วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

"ปิยบุตร"ลุยใต้เข้า"ค่ายอิงคยุทธ"! "กอ.รมน.ภาค4"แจง"กำลังพล-งบฯ



"ปิยบุตร" นำคณะ "กมธ.กฎหมายฯ" ลุยพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ เก็บข้อมูลแก้ปัญหาละเมิดสิทธิ - เข้า "ค่ายอิงคยุทธ"  เชิญ กอ.รมน.ภาค4 ชี้แจง ปมกำลังพล - งบประมาณ- การเสียชีวิต "อับดุลเลาะ อีซอมูซอ" 
    

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 คณะกรรมาธิการ​กฎหมาย การยุติธรรม​และสิทธิมนุษยชน​ นำโดย นายปิยบุตร​ แสงกนกกุล เลขาธิการ​พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธาน​กรรมาธิการ พร้อมคณะ อาทิ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่และรองประธานคณะกรรมาธิการ​ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ​พรรคอนาคตใหม่และโฆษกคณะกรรมาธิการ​ ศึกษาดูงานและตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหา​เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย​และสิทธิมนุษยชน​ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดน​ใต้ และบางส่วนของจังหวัดสงขลา​ ในระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม​ โดยในช่วงเช้าของวันแรก ได้เข้าตรวจเยี่ยมห้องกักด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา​ และร่วมแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อรับฟังสภาพปัญหา​ผู้หลบหนีเข้าเมือง ที่มีสถานะผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา​และชาวอุยกูร์​ 
    
นายปิยยุตร กล่าวว่า วัตถุประสงค์​ของ กมธ. นอกจากจะเดินทางมาเพื่อสอบถามข้อมูลแล้ว ก็อยากจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ​ได้สะท้อนกลับมาด้วย ว่าเจ้าหน้าที่มีปัญหาในเรื่องงบประมาณ​ หรือกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ที่ทำให้ทำงานไม่สะดวกหรือไม่ ด้วยระบบราชการภายในทำให้การเสนอเรื่องขึ้นไปอาจจะไม่สะดวกและล่าช้า สามารถฝากเรื่องผ่านมายังคณะกรรมาธิการ​กฎหมาย​ฯนี้ได้ ซึ่งตนจะช่วยผลักดันในช่องทางต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน​เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ฟังปัญหา จนท.- ผู้ถูกกักขัง ด่าน "สะเดา" 
     
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสะเดา เสนอว่า การกักขังไว้ที่ศูนย์​กักขังคนเข้าเมืองสะเดา อาจทำให้มีแรงจูงใจในการหลบหนีมากกว่ากักขังในที่อื่น เพราะหากผู้ถูกกักขังสามารถหลบนี้ได้จากศูนย์กักขังสะเดา จะดูกลมกลืนกับคนในพื้นที่ ทำให้ยากต่อการตามจับ แต่ถ้ากักขังไว้ที่อื่น หากผู้ถูกกักขังหลบหนีได้ จะดูแปลกตากับคนในพื้นที่นั้นทันที ทำให้ผู้ต้องกักจะไม่มีแรงจูงใจในการหลบหนี โดยในระหว่างที่คณะกรรมาธิการ​ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องกัก ได้สอบถามข้อมูลจากผู้ถูกกักโดยผู้อพยพชาวอุยกูร์​รายหนึ่งเล่าว่าติดอยู่ในศูนย์กักขังนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้​ก็ยังไม่ทราบว่าโดนกักในคดีหรือข้อหาอะไร อีกทั้งยังขอว่าต้องการจะไปประเทศที่ 3 ซึ่งระบุว่าเป็นประเทศตุรกี หรือ มาเลเซีย​ก็ได้ แต่จะไม่ยอมถูกส่งไปประเทศจีน 


สำหรับศูนย์กักคนเข้าเมืองสะเดา แบ่งเป็น 2 อาคาร โดยอาคารที่ 1 เป็นที่กักขังระยะยาว เป็นบุคคล​ไร้สัญชาติ​(ตุรกี)​13 ราย ชาวเมียนมา(โรฮิงญา)​ 11 ราย ชาวเมียนมา(อิสลาม)​ 10 ราย รวมผู้ต้องกักระยะยาวทิ้งสิ้น 34 ราย โดยผู้ที่ถูกกักขังนานสุดเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ส่วนอาคารที่สอง เป็นอาคารแรกรับ/หมุนเวียน มีผู้ต้องกักชายชาวโรฮิงญา​ 115 ราย หญิง 18 ราย เด็กผู้ชาย 19 ราย เด็กผู้หญิง​ 8 ราย รวม 160 ราย และหากรวมสองอาคาร มีผู้อพยพรอการส่งตัวไปประเทศที่ 3 ที่ศูนย์​กักคนเข้าเมืองสะเดาทิ้งสิ้น 194 ราย

เข้าค่าย "อิงคยุทธ" เค้นปมใช้งบ - การเสียชีวิต "อีซอมูซอ" 
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ในช่วงบ่าย คณะกรรมาธิการเดินทางไปยังศูนย์​ซักถามหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนใต้ และกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธ​บริหาร จ.ปัตตานี​ เพื่อศึกษาดูงานและตรวจเยี่ยมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.ต.กฤษดา พงษ์สามารถ รองแม่ทัพภาค 4​ และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับ  กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ได้ชี้แจงแนวทางการทำงานและเปิดโอกาส​ได้ซักถาม 
   
โดย น.ส.พรรณิการ์ ได้ซักถาม 4 ประเด็นเป็นที่ต้องสงสัย คือ 1.หลักการใช้กำลังและข้อสงสัยถึงมาตราการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ 2.จากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ​งานข่าวกรอง ซึ่งมีการจัดสรรงบส่วนนี้โดยตรง กว่า 900 ล้านบาทซึ่งมากกว่างบประมาณจังหวัดของ 3 จังหวัดชายแดนใต้รวมกัน จะใช้งบไปพัฒนาในส่วนใดบ้าง 3.กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตขณะถูกคุมตัวในศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธ เหตุใดจึงไม่มีภาพจากกล้องวงจรปิด มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดก่อนหรือหลังเหตุการณ์​ 4.สถิติการเสียชีวิตของประชาชน ขณะที่อยู่ในระหว่างควบคุมตัวที่ศูนย์​มีจำนวนเท่าใด





เปิดเวทีครั้งแรก "กมธ.กฎหมายฯ พบประชาชน" 
   
ด้าน นายทหาร จาก กอ.รมน.ภาค 4 ได้ตอบข้อซักถามว่า 1.จากที่เห็นตามหน้าข่าวต่างๆ ในการจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เห็นว่าขบวนรถของทหารมีจำนวนหลายคัน ใช้บุคคลากรเกินกว่าเหตุหรือไม่ อยากชี้แจงว่าการทำงานจะแบ่งเป็นชุดๆ ทีมอีโอดีชุดหนึ่ง ชุดเคลียร์​พื้นที่​ ชุดพิสูจน์​หลักฐาน​ ชุดสนับสนุน​ หากรวมทุกชุดจะดูว่ามีจำนวนมาก แต่การทำงานก็หน้าที่ใครหน้าที่มัน 2.งบเพิ่มประสิทธิภาพ​หน่วยงานข่าวกรองนั้น เป็นงบของงานข่าวกรองทั่วประเทศ ซึ่ง กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าใช้เป็นโครงการนำร่องเพียงเท่านั้น 3.ขณะที่นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวนั้น อยู่ในศูนย์​ซักถามแห่งใหม่ที่พึ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน แต่งบการติดกล้องวงจรปิดนั้นอยู่คนละส่วนกัน ซึ่งขณะนั้นได้ติดตั้ง แต่มีปัญหาที่มุมกล้องเป็นมุมอับ ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและระบบไฟขัดข้อง 4.สถิติการเสียชีวิตของผู้ที่อยู่ระหว่างถูกควบคุมในศูนย์​ซักถาม นับตั้งแต่ปี 2547 - ปัจจุบัน​ มีจำนวน 5 ราย เสียชีวิตในศูนย์ 2 ราย และเสียชีวิตนอกศูนย์ 3 ราย
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นของการเดินทางมาเยือนชายแดนใต้วันแรก คณะกรรมาธิการ​กฎหมาย​ฯ ​ จัดกิจกรรม "กมธ.กฎหมาย​ฯ พบประชาชน" ครั้งที่ 1 เวลา 19.00-21.00 น. ที่ห้องประชุมอิหม่ามอัล-นาวาวีย์ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี​ จ.ปัตตานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ธรรมะกับประชาธิปไตยไยห่วงใยสถาบันศาสนา

การวิเคราะห์ประชาธิปไตยในปริบทพุทธสันติวิธีชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในระบอบประชาธิปไตย เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างควา...