วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ชาวพุทธวิจารณ์สนั่น! "บิ๊กตู่" ตั้ง "พงศ์พร" นั่งที่ปรึกษาดูแลพุทธศาสนาต่อ



ชาวพุทธวิจารณ์สนั่น! "บิ๊กตู่" ตั้ง "พงศ์พร" นั่งที่ปรึกษาดูแลพุทธศาสนาต่อ "ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ" ชงรายชื่อนักวิชาการด้านพุทธศาสนาแนะตั้งเป็นทีมที่ปรึกษา รวมถึง มส.ตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนาชาติบริหารความเสี่ยง

วันที่ 23 ต.ค.2562 ตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ต.ค.2562ที่ผ่านมาว่า สำหรับ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่ง ผอ.พศ. ได้มีการว่าจ้างต่อให้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในกิจการพระพุทธศาสนา ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 โดยมอบหมายให้ดูแลเรื่องบางเรื่องที่ค้างอยู่ใน พศ. และเมื่อถึงเวลาได้ ผอ.พศ.คนใหม่แล้วก็จะได้แบ่งหน้าที่กันให้ถูกต้องต่อไปว่า จะให้ พ.ต.ท.พงศ์พรช่วยประสานหรือดูแลเรื่องใดบ้าง การจ้างเช่นนี้ไม่ใช่การต่ออายุ และไม่มีอำนาจทางราชการ แต่มีบทบาท โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการว่าจ้าง ขึ้นอยู่กับภารกิจหรือแล้วแต่นายกฯ



          
ผู้สื่อข่าวถามว่า การว่าจ้าง พ.ต.ท.พงศ์พรต่อ เพื่อให้มาดูแลคดีเงินทอนวัดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีเรื่องบางเรื่องที่ต้องประสานกับหน่วยงานอื่น ซึ่งยังไม่ทราบว่า ผอ.พศ.คนใหม่เป็นใคร หาก ผอ.พศ.ถนัดในภารกิจเหล่านี้ พ.ต.ท.พงศ์พรก็จะมีบทบาทน้อยลง แต่ถ้าไม่ถนัด พ.ต.ท.พงศ์พรก็อาจจะมีบทบาทมากขึ้น แต่ว่าไม่มีอำนาจในการสั่งการ 

นายวิษณุกล่าวถึงการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คนใหม่ว่า ต้องถามนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล พศ.ว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 22 ต.ค.เลยหรือไม่ ซึ่งตนไม่ทราบ แต่หากจะเสนอเข้า ครม.จะต้องมีการเสนอมายังตนก่อน ส่วนที่ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติรับโอนนายสมเกียรติ ธงศรี รอง ผอ.พศ. มาเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการโอนในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม และมาช่วยงานได้นั้น

ปรากฏว่าได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มชาวพุทธเป็นอย่างมาก ถึงพฤติกรรมของพ.ต.ท.พงศ์พรที่ปฏิบัติต่อพระสงฆ์ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ  นักวิชาการด้านพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว" Uthit Siriwan" วันที่ 23 ต.ค.นี้ ความว่า Know Who + Know How ที่จริงถ้ารักพระพุทธศาสนาจริง นายกรัฐมนตรีสมควรตั้ง  ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ  ศ.พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ศ.พิเศษ ร.ท. ดร. บรรจบ บรรณรุจิ ศ.ดร.บุญทัน ดอกไธสง ศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ  ศ.ดร.สมภาร พรมทา  แม่ชีวิมุตยาลัย รศ. ดร. สุภาพรรณ ณ บางช้าง รศ.ดร.สุรพล สุยะพรม รศ.ดร.สมศักดิ์ บุญปู่

รศ.ดร. เวทย์ บรรณกรกุล  ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ  ผศ.ดร. บุญรอด บุญเกิด  ดร.ชัยณรงค์ ศรีมันตะ  ดร.เอกภพ เหล่าลาภะ  อาจารย์วศิน อินทสระ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พลเรือตรีรองศาสตราจารย์ ทองใบ ธีรานันทางกูร ศิษย์เก่า London School of Economics นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ร.น.
เป็นต้น

ชื่อข้างต้นถ้ารัฐบาลตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการพระพุทธศาสนา ตนว่า "มหาเถรสมาคม" จะรู้สึก "ปีติ"  และ "มีความสุข"  ลงรายชื่อไว้เผื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งเพิ่ม แต่จัดงบประมาณให้ด้วยไม่ใช่มีแต่คำสั่งแต่งตั้งเพราะนายกรัฐมนตรีในอดีตตั้งที่ปรึกษาคล้ายกันแบบนี้ ไม่มีแม้ห้องจะทำงาน
ต้องสลับวันกันนั่ง

ในทางกลับกันสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมควรตั้งคณะทำงานยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนาชาติเพื่อบริหารความเสี่ยงและเฝ้าระวังภัยพิบัติ หายนะ วิกฤตและวิบัติ ที่จะเกิดมีต่อพุทธศาสนาในภาพรวมในระยะสั้น กลาง และยาวโดยผู้รู้รุ่นเก่าถึงรุ่นใหม่ อย่างรายชื่อบุคคลข้างต้น ถ้ามหาเถรสมาคมจัดทีม จัดงบ จัดโครงการให้แต่ละทีมทำตามความถนัดจัดการแบบ Hollywood Model รวมตัวเป็นทีมเฉพาะกิจคล้ายการจัดแสดงแสงสีเสียงไม่ต้องรอนายกรัฐมนตรี

"ผมว่าท่านเจ้าประคุณ สมเด็จวัดต่างๆ ทำได้เลยทันที ทันใด ทันใจ และพระพุทธศาสนาจะสถิตสถาพรยั่งยืนนานกว่าที่มหาเถรสมาคมบริหารแบบ นิ่งและเงียบ
เหมือนที่เห็นและเป็นไป ในปัจจุบัน" ศ.ดร.อุทิส ระบุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 2. ทุติยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต

  วิเคราะห์ 2. ทุติยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ติกนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทคัดย่อ บทควา...