วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2559



ประกันสังคมเดินหน้าปฏิรูปกองทุนประกันสังคม สร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนให้กับบำนาญชราภาพ

             นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจากการประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ในปี 2554 อัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุต่อประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15– 59 ปี) อยู่ที่ 20 ต่อ 100 และอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 41 ต่อ 100 การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนประกันสังคม เนื่องจากกองทุนจะต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพให้ผู้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรวัยแรงงานส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนประกันสังคมเช่นกัน เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้เป็นฐานหลักที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

             นายโกวิท กล่าวต่อว่า สปส. เริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีผู้ประกันตนที่ครบอายุ 55 ปีและส่งเงินสมทบครบตามกำหนดได้ยื่นขอรับสิทธิแล้วกว่า 67,000 คน เป็นเงินกว่า 1,450 ล้านบาท ในปีหน้าคาดว่าจะมีผู้รับบำนาญเกือบ 200,000 แสนคน และภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมีตัวเลขผู้รับบำนาญเพิ่มถึง 1 ล้านคน ซึ่ง สปส. ได้เล็งเห็นสภาพปัญหาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในอนาคตจึงได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของกองทุนชราภาพ

             “ผลวิเคราะห์พบว่า หากไม่ดำเนินการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม รายรับจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละปี ทำให้ต้องดึงเงินกองทุนสะสมออกมาใช้ภายใน 28 ปี และเงินสะสมจะหมดภายใน 38 ปีนับจากปี 2559 แต่ผมไม่อยากให้ผู้ประกันตนหวั่นวิตกจนเกินไป เนื่องจาก สปส. มุ่งมั่นปฏิรูปองค์กรและการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ภาระทั้งหมดตกไปถึงมือรุ่นลูกรุ่นหลาน” เลขาธิการ สปส. ระบุ

             นายโกวิท กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของไอแอลโอให้ สปส. ปฏิรูปตามแนวทางดังต่อไปนี้1.ปรับฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ 2.ขยายอายุเกษียณ 3.ปรับสูตรคำนวณเงินบำนาญ4.ปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ และ 5.ปรับนโยบายการลงทุนให้เหมาะสม ทั้งนี้ สปส. ได้กำหนดแผนการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคมไว้ในแผนปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม โดยกำหนดแนวทางดำเนินการแล้ว เช่น การปรับปรุงเพดานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบมาพิจารณาปรับใช้เป็นระยะ ๆ

             เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า จากเวทีประชุมวิชาการประกันสังคมประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปบำนาญชราภาพ ไปในทิศทางเดียวกับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533ก่อนหน้านี้ โดยเห็นไปในแนวทางเดียวกับข้อเสนอของไอแอลโอ ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 60 ปี การปรับฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ การปรับสูตรคำนวณบำนาญโดยคิดจากค่าจ้างตลอดอายุการทำงาน เป็นต้น

             “เพื่อให้กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพมีความยั่งยืนและมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้ประกันตนได้ตลอดไป จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้ประกันตน และนายจ้าง ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางใด ๆ ย่อมอาจส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความรู้สึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ดังนั้นก่อนที่ สปส. จะปรับปรุงการดำเนินการต่าง ๆ ก็จะสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีส่วนร่วมออมเงินทุกฝ่าย เพื่อให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”นายโกวิท กล่าวในตอนท้าย

..............................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก www.topicza.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร

    ช่วยเขียนบทความทางวิชาการ เรื่อง "วิเคราะห์ โลภสูตร-โทสสูตร-โกธสูตร-โมหสูตร  ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่  17  ขุ...