ทำอย่างไรศาสนาถึงจะช่วยให้มนุษย์รอด ผู้ว่าฯปัตตานีชี้วัฒนธรรมมองได้ทั้งเชิงบวกสร้างสันติสุขและเชิงลบสร้างความขัดแย้ง-รุนแรง
14ก.ย.เฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso ได้รายงานเมื่อวันที่ 12 กันยายน ภายใต้หัวข้อ "วัฒนธรรมสามประสานร่วมสมานปัตตานี" ความว่า นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เดินทางไปต้อนรับ ศ.ดร.พระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาจุฬาฯ ซึ่งเดินทางพร้อมคณะผู้ตรวจกันกันคุณภาพการศึกษาภายในมาให้กำลังและเยี่ยมเยียนผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ของวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าหลักในการ "รักษาฐาน สานศาสนสัมพันธ์" รักษาฐานหมายถึงดูแลเอาใจใส่พี่น้องพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งการให้การศึกษา การทำวิจัย การบริการวิชาการ ทั้งสอนธรรมะ และการช่วยเหลือทั้งวัดและพุทธศาสนิกชน รวมถึงการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม
ขณะที่งานสานศาสนสัมพันธ์นั้น ศ.ดร.พระศรีคัมภีรญาณ ย้ำว่า "มหาวิทยาลัยมีนโยบายให้เปิด "สาขาศาสนา" เน้นศึกษาและเรียนรู้ศาสนาเปรียบเทียบ เพื่อที่จะได้เข้าใจแก่นแท้ของศาสนาตัวเอง และเปิดพื้นที่ศึกษาและเรียนรู้ศาสนาอิสลามเพื่อจะได้เข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างเคารพ ให้เกียรติ และปฏิบัติตัวดำรงกับเพื่อนศาสนิกได้อย่างมีความสุข และมีขันติธรรม" จากแนวทางนี้ วิทยาลัยปัตตานี จึงถือว่าเป็นปากประตูสำคัญที่จะเชื่อมสมานทั้งพี่น้องชาวมุสลิมเชื้อสายมาลายู และพี่น้องชาวมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม
นายสุริยะ ย้ำในประเด็นเดียวกันว่า "เราจะมองวัฒนธรรมในเชิงลบเพื่อกระตุ้นให้เกิดความแปลกแยกและนำไปสู่ความขัดแย้งและความสร้างความรุนแรงก็ได้ หรือเราจะมองวัฒนธรรมในเชิงบวกเพื่อแสวงหาจุดเด่นของแต่ละวัฒนธรรมแล้วมานำสร้างคุณค่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดคุณค่าทางการท่องเที่ยวและเชิงเศรษฐกิจก็ได้ โดยเฉพาะปัตตานีมีทั้งวัฒนธรรมไทยมุสลิม ไทยพุทธและไทยจีน วัฒนธรรมทั้ง 3 นับเป็นจุดเด่นของปัตตานีที่จะดึงคนจำนวนมากมาศึกษาเรียนรู้และนำไปเป็นแม่แบบในการปรับใช้เรื่องอื่นๆ"
แม้จะมีวิกฤตการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความหวาดระแวงและหวาดกลัวให้แก่คนในพื้นที่ แต่ในความเป็นพี่น้องไทยมุสลิม ไทยพุทธและไทยจีนยังมีความรัก และเอื้ออาทรต่อกันและกัน เพียงแต่รูปแบบของการปฏิสัมพันธ์อาจจะไม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะต้องปรับให้สอดรับกับบริบทของสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าศาสนาและชาติพันธุ์จะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นมากกว่า และเป็นมาก่อนศาสนา และชาติพันธุ์คือความเป็นมนุษย์ การเกิดมาของแต่ละศาสนาคือทำให้คนหายกลัว และมั่นใจในการดำเนินชีวิต เมื่อมนุษย์เข้าถึงเนื้อแท้ของศาสนา ศาสนาจะทำให้มนุษย์ไม่หวาดกลัว รักถนุถนอม และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ใช่ความอยู่รอดของศาสนา แต่เป็นความอยู่รอดของตัวมนุษย์เองภายใต้หลักการของศาสนา
อย่างไรก็ตามเนื่องจากวันที่ 21 กันยายนที่จะถึงนี้เป็นวันสันติภาพโลก ทางหลักสันติศึกษา มจร ได้จัดงานที่ มจร วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานในพิธี และปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร และมอบรางวัล "ลมหายใจแห่งสันติภาพ" แก่นักสันติภาพที่ทุ่มเทกายใจรับใช้ชุมชน ทั้ง 4 คน คือ นายโจน จันได ร.ต.ต.วิชัย สุริยุทธ นายปัญญา โตกทอง และ ดร.เกษร วงศ์มณี รวมไปถึงการฟังลมหายใจจากนักการศาสนาและนักสันติภาพในเวทีสันติเสวนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น