วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559


"อุดมเดช"ชื่นชมมหาจุฬาฯดึงต่างศาสนาร่วมงานวันสันติภาพสากล หวังเป็นแรงผลักดันสร้างสันติภาพช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้เกิดสันติสุข
           
             วันพุธที่ 21 กันยายน 2559 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)   อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  พลเอกอุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม  เป็นประธานเปิดงานวันสันติภาพสากล ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร  โดยในปีนี้ ทาง มจร จัดกิจกรรมภายใต้คอนเซ็ปต์ "ลมหายใจแห่งศาสนา ลมหายใจแห่งสันติภาพ" โดยมี พระราชวรเมธี รองอธิการบดี มจร ฝ่ายบริหาร และพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาโทและเอก  ให้การต้อนรับ


             พลเอกอุดมเดช กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติให้มาเป็นประธานในการเปิดงานวันสันติภาพโลก ที่ มจร อันเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างความสันติให้คงอยู่ในสังคม วันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็นวันสันติภาพสากล ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ เพื่อให้ประชาชนในแต่ละประเทศทั่วโลกได้ร่วมรำลึก และรณรงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสันติภาพกันทั่วโลก ทุกวันที่ 21 กันยายน จะเป็นวันที่ระฆังสันติภาพ ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติจะดังขึ้น


ต้องการเห็นประชาชนคนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

             "ระฆังที่สร้างขึ้นจากเหรียญที่เด็กๆ ทั่วโลกร่วมกันบริจาค เพื่อต้องการเห็นความสันติ ไม่มีความรุนแรง และเป็นอนุสรณ์ที่จะเตือนให้ระลึกถึงความสูญเสียจากสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ต้องการเห็นประชาชนคนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดความสุขสงบในทั่วทุกพื้นที่ดังที่ผู้กล่าวรายงานได้แจ้งไว้ อันต้องการที่จะกระตุ้นให้องค์กรทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางการเมือง องค์กรรัฐ หรือองค์กรทางศาสนา และสถาบันการศึกษาได้ร่วมกันสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกในสังคมทุกหมู่เหล่าให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสอดรับกับพันธกิจของสมาคมสภาสากล" พลเอกอุดมเดช กล่าวและว่า


             การที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้บริหาร ศิษย์เก่า นิสิต องค์กรหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสันติศึกษา และประชาชนจากหลากหลายแหล่งที่มาและสาขาอาชีพ ให้การตอบรับและจัดงานวันสันติภาพสากลนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความร่วมมือร่วมใจในการจัดกิจกรรมต่างๆ อันจะนำไปสู่การแบ่งปันประสบการณ์ และการสร้างสันติภาพในหลากหลายสาขาอาชีพ และเกิดการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เป็นการสืบต่อลมหายใจแห่งสันติภาพเพื่อให้สังคมส่วนรวมได้เกิดสันติสุขต่อไป



ประทับใจเห็นตัวแทนจากต่างศาสนามาอยู่ร่วมกัน

             รมช.กลาโหม ยังกล่าวอีกว่า รู้สึกประทับใจที่ได้เห็นตัวแทนจากศาสนาต่าง ๆ ทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ มาอยู่ร่วมกัน และมีความมุ่งมั่นเดียวกันคือ ทำอย่างไรให้สันติสุขเกิดขึ้นในสังคม ทั้งประเทศไทย และทั่วโลก และวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ได้มารับทราบถึงความร่วมมือในการหาหนทางนำไปสู่การแก้ปัญหา ทำให้สังคมเกิดความสงบ และดีใจที่ มจร มีหลักสูตรสันติศึกษา มีหลักสูตรดีๆ แบบนี้ ให้ทั้งพระสงฆ์ และฆราวาส ได้มาศึกษาให้เกิดความเข้าใจ เพราะศาสนาจะเป็นแกนหลักในการนำพาความสงบสุขให้เกิดขึ้นในประเทศ ทำให้ผมได้รับทราบกระบวนการสร้างสันติภาพ


             "ต้องยอมรับว่าผมเป็นทหารจะใช้กำลังในการปฏิบัติงานเป็นพื้นฐาน แต่เพราะหน้าที่ ซึ่งการแก้ปัญหาความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนนั้น คือ ความเข้าใจ  โดยนำหลักของศาสนาทุกศาสนามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง งานสันติภาพสากลในครั้งนี้ ผมขอชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในการจัดงานครั้งนี้" พลเอกอุดมเดช กล่าว



             นายสุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร กล่าวรายงานความว่า วันที่ 21 กันยายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสันติภาพสากล โดยองค์การสหประชาชาติในครั้งนั้นจัดขึ้นเพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน  เป็นวันที่มุ่งเน้นให้ชาวโลกซึ่งมีความแตกต่างทางด้านศาสนา ภาษา วัฒนธรรม สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สอดรับกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 49/2559  เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาในประเทศไทย ที่กระตุ้นให้องค์กรศาสนาและสถาบันการศึกษาด้านศาสนา ร่วมสร้างความเข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  และสอดรับกับพันธกิจของสภาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลก ที่มุ่งเน้นกระบวนการการสร้างสันติภาพในหมู่มนุษยชาติ


การจัดงานสอดรับกับพันธกิจวิสาขบูชาโลก

             "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านศาสนาตามคำสั่งดังกล่าว จึงได้จัดงานวันสันติภาพโลกประจำปี 2559  ขึ้นภายใต้หัวข้อเรื่อง “ลมหายใจแห่งศาสนา ลมหายใจแห่งสันติภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสร้างสันติภาพ และสนับสนุนให้กำลังใจนักสันติภาพจากหลากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงการส่งเสริมปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้เข้าร่วมงานในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติ" รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร กล่าวและว่า

             การเรียนเชิญผู้นำศาสนามาพูดคุยถึงหลักคิดและแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้เข้าใจและเรียนรู้ถึงความแตกต่างที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความสงบสุขร่วมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมสันติภาพ โดยเริ่มต้นจากความสงบภายในจิตใจของแต่ละบุคคล และนำไปสู่การตระหนักรู้จักตนเอง สามารถใช้ปัญญาเป็นเครื่องชี้นำทางในการขจัดทุกข์และสร้างสันติสุขให้แก่ตนเอง จนสามารถแบ่งปัน และขยายไปสู่สากลต่อไป

             พระราชวรเมธี กล่าวในการปาฐกถาความว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร เป็นโครงการเล็กแต่มากด้วยพลังในการทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ ขณะนี้รัฐบาลคณะสงฆ์กำลังดำเนินการส่งเสริมโครงการหมู่บ้านรักษาศีล5 ซึ่งไม่จำกัดแค่ศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะหลักศีล5 ถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานของชีวิตและเมื่อทุกศาสนามีการนำหลักศีล5 ไปปฏิบัติจะก่อให้เกิดเป็นคุณธรรมสากลส่งผลให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลกได้ เพราะหลักศีล 5 นั้นจะสอนในเรื่องการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ลักขโมย ไม่ทุจริต  ไม่ลุ่มหลงในกามารมณ์ซึ่งจะเป็นหลักประกันครอบครัวให้เกิดความสุข  ไม่พูดปดซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ทั้งยังสอนให้ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับของมึนเมาของเสพติด จะเห็นได้ว่าหลักศีล 5 ไม่ขัดกับหลักของทุกศาสนา และจะช่วยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข



 


       การจัดงานครั้งนี้ยังได้มีการมอบรางวัลสันติภาพให้แก่นายโจน จันใด หรือโจน บ้านดิน นางเกษร วงศ์มณี หรือหมอหน้อย สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ผู้ดำเนินการโครงการโรงพยาบาล 2 บาท ร้อยตำรวจตรีวิชัย สุริยุทธ หรือดาบวิชัย อดีตข้าราชการตำรวจที่ปลูกต้นไม้นับล้านต้น และนายปัญญา โตกทอง ประธานกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชนตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงครามด้วย  อีกทั้งยังได้จัดทำหนังสือ"ลมหลายใจแห่งสันติภาพจากแนวคิดแห่งสันติภาพสู่วิถีแห่งการปฏิบัติ" ซึ่งประมวลจากความรู้สึกของนิสิตปริญญาโทและเอก ที่ได้สัมผัสวิถีแห่งสันติภาพทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการสร้างสันติภาพภายใน เผยแผ่แก่ผู้ร่วมงานด้วย



โจน จันใด:โลกนี้ไม่มีคำว่า"สันติภาพ"

       นายโจน จันใด กล่าวว่า เรามักจะเอาสุขภาพไว้หลังสุด วันที่ลูกไปโรงเรียนวันแรก ลูกร้องไห้ เพราะต้องการความรักความผูกพันธ์จากพ่อแม่ เราคือขี่ข้าชั้นดีนี่เอง เราไม่เคยแสวงหาความจริง แต่แสวงหาบริโภค แม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ "แม่ธรณี" ที่เราเหยียบย่ำ เราต้องการขายแม่เพื่อไปซื้อของบริโภค เราทำลายแม่ธรณี แม่มีขนคือ ป่า เราพยายามเผาป่า แม่ธรณีจึงไม่สามารถเลี้ยงลูกได้อีก เพราะแม่เจ็บปวดมาก แม่ไม่มีอะไรให้เราแล้ว แต่ก่อนเดินไปทางไหน ก็มีอาหารทาน จึงทำให้แม่แผ่นดินไหว ต่อไปคือ "แม่คงคา" ที่หล่อเลี้ยงชีวิต เราขยันทำงานมากกว่า ๘ ชั่วโมงเพื่อเงินแต่สุขภาพของเราแย่ บนโลกใบนี้มีน้ำมากแต่เราซื้อน้ำดื่ม น้ำเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากๆ และ "แม่โพสพ" คือ อาหาร เรามีการตกแต่งพันธุ์ต่างๆ แม่ทุกข์แม่เจ็บป่วย เรามีการแย่งกันไม่คิดจะแบ่งปันกัน

       คำว่า สันติภาพ เกิดขึ้นได้ยากเพราะมีการแย่งทรัพยากรมากองไว้แล้วตายจากมันไป มีสักคนที่ทำงานดูแลแม่ธรณี แม่คงคา แม่โพสพ นี่คือสงครามยุคใหม่ เพราะเราทำลายธรรมชาติ จะเกิดสันติภาพได้อย่างไร ? เรามาสร้างสวรรค์อยู่ก่อนตายดีกว่า ด้วยการพัฒนาดิน ปลูกผลไม้ สวรรค์ที่สร้างได้ในโลกใบนี้ เราตายไปจะไปถึงสวรรค์หรือเปล่า เราสะสมทรัพยากร มากกว่า สะสมเงิน เป็นการกลับมาเยียวยาแม่ ไม่เผา ไม่ใช้สารเคมี ถ้าแม่อุดมสมบูรณ์นั่นคือ การสร้างสันติภาพ โลกนี้ไม่มีคำว่า สันติภาพ เเต่เราต้องสร้างสันติจากตัวเรา เราไม่สามารถสร้างสันภาพให้กับโลก แต่เราสามารถสร้างสันติภาพให้กับตนเองได้  " ชีวิตต้องง่าย ถ้ามันยาก แสดงว่าเดินผิดทาง"


 จบป.๔ก็สามารถทำงานวิจัยชุมชนได้

             นายปัญญา โตกทอง ประธานกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์และสวัสดิการชุมชนตำบลแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ปัญหาของผมคือน้ำมีความขัดแย้งทางน้ำจืดน้ำเค็ม จนเป็นศัตรูกัน ผมจบแค่ป.๔ แต่ฝึกการวิจัยในการร่วมกันภายในชุมชนสังคม จึงสร้างชุมชนเข้มแข็งผ่านการวิจัย เพราะมีความขัดแย้งกันระหว่างข้าราชการกับชาวบ้าน ซึ่งหวังดีแต่ไม่เข้าใจชาวบ้าน มีปัญหาการใช้น้ำระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืด มีการมองกัน เป็นศัตรู ร่างกายแข็งแรงแต่จิตใจอ่อนแอ ไม่มองปัญหาเป็นศัตรู " เป็นศัตรูกัน มองหน้ากันไม่ติด" ต้องสกัดความรู้ออกมาจากคนในชุมชน คนที่ออกแบบประตูน้ำจบ ป. ๓ ครึ่ง เป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชน จึงมีคำกล่าวว่า " มังกรต่างถิ่น หรือ จะสู้งูดินบ้านเรา" แต่ต้องเป็นงูดินที่ต้องดิ้น งูที่เรียนรู้ตลอด ในหลวงตรัสว่า "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา " แต่ภาครัฐไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจ จะพัฒนาได้อย่างไร ทำให้คนในชุมชนเกิดความขัดแย้ง 


             นางเกษร  กล่าวว่า พยายามสร้างสัมพันธภาพกับชาวบ้าน ข้อมูลต้องตรงกัน สัมพันธภาพต้องดีจากการทำงานร่วมกัน เราจึงมีการบริหารความขัดแย้งเป็นวงกลมความขัดแย้ง สร้างกติกาทางสังคม ข้อตกลงร่วมกัน ฉะนั้นเราต้องสร้างสัมพันธภาพกับชุมชนเพื่อสร้างสันติสุข เราต้องพลิกแผ่นดินจากคนเล็กๆ จากเรื่องเล็กๆ แต่ทรงพลังอันยิ่งใหญ่


ผอ.หลักสูตรสันติศึกษาย้ำศาสนามีหน้าที่สร้างสะพานแห่งความรัก 

             พระมหาหรรษา กล่าวว่า เครื่องมือสำคัญที่เชื่อมสมานให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขที่สุด คือ ศาสนา  เพราะถ้าทุกคนปฏิบัติตามหลักของศาสนาของตนเองอย่างจริงจัง เชื่อว่าโลกนี้จะเต็มด้วยสันติภาพ เพราะศาสนาเป็นฐานของความดี และศาสนาทุกศาสนาตั้งขึ้นเพื่อสันติสุข ฉะนั้น สังคมพหุวัฒนธรรม ศาสนามีหน้าที่ทำลายกำแพงแห่งความหวาดกลัวและเกลียดชัง สร้างสะพานแห่งความรักและความเข้าใจเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข



             พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า การจัดงานครั้งนี้นอกจากเป็นการสร้างสะพานแห่งความรักและความเข้าใจระหว่างศาสนาแล้ว ยังเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของบุคคลที่ทำมีลมหายใจแห่งสันติภาพมีลมหายใจเพื่อบุคคลอื่น 4 ด้านด้วยกันคือนายโจน จันใด เป็นผู้มีลมหายใจแห่งสันติภาพที่สะท้อนออกมาจากดินเพราะเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าของดิน นายปัญญา โตกทองเป็นผู้มีลมหายใจแห่งสันติภาพที่สะท้อนออกมาจากน้ำเพราะเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าของน้ำใช้วิธีการวิจัยชุมชนแก้ปัญหาน้ำจืดน้ำเค็ม  ร้อยตำรวจตรีวิชัย สุริยุทธ เป็นผู้มีลมหายใจแห่งสันติภาพที่สะท้อนออกมาจากต้นไม้เพราะเป็นบุคคลที่เห็นคุณค่าของต้นไม้ เนื่องจากไม่มีต้นไม่จึงส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ขณะที่หมอหน้อยเป็นผู้มีลมหายใจแห่งสันติภาพที่สะท้อนออกมาจากชุมชนเพราะเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อชุมชน และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมจากโครงการ 2 บาทช่วยส่งเสริมสุขภาพ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมุ่งแก้ปัญหาโครงสร้างด้านการบริการสาธารณสุขโดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการทำประชาคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...