วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2559
ยังผวาเกมส์โปเกม่อนเล็งชงครม.รู้เท่าทันสื่อออนไลน์
ผวาเกมส์โปเกม่อนป่วนสังคม “หมอเด็ก” ชี้กระแสเกมส์เป็นปรากฏการณ์เทคโนโลยีมาแทนแรงงานไร้ฝีมือ ด้าน “ผู้เชี่ยวชาญสื่อออนไลน์” แนะพ่อแม่-ครูต้องปลูกฝังวินัยให้เป็นวิถีชีวิต เพื่อดึงเด็กออกจากจอ เล็งชงครม.เสนอแผนรู้เท่าทันสื่อออนไลน์
วันที่ 8 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา จัดเสวนา “สังคมได้อะไร จากเกมส์โปเกมอน โก”
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เฉพาะทางวัยรุ่น และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า ในการประชุมจิตวิทยาระดับโลกที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น พบพฤติกรรมมนุษย์จากผลกระทบของเกมส์โปเกม่อนที่น่าสนใจคือ โยโกฮามาเป็นเมืองที่มีระเบียบวินัยสูงและระบบขนส่งมวลชนที่ดีมากโดยเฉพาะทางราบแก่ผู้สูงอายุ ที่สำคัญมีการสาธิตกฎกติกาการเล่นเกมส์ถึงข้อควรทำและข้อควรหลีกเลี่ยง โดยพบว่าเกมส์ดังกล่าวได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเด็กเยาวชนในเมืองนั้น จากการอ่านหนังสือเวลานั่งว่างบนรถไฟฟ้าเปลี่ยนมาเป็นสังคมก้มหน้าเล่นเกมส์และการชุมนุมตามที่สถานที่ต่างๆ เพื่อก้มหน้าเล่นเกมส์ของตัวเอง ขาดการสนทนากันหรือสนใจกัน แม้เกมส์นี้มีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมากแต่หากเล่นเกมส์ในสังคมที่ยังขาดวินัยและจิตสำนึกที่ไม่รู้จักจำกัดขอบเขต และไม่ถูกกาลเทศะย่อมมีผลกระทบแน่นอน
“ในการประชุมจิตวิทยาโลกครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าโปเกมอนเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งของเทคโนโลยีที่มนุษย์จะต้องปรับตัวให้รู้เท่าทัน โดยนักจิตวิทยาระดับโลกที่ญี่ปุ่นได้นำเสนอนวัตกรรมหุ่นยนต์เสมือนคน หรือระบบHumanoid เพื่อแทนที่มนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โลกของหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานที่ขาดทักษะ ฉะนั้นในอนาคตแม้แต่แรงงานไทยก็คงต้องปรับตัวให้เป็นแรงงานมีฝีมือ สิ่งเดียวที่มนุษย์จะอยู่เหนือหุ่นยนต์คือความรักความผูกพัน และจิตวิญญาณที่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองให้เกิดนวัตกรรม แต่นั่นหมายถึงผู้ใหญ่ทุกวันนี้ต้องตระหนักที่จะสร้างศักยภาพให้ลูกหลานให้รู้เท่าทัน มีจิตสำนึก มีวินัยทั้งต่อตนเองและสังคม” นพ.สุริยเดว กล่าว
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า การพัฒนาเกมส์สมัยใหม่ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เช่น ชอบความท้าทาย การมีเรื่องราว ต้องการการยอมรับ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผู้เล่นเป็นคนสร้างเรื่องได้เอง รวมถึงการมีภาพที่เสมือนจริงเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์ ทุกอย่างถูกออกแบบเพื่อให้คนติดและมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอยู่เบื้องหลัง เช่น การซื้อของแลกแต้ม หรือบางธุรกิจก็ใช้ผลประโยชน์จากเกมส์เพื่อดึงดูดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามกระแสความนิยมในเกมส์ถือเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ทบทวนและเรียนรู้จากปรากฏการณ์ซ้ำเหล่านี้ พ่อแม่และครูจึงต้องสอนให้เด็กมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ รู้จักความเหมาะสมของการใช้เวลาและสถานที่ ไม่ควรบุกรุกสถานที่ราชการหรือที่ส่วนบุคคล ไม่นำตัวไปอยู่ในสถานที่อันตรายหรือยามวิกาล สิ่งสำคัญคือระเบียบวินัย การเล่นเกมเพื่อความสนุกแต่ไม่ละทิ้งความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การไม่ให้ข้อมูลแก่คนแปลกหน้า และไม่ควรห้ามเล่นด้วยการตั้งกฎเหล็กทันที เพราะเด็กจะต่อต้านหรือโกหก แต่ต้องฝึกให้ทำบ่อยๆเป็นชีวิตประจำวัน ปลูกฝังให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการตรงต่อเวลา รู้จักการควบคุมตนเอง และมีสมดุลในชีวิต พร้อมกับเป็นแบบอย่างให้เห็น
น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพในเรื่องเด็กกับสื่อ ได้ผลักดันยุทธศาสตร์แห่งชาติเรื่องสื่อออนไลน์ โดยร่วมกับองค์การยูนิเซฟ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะโปเกม่อนเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สื่อออนไลน์เข้ามา ความรู้หรือการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานร่วมกันอย่างไรเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ การปกป้องคุ้มครองควรเป็นจุดเดียว คณะกรรมการพัฒนาเด็กแห่งชาติจึงเสนอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นจุดจัดการ ระหว่างนี้กำลังเสนอแผนการเท่าทันสื่อออนไลน์และการคุ้มครองเด็กเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเป็นการจัดการระยะยาวทั้งทักษะการเท่าทันสื่อและรู้จักการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร
ช่วยเขียนบทความทางวิชาการ เรื่อง "วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุ...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น