วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559


แม่น้ำเจ้าพระยาไหลถึงดานูบด้วยสายธารธรรม




สาธุ!ฮังการีรับรองวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทวิทยาลัยพุทธสบทบ'มจร'แห่งเดียวในยุโรปเปิดสอบตั้งแต่ระดับป.ตรี-เอก พระพรหมบัณฑิตและคณะตรวจเยี่ยมชื่นชมผลงาน

              ระหว่างวันที่   ๒๔-๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ พระพรหมบัณฑิตและคณะประกอบด้วยพระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดี และพระมหาสมบูรณ์ วุฑฒิกโร คณบดีบัณฑิต พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา  นำคณะเดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยนายปีเตอร์ ยาคอป (H.E. Dr. Peter Jakab) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำกรุงเทพมหานคร  ได้เข้าพบที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ถวายคำแนะนำเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

              ทั้งนี้วิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทเป็นวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งเดียวในยุโรปที่เปิดสอนปริญญาตรีและปริญญาโทที่รัฐบาลให้การรับรองศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญา สำหรับการเปิดสอนระดับปริญญาเอกนั้น วิทยาลัยแห่งนี้ดำเนินการโดยอาศัยหลักสูตรปริญญาเอกของ มจร ในฐานะเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาดองกุก ชอนบอบ สาธารณรัฐเกาหลี มหาปัญญาวิทยาลัย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาซินจู สาธารณรัฐไต้หวัน  ศูนย์การศึกษาพระอาจารย์พรัหม ประเทศสิงคโปร์   วิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ประเทศศรีลังกา  วิทยาลัยพระพุทธศาสนา ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์ฝึกอบรมชาวพุทธในยุโรป (European Buddhist Training Center) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

              วันเสาร์ที่ ๒๔ กันยายน  เวลา ๑๐.๓๐ น. พระพรหมบัณฑิตและคณะเดินทางถึงสนามบินกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี  มีนายยานอส เจเลน (Janos Jelen) อธิการบดีวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท

              วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๙.๐๐ น. พระพรหมบัณฑิตและคณะตรวจเยี่ยมกิจการของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท โดยพบและปรึกษาหารือกับนายลาสโล มิเรซ (Laszlo Mireisz) ประธานพุทธสมาคมฮังการีในฐานะนายกสภาของวิทยาลัย จากนั้นพระพรหมบัณฑิตได้บรรยายพิเศษเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง "ปรัชญาอัตถิภาวนิยมกับพุทธปรัชญา" แก่ผู้บริหาร คณาจารย์และนิสิตของวิทยาลัย

              ต่อมาเวลา ๑๔.๐๐ น.พระพรหมบัณฑิตและคณะเยี่ยมชมโบสถ์พันนอนฮาลมาอายุ ๑,๐๒๒ ปีซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์แห่งแรกในประเทศฮังการี และได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับบิชอปอัสทริก วาร์เซกิ (Dr. Asztrik Varszegi) เจ้าอธิการของโบสถ์ โบสถ์พันนอนฮาลมา สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๕๓๙ (ค.ศ. ๙๙๖) มีการฉลองอายุครบหนึ่งพันปีเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ โบสถ์นี้เคยถูกกองทัพมุสลิมเติร์กทำลายย่อยยับในเวลาไล่เลี่ยกับที่มหาวิทยาลัยนาลันทาถูกเผาทำลายในอินเดีย แต่ชาวคริสต์ในฮังการีได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาใหม่จนมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้โบสถ์นี้เป็นมรดกโลกอีกด้วย
 
              วันจันทร์ที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๙.๐๐ น. พระพรหมบัณฑิตและคณะเยี่ยมชมอาคารรัฐสภาของฮังการีและสนทนาแลกเปลี่ยนกับนายยาลอส ลาโทไซ (Dr. Janos Latorcai)รองประธานรัฐสภาของฮังการี

              อาคารรัฐสภานี้สร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นอาคารรัฐสภาใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากอารรัฐสภาอาเจนตินาและอาคารรัฐสภาอังกฤษ ฮังการีในปัจจุบันมีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีวุฒิสภา อาคารรัฐสภาฮังการีเป็นที่เก็บมงกุฏอันศักดิสิทธิ์ของกษัตริย์ฮังการีในอดี

              วันจันทร์ที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. พระพรหมบัณฑิตและคณะเยี่ยมชมปราสาทบูดา (Buda Castle) ซึ่งเริ่มสร้างในพ.ศ. ๑๘๐๘ ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงที่ทำให้มองเห็นทัศนียภาพรอบกรุงบูดาเปสต์ ปราสาทนี้เคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ฮังการีที่ได้รับการปรับปรุงให้งดงามมากในยุคจักรวรรดิออสเตรีย ฮังการีปัจจุบันเป็นที่ตั้งของทำเนียบรัฐบาลฮังการี

              จากนั้นเวลา ๑๗.๐๐ น. พระพรหมบัณฑิตและคณะได้ไปเยี่ยมชมโบสถ์บาสิลิกา (St. Stephen's Basilica) เป็นโบสถ์คริสต์สำคัญที่สุดของฮังการี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ในโบสถ์มีเครื่องออร์แกนขนาดใหญ่สำหรับบรรเลงเพลงศาสนาที่คนนิยมเข้าฟังจำนวนมาก เพลงหนึ่งที่บรรเลงในวันนี้มีชื่อว่า Thai's Meditation (กรรมฐานไทย)

              วันอังคารที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๙.๐๐ น. พระพรหมบัณฑิตและคณะล่องเรือไปตามแม่น้ำดานูบเพื่อชมกรุงบูดาเปสต์และเมืองเซนเทนเดอร์ ในขณะนั่งเรือ พระพรหมบัณฑิตได้บันทึกเทปโทรทัศน์เรื่อง "จากเจ้าพระยาถึงดานูบ" เพื่อออกอากาศในรายการรู้ธรรมนำชีวิตทางช่อง  ๙ ช่อง ๑๑ และ MCU TV

              เมืองเซนเทนเดอร์ เป็นเมืองเล็กริมฝั่งแม่น้ำดานูบ เริ่มตั้งเมืองเมื่อ ๘๐๐ ปีที่แล้ว นักกวีและจิตรกรชอบมาอยู่ที่เมืองนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการผลิตผลงานด้านกวีนิพนธ์และวาดภาพ

              วันอังคารที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. เดินทางไปเยี่ยมวัดไทยรัตนประทีปซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศฮังการีโดยมีท่านเจ้าอาวาสพร้อมด้วยนายต่อ ศรลัมพ์ อุปทูตไทยประจำกรุงบูดาเปสต์รอต้อนรับวัดไทยรัตนประทีปจดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมาโดยสามารถซื้อที่ดินและอาคารสถานที่ตั้งวัดได้แล้วด้วยการอุปถัมภ์ของสถานทูตไทยและการบริจาคทั่วไป ปัจจุบันมีพระสงฆ์ไทยอยู่จำพรรษา ๒ รูป โดยพระพรหมบัณฑิตได้แนะนำให้วัดไทยรัตนประทีปทำงานร่วมกันกับวิทยาลัยพุทธศาสนาธรรมเกท

              พระมหาหรรษา ธัมมหาโส เปิดเผยระหว่างร่วมคณะว่า  พระพรหมบัณฑิตได้ย้ำเน้นว่า "เราไม่ได้สนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย มหาจุฬาฯ แต่เรากำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์โดยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาชนในกลุ่มประเทศในยุโรปโดยมีฮังการีเป็นประตู" และพระพรหมบัณฑิตได้กล่าวถึงสหภาพยุโรปให้การยอมรับมหาจุฬาฯ ในฐานะที่วิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทเป็นสถาบันสมทบของมหาจุฬาฯ ย่อมทำให้มหาจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่สหภาพยุโรปเชื่อมั่นและให้การยอมรับ

              ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือประโยชน์ที่ชาวฮังการีและชาวยุโรปจะได้รับจากพระพุทธศาสนาผ่านการทำหน้าที่ของมหาจุฬาฯ ที่จะนำพระพุทธศาสนามาสู่ชาวยุโรปด้วยมิติต่างๆ ทั้งการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับอุดมศึกษา และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อจัดการความทุกข์ที่เกิดจากการเกาะกัดกินของวัตถุนิยม รวมไปถึงความทุกข์อันเกิดจากความขัดแย้งและหวาดระแวงที่เกิดจากการปะทะกันทางวัฒนธรรมต่างๆ

              การปะทะกันทางวัฒนธรรมเก่ากับใหม่นั่นเอง จึงทำให้พระพรหมบัณฑิตนายยานอส ยาโทไซ รองประธานรัฐสภาฮังการี และบิชอบอาสทริก วาร์เซกิ ผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์ในประเทศฮังการี ได้ย้ำเน้นถึงความสำคัญของ "สันติศึกษา" หรือ Peace Education ในขณะพูดคุย ที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงให้กลุ่มต่างๆ ได้ตระหนักรู้ถึงผลเสียของสงครามและความรุนแรงของฮังการีที่ได้ผลกระทบจากอาณาออสโตมาน การทำลายล้างของกลุ่มทหารเติร์ก ลัทธิล่าอาณานิคมจากฮิตเลอร์ ประเทศเยอรมัน และแนวทางคอมมิวนิวต์แบบเลนิน และสตาลิน

              ฮังการีจึงเป็นประเทศ "ล้มเพื่อลุก และลุกเพื่อล้ม" มาอย่างต่อเนื่องด้วยตัวแปรต่างๆ ทั้งตัวแปรภายในและตัวแปรภายนอก สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการลุกและล้มนั้น คือ (๑) การรุกรานจากอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า (๒) การตั้งอยู่ในสมรภูมิที่อยู่ตรงกลางระหว่างยุโรป โซเวียต และตะวันออกกลาง ฉะนั้น ในทุกศึกสงครามประเทศมหาอำนาจจึงต้องตีเมืองแล้วยึดประเทศฮังการีเพื่อใช้เป็นรัฐกันชนก่อน แล้วจึงข้ามไปทำสงครามกับประเทศอื่นๆ ต่อไป (๓) ตัวผู้นำทางการเมืองมักจะตัดสินใจผิดพลาดในการถ่วงดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ (Balance of Power) จึงทำให้ประเทศมหาอำนาจไม่พอใจจนนำไปสู่การยึดและทำลายล้าง ซึ่งประเด็นนี้ ประเทศไทยตั้งแต่อดีตเชี่ยวชาญในการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัชกาล ๕ ทรงคบหากับรัสเซีย และเยอรมัน รัชการที่ ๖ ทรงคบหากับประเทศอังกฤษในฐานศิษย์มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และกลุ่มปรีดี พนมยงค์ คบหากับประเทศอเมริกา

              ในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักรนั้น ประโยคที่ว่า "คอมมิวนิสต์มาศาสนาหมด" การจัดวางสถานะของศาสนจักรที่รัฐในฐานะที่เป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาที่โซเวียตครองครองอยู่มีลักษณะเผชิญหน้าและต่อต้าน จึงทำให้ศาสนาคริสต์ถูกปราบอย่างหนักทั้งการยึดโรงเรียน ทั้งการปิดโรงเรียนสอนศาสนาจำนวนมาก ทั้งการบีบ และขับไล่ผู้นำทางศาสนาคริสต์ จนในที่สุดทำให้พลังของศาสนาคริสต์ที่ส่งตรงมาจากโรมอ่อนตัวลงในยุคคอมมิวนิสต์ที่โซเวียตเข้ามาครองครองอำนาจหลังจากขับไล่อำนาจของเยอรมันออกไป ในบางยุคผู้นำทางการเมืองเข้ามาอาศัยผลประโยชน์จากการบริจาคของโบสถ์ต่างๆ จะเห็นว่า พลังของการเมืองทางการเมืองมีอิทธิพลอย่างสูงต่อความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในฮังการี ท้ายที่สุด ภายหลังที่เข้าสู่ประชาธิปไตย ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธจึงได้รับการเผยแผ่ขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ศาสนาคริสต์มีต้นที่ทุนเดิมที่ดีกว่า ทั้งนี้ในปัจจุบันมีมีพุทธศาสนิกชนราว ๑๐,๐๐๐ คนกว่า

              นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พระพรหมบัณฑิตจึงย้ำว่า "เราไม่ได้มาในนามมหาจุฬาฯ แต่เรานำพระพุทธศาสนามามอบให้ชาวยุโรปผ่านประตูของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งการเข้าพบบิชอบออาสทริกและรองประธานรัฐสภายานอส คือการเข้าไปพบปะพูดคุยเพื่อแนะนำตัว แลกเปลี่ยน และเปิดตัวมหาจุฬาฯ ต่อผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมือง เพื่อให้สถาบันสมทบได้ทำลายภายในพันธมิตรร่วมคือมหาจุฬาฯ ดังที่ผู้นำองค์กรสูงสุดของประเทศฮังการีย้ำว่า "ในประเทศฮังการี คริสต์ศาสนาคือพี่ พระพุทธศาสนาคือน้อง" รวมกันคือความเป็นพี่น้องที่มุ่งมั่นทำงานใช้ชาวฮังการีและชาวยุโรป

              การเดินทางมาของพระพรหมบัณฑิต และคณะผู้บริหารมหาจุฬาฯ จึงใช้การศึกษามาเป็นสะพานให้การให้พระพุทธศาสนาได้ทอดเดินจากประเทศไทยสู่ประเทศฮังการี อันเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้และเครื่องมือในการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาให้แก่สถาบันสมทบ เพื่อให้สถาบันสมทบซึ่งสหภาพยุโรปและรัฐบาลที่ให้การรับรองได้เป็นประตูที่จะนำพระพุทธศาสนาไปสู่ชุมชน และสังคมได้ศึกษา เรียนรู้และพัฒนาเป็นในการดำเนินชีวิต เพื่อนำตนออกจากความทุกข์และเข้าถึงสันติสุขในชีวิต ชุมชน และสังคมต่อไป


....................................
หมายเหตุ : ข้อมูลและภาพจากเว็บไซต์ http://www.watprayoon.com ซึ่งมีภาพเป็นจำนวนมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 4. อาวาสิกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ...