วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เผยเวียดนามมุ่งใช้สติสมาธิเป็นฐาน พัฒนาประเทศ'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน'



ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ'มจร' เผยเวียดนามมุ่งใช้สติสมาธิเป็นฐาน พัฒนาสังคมเศรษฐิจ'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน' 

วันที่ 30 กรกฏาคม 2562 ที่วัดบ่าว ทั่ง เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้รับนิมนต์จากภิกษุณีหั่น เจิง เจ้าอาวาส อายุ 81 ปี บรรยายธรรมโปรดภิกษุณีและฆราวาสญาติโยมที่มาร่วมรับฟังกว่า 200 รูป/คน ที่ศาลาปฏิบัติธรรมของวัด ก่อนที่จะเตรียมตัวออกพรรษาตามแนวทางของพระพุทธศาสนามหายาน 




พระภิกษุและภิกษุณีในเวียดนามได้เข้าพรรษา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ตามวิถีปฏิบัตินั้นภิกษุณีทั้งฮอยอันจะมาเข้าพรรษา ณ วัดแห่งนี้ หลังจากออกพรรษาจึงจะแยกย้ายกลับไปปฏิบัติศาสนกิจตามพื้นที่ต่างๆ โดยวัดแห่งนี้มีภิกษุณี 2 รูป จาก 30 กว่ารูปที่เดินทางไปศึกษาที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ 

ตลอด 3 เดือนของการเข้าพรรษานั้น ภิกษุณี ณ วัดแห่งนี้ มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติตัวและดำรงตนอยู่วิถีแห่งสติ และสมาธิอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสวดมนต์ไหว้พระ และบำเพ็ญสติสมาธิภาวนา ตั้งแต่ 3 นาฬิกา รวมไปถึงการฟังการบรรยายเพื่อพัฒนาปัญญาจากพระมหาเถระที่เวียนมาแสดงธรรม และพาปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มพลังจิตให้มีสติ สมาธิ และปัญญา

จากการเดินทางมาเวียดนามในหลายโอกาส ทำให้พบว่า แม้ประเทศเวียดนามจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีเสรีภาพ และนับวันจะสนับสนุนและให้ความสำคัญพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเวียดนาม ดังจะเห็นจากการจัดงานวิสาขบูชาโลกใน 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาถนนสายจิตวิญญาณ (Spiritual Road) ครอบคลุม 5 จังหวัดโดยเริ่มจากฮานอยไปฮานัมจนไปจบที่ไบดิง




วิถีชีวิตของชาวเวียดนามในยุคปัจจุบันจึงมีสองภาพเคียงคู่กัน กล่าวคือ ภาพแห่งการใฝ่การศึกษา ขยันทำมาหากิน สู้ชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจ จนทำให้จีดีพีเติบโตแซงหน้าประเทศไทยมากว่า 10 ปี และอีกภาพหนึ่งคือ จำนวนของพุทธศาสนิกชน กลุ่มคนที่บวชเป็นภิกษุณี รวมไปถึงคนที่มุ่งมั่นตั้งใจไฝ่ในการปฏิบัติธรรมตามเทศกาล และตามวัดวาอารามต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ยิ่งไปกว่านั้นภาพของผู้นำทางการเมืองของประเทศโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและเหล่ารัฐมนตรี มองเห็นโอกาสดังกล่าวจึงได้กระตุ้นให้สังคมกลับไปหาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สร้างเวียดนามมา จึงได้ทุ่มสรรพกำลังจัดงานวิสาขบูชาโลก จัดแผนที่การท่องเที่ยวเชิงพุทธ และสนับสนุนให้ตั้งสถาบันตรัน ฮัง ตง โดยใช้ชื่อกษัตริย์ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาแล้วเปิดปริญญาโท และเอก สาขาพุทธศาสนาในสถาบันแห่งนี้ อีกทั้งเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่เปี่ยมด้วยธรรมาภิบาล

เมื่อใจรักษากาย และกายรักษาใจ จึงเป็นห่วงโซ่แห่งการปฏิสัมพันธ์พัฒนาคู่ขนานกันอย่างแยกไม่ออก แม้จะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก แต่จิตใจก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โดยมีสติสมาธิ และปัญญาหล่อเลี้ยงให้ชุ่มชื่นด้วยพลังแห่งความสุขอยู่ตลอดเวลา 

"จะเห็นว่า เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา เทคโนโลยี และสังคม จึงมีจุดเริ่มที่แดนกลาง นั่นคือ #มนุษย์  สังคมที่เคยฆ่ากันด้วยเหตุแห่งสงครามและความรุนแรง จึงมองเห็นคุณค่าของสันติสุขเสมอ สันติสุขที่มีสติ และสมาธิเป็นฐาน" ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวและว่า  

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและตื่นเต้น หากรัฐบาล และชาวเวียดนามจะหันมาพัฒนาประเทศทั้งวัตถุและจิตใจให้เจริญไปด้วยกัน สอดรับกับทิศทางของยูเอ็นที่เน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนว Sustainable Development Goals หรือ SDGs ทั้งหมดจึงเป็นการเดินตามแผนที่ที่โฮจิมินท์ ได้วางไว้ว่า "ปลูกต้นไม้ 10 ได้ร่มเงา ปลูกคน 100 ปี ได้อาศัย"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"เสริมดวงรับปีใหม่ 2567: เหรียญมงคลหลวงปู่ดุสิต วัดไผ่แขก"

รายงานข่าวจาก วัดไผ่แขก อ.เมืองสุพรรบุรี แจ้งว่าเมื่อวันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567ผ่านมา ทางวัดโดยทีมงานพี่เสือนำโดยป้อม สกลนคร และ นิภัทร์...