วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559


ปลัดกทม.ยันรื้อป้อมมหากาฬตามกฎหมาย ขณะที่ ป.ป.ท. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทุจริตพื้นที่ กทม. แนะวิธีแก้ทุจริตด้วยหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อ
               วันที่ 7 ก.ย.2559  ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร นายพีระพงษ์  สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.)   กล่าวถึงการดำเนินการรื้อป้อมมหากาฬว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดให้ดำเนินการทุกอย่างและจะต้องดำเนินการต่อไป  เพราะหากไม่ดำเนินการก็ถือว่า กทม.เป็นฝ่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเรื่องนี้ได้มีการดำเนินการมาเป็นเวลานานแล้วไม่ใช่จะเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยปัจจุบันนี้ หากเอ็นจีโอไม่ให้ กทม.ดำเนินการก็จะต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย และที่ผ่านมาทางกทม.ก็อำนวยความสะดวกในการข้นย้ายทุกอย่าง
               วันนี้นายพีระพงษ์ได้เดินทางไปร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายภาคประชาสังคมต่อต้านการทุจริตในพื้นที่ กทม. ร่วมกับนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ  หรือ ปปท.  และศูนย์ประสานงานภาคประชาสังคมส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริต หรือ ศปสธ. โดยได้รับความสนใจจากภาคีภาคประชาชนทั่วกทม. เข้าร่วมรับฟังเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามก็เริ่มงานได้มีการฉายวีดีทัศน์เกี่ยวข้อร้องเรียนการปฎิบัติหน้าที่ของกทม.ส่อไปในทางทุจริตขัดกับหลักธรรมาภิบาล
               ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้แสดงความเห็นและตอบข้อสักถามของผู้ร่วมการประชุมความว่า ศูนย์ประชารัฐเสริมสร้างธรรมาภิบาลต้านทุจริตของ กทม. ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ กทม. ภาคประชาชน ปปท.โดย กทม.มีลูกจ้าง 50,000 คน ข้าราชการ 100,000 คน ส่วนใหญ่ กทม.นั้นเป็นงานข้าราชการเป็นหลัก ทั้งภาครัฐและเอกชน วันนี้ทุกคนสุจริต  ถ้าถามว่า กทม. จะทำอะไรบ้างเพื่อป้องกันการทุจริต  ที่ผ่านมายอมรับว่าภายในองค์กรนั้น ข้าราชการมีการทุจริตและมีการลงโทษมีการพิจารณาความผิดและลงโทษเกือบทุกเดือน   อีกทั้งวันนี้ทาง กทม. ยังโดน 10 องค์กร.อาทิเช่น  ปปช.  สตง. สำนักงานอัยการสูงสุด เตือน กทม. ให้ปฎิบัติตาม
               ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิด เราต้องใช้และต้องซื้อและทยอยติดตั้งให้ทั้งกรุงเทพ โดยปัญหากล้องวงจรปิดนั้นหากจะด่านั้น คงจะด่าได้ทุกวัน กรณีที่ กทม.จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มนั้น ในการบริหารงานด้านจราจร แต่เท่าที่ตนๆได้รับรายงานจากจราจรนั้น ทราบว่าทางกล้อง cctv นั้นมีไม่เพียงพอเพราะแต่ละปีนั้นทาง กทม.จะได้รับ 76,000 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายนั้นมีมากกว่า 100,000 ล้านแล้วจะให้ทาง กทม.นั้นจะนำงบประมาณมาจากไหน   ส่วนกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ทางกทม.ทำการรื้อถอนบ้านเรือนของประชาชนเพราะเป็นไปตามที่เมื่อมีการเวนคืนพื้นที่ดังกล่าวไปแล้วเมื่อปี2535
               ขณะที่นายประยงค์ กล่าว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาการทุจริตในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเหตุที่เกิดความรุนแรงจะต้องโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และที่ผ่านมา ปปท. ก็ดำเนินการล่าช้าเพราะไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจ ปปท. ที่ทำได้อย่างอิสระ จนเกิดปัญหาที่ทับถมมานาน ทั้งนี้ วิธีที่ป้องกันการทุจริตได้ดีที่สุดคือหลักธรรมาภิบาล ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 ข้อ
               คือ 1.หลักนิติธรรม ต้องเอากฎหมายเป็นหลัก หากถูกหรือผิดก็จะต้องดำเนินไปตามกฎหมาย  ถ้าการทำงานอยู่ในกรอบธรรมมาภิบาล ก็ไม่สามารถทำให้เกิดการทุจริตได้  หากกฎหมายไม่ดีก็จะต้องทำการแก้กฎหมาย 2.หลักคุณธรรม การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม สำนึกในหน้าที่ของตน มีความซื่อสัตย์สุจริต  3.หลักความโปร่งใส คือการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีที่มาที่ไปชัดเจนและเท่าเทียม มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้  4 .หลักการมีส่วนร่วม คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และร่วมคิด ทั้งเสนอความคิดเห็นในการตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่างๆ 5.หลักความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ คือการรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ เป็นการสร้างกลไกให้ผู้รับผิดชอบ ตระหนักในหน้าที่และการใส่ใจปัญหาสาธารณของบ้านเมือง  6.หลักความคุ้มค่าคือการบริหาร จัดการ และการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าอีกทั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม  อย่างไรก็ตามถ้าการทำงานในภาครัฐทั้งหมดอยู่ในกรอบ ธรรมมาภิบาล หากทุกส่วนทำอย่างนี้การทุจริตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะมันคือการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แต่ที่ผ่านมากลไกภาครัฐไม่ทำงาน พอรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.เข้ามาก็ได้มีคำสั่งม.44 สั่งย้ายข้าราชการออกจากตำแหน่งออก อีกทั้งกระตุ้นให้ข้าราชการอยู่ในกรอบธรรมมาภิบาล
               นายสมพงษ์  พัดปุย  รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคมด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ มีคำสั่งที่ 394/2558 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคมด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพื่อดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการ และแนวทาง ตลอดจนแผนดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคมด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งในระยะที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนี้1. การจัดตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริต โดยใช้ชื่อย่อว่า ศปสธ.ปปท. ตั้งอยู่ที่ชั้นสองของสำนักงาน ป.ป.ท.   อาคารซอฟแวร์ปาร์ค  ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 2. การจัดตั้งคณะทำงานศูนย์ประสานงานฯ ข้างต้น โดยมี พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์       รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานฯ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมเป็นคณะทำงาน 3. ร่วมกับสำนักคุ้มครองและป้องกัน สำนักงาน ป.ป.ท. จัดอบรมภาคประชาชนตามโครงการสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชนป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คนไทยไม่โกง) ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 6,000 คน 4. ร่วมกับสำนักคุ้มครองและป้องกัน สำนักงาน ป.ป.ท. ในนามศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ จัดประชุมแกนนำธรรมาภิบาลชุมชน รุ่นที่ 1/2559  จำนวน 97  คน จาก 20  เขตกรุงเทพมหานคร ดังนี้   - ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3  สิงหาคม 2559  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17  สิงหาคม 2559  ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24  สิงหาคม 2559 และครั้งที่ 4  เมื่อวันที่ 31  สิงหาคม 2559
               "และในวันนี้ ในนามเครือข่ายภาคประชาสังคมส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริต และแกนนำธรรมาภิบาลชุมชน รวมถึงผู้แทนชุมชนในกรุงเทพมหานคร รวม ๕๐ เขต  ได้มารวมพลังกัน ณ ที่นี้  ต่อหน้าท่านเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ท. และท่านปลัดกรุงเทพมหานคร ว่า จะร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ท. และกรุงเทพมหานคร  ในการส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ ภายใต้กลไกการร่วมรณรงค์ปลุกจิตสำนึกต่อต้านการทุจริต รวมถึงการ      เฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสการทุจริต ในฐานะพลเมืองไทย  พลเมืองธรรมาภิบาล  เพื่อให้สังคมไทยปลอดจากการทุจริตประพฤติมิชอบ และก้าวไปสู่ "ประชารัฐไทย ใสสะอาด" ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป"  นายสมพงษ์   กล่าว
               ภายในงานมีการมอบใบประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริต ให้แก่แกนนำธรรมาภิบาลชุมชน รุ่นที่ 1/2559 และ รับคำประกาศเจตนารมณ์  โดยจะตื่นตัวในฐานะ พลเมืองและ มีความรับผิดชอบต่อชุมชน กรุงเทพมหานคร และประเทศชาติ จะร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ท. กรุงเทพมหานคร หน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาการบริหารของ กทม.โดยใช้หลักธรรมาภิบาล จะผนึกพลัง ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐ สร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองหลวงตัวอย่างธรรมาภิบาลในระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเชี่ยน

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในครั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นข้าราชการเกษียณอายุราชการ พร้อมกันนี้ยังมีข้อแสดงความเห็นคือการเดินการของ ป.ป.ท.หรือหน่วยงานภาครัฐตามกรอบของธรรมาภิบาลนั้นจะเน้นหนักด้านนิติธรรมหรือการใช้กฎหมายแต่อาจจะย่อนในข้ออื่นอย่างเช่นข้อคุณธรรมและการคุ้มค่าหรือไม่เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...