วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เหล่ากูรูตัวจริง! ชี้ EEC เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายยกระดับรายได้คนไทย


  
เหล่ากูรูตัวจริง! ชี้ EEC เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ในการพัฒนาประเทศและยกระดับรายได้คนไทย แนะไทยเร่งปรับตัว รองรับโลกเปลี่ยน ก่อนตามไม่ทัน! 

เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้จัดงานสัมมนาและระดมสมองโดยเหล่าวิทยากรตัวจริงที่รู้จริงและเข้าใจจริงเรื่อง EEC ในหัวข้อ “แปลง EEC ให้เป็นโอกาส เข้าใจศักยภาพ EEC ในการพัฒนาประเทศและยกระดับรายได้คนไทย” โดยมีคุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน รวมถึงบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาในงานที่ได้ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์อีกเป็นจำนวนมาก 



โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวว่าทุกวันนี้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แน่นมาก สนามบินสุวรรณภูมิก็โอเวอร์โหลดเพราะความแออัดมากเกินไป จึงจำเป็นต้องขยายเมืองออกไป ปัจจุบันกำลังจะมีฮับแห่งใหม่คือสนามบินอู่ตะเภาซึ่งมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังก่อสร้างถือเป็นการพัฒนามหานครการบินของภาคตะวันออก และหากสร้างเสร็จจะช่วยให้การเดินทางจากสถานีมักกะสัน (กรุงเทพฯ) ไปยังสถานีอู่ตะเภา (ระยอง) ใช้เวลาเดินทางเพียง 45 นาที นอกจากนี้รัฐบาลยังได้วางนโยบายการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันได้ผลดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยในช่วงเริ่มต้นมีนักลงทุนสนใจเข้าร่วมลงทุนรวมกันประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 600,000 ล้านบาท

“ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าถ้ากระบวนการวางแผนในพื้นที่นี้สามารถทำได้ในพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ      ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น ภูเก็ต พังงา โดยการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC มีเม็ดเงินประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งบอกเลยว่าเป็นการใช้เงินลงทุนจากภาครัฐไม่ถึง 20% เพราะส่วนที่เหลือเป็นเม็ดเงินที่มาจากนักลงทุน”

ด้านคุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO บมจ.อมตะ คอร์เปอเรชัน ได้บรรยายให้หัวข้อ “EEC โอกาสและความท้าทาย วิสัยทัศน์เรื่อง EEC ไทยและจีน” โดยได้กล่าวว่า วันนี้ทวีปเอเชียมีบทบาทการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในเวทีโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาเพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี ความน่าสนใจของจีนคือการมีเงินคงคลังภายในประเทศมหาศาล ซึ่งเราจะทำอย่างไรเพื่อให้เม็ดเงินเหล่านี้หันกลับมาลงทุนในประเทศไทย ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ที่วันนี้ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุด มั่นคงที่สุด เพราะสิงคโปร์ขายนโยบายเพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนหันมาทุนในประเทศของเขา 

“สิ่งที่ผมมองว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นอย่างมากก็คือนโยบาย  “Belt & Road Initiative (BRI)” ของประเทศจีน เพราะมันสามารถเชื่อมโยงการคมนาคม การสื่อสาร และการค้าขายได้ถึงกันหมด ดังนั้น Belt & Road Initiative จึงไม่ใช่ความฝัน ทรัพย์สินของเราคือภูมิศาสตร์ ส่วนจีนก็พร้อมที่จะเอาเงินมาลงทุนถ้านโยบายด้านการลงทุนของเรามีความน่าสนใจ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นวันนี้คือ “รถไฟ” ที่สามารถเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนได้ถึงกัน ซึ่งในอนาคตภูมิภาคแห่งนี้จะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในเวทีโลกเป็นอย่างมาก เพราะเรามีทั้งทรัพยากร และแรงงานการผลิตที่ได้เปรียบ น่าเสียดายว่าที่ผ่านมาประเทศเรามีความขัดแย้ง “กีฬาสี” ทำให้ส่งผลกระทบถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง”

ขณะที่ คุณปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความต่อเนื่องถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับมหภาค การขับเคลื่อนนโยบายบางเรื่องไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือต้องใช้สิ่งใหม่เสมอไป หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวันนี้คือ ก. หรือ กฎหมายที่ชัดเจน และ ข. คือการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผมมองว่าการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของจีน ณ เวลานี้ไม่ได้มาแบบธรรมดา เขาพร้อมที่จะขนเม็ดเงินมหาศาลเพื่อกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคที่สำคัญ ๆ ของโลก ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลกอย่างเต็มตัว เราจะต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ศึกษาองค์ความรู้มาอย่างดีและมีความมั่นใจในการลงสนามอย่างเต็มที่”

ในช่วงท้ายของการสัมมนาได้รับเกียรติจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นมาร่วมแชร์ประสบการณ์และความรู้ร่วมกับเหล่าวิทยากรบนเวที โดยได้กล่าวถึงประเด็นการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาว่าส่วนตัวเห็นด้วยและสนับสนุน และอยากให้คณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างสนามบินอย่างเต็มที่ เพราะรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยไม่ได้ทำให้เกิดประโยน์เฉพาะต่อประชาชนในพื้นที่ EEC เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตลอดเส้นทาง ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์มากมายมหาศาลให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติได้อีกด้วย

ทั้งนี้ วิทยากรทุกคนยังเชื่อว่าวันนี้คนไทยกำลังเฝ้ารอโอกาสอย่างมีความหวังเพื่อที่จะให้การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เติบโตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยนโยบายการบริหารและจัดการของภาครัฐที่ชัดเจน โดยใช้องค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านมาร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ เพื่อให้พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจจุดนี้เกิดเป็น “แหล่งเงินแหล่งทอง” ในการยกระดับอาชีพและรายได้ของคนไทย นำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงเรียนรู้จากการพัฒนาในเฟสแรก โดยเฉพาะการจัดการเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการจัดการเรื่องสาธารณูปโภค เพื่อนำมาแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น โดยนายปริญญ์ได้สรุปปิดท้ายว่า EEC จะไม่ใช่เป็นแค่การสร้างรถไฟความเร็วสูง สร้างสมาร์ตซิตี้ สร้างสนามบินหรือท่าเรือใหม่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นมิติใหม่ของการสร้างคน ยกระดับแรงงานฝีมือ ซึ่งจะเป็นทรัพยากรสำคัญให้กับประเทศได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...