วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

'สนธิรัตน์'เผยนำ IoT บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า พร้อมติดตั้งโซลาร์เซลล์ ร.ร.ทีปังกรฯ 6 แห่ง



วันที่ 25 ก.ค. 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “จิตอาสาพลังงาน เราทำความดีด้วยหัวใจ”ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอาคารเรียน และอาคารสถานศึกษาของโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ จำนวน 6 แห่ง ในรูปแบบการสนับสนุนโรงเรียนสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ และ การติดตั้งระบบ IoT (Internet of Thing) เพื่อช่วยติดตามควบคุมหรือบริหารจัดการด้านพลังงานที่จะเป็นการช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกิจกรรมจิตอาสา เช่น กรมธุรกิจพลังงาน กับกิจกรรม “การใช้ก๊าซหุงต้มปลอดภัย (LPG SAFETY)” ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ สำหรับก๊าซหุงต้มในร้านค้าที่โรงเรียน และชุมชนในโครงการจำนวน 24 ชุด และกิจกรรมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับการสำรวจตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในชุมชน และการนำร่องเปลี่ยนหลอดไฟประหยัดพลังงาน
          
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดย พพ.ได้ร่วมลงนามพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าว โดยจะเข้าไปดำเนินการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพด้านพลังงานมาทดแทนอุปกรณ์เดิมที่มีสภาพการใช้งานมาอย่างยาวนานที่ขาดการบำรุงรักษา เช่น การติดตั้ง หรือเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศแยกส่วนประเภท อินเวอร์เตอร์ การติดตั้งหรือเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศระบบแปรผันน้ำยา (VRF) การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้า LED เป็นต้น โดยที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนทั้ง 6 แห่ง มีปริมาณการใช้พลังงานและมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 630,777 หน่วย/แห่ง/ปี คิดเป็นเงิน 2,172,720 บาท/แห่ง/ปี ดังนั้น ความร่วมมือกันในครั้งนี้จึงถือเป็นการดำเนินการโดยเครือข่ายจิตอาสาพลังงาน จากกระทรวงพลังงาน โดยมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 % เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานจากปี 2561
          
“นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้กับสถาบันการศึกษา ยังถือเป็นการรณรงค์เพื่อให้ตระหนักรู้เรื่องการประหยัดพลังงานผ่าน ครู นักเรียน ที่จะเป็นเครือข่ายด้านพลังงาน เพื่อนำไปถ่ายทอดและขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชนโดยรอบต่อไป”นายยงยุทธกล่าว
          
สำหรับโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ในพระราชูปถัมภ์ฯ เป็นกลุ่มโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย 1. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เขตดุสิต กรุงเทพ 2. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ 3. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา)ในพระราชูปถัมภ์ฯ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 4. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสงคราม 5.โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี และ 6. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมกันจำนวนกว่า 5,800 คน ในโรงเรียนได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในด้านต่างๆ ได้แก่ รณรงค์สร้างความตระหนักรู้การประหยัดพลังงานให้แก่นักเรียน, รณรงค์การปิดน้ำ-ไฟตามเวลาที่กำหนด, การติดสติ๊กเกอร์ให้ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งานและการปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกเรียนประมาณ 15 นาที เป็นต้น

ขณะที่เพจพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม ได้โพสต์เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2562 ความว่า บ้านกินแดด 4.0 Smart DC. Home 27-29 กรกฎาคม 2562 โรงเรียนศรีแสงธรรมได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้นำนิทรรศการของโรงเรียนไปจัดแสดงที่กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางท่านเลขาธิการมองว่าโรงเรียนศรีแสงธรรม (จ.อุบลราชธานี) ได้จัดการศึกษาได้สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการศึกษาเพื่อมีงานทำ และนำดิจิตอลเข้ามาเป็นสื่อการเรียนการสอน มาเสริมความโดดเด่นในเรื่องของโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบ ซึ่งมีโซล่าร์เซลล์เป็นหลักจนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วประเทศ 

ในงานนี้จึงได้นำโมเดลบ้านกินแดด 4.0 ที่ได้จำลองบ้าน 1 หลังโดยไม่มีไฟฟ้าจากสายส่งแล้วจะมีความเป็นอยู่ปกติด้วยโซล่าร์เซลล์ได้อย่างไร พร้อมทั้งได้มีระบบ IOT เปิดปิดไฟ หรือใช้มือถือสั่งการให้ปั๊มน้ำ รดน้ำต้นไม้ได้เอง ซึ่งเป็นการนำ Coding ที่กำลังสอนนักเรียนไปแสดงผลงานในนี้ด้วย หากท่านใดมีเวลาแวะไปเยี่ยมชมให้กำลังใจเด็กๆ นักเรียนลูกหลานจากโคกอีโด่ยกันด้วย  #ซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...