วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562
"วีรศักดิ์"พบค้าส่ง-ค้าปลีกลงพื้นที่นครสวรรค์ ยันพัฒนาเป็น"สมาร์ท โชวห่วย"
วันที่ 2 ต.ค.2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบปะผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีก และลงพื้นที่ดูความพร้อมร้านค้าเพื่อพัฒนาเป็น "สมาร์ท โชห่วย" ใน จ.นครสวรรค์ ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีก ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกไทยให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากธุรกิจโชห่วยเป็นธุรกิจพื้นฐานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เกิดการหมุนเวียน เกิดการจ้างงานในชุมชน ดังนั้น การพบปะเพื่อรับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการในพื้นที่จริงๆ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและผลักดันให้โชห่วยไทยเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนตัวมั่นใจว่า การที่ภาครัฐให้ความสำคัญและสนใจผู้ประกอบการรายธุรกิจลึกลงไปถึงรายละเอียดปลีกย่อย-รับฟังความคิดเห็น จะทำให้เข้าใจ-เข้าถึงความต้องการของภาคธุรกิจที่แท้จริง นำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขและต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้ตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ สามารถหามาตรการสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง ส่งผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ ประชาชน ภาครัฐ และเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการพบปะพูดคุยเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ แล้ว การเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาสู่การเป็นโชห่วยคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคนในชุมชนก็เป็นสิ่งจำเป็น นโยบายสำคัญที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ คือ การพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็น "สมาร์ท โชห่วย" โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ การสั่งซื้อสินค้า การจัดทำบัญชี สต๊อกสินค้า การจัดรายการส่งเสริมทางการขาย การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้างเครือข่ายในกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าปลีก/ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในและนอกพื้นที่ เป็นการสร้างฐานธุรกิจให้มีความมั่นคง ไม่ว่าเศรษฐกิจหรือการค้าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปทิศทางใด ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะรับมือและปรับเปลี่ยนตาม อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจระยะยาว โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนและดูแลอย่างใกล้ชิด
รมช.พณ.กล่าวต่อว่า ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกร้านแรกที่ได้ตรวจเยี่ยม คือ ร้าน ส.ล.โฮลเซลล์ ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง เป็นร้านค้าขายส่งสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ เป็นกิจการของคนไทย 100% และเป็นร้านค้าส่งที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ มีเครือข่ายที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านโชห่วย ประมาณ 300 ร้านค้า ครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และชัยนาท จากการพูดคุยพบว่า ปัจจุบันทางร้านได้มีการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า รวมถึง มีการวางแผนกลยุทธ์ที่เน้นลูกค้าและตลาดเป็นสำคัญ ทำให้ลูกค้าที่เป็นร้านโชห่วย และประชาชนทั่วไป มีความพึงพอใจและกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ
นอกจากนี้ ยังเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านโชห่วยที่เป็นเครือข่าย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย ทำให้เข้าใจร้านค้าปลีกและร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น
ร้านที่สอง ได้เดินทางไปที่ร้านชัยสมบูรณ์โอสถ ต.โกรกพระ อ.โกรกพระ ซึ่งเป็นร้านโชห่วยต้นแบบ ในพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์เช่นเดียวกัน เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค จากการพูดคุยพบว่า เป็นร้านโชห่วยในพื้นที่ที่เปิดมานานกว่า 50 ปี มีทัศนคติที่ดีต่อลูกค้า ทำให้มีลูกค้าประจำที่เป็นคนในท้องถิ่นมาอุดหนุนซื้อสินค้าในร้านตลอด ส่งผลให้กิจการสามารถยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้ แสดงถึงความผูกพันระหว่างร้านโชห่วยกับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี โดยขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยีไปช่วยบริหารสต็อคสินค้าและการขายเพื่อผลักดันให้เป็น "สมาร์ท โชห่วย" ซี่งจะส่งผลทำให้ยอดขายต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้น ได้เดินทางไป ต.พยุหะ อ.โกรกพระ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการโชห่วย ที่ต้องการพัฒนาร้านค้าของตนเองให้เป็น "สมาร์ท โชห่วย" จำนวน 70 ราย โดยผู้ประกอบการได้เข้ารับการอบรมการเป็น "สมาร์ท โชห่วย" เบื้องต้น ฟังคำชี้แจงรายละเอียด และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ ซึ่งได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในปี 2563 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าจะพัฒนาร้านโชห่วยให้เป็น "สมาร์ท โชห่วย" จำนวน 30,000 ร้านค้า
"หลังจากที่ได้รับฟังและพูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกแล้ว ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค พร้อมจัดทำแผนพัฒนาโชห่วยในแต่ละพื้นที่อย่างครบวงจร ตั้งแต่ขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อช่วยกันผลักดันให้ร้านโชห่วยเป็น "สมาร์ท โชห่วย" โดยเร็ว และเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เปรียบเสมือน "การติดปีกให้โชห่วยไทย" ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยิ่งมีความเชื่อมั่นว่า "โชห่วย" ยังไงก็ต้องอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน เป็นธุรกิจที่จะอยู่คู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยตลอดไป" รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎก 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์
การวิเคราะห์ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกและบทบาทในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ “ยมกวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น