2562  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  และรองประธานกรรมการการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้มีโอกาสต้อนรับคณะพระสงฆ์และครูจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี นำโดยพระครูวาทีวรวัฒน์,ดร. รองเจ้าคณะอำเภอเมือง และครูจรูญศรี เชี่ยวชูพันธุ์ ในฐานะรองผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง เพื่อปรึกษาหารือทิศทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกห้องเรียน หลังจากมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับการจัดค่ายคุณธรรมเมื่อกรกฏาคมที่ผ่านมาทางสื่อมวลชน (ตามลิงค์ https://www.thairath.co.th/news/society/1604483) 

"การจัดค่ายครั้งต่อไปในโรงเรียนผม ผมไม่อยากให้เรียกชื่อว่าค่ายคุณธรรม" ครูท่านหนึ่งกล่าวขึ้นในที่ประชุมที่กำลังแลกเปลี่ยนกัน จึงได้ถามว่า "เพราะเหตุใด?!? ครู พอจะบอกเหตุผลได้หรือไม่?!?"  ครูก้มหน้าตอบด้วยเสียงราบเรียบว่า "ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนหวาดกลัวกับคำว่าค่ายคุณธรรม เพราะมีประสบการณ์เชิงลบกับค่ายคุณธรรมที่เพิ่งจัดผ่านไป"

ถามว่าครูผิดหรือไม่ที่สะท้อนความรู้สึกของผู้ปกครองและนักเรียนออกมาตรงๆ แบบนี้  ตอบได้ว่าคำพูดที่แสดงถึงความห่วงใยและกังวลต่อความเป็นไปดังกล่าว จึงเป็นการสะท้อนภาพและมุ่งหวังจะเห็นถึงกระบวนการในการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อมิให้เกิดปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นต่อครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้

เพราะเหตุใด!! ต้องพูดถึงความเชื่อมั่น (Trust) เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต้องแลกด้วยการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน แลกกับความน่าเชื่อถือของทีมวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศที่สะสมบารมีมายาวนาน แลกมาด้วยความหวาดกลัวของผู้ปกครอง และนักเรียนที่มีต่อพระสงฆ์และที่สำคัญยิ่ง คือการบั่นทอนศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง และโดยอ้อม

บางท่านอาจจะกล่าวว่า ลำพังเพียงแค่ทีมวิทยากร 1 ชุดที่ทำให้เกิดสถานการณ์นั้น ย่อมไม่อาจสรุปภาพรวมของทีมพระวิทยากรทั้งประเทศที่มีศักยภาพอีกมาก คำกล่าวนั้นถูกต้องและไม่อาจคัดค้านได้ คำถามเร่งด่วนที่จะต้องตอบก็คือ เราจะเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนพรหมานุสรณ์ได้อย่างไร? เพราะงานค่ายคุณธรรมเพิ่งจัดได้แค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ชั้นเดียว แต่ยังเหลืออีก 5 ชั้นซึ่งยังไม่ได้จัดขึ้น

จากเงื่อนไขและตัวแปรดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสที่ดีและเหมาะสมที่คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จะได้นำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุย และจัดวางรูปแบบการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบของค่ายคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนมาพูดคุยกันอย่างเร่งด่วน เพราะนับตั้งแต่ก้าวย่างของการปฏิรูปฯนั้น ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยมีนางอาลัย พรหมชนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสตรีมหาพฤฒาราม เป็นประธานอนุกรรมการ และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขึ้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นเลขานุการ อีกทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก มจร  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร) โรงเรียนทอสี และโรงเรียนรุ่งอรุณ รวมถึงวิทยากรกลุ่มต่างๆ เช่น ธรรมะอารมณ์ดี รักษ์ธรรม ธรรมะโอดี เป็นต้น ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการฝ่ายอำนวยการฯ จะถือโอกาสนี้ได้เรียนเชิญและเจริญพรคณะกรรมการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรฯ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในการจัดค่ายต่างๆ  ในสังคมไทย ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์มาร่วมการระดมสมอง และผนึกกำลังกันออกแบบค่ายคุณธรรมจริยธรรมที่สอดรับกับการปฏิรูปกิจกรรมเสริมหลักสูตร ภายใต้กรอบการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับนักเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา อันจะส่งผลต่อการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ให้มีประสิทธิผลต่อการพัฒนายาวชนของชาติอย่างยั่งยืนต่อไป 

2 ความคิดเห็น:

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...