วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

"ธนาธร"ไม่หวั่น! สมาชิก "อนค." เตรียมลาออก ทำใจมีเข้าออกเป็นสัจธรรม



"ธนาธร-ปิยบุตร" พบพนักงานอัยการคดีวิจารณ์พลังดูด -ดูหมิ่นศาล ขอสังคมติดตามด้วยใจเป็นธรรม  20 กว่าคดี "อนาคตใหม่" เพราะผิด กม.จริง หรือขัดใจผู้มีอำนาจ?  ไม่หวั่นสมาชิกพรรคเตรียมลาออกเป็นสัจธรรมมีเข้าออก

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม  เวลา 09.00น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการ เพื่อฟังคำสั่งในคดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีจัดรายการผ่านเฟซบุคไลฟ์วิจารณ์พลังดูดของรัฐบาล คสช. ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาทำความเห็นกลับมา ว่าจะยืนยันฟ้องต่อหรือไม่ หากยืนยันสั่งฟ้องตามสำนวน ก็จะต้องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการเช่นเดียวกัน ในคดีที่กองบังคับการปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ปอท.) ได้ยื่นฟ้องนายปิยบุตรในข้อหาดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีแถลงข่าววิจารณ์การยุบพรรคไทยรักษาชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพบพนักงานอัยการ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หัวหน้าทีมทนายความของทั้งสองคน ระบุว่า จากการพบพนักงานอัยการวันนี้ ในส่วนคดีของนายธนาธร ล่าสุดปรากฏว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงไม่ทำความเห็นกลับมา โดยพนักงานอัยการจะนัดนายธนาธรมาพบอีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ซึ่งหากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นด้วยกับอัยการก็จบ หากมีความเห็นยืนยันสั่งฟ้อง ก็จะเป็นการพิจารณาของพนักงานอัยการต่อไป ส่วนคดีของนายปิยบุตรนั้น วันนี้เป็นวันที่ ปอท.ต้องนำส่งตัวให้สำนักงานอัยการสูงสุด โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเห็นฟ้องเพียงข้อหาดูหมิ่นศาล ตาม ป.อาญา มาตรา 198 แต่ไม่ฟ้องในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งพนักงานอัยการจะขอนัดเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 โดยในคดีนี้ ทางทีมทนายความจะยื่นร้องขอความเป็นธรรมในการสอบพยานเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ได้มีการสอบพยานเพิ่มเติมในส่วนของผู้ถูกร้องตามที่ได้ขอไปตั้งแต่ต้น

ด้าน ปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ตนอยากเรียนให้ทราบว่าคดีต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่โดนฟ้องรวมๆ 20 กว่าเรื่องในขณะนี้ ทุกคนคงวิเคราะห์กันได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่เรายังไม่ได้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเลย แต่กลับมีความคิดความเชื่อเต็มไปหมดว่าจะถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ จำคุก ฯลฯ ทำให้ตนต้องขอถามกลับไปตรงๆ ว่าทุกคนรู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริงๆ หรือ หรือว่าเพียงเพราะมีแนวทางที่ผู้มีอำนาจไม่สบายใจจึงต้องโดนกระทำเช่นนี้ อย่างในกรณีหุ้นสื่อที่นายธนาธรโดนอยู่ในตอนนี้ ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญมาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมิต้องการให้ ส.ส.หรือรัฐมนตรีมีอิทธิพลในการครอบงำสื่อ นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ต้องดูว่ากิจการที่ถือหุ้นนั้นเป็นสื่อหรือไม่ และการถือหุ้นนั้นมีมากน้อยเพียงใดถึงขั้นมีอิทธิพลครอบงำสื่อ แต่ บริษัท วี-ลัค มีเดีย ไม่ได้เป็นสื่อมวลชน เป็นเพียงบริษัทที่รับจ้างผลิตรูปเล่ม ไม่ได้กำหนดเนื้อหา และก็ปิดกิจการเรียบร้อย และนายธนาธรก็ได้โอนหุ้นไปหมดตั้งแต่ 8 มกราคม แต่นายธนาธรกลับถูกเล่นงานตามมาตรานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี ส.ส.คนหนึ่ง ไม่ได้ถือหุ้นสื่อเลย แต่มีคู่สมรสถือหุ้นสื่อ เป็นเจ้าของสื่อโดยตรง มีอิทธิพลครอบงำสื่อ นำสื่อมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ ส.ส.คนนี้กลับไม่โดนอะไรเลย ตกลงแล้วรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ต้องการจัดการนักการเมืองที่ครอบงำสื่อจริงๆหรือกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งกันแน่

"หรืออย่างคดีของตน หลักฐานที่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ใช้ในการร้องทุกข์กล่าวโทษก็อ่อนมาก ถอดเทปมาแบบผิดๆถูกๆ ไม่ตรงกับที่ตนพูด ตนสอนกฎหมายมา วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญมาทั้งชีวิตไม่เคยโดนคดีอะไรเลย แต่พอมาเป็นนักการเมืองกลับโดนคดีทันที" นายปิยบุตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีอดีตผู้สมัครของพรรคจะรวมตัวกันลาออกกว่า 50 คน ซึ่ง นายธนาธร กล่าวว่า เป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่มีผลกระทบอะไรกับพรรค พรรคอนาคตใหม่มีสมาชิกกว่า 60,000 คน เรายืนยันจะก้าวไปข้างหน้าโดยที่ให้สมาชิกมีบทบาทและมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ส่วนตนไม่มีความกังวลใจอะไร ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ตนขอยืนยันว่าการสร้างพรรคที่ทำมาเพียง 1 ปีครึ่ง แน่นอนว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เราจะนำประสบการณ์และความผิดพลาดมาเรียนรู้สร้างสรรค์พรรคให้ดีขึ้น


"การลาออกของสมาชิกพรรคเป็นกระบวนการปกติ มีคนเข้า มีคนออก ยอมรับว่าแน่นอนการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่ผ่านมามีเวลาสั้นมาก มีเวลาเพียง 2 เดือนในการคัดสรรผู้สมัคร จึงทำให้เราไม่สามารถคัดกรองคนที่มีอุดมการณ์ได้ 100% สถานการณ์และเวลาจะพิสูจน์คน ดังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกพรรคการเมืองย่อมเป็นแบบนี้ มีคนเดินเข้าก็มีคนเดินออก ทุกวันนี้คนจำนวนมากอยากเข้ามาเป็นสมาชิก อยากเข้ามาร่วมทำงานกับพรรค กรณีนี้จึงไม่ใช่ปัญหาอะไร จึงขอให้ทุกคนตัดสินด้วยใจเป็นธรรม คำถามที่ตนอยากถามกับสังคมอย่างตรงไปตรงมา การเข้ามาทำงานการเมืองในระบบ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่ผิดบาปมากขนาดนั้นเลยหรือ" นายธนาธร กล่าว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...