วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
อธิการบดีม.กรุงเทพธนบุรียันไม่จริง! จะขายหุ้นให้กับนักลงทุนจีน
วันที่ 1 ส.ค.2562 ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวถึงกระแสข่าวม.กรุงเทพธนบุรี ขายหุ้นให้กับนักลงทุนจีนว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง รวมทั้งไม่เคยได้รับการทาบทามจากนักลงทุนจีนแต่อย่างใด ที่สำคัญมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงรายเดียว และจดทะเบียนจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อ “ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” เท่านั้น การเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติจึงไม่สามารถทำได้แน่นอน
"นอกจากนี้ธุรกิจในเครือไม่ได้มีเฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังมีสถานศึกษาอื่น ๆ อีกในเครือ เช่น โรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี และวิทยาลัยโปลีเทคนิคกรุงเทพ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรียังมีความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างมากอีกด้วย" อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าว
ขณะที่ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา ระบุว่า เป้าหมายของมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง บัณฑิตทุกคนของมหาวิทยาลัยผ่านการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.วิทยา กล่าวด้วยว่า ช่วงเปิดเรียนเทอมใหม่นี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดคณะใหม่คือ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ซึ่งได้รับการรับรองผ่านเกณฑ์มาตรฐานของทันตแพทย์สภา และในปี 2563 จะเปิดคณะแพทยศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อรองรับนักศึกษาที่มีความต้องการที่หลากหลายอีกด้วย ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยยังมีความ “มั่นคง” ในทุกด้านมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยแม้กระทั่งเจรจากับนักลงทุนรายใดทั้งสิ้น
'มจร'ส่งเจ้าหน้าที่พัฒนาทักษะการบริหารและการใช้ภาษาที่ออกซฟอร์ด
วันที่ 1 สิงหาคม 2562 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่วิทยาลัย ได้เดินไปส่งนางเนาวรัตน์ ภู่ระหงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารวิทยาลัย เพื่อเดินทางไปพัฒนาทักษะการบริหารและการบริการ รวมถึงการใช้ภาษาที่ Oxford School of English เมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
พระมหาหรรษา กล่าวว่า นางเนาวรัตน์เป็นเจ้าหน้าที่คนที่สามที่ได้รับการสนับสนุนให้เดินทางไปพัฒนาศักยภาพการทำงานและการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะก่อนหน้านี้ ได้ส่งพระมหาราชัน จิตฺตปาโล อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันภาษา มจร และปัจจุบันเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต และนายอิทธิพล บัวชาติ เจ้าหน้าที่ด้านการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์
"อย่างไรก็ดี ในปี 2549 อาตมาเป็นพระภิกษุรูปแรกที่ มจร โดยพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร.กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) สมัยเป็นอธิการบดี มจร ได้ส่งไปพัฒนาทักษะการบริหาร การบริการ และการใช้ภาษา ที่เมืองออกซฟอร์ด เป็นระยะเวลา 1 ปี ที่ Oxford House College และ Oxford School of English ก่อนที่จะกลับมารับภาระจากมหาวิทยาลัยในการดำเนินก่อตั้งตั้งสถาบันภาษาและวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ร่วมกับคุณเนาวรัตน์ ภู่ระหงษ์ และทีมงาน" พระมหาหรรษา กล่าวและว่า
Oxford School of English เป็นสถาบันสอนภาษาที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันภาษา มหาจุฬาฯ ในปี 2558 เมื่อครั้งที่อาตมาเป็นผู้อำนวยการ และการส่งนางเนาวรัตน์ไปพัฒนาและฝึกอบรมครั้งนี้ ได้ดำเนินการภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว เชื่อมั่นว่า เมื่อผ่านการพัฒนาและฝึกอบรมแล้ว จะได้นำองค์ความรู้ และทักษะ กลับมาพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
'ผู้บริหาร มจร'หารือรองปธ.ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ ยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมือง
วันที่ 31 ก.ค.2562 ที่ศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ มจร ประชุมร่วมกับ รศ.ดร.สมอก กิ่งสะดา รองประธานศูนย์กลางแนวร่วมลาวสร้างชาติ ประธานสมาพันธ์มิตรภาพลาว-เยอรมัน พร้อมคณะ เพื่อหารือความร่วมมือเพื่อพัฒนายกระดับด้านการศึกษาของบุคลากรทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมือง และการหารือเกี่ยวกับงานด้านพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ
ในการนี้ ดร.พวงประเสริฐ พูมาวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ สปป.ลาว เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก ในการเข้าพบครั้งนี้
ธารน้ำใจวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ'มจร' นำสันติสุขสู่พี่น้องชาวเขาเวียดนาม
วันที่ 31 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ หมู่บ้านเหว่ ลำ อ.นอง เซิง จ.หวาง นาม ประเทศเวียดนาม นิสิตของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) 2 รูป คือพระภิกษุเหงียน อัง ตวน และภิกษุณีเจิง หวุย หงีม ได้ร่วมกันจัดโครงการพระโพธิสัตว์กลับสู่ขุนเขา นำร่มเงาสันติสุขสู่เวียดนาม หรือ "Come to learn Leave to serve" โดยได้นิมนต์พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร และเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัย พร้อมพุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย
กิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วยการนำรถเข็ญและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพไปมอบให้ผู้ป่วยที่พิการทางกายภาพ เพื่อให้สามารถเกิดความสะดวกในการเคลื่อนไหวและออกนอกบ้านไปทำกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่าภายใต้หุบเขาแห่งนี้ ยังมีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนหนึ่ง ที่เฝ้ารออุปกรณ์การรักษา และเครื่องอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ นิสิตของวิทยาลัยทั้งสองรูปซึ่งได้การกระตุ้นให้ทำกิจกรรม จึงได้ค้นหาบุคคลที่เหมาะสมต่อการช่วยเหลือในครั้งนี้
ขณะที่เด็กอีกจำนวนหนึ่งนั้น กำลังเข้าสู่การเปิดเทอมตามประเทศอาเซียนในเดือนสิงหาคม 2562 นิสิตทั้งสองพร้อมด้วยญาติโยมจึงจัดหาอุปกรณ์การเรียนมามอบให้ ทั้งดินสอ ปากกา สมุด เสื้อกางเกง และกระเป๋าใส่หนังสือ พร้อมกันนี้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้มอบทุนการศึกษาจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนโครงการที่จัดขึ้นโดยนิสิตของวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร
พระมหาหรรษา กล่าวว่า วิวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร พยายามกระตุ้นเตือนให้นิสิตกลับคืนไปสู่ประเทศของตัวเองในช่วงปิดภาคการศึกษา แล้วจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมในประเทศของตนเองตามพุทโธบายที่ว่า "เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก"
พระภิกษุและภิกษุณีชาวเวียดนามนับถือพระพุทธศาสนาสายมหายาน จึงมีจิตวิญญาณของการเป็นพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่บวช การได้รับการกระตุ้นจากวิทยาลัย จึงเป็นการย้ำเตือนให้ออกไปทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคม ตามศักยภาพที่ตัวเองสามารถดำเนินการได้
พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนี้จำนวนนิสิตจากประเทศเวียดนามศึกษาที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร อยู่ในอันดับหนึ่ง เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ฉะนั้น การดำเนินโครงการช่วยเหลือสังคมในลักษณะนี้ จะเป็นการขยายฐานของวิทยาลัยไปสู่ประเทศเวียดนาม และประเทศในอาเซียนให้เป็นที่รู้จัก และตัดสินใจเลือกเข้ามาศึกษามากยิ่งขึ้น
เลขาธิการสกศ.เข้าสักการะมุทิตาจิตรองอธิการบดี'มจร'
วันที่ 31 ก.ค.2562 นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ(สกศ.) พร้อมคณะเข้าสักการะมุทิตาจิตรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในโอกาสรับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น "พระเทพเวที"
วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ก.ดิจิทัลผนึกกว่า 15 พันธมิตร เดินหน้าปราบข่าวปลอม
วันที่ 31 ก.ค.2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยในการประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมว่า เป็นการเร่งรัดนโยบายด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางดิจิทัล มุ่งเน้นด้านการเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง โดยจะตั้งหน่วยงานศูนย์เฟคนิวส์เซ็นเตอร์เน้นสื่อสารข่าวการเตือนภัยพิบัติและข่าวลวงที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ การหลอกลวงให้ลงทุน การขายสินค้าอันตรายและผิดกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และลดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ
รวมถึงเร่งรัดหามาตรการในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่างๆกับภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลและอาชญากรรมออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมีการใช้สื่อ Social Media สูงมาก โดยมีผู้ใช้งาน Facebook 54ล้านคน Line 42 ล้านคน Twitter 12 ล้านคน ซึ่งการใช้สื่อ Social Media ของประชาชนได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณี และมีความข้อแย้งต่อกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศไทยในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายด้านการจัดเก็บภาษี กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
“ผมจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานจัดตั้งศูนย์เฟคนิวส์เซนเตอร์ จะต้องหามาตรการและแนวทางในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่างๆ โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆกว่า15 หน่วยงาน อาทิ กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กระทรวงกลาโหม กองทัพบก ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นการหาทางร่วมมือทำงาน ทุกหน่วยงานจะมาร่วมสะท้อนแนวคิดการขับเคลื่อนของประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการใช้สื่อ Social Media ที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในบริบทของประเทศไทยควรมีแนวทางในการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดูแลสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศไทย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามกฎหมายไทย เพื่อเป็นการปกป้องเด็กและเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ประชาชนทั่วไป และเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศโดยรวม” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
'เฉลิมชัย'ลงพื้นที่เมืองช้าง เร่งแก้ภัยแล้งแดนอีสาน
'เฉลิมชัย' เร่งแก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์ซึ่งปีนี้อ่างเก็บน้ำที่เก็บน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปาของอำเภอเมืองแห้งขอด ด้านกรมชลประทานแก้ปัญหาโดยการขุดร่องชักน้ำมาเติม ส่วนกรมฝนหลวงฯ ปฎิบัติการทำฝนต่อเนื่องเพื่อเติมน้ำในอ่าง
วันที่ 31 ก.ค.2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำพอก อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเร่งแก้ปัญหา โดยกล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ทั้งนี้เรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดคือ การจัดหาแหล่งน้ำเสริมให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำไหลลงอ่างฯ น้อย เนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 29% ซึ่งกรมชลประทานรายงานว่า แผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ปริมาตรน้ำเก็บกัก 1 พฤษภาคมถึง 30 กรกฎาคม 62 มีทั้งสิ้น 2,565 ล้านลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,394 ล้านลบ.ม. ความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปี 62 รวม 4,106 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำชลประทาน 2,258 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 1,848 ล้านลบ.ม. จัดสรรไปแล้ว 914 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22% คงเหลือปริมาตรน้ำที่ต้องจัดสรรจากแผน 3,192 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 78% เป็นน้ำชลประทาน 1,436 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 1,756 ล้านลบ.ม. สำหรับแผนเพาะปลูกข้าวฤดูฝนกำหนดไว้ 3.41 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 3.14 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ซึ่งการบริหารจัดการตามแผนที่วางไว้คือ การปลูกพืชให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมเพื่อให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยพื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และสุรินทร์
ทางด้านทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบัน(30 ก.ค.62) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 12 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 2,565 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 218 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 549 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 246 แห่ง มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 44 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,394 ล้าน ลบ.ม
สำหรับจังหวัดสุรินทร์ (ข้อมูลวันที่ 30 ก.ค.62) มีปริมาณน้ำเก็บกักจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำอื่นๆ รวม 26 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 346 แห่งรวมกัน 66 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 25 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 1.067 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 0.806 ล้าย ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ของความจุอ่าง และอ่างเก็บน้ำห้วยอำปึล ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำ 0.261 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 0.94 ซึ่งสาเหตุการเกิดภัยแล้งสืบเนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณฝนตกเพียง 1,158 มิลลิเมตรส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 17 แห่ง มีเพียง 131 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของค่าเฉลี่ย จนถึงปัจจุบันมีปริมาณฝนสะสม 399 มิลลิเมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯเพียง 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2 ของค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำอำปึล ปริมาณ 0.50 ล้าน ลบ.ม. พร้อมขุดร่องชักน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเข้าสู่จุดสูบน้ำการประปาและสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำราชมงคลลงห้วยเสนง ปริมาณ 0.25 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำจากบ่อหิน ปริมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำช่วยเหลือได้ 21 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 อ่างเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาเลี้ยงอำเภอเมืองสุรินทร์ นอกจากนี้ยังประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดลเพื่อเจาะน้ำบาดาลเติมน้ำสู่อ่างฯ รวมถึงจะขุดลอกแก้มลิงเกาะแก้วและป่าเวย อำเภอสำโรงทาบเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของจังหวัดสุรินทร์อีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และขอความร่วมมือเกษตรงดทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง หรือทำการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร สำหรับพื้นที่ที่เพาะปลูกแล้ว ขอให้เกษตรในพื้นที่ใช้น้ำตามรอบเวรตัวเองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ใช้น้ำร่วมกันได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึง
ส่วนนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าว พื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่เกษตรน้ำฝนรอรับน้ำฝน ที่ผ่านมาการทำฝนมีอุปสรรคเพราะมีปัญหาลมแรง ความชื้นอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อปฏิบัติการฝนหลวง ทั้งนี้ได้บินปฏิบัติการทำฝนให้ตกลงสู่อ่างฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว 19 เขื่อน จากจำนวนอ่างทั้งขนาดใหญ๋และขนาดกลางที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุเก็บกัก 100 กว่าแห่ง แต่จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนซึ่งจะส่งผลให้วันที่ 1 – 2 สิงหาคมนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือนั้น คาดว่า ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะสูงขึ้นและดัชนีค่าการยกตัวของเมฆดีขึ้น มีโอกาสให้การบินปฏิบัติการทำให้ฝนตกลงในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือได้ผลดีขึ้นตามไปด้วยเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอจนถึงฤดูแล้งหน้า กรมฝนหลวงฯ จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามที่กรมชลประทานขอรับการสนับสนุนมา สำหรับในจังหวัดสุรินทร์จะทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างห้วยเสนองและอ่างอำปึลเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค
ในวันนี้รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้ปล่อยขบวนคราวานรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร 17 คัน รถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร อีก 3 คัน พร้อมรถขุดจำนวน 1 คัน เครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 13 เครื่องเพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ
'หญิงหน่อย'แนะนักการเมืองเก่าใหม่ยุคดิจิตอล มีกลยุทธ์การสื่อสาร สอดประสานงานในนอกสภาอย่างมีสาระ
วันที่ 31 ก.ค.2562 เพจคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan ได้โพสต์ข้อความว่า พัฒนาศักยภาพของ #ทีมเพื่อไทย ก้าวสู่ #เพื่อไทยยุคใหม่ ที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม
ในเดือนหน้า พรรคเพื่อไทยจะแถลงต่อประชาชน ถึงแผนการปฏิรูปพรรคสู่ #เพื่อไทยยุคใหม่ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นพรรคการเมืองที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ทันสมัยยิ่งกว่าเดิม และตอบโจทย์ปากท้องของประชาชนยิ่งกว่าเดิม
เพื่อจะไปถึงจุดนั้น วันนี้ทีมเพื่อไทยได้ร่วมกับสถาบันรีพับลิกันสากล จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้คนสองรุ่นคือรุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ ได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจระหว่างกัน อาศัยโอกาสนี้กำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมือง และวางกลยุทธ์การสื่อสารสู่เพื่อไทยยุคใหม่
การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในพรรค เพื่อให้บุคลากรของพรรคเพื่อไทย สามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกยุคดิจิตอล
ดิฉันได้เข้าร่วมกิจกรรมและร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เปี่ยมพลัง ชวนคิด ชวนลงมือปฏิบัติ ดิฉันเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะช่วยให้พวกเราได้เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ตรงของนักการเมืองรุ่นใหญ่ในแง่มุมต่างๆ ทั้งในสภา และรัฐบาล ขณะที่นักการเมืองอาวุโสก็จะได้รับทราบมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ไปด้วย
หากนักการเมืองไม่ว่าจากพรรคใดแวะเวียนมาอ่านโพสต์นี้ มีข้อคิดน่าสนใจเกี่ยวกับกลยุทธ์การสื่อสาร ที่พวกเราได้เรียนรู้ระหว่างการแลกเปลี่ยนกับวิทยากร อยากถือโอกาสเล่าให้ฟังค่ะ
-การสื่อสารในระบบรัฐสภาต้องมุ่งเน้นเรื่องของข้อมูลที่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนเสียศรัทธาต่อระบอบรัฐภา
-การสื่อสารของนักการเมืองทั้งในสภา และนอกสภา จำเป็นต้องมีข้อความที่เข้าใจง่าย ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
-พรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง จะต้องทำงานทั้งในสภาและนอกสภา นำเนื้อหาที่มีการอภิปรายในสภา ไปสร้างความเข้าใจนอกสภา โน้มน้าวประชาชนทั้งที่เห็นเหมือนเรา และเห็นต่างจากเรา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนโยบายสาธารณะ ขณะเดียวกันก็ต้องรับรู้ปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนให้ไว เพื่อใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน
-ส.ส.รุ่นใหม่ต้องลงพื้นที่ให้มาก เพื่อเก็บเกี่ยว เรียนรู้ความต้องการของพี่น้องประชาชน ส.ส.รุ่นใหม่ต้องมีการฝึกฝนในเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และต้องออกแรงให้มากเพื่อที่จะสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน สร้างพลังทางการเมืองให้เกิดขึ้นจริง
ในช่วงสุดท้ายของวันนี้ ดิฉันชอบข้อสังเกตหนึ่งมาก เป็นข้อสังเกตในเรื่อง “จุดยืนทางการเมือง” วิทยากรบอกว่า วันนี้ “ฝ่ายค้านถือว่าเป็นฝ่ายค้านที่แข็งแรงที่สุดของไทย” สิ่งที่ทั้ง 7 พรรคฝ่ายค้านต้องรักษาต่อไปไว้ให้มั่นคงคือ “ไม่ว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จุดยืนที่ต้องรักษาไว้ให้มั่นคง คือ ประชาชน - ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และหาทางเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป”
สอดรับกับใจกลางของ #เพื่อไทยยุคใหม่ ที่ไม่ว่าจะเป็น #เพื่อไทยยุคไหน ก็มี #หัวใจคือประชาชน อยู่เสมอ เราจะรักษา ปกป้อง จุดยืนของเราไว้ให้มั่นคงค่ะ
ยูเนสโกประกาศยกย่อง 'หลวงปู่มั่น' บุคคลสำคัญของโลก
วันที่ 30 ก.ค.2562 จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา และกระทรวงศึกษาธิการ จับมือกันเสนอชื่อ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา ให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ : United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563 นั้น
ต่อมาเพจวารินชำราบบ้านเฮา อุบลราชธานี ได้โพสต์ข้อความว่า ยูเนสโก ประกาศให้ " หลวงปู่มั่น คนอุบล" เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ 28 กค. 2562 ถือเป็นพระสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย
เผยเวียดนามมุ่งใช้สติสมาธิเป็นฐาน พัฒนาประเทศ'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน'
ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ'มจร' เผยเวียดนามมุ่งใช้สติสมาธิเป็นฐาน พัฒนาสังคมเศรษฐิจ'มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน'
วันที่ 30 กรกฏาคม 2562 ที่วัดบ่าว ทั่ง เมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้รับนิมนต์จากภิกษุณีหั่น เจิง เจ้าอาวาส อายุ 81 ปี บรรยายธรรมโปรดภิกษุณีและฆราวาสญาติโยมที่มาร่วมรับฟังกว่า 200 รูป/คน ที่ศาลาปฏิบัติธรรมของวัด ก่อนที่จะเตรียมตัวออกพรรษาตามแนวทางของพระพุทธศาสนามหายาน
พระภิกษุและภิกษุณีในเวียดนามได้เข้าพรรษา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ตามวิถีปฏิบัตินั้นภิกษุณีทั้งฮอยอันจะมาเข้าพรรษา ณ วัดแห่งนี้ หลังจากออกพรรษาจึงจะแยกย้ายกลับไปปฏิบัติศาสนกิจตามพื้นที่ต่างๆ โดยวัดแห่งนี้มีภิกษุณี 2 รูป จาก 30 กว่ารูปที่เดินทางไปศึกษาที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ
ตลอด 3 เดือนของการเข้าพรรษานั้น ภิกษุณี ณ วัดแห่งนี้ มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติตัวและดำรงตนอยู่วิถีแห่งสติ และสมาธิอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสวดมนต์ไหว้พระ และบำเพ็ญสติสมาธิภาวนา ตั้งแต่ 3 นาฬิกา รวมไปถึงการฟังการบรรยายเพื่อพัฒนาปัญญาจากพระมหาเถระที่เวียนมาแสดงธรรม และพาปฏิบัติธรรม เพื่อเพิ่มพลังจิตให้มีสติ สมาธิ และปัญญา
จากการเดินทางมาเวียดนามในหลายโอกาส ทำให้พบว่า แม้ประเทศเวียดนามจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีเสรีภาพ และนับวันจะสนับสนุนและให้ความสำคัญพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเวียดนาม ดังจะเห็นจากการจัดงานวิสาขบูชาโลกใน 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาถนนสายจิตวิญญาณ (Spiritual Road) ครอบคลุม 5 จังหวัดโดยเริ่มจากฮานอยไปฮานัมจนไปจบที่ไบดิง
วิถีชีวิตของชาวเวียดนามในยุคปัจจุบันจึงมีสองภาพเคียงคู่กัน กล่าวคือ ภาพแห่งการใฝ่การศึกษา ขยันทำมาหากิน สู้ชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจ จนทำให้จีดีพีเติบโตแซงหน้าประเทศไทยมากว่า 10 ปี และอีกภาพหนึ่งคือ จำนวนของพุทธศาสนิกชน กลุ่มคนที่บวชเป็นภิกษุณี รวมไปถึงคนที่มุ่งมั่นตั้งใจไฝ่ในการปฏิบัติธรรมตามเทศกาล และตามวัดวาอารามต่างๆ ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้นภาพของผู้นำทางการเมืองของประเทศโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีและเหล่ารัฐมนตรี มองเห็นโอกาสดังกล่าวจึงได้กระตุ้นให้สังคมกลับไปหาภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สร้างเวียดนามมา จึงได้ทุ่มสรรพกำลังจัดงานวิสาขบูชาโลก จัดแผนที่การท่องเที่ยวเชิงพุทธ และสนับสนุนให้ตั้งสถาบันตรัน ฮัง ตง โดยใช้ชื่อกษัตริย์ที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาแล้วเปิดปริญญาโท และเอก สาขาพุทธศาสนาในสถาบันแห่งนี้ อีกทั้งเป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่เปี่ยมด้วยธรรมาภิบาล
เมื่อใจรักษากาย และกายรักษาใจ จึงเป็นห่วงโซ่แห่งการปฏิสัมพันธ์พัฒนาคู่ขนานกันอย่างแยกไม่ออก แม้จะมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก แต่จิตใจก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่ โดยมีสติสมาธิ และปัญญาหล่อเลี้ยงให้ชุ่มชื่นด้วยพลังแห่งความสุขอยู่ตลอดเวลา
"จะเห็นว่า เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา เทคโนโลยี และสังคม จึงมีจุดเริ่มที่แดนกลาง นั่นคือ #มนุษย์ สังคมที่เคยฆ่ากันด้วยเหตุแห่งสงครามและความรุนแรง จึงมองเห็นคุณค่าของสันติสุขเสมอ สันติสุขที่มีสติ และสมาธิเป็นฐาน" ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร กล่าวและว่า
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและตื่นเต้น หากรัฐบาล และชาวเวียดนามจะหันมาพัฒนาประเทศทั้งวัตถุและจิตใจให้เจริญไปด้วยกัน สอดรับกับทิศทางของยูเอ็นที่เน้นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนว Sustainable Development Goals หรือ SDGs ทั้งหมดจึงเป็นการเดินตามแผนที่ที่โฮจิมินท์ ได้วางไว้ว่า "ปลูกต้นไม้ 10 ได้ร่มเงา ปลูกคน 100 ปี ได้อาศัย"
ติดปีกร.ร.ศรีแสงธรรมพระทำ! รมว.ศธ.เล็งลงพื้นที่พิสูจน์ของจริง
ติดปีกร.ร.ศรีแสงธรรมพระทำ! รมว.ศธ.เล็งลงพื้นที่พิสูจน์ของจริง พร้อมขยายผลติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้โรงเรียนเอกชนทุกประเภท
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เพจพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกกับครูที่ไปจัดแสดงนิทรรศการว่า “เจอกันที่โรงเรียน” กิจกรรมดำนาก็ทำไป แต่ครูกับนักเรียนส่วนหนึ่งได้รับเกียรติให้ไปจัดนิทรรศการทีกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่วันที่ 27 จนถึง 30 กรกฎาคม 2562 ซึ่งได้นำเรื่องราวของโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบไปนำเสนอ มี Coding Show ให้กับท่านรัฐมนตรีได้ชมด้วยว่าโรงเรียนนี้ทำมานานแล้ว แม้ว่าเราจะมาจากโคกอีโด่ย ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญของประเทศแต่เราไม่ได้ห่างไกลจากพระอาทิตย์มากกว่าใครเลย แถมจับมาใช้ประโยชน์ได้มากมายมหาศาลมาเป็นโรงเรียนพลังงานต้นแบบ มาเป็น #โรงเรียนเสียดายแดด"
ก่อนหน้านี้ได้โพสต์ว่า "Solar Schoolเตรียมโครงการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้โรงเรียนเอกชนทุกประเภทพร้อมเงินกู้ 15 ปี ดอกเบี้ยต่ำ หรือไม่อยากกู้ก็ลงทุนเองได้ เบื้องต้นโครงการติดตั้งขนาด 30 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน หากต้องการลดมากกว่านั้นก็ติดตั้งเพิ่มตามพื้นที่ๆ มีหรือตามงบประมาณที่พอจัดหาได้ คืนทุนภายใน 7 ปี ใช้งานได้อีก 25 ปี
ที่ไหนสนใจเตรียมพื้นที่ติดตั้ง เตรียมค่าไฟที่ใช้จริงเท่าไหร่ ต้องการลดเท่าไหร่ เป็นโครงการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน ที่งบประมาณบริหารจัดการศึกษาภายในโรงเรียน แจ้งความประสงค์ที่ใต้โพสต์หรือส่งข้อความ และ sisaengtham@hotmail.com สำหรับท่านที่จะเข้าอบรม 10-11 สิงหาคม 2562 ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://acsst.wordpress.com/2019/07/13/solar-cell27/"
นิติม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีออกค่ายกฎหมาย พัฒนาชุมชนร.ร.บ้านสี่แยกสามัคคี
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้จัดทำโครงการออกค่ายกฎหมายเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ยั่งยืน ณ โรงเรียนบ้านสี่แยกสามัคคี ต.เขาตอก อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย บุญคงมาก ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดโครงการในครั้งนี้ว่า ชุมชนเป็นรากฐานสำคัญของชาติ การลงพื้นที่ในครั้งนี้นอกจากประชาชนได้ความรู้ด้านกฎหมายแล้ว ทางคณะนิติศาสตร์ได้มอบหนังสือกฎหมายให้แก่โรงเรียนบ้านสี่แยกสามัคคี โดยจัดทำห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนไว้ด้วย
ต่อจากนั้น นายประยุทธ จีนเมือง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสี่แยกสามัคคี ได้กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายที่ชุมชนควรมีความรู้ เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แม้ว่าประชาชนยังขาดความรู้ด้านกฎหมายก็ตาม แต่ทุกคนควรยึดศีลธรรมเป็นหลักประจำใจ เสมือนว่าได้ยึดถือกฎหมายเช่นกัน
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูภณัช รัตนชัย บรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น วิทยากรบรรยายกฎหมายในครั้งนี้ได้กล่าวถึงการดูแลชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง โดยบทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้านที่มีอำนาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชนทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาที่ยอมความได้ ถ้าหากว่าคณะกรรมการหมู่บ้านสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนก็จะลดลงประเทศชาติก็มีความเจริญก้าวหน้า หลังจากนั้นได้มอบวารสารไว้ ณ ห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชน โดยนายสมยศ สระทองอุ่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6บ้านสี่แยกสามัคคี และนายประยุทธ จีนเมือง เป็นตัวแทนรับมอบ
ก่อนปิดโครงการ อาจารย์ฉัตตมาศ วิเศษสินธุ์ รองบรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น และอาจารย์พรอุมา วงศ์เจริญ เลขานุการสำนักงานวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น พร้อมกับนิสิตคณะนิติศาสตร์ได้กล่าวขอบคุณพี่น้องชาวบ้านที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้และยินดีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อบริการวิชาการด้านกฎหมายให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างเต็มกำลังความสามารถในโอกาสต่อไป
'บิ๊กตู่'มอบ'เทวัญ'ดูแล'พศ.-กรมประชาสัมพันธ์-สคบ.'
วันที่ 30 ก.ค.2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบหมายงานให้รับผิดชอบ กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)สำนักงานราชบัณฑิตยสภา และองค์การมหาชน คือ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร
พศ.แจงสถานะ2สมเด็จฯยังคงตำแหน่งกรรมการมส.
นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ในฐานะรองโฆษกพศ. กล่าวภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) พุทธมณฑล จ.นครปฐม ว่า จากกรณีที่ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่4)พ.ศ.2561 มีการกำหนดถึงการแต่งตั้งกรรมการมส. ในมาตรา 5 ระบุว่า มส.ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควร และมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะหสมแก่การปกครองคณะสงฆ์
โดยการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยให้ยกเลิกมาตรา 12 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า มส.ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราชซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกิน 12 รูปเป็นกรรมการนั้น ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่า การที่กรรมการมส. 2 รูป ได้แก่ พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ และพระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จะยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการมส.อยู่หรือไม่นั้น
นายสิปป์บวร กล่าวต่อไปว่า ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่4)พ.ศ.2561 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้กรรมการมส.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการมส.ต่อไปจนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งกรรมการมส.ขึ้นใหม่ ซึ่งทั้งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการมส. มาก่อนที่พ.ร.บ.คณะสงฆ์(ฉบับที่4)พ.ศ.2561 ประกาศใช้ และก่อนที่จะได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ดังนั้นสถานะกรรมการมส.จะยังอยู่ตามที่ระบุในมาตราดังกล่าว
สิ้นอาจารย์สักกรินทร์อดีตอดีตพระธรรมทูตไทยในสหรัฐผู้แต่งตำราบาลีไวยากรณ์
วันที่ 30 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายสักกรินทร์ ศศพินทุรักษ์ อดีตพระธรรมทูตไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนหนังสือการเรียนบาลีไวยากรณ์ เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2562 ที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมสิริอายุได้ 78 ปี
นายสักกรินทร์ ศศพินทุรักษ์ นั้นเกิดที่บ้านบางสะแก อำเภอเดิมบาง จังหวัดสุพรรณบุรี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสามชุก อำเภอสามชุก และย้ายไปอยู่ที่วัดสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี จนสามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคได้ แล้วได้ย้ายไปจำอยู่คณะ 3 วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นอันเตวาสิกในพระมงคลเทพโมลี จนสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
นายสักกรินทร์ได้เขียนเรียบเรียงหนังสือการเรียนบาลีไวยากรณ์ ชื่อ "หลักควรจำ เตรียมสอบ บาลีไวยากรณ์" เป็นหนังสือแนะแนวการเรียบบาลีไวยากรณ์ เล่มแรกและที่โด่งดังมากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียจนจบปริญญาตรีและปริญญาโท และได้เดินทางกลับประเทศไทยจำอยู่คณะ 3 วัดสุทัศน์ 1 ปี ก่อนจะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตประจำวัดมงคลรัตนาราม เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย วัดเดียววัดแรกในเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งก่อตั้งโดยพระมงคลเทพโมลี
ต่อมาเมื่อปี 2529 นายสักกรินทร์ได้ลาสิกขาบทไปประกอบสัมมาชีพอยู่อย่างสมถะ จนกระทั้งเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 ได้เข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล Kaiserเมืองซานฟรานซิสโก และได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2562 ด้วยอาการสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว รวมสิริอายุได้ 78 ปี โดยจัดพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมทุกคืน จนถึงที่ 29 ก.ค.2562 ที่วัดมงคลรัตนาราม โดยขณะนี้ศพยังเก็บไว้ที่โรงพยาบาลเพื่อรอญาติติดต่อรับศพนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจต่อไป
พระโยมเวียดนามบริจาคทุนทรัพย์ แกะรูปปั้น'พระถังซัมจั๋ง-พระพุทธโฆษาจารย์' ประดิษฐาน'มจร'
พระโยมชาวเวียดนามเปี่ยมศรัทธา! บริจาคทุนทรัพย์แกะรูปปั้น 'พระถังซัมจั๋ง-พระพุทธโฆษาจารย์' ปราชญ์ชาวจีนและอินเดีย ประดิษฐานวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ'มจร'
วันที่ 30 กรกฏาคม 2562 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า รับนิมนต์จากลูกศิษย์ชาวเวียดนาม ภิกษุเจิง หวุย งีม และคุณชาช่า พร้อมคณะ มาทำพิธีกราบสักการะรูปปั้นพระถังซัมจั๋งและพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อนิมนต์ไปประดิษฐานที่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร อ.วังน้อย พร้อมร่วมบริจาคทุนทรัพย์ 300,000 บาท เพื่อแกะรูปปั้นในครั้งนี้
พระถังซัมจั๋งเป็นพระมหาเถระฝ่ายมหายาน ชาวจีน ที่เดินทางไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฏก ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดียแล้วแปลพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีสู่ภาษาจีน แล้วอัญเชิญกลับประเทศจีนด้วยด้วยการแบกคัมภีร์ใส่บ่าแล้วเดินสองเท้าด้วยใจที่มุ่งมั่น และมุ่งหวังจะให้มวลหมู่ประชาชนได้รับโอกาสศึกษาธรรม แล้วปฏิบัติธรรมจนสามารถลิ้มรสแห่งพระธรรมจวบจนถึงปัจจุบันนี้
ขณะที่พระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระมหาเถระชาวอินเดีย ที่เดินทางรอนแรมไปศึกษาพระไตรปิฏกที่ประเทศศรีลังกาจนแตกฉาน แล้วนำพระไตรปิฏกและอรรถกถามาบูรณาการจัดหมวดหมู่ใหม่ภายใต้ชื่อ "วิสุทธิมรรค" แปลว่า "หนทางสู่ความบริสุทธิ์" โดยใช้กรอบของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นฐานในการตีความและจัดหมวดหมู่ของพุทธธรรมลงในกล่องดังกล่าว จนกลายเป็นคัมภีร์ชั้นปกรณ์วิเสสระดับเอกอุ ที่เป็นคู่มือให้ศึกษาทั้งปริยัติและเทียบเคียงกับการปฏิบัติที่ง่ายต่อการศึกษา และเรียนรู้
"อาศัยความสำคัญของพระมหาเถระทั้ง 2 รูปนั้น พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม, เจ้าคณะภาค 2, เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อดีตอธิการบดี มจร เมื่อครั้งเดินทางมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขโลกที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้อาตมาในฐานะผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ได้ชักชวนลูกศิษย์ชาวเวียดนามจัดสร้างขึ้น โดยได้ใช้ระยะเวลา 5 เดือนในการแกะรูปปั้น ที่เมืองดานัง ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และนิมนต์ประดิษฐาน วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร ในวันที่ 21 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันสันติภาพโลก" พระมหาหรรษา กล่าวและว่า
พระมหาเถระทั้ง 2 รูป จะเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ ในการเป็นแบบอย่างของพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ต่อการศึกษา ทั้งปริยัติและการปฏิบัติ จนรู้แจ้งแทงตลอดหลักธรรมของพุทธองค์ แล้วอัญเชิญพุทธธรรมคัมภีร์และวิถีการปฏิบัติกลับไปเผยแผ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เฉกเช่นกับที่พระมหาเถระทั้งสองได้ประพฤติปฏิบัติ และอุทิศชีวิต ทำงานรับใช้พระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพุทธบูชาตราบสิ้นลมหายใจ จนกลายเป็นแบบอย่างสำคัญมาจนถึงปัจจุบันนี้
วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ช่อง 7Hd ระเบิดศึกกีฬาเยาวชน 'แชมป์กีฬา 7HD 2019'
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ ห้องสตูดิโอช่อง 7HD นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะอุปนายกสมาคมกีฬาวอลเล่ย์บอลแห่งประเทศไทย และนายปิยะพงษ์ โพธิ์สูง ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ ช่อง 7HD ร่วมเป็นประธานงานแถลงข่าว "แชมป์กีฬา 7HD 2019" ยืนยันความพร้อมเปิดสนามทั้งวอลเล่ย์บอลเยาวชนหญิง แชมเปียนคัพ 2019 และฟุตบอลนักเรียน 7 คน แชมเปียนคัพ 2019 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษา และเยาวชนทั่วประเทศ ร่วมแข่งขัน พิสูจน์ความสามารถ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมกีฬาวอลเล่ย์บอลแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ช่อง 7HD ให้ความสำคัญกับกีฬาวอลเลย์บอล และที่ผ่านมาก็ร่วมมือกัน จัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปีนี้ ช่อง 7HD ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานักกีฬาระดับเยาวชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากต่อวงการกีฬาวอลเลย์บอลไทยในอนาคต ในด้านทีมที่เข้าแข่งขันในปีนี้ เป็นทีมเชิญทั้งหมด จำนวน 8 สถาบันการศึกษา แบ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), โรงเรียนกีฬานครนนท์วิทยา ๖ จ.นนทบุรี, โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จ.นนทบุรี, โรงเรียนกีฬาจังหวัดอ่างทอง จ.อ่างทอง, โรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส จ.สุพรรณบุรี, โรงเรียนหนองเรือวิทยา จ.ขอนแก่น และโรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา และสถาบันอาชีวศึกษา 1 สถาบัน คือ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา จ.อยุธยา
ทั้ง 8 สถาบัน ที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้รับคัดเลือกจากผลการแข่งขันของทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ของสมาคมฯ ตลอดทั้งปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดถือเป็นทีมชั้นนำของกีฬาวอลเลย์บอล ระดับเยาวชนหญิง นอกจากนี้ยังมีนักกีฬาอาชีพ และนักกีฬาทีมชาติหลายๆคน ที่เป็นศิษย์เก่าจาก 8 สถาบัน เช่น ปลื้มจิตร์ ถินขาว ศิษย์เก่าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี), วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนสุรนารีวิทยา, พิมพ์พิชญา ก๊กรัมย์ ศิษย์เก่าโรงเรียนกีฬานครนนท์วิทยา ๖, ชัชชุอร โมกศรี ศิษย์เก่าโรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส, ทัดดาว นึกแจ้ง ที่เคยร่วมแข่งขันวอลเลย์บอล อุดมศึกษา ของช่อง 7HD ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนหนองเรือวิทยา,และ โสรยา พรมหล้า ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการอยุธยา จ.อยุธยา ก็เคยแข่งขันวอลเลย์บอล อุดมศึกษา ของช่อง 7HD เช่นกัน
สมาคมฯ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันรายการนี้จะทำให้นักกีฬาได้มีโอกาสพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป ทั้งการได้รับทุนการศึกษาและการเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย ตลอดจนการก้าวไปสู่นักกีฬาวอลเลย์บอลอาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเป็นนักกีฬาทีมชาติในอนาคต จึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่า วงการนี้ จะไม่ขาดทายาทในการร่วมสร้างชื่อเสียง ร่วมสร้างศักดิ์ศรี สร้างเด็กรุ่นใหม่เพื่อมาสร้างชื่อเสียงใหกับประเทศชาติ ให้เยาวชนไทย ลูกหลานไทย ได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือ นอกจากนี้ ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง จะนำสิ่งที่ทางช่อง 7HD สมาคมกีฬาวอลเล่ย์บอลแห่งประเทศไทย ไปขยายผล เพื่อจับมือกันส่งเสริมให้เยาวชนได้มีเวทีในการสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสเพิ่มมากขึ้นต่อไป นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ด้านนายปิยะพงษ์ โพธิ์สูง ผุ้จัดการฝ่ายผลิตรายการ ช่อง 7HD กล่าวด้วยว่า ทางช่อง 7HD มรนโยบายสนับสนุนด้านกีฬามาอย่างยาวนาน และจากความสำเร็จของการริเริ่มจัดการแข่งขั้น แชมป์ 7 สี วอลเล่ย์บอลอุดมศึกษา ทำให้ปัจจุบันกีฬาวอลเล่ย์บอลหญิง เป็นกีฬาที่ประชาชนให้ความสนใจและติดตามเป็นอย่างมาก โดยในปีนี้ได้ปรับยเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขั้นเป็นระดับเยาวชนให้มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ทีมชาติ หรือนักกีฬาอาชีพในอนาคต โดยได้เชิญทีมโรงเรียน 8 ทีม ที่คัดเลือกจากทีมชั้นนำของกีฬาวอลเลย์บอลระดับเยาวชนหญิง มาประเดิมเข้าร่วมแข่งขันด้วย และในวันนี้ยังเป็นวันแรกที่เปิดรับสมัครฟุตบอลนักเรียน 7 คน แชมเปียนคัพ 2019 อีกด้วย โดยเปิดรับระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม – 9 สิงหาคมนี้ และเปิดรับเฉพาะโรงเรียนมัธยมฯ สายสามัญ จำนวนจำกัดเพียง 256 ทีมเท่านั้น
'พระว.วชิรเมธี' กว่าจะมาเป็น 'พระเมธีวชิโรดม'
'พระว.วชิรเมธี' กว่าจะมาเป็น 'พระเมธีวชิโรดม' : สำราญ สมพงษ์ รายงาน
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ 28 ก.ค. 2562 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสถาปนา เลื่อน และตั้ง สมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ทรงคุณแก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา ในจำนวนนั้นมีพะมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย รวมอยู่ด้วย โดยได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ที่ "พระเมธีวชิโรดม"
พระเมธีวชิโรดมนั้น มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านครึ่งใต้ ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย จบ น.ธ.เอก สำนักเรียน วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร ปริญญาตรี ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปริญญาโท พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิวิมุตตยาลัย ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ผู้ก่อตั้งและอธิการบดีมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ (สถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาพุทธเศรษฐศาสตร์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง จังหวัดเชียงราย
หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์พิเศษของบัณฑิตวิทยาลัย มจร (2546-2553) สอนวิชาสัมมนาพระพุทธศาสนากับวิทยาการโลกยุคใหม่ (Seminar on Buddhism and New World Perspectives) แก่นิสิตระดับปริญญาโททั้งภาคปกติ (พระภิกษุ) ภาคพิเศษ (คฤหัสถ์) นอกจากนั้นยังได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์พิเศษระดับปริญญาตรี โท เอก ของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งของภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันพระปกเกล้า วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เป็นต้น พร้อมๆ กับการทำหน้าที่อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย
พระเมธีวชิโรดมอุทิศตนทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบ “ธรรมประยุกต์” (Applied Buddhism) จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางด้วยผลงานธรรมนิพนธ์ในชุด "ธรรมะติดปีก" (ประกอบด้วยธรรมะติดปีก ธรรมะบันดาล ธรรมะดับร้อน ธรรมะหลับสบาย) การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกในแบบ "ธรรมประยุกต์" หรือ Applied Buddhism ของท่านทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาธรรมะในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งวงการเทศน์ที่ลดความเข้มขลัง ทางธรรมเนียมนิยมลงมาสู่การเทศน์เชิงปฏิภาณหรือเทศน์ปนทอล์คที่ทำให้การแสดงธรรมกลายเป็นเรื่องทันสมัยมีชีวิตชีวาเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม วงการเขียนหนังสือธรรมะที่หนังสือธรรมะกลายเป็นหนังสือยอดนิยมของคนทุกวัย และวงการวิทยุและโทรทัศน์ที่รายการธรรมะกลายเป็นรายการในช่วงไพรไทม์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
จนปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ถูกนักสื่อสารมวลชนนิยามว่าเป็นปรากฏการณ์ “ธรรมะอินเทรนด์” ปัจจุบันท่านมีผลงานธรรมนิพนธ์ไม่น้อยกว่า 200 เล่ม (สถิติ ณ พ.ศ. 2557) หลายเล่มได้รับการแปลสู่ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส บางเล่มได้รับการดัดแปลงเป็นบทละครโทรทัศน์ ละครเวที ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ หรือแม้แต่บทโฆษณาเพื่อการปลูกฝังค่านิยมอันดีงามของสังคม พ.ศ. 2550 ก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัย อันเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพัฒนาสันติภาพโลก
พ.ศ. 2552 ก่อตั้งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน เพื่อเป็นธรรมสถานในการ บูรณาการพุทธธรรมเข้ากับทุกกิจกรรมของชีวิตผ่านการจัดคอร์สภาวนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.dhammatoday.com เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวคิด "ธรรมะออนไลน์ เพื่อไทย เพื่อโลก" จากพื้นฐานเมื่อปี พ.ศ. 2547 ได้ออกหนังสือธรรมะติดปีกได้รับความนิยมมาก จึงได้มีผลงานทางธรรมะออกมาอีก 2 เล่มคือ ธรรมะหลับสบายและธรรมะดับร้อน ได้รับความนิยมสูงเช่น ส่งผลให้ช่อง 3 ได้นำเนื้อหาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ทำให้เกิดกระแสที่ธรรมะกลับมานิยมกันอีกครั้งโดยส่วนมากเรียกว่าธรรมะอินเทรนด์ หรือ ธรรมะติดปีก ได้รับอาราธนาให้เป็นอาจารย์พิเศษของบัณฑิตวิทยาลัย มจร 2546-2553 ) สอนวิชาสัมมนาพระพุทธศาสนากับวิทยาการโลกยุคใหม่ (Seminar on Buddhism and New World Perspectives) แก่นิสิตระดับปริญญาโททั้งภาคปกติ (พระภิกษุ) ภาคพิเศษ (คฤหัสถ์)
พระเมธีวชิโรดมหรือพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี นั้นนับได้ว่าเป็นพระที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีการสื่อสารที่สำคัญคือ SMCR ของเบลโล อย่างเช่นที่ระบุว่า "ยกให้เห็นบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่ทูตว่ามีส่วนสำคัญและมีอิทธิพลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในที่นี้คือเทวทูตที่ทำให้หน้าที่ให้การสื่อสารให้เจ้าชายสิทธัตถะฉุกคิดจึงได้ออกบวชตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทำให้มีพระพุทธศาสนา หากไม่มีเทวทูตทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร โดยส่งเนื้อหาเป็น 4 ลักษณะมาให้เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะผู้รับสาร ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก นี้คือความสำคัญของเทวทูต" เป็นพระนักเผยแผ่ นักเทศน์ นักบริหาร นักวิชาการ
พระเมธีวชิโรดมเป็นพระที่มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนา สันติภาพและรู้ทฤษฎีการสื่อสารเป็นอย่างดี ใช้สื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแผ่ธรรมะ และสื่อสารให้กับผู้ที่สนใจได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง จะสอนใครจะมีการตรวจสอบวิเคราะห์ก่อนอยู่เสมอด้วยทฤษฎี 5W1H คือ "ใคร ด้วยวิธีการใด เพื่อเป้าหมายอันใด และผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร" สอดคล้องกับพุทธกิจตอนรุ่งสว่างทรงเล็งญาณตรวจสัตว์โลกด้วยทฤษฎี 5W1H เช่นกัน โดยวัดได้จากปริมาณหนังสือที่พิมพ์เพิ่มขึ้นและปริมาณศาสนิกชนที่มาขอรับซีดีเพิ่มมากขึ้น มีนิมนต์ที่มากขึ้นบางเดือนมีเกือบ 200 งาน ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์และการถูกสัมภาษณ์ทุกรูปแบบตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นิตยสารต่างๆ เช่น หนังสือฟอร์มูล่า เปรียว เป็นต้น หรือจากการสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตมีการสืบค้นเป็นหมื่นรายการ รวมถึงพระเมธีวชิโรดมได้เปิดเฟซบุ๊กมีคนติดตามกว่า 6 ล้านคน และทวิตเตอร์ก็มีผู้ติดตามจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าธรรมะไปถึงทุกวงการ และเป็นกระแสตอบรับจากงานที่ได้ทำลงไป
พระเมธีวชิโรดมยังมีฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ ไร่เชิญตะวัน ได้ร่วมกับนายจรัล เตชะวิจิตรา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย นายวิศิษฐ์ อาริยะ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงราย เปิดงานตลาดนัดอินทรีย์ (Organic Fair) ครั้งที่ 1 ที่ลานกาสะลองคำ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและสถาบันการศึกษาส่งนักวิชาการผู้รู้มาถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ให้ มั่นใจได้ว่า "ชาวนาจากโรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์มีความรู้จริงรอบด้าน ไม่เพียงรู้แค่การปลูกข้าวแบบเดิมๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น"
พร้อมกันนี้พระเมธีวชิโรดมยังได้มีบทบาทด้านการสร้างสันติภาพโลก จน UNHCR ถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม พ.ศ.2561 และในโอกาสที่เดินทางไปรับถวายรางวัลดังกล่าว จึงได้รับอาราธนาจากคริสตจักรสำนักโฟโคลาเร เมืองลอปเปียโน แคว้นทัสคานี ประเทศอิตาลี ให้ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จองค์พระสันตะปาปาฟรานซิส องค์พระประมุขสูงสุดของคริสตจักรโรมันคาธอลิคทั่วโลก ที่เมืองลอปเปียโน ประเทศอิตาลีด้วย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทัศนะด้านการทำงานเพื่อสันติภาพโลกและสร้างศาสนสัมพันธ์อันดีกับผู้นำศาสนาสำคัญของโลก
พร้อมทั้งถวายหนังสือ "สันติวิถี/Peace is the way" ซึ่งว่าด้วย “ทัศนะด้านการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนตามแนวทางของพุทธศาสนา” แด่องค์พระสันตะปาปาอีกด้วย หนังสือดังกล่าวพระเมธีวชิโรดมกล่าวถึงสาระสำคัญเอาไว้ว่า "เราทุกคน คือ คนชาติเดียวกัน, ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติจีน,ไม่ใช่ชาติยุโรป หรือชาติอเมริกา, หากแต่เป็น มนุษยชาติ เหมือนกัน"
ความรู้และผลงานของพระเมธีวชิโรดมนั้นมีอยู่มากมายโดยถูกนำไปอ้างอิงในการทำวิจัยและการทำวิทยานิพนธ์ต่อยอดความรู้ พร้อมกันนี้พระเมธีวชิโรดมยังมีความเท่าทันเทคโนโยลีระดับสูง นับได้ว่าเป็นพระรุ่นใหม่ที่เท่าทันโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ติดตามเทคโนโยลีด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) โดยได้เตือนสติว่า หากไม่นำปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติภาพหรือมีสติในการควบคุมแล้ว อาจจะถึงคราวหายนะของมนุษย์ชาติก็เป็นได้
หวั่นหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเจาะวอนรัฐช่วยด่วน
วันที่ 29 ก.ค.2562 นายสำราญ สมพงษ์ เกษตรกรตามแนวเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง เปิดเผยว่า ได้ปลูกข้าวโพดทับทิมสยามและน้ำผึ้งอย่างละหนึ่งต้น(เพาะได้เท่านี้) ซึ่งก็โตได้ประมาณ 1 ฟุต จึงเกรงว่าจะถูกหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเจาะ เพราะได้ข่าวว่าเกิดระบาดในหลายจังหวัดของประเทศไทย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแนะวิธีป้องกันด่วน ประกอบกับยังไม่ได้ทำประกันความเสียหายไว้แต่อย่างใด
"พร้อมกันนี้ยังได้ปลูกพืชผสมผสานตามแนวทางของศาสตร์พระราชาหลายชนิดด้วยกันไม่ว่าจะเป็นกระเจี๊ยบ ผักปุ้ง พริก มะเขือ ฟังแฟง กระเพา โหระพา นางรัก เมล่อน โสน ส่วนใหญ่ก็เป็นเม็ดพันธุ์ที่เพื่อทางอินเตอร์เน็ตที่มีแนวความคิดและทำเหมือนกันได้แจกส่งมาให้ เชื่อแน่ว่าอีกไม่นานผลิตก็จะเห็นผลอย่างแน่นอน เพราะว่าบำรุงด้วยน้ำหมักฮอร์โมนชนิดต่างๆ และสิ่งที่น่าชื่นใจหลังจากทำมาระยะหนึ่งคือได้มีผู้เข้ามาช่วยเหลือเป็นจำนวนมากนั้นคือน้องเดือน" นายสำราญ กล่าว
เผือกร้อน! 'สมศักดิ์'สั่งดีเอสไอ เร่งล่าตัว'ธัมมชโย'ต่อ
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้สั่งการมายังดีเอสไอให้เร่งรัดและติดตามการสอบสวนคดีฉ้อโกงประชาชน และยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก จึงออกหนังสือเชิญอัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อประมวลข้อมูลในวันที่ 2 ส.ค. เวลา 13.30 น. รวมถึงการติดตามตัวพระธัมมชโยอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายด้วย
วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
'ศักดิ์สยาม'กดปุ่มทดลองนั่ง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน'หัวลำโพง-บางแค'
วันที่ 29 ก.ค.2562 เวลา 09.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการทดลองให้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) และโฆษกกระทรวงคมนาคม นายสมัย โชติสกุล รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านอำนวยการ) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) คณะผู้บริหาร รฟม. และ BEM เข้าร่วมพิธี ณ สถานีสนามไชย กรุงเทพมหานคร ในการนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากสถานีสนามไชยไปยังสถานีท่าพระ จากนั้นเวลา 09.59 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กดปุ่มเปิดประตูรถไฟฟ้าเที่ยวแรก เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเปิดทดลองให้บริการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค พร้อมทั้งได้ทักทายประชาชนกลุ่มแรกที่มารอขึ้นรถไฟฟ้า ณ สถานีท่าพระ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM ได้เร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค ให้แล้วโดยเร็ว และสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการได้ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2562 เป็นวันแรก เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย จากสถานีวัดมังกร – สถานีท่าพระ รวมจำนวน 5 สถานี (ได้แก่ สถานีวัดมังกร สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และสถานีท่าพระ) โดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 28 กันยายน 2562 เวลา 10.00-16.00 น. โดยมีรถไฟฟ้า 3 ขบวน ให้บริการแบบ วิ่งไป-กลับ จากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีท่าพระ ระยะห่างระหว่างขบวนประมาณ 8 นาที ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสายสีน้ำเงิน (สถานีเตาปูน – สถานีหัวลำโพง) จะต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าที่สถานีหัวลำโพงเพื่อเดินทางไปยังสถานีในสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (สถานีวัดมังกร – สถานีท่าพระ)
กรณีเดินทางระหว่างสถานีวัดมังกรถึงสถานีท่าพระ (รวมจำนวน 5 สถานี) จะไม่คิดค่าโดยสาร โดยใช้เหรียญหรือบัตรโดยสารรถไฟฟ้า MRT เดินทางในระบบรถไฟฟ้าผ่านประตูอัตโนมัติได้ตามปกติ ทั้งนี้ ออกเหรียญโดยสารได้ที่เครื่องออกเหรียญโดยสารอัตโนมัติหรือห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี
กรณีเดินทางเข้ามาโดยรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (สถานีเตาปูน – สถานีหัวลำโพง) จะคิดอัตราค่าโดยสารตั้งแต่สถานีแรกที่อัตรา 16 บาท โดยค่าโดยสารจะเพิ่มตามระยะทาง อัตราสูงสุด 42 บาท และสามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสายสีม่วงได้ตามปกติโดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท และเมื่อผู้โดยสารแตะตั๋วโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้วสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที โดยการออกตั๋วโดยสารและการใช้ระบบรถไฟฟ้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัท BEM กำหนด
ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการแล้ว กระทรวงคมนาคม รฟม. และ BEM จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค อย่างเป็นทางการเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าโดยสารตามปกติจากสถานีหัวลำโพง - สถานีหลักสอง ในวันที่ 29 กันยายน 2562 เป็นต้นไป และในต้นปี 2563 จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน - ท่าพระ ซึ่งจะมีเส้นทางเชื่อมต่อเป็นวงกลม โดยมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) นอกจากนี้ เส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั้งทางรางและทางน้ำในเขตเมือง จึงทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
'ปิยบุตร'โพสต์ชม 'สุทิน' อภิปรายดีที่สุด แนะส.ส.อนาคตใหม่เอาเป็นแบบอย่าง
วันที่ 29 กรกฎาคม 2562 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “Piyabutr Saengkanokkul” แสดงความชื่นชมในการทำหน้าที่ของนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมบทสัมภาษณ์ของนายสุทิน
ทั้งนี้ข้อความดังกล่าว ระบุว่า
“สุทิน คลังแสง (ทุกวันนี้ พอผมมีโอกาสทำงานร่วมกัน ผมเลยขอเรียกว่า “พี่สุทิน”) คือ นักการเมือง-นักปราศรัย ที่ผมติดตามมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ต่างประเทศ ได้ฟังการปราศรัยบนเวทีหาเสียง-เวทีชุมนุม พูดเรื่องประชาธิปไตย เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรื่องคนอีสาน ได้เข้าใจง่าย และจับใจผู้ฟัง
ในวันอภิปรายแถลงนโยบาย พี่สุทินถูกวางตัวให้เป็นผู้อภิปรายสรุปของทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ด้วยเวลาที่เลื่อนออกไปดึกมาก จึงสลับให้พี่สุทินได้ขึ้นมาพูดสรุปในช่วงไพรม์ไทม์
พอพี่สุทินพูดจบ ผมเดินไปขอจับมือ และแสดงความชื่นชม จากนั้น ผมยังคุยกับเพื่อน ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่หลายคนว่า พวกเราต้องมี ส.ส.ที่ปราศรัยให้ได้แบบแนวของพี่สุทินบ้าง นำเรื่องราวของพี่น้องประชาชน มาร้อยรัด และเก็บประเด็นไล่เรียงจนครบเหมือนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด โดยไม่มีสคริปต์ และพูดเข้าใจง่าย
หลังเที่ยงคืนผ่านพ้น เข้าสู่วันใหม่ หลังจากผมแวะออกไปคุยกับคุณธนาธรที่ห้องรับรองของพรรคเสร็จ ก็กลับเข้ามาที่ประชุมสภา เห็นพี่สุทินเดินมานั่งคุยกับพวกเรา แกบอกว่า แวะมาขอบคุณคารม ที่ช่วยประท้วงให้แก
ผมเลยพูดกับแกว่า นี่พึ่งคุยกับ ส.ส.ในพรรค คุยกับหัวหน้าพรรคไปเองว่า พรรคอนาคตใหม่ต้องมี ส.ส.ที่พูดได้แบบแนวพี่สุทินบ้าง แต่เรื่องนี้มันต้องฝึกฝนใช้ทักษะหลายอย่าง แกบอกว่า ต้องฝึกไม่ใช้สคริปต์ แล้วจะไปได้ลื่นไหล สำหรับผม ส.ส.ที่ปราศรัยในการประชุมแถลงนโยบายได้ดีที่สุด คือ สุทิน คลังแสง”
เตรียมระดมสมองทั่วประเทศ พัฒนาค่ายคุณธรรมที่พึงประสงค์ในยุคดิจิทัล
รองประธานปฏิรูปการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ศธ. เผยเตรียมระดมสมองทั่วประเทศ พัฒนาค่ายคุณธรรมที่พึงประสงค์ในยุคดิจิทัล ภายใต้กรอบคิดการเรียนรู้ที่มีสติสมาธิเป็นฐาน
วันที่ 28 ก.ค.2562 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และรองประธานกรรมการการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี ศ.กิตติคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้มีโอกาสต้อนรับคณะพระสงฆ์และครูจากโรงเรียนพรหมานุสรณ์ จังหวัดเพชรบุรี นำโดยพระครูวาทีวรวัฒน์,ดร. รองเจ้าคณะอำเภอเมือง และครูจรูญศรี เชี่ยวชูพันธุ์ ในฐานะรองผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง เพื่อปรึกษาหารือทิศทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกห้องเรียน หลังจากมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับการจัดค่ายคุณธรรมเมื่อกรกฏาคมที่ผ่านมาทางสื่อมวลชน (ตามลิงค์ https://www.thairath.co.th/news/society/1604483)
"การจัดค่ายครั้งต่อไปในโรงเรียนผม ผมไม่อยากให้เรียกชื่อว่าค่ายคุณธรรม" ครูท่านหนึ่งกล่าวขึ้นในที่ประชุมที่กำลังแลกเปลี่ยนกัน จึงได้ถามว่า "เพราะเหตุใด?!? ครู พอจะบอกเหตุผลได้หรือไม่?!?" ครูก้มหน้าตอบด้วยเสียงราบเรียบว่า "ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนหวาดกลัวกับคำว่าค่ายคุณธรรม เพราะมีประสบการณ์เชิงลบกับค่ายคุณธรรมที่เพิ่งจัดผ่านไป"
ถามว่าครูผิดหรือไม่ที่สะท้อนความรู้สึกของผู้ปกครองและนักเรียนออกมาตรงๆ แบบนี้ ตอบได้ว่าคำพูดที่แสดงถึงความห่วงใยและกังวลต่อความเป็นไปดังกล่าว จึงเป็นการสะท้อนภาพและมุ่งหวังจะเห็นถึงกระบวนการในการจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อมิให้เกิดปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นต่อครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้
เพราะเหตุใด!! ต้องพูดถึงความเชื่อมั่น (Trust) เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนั้นต้องแลกด้วยการย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน แลกกับความน่าเชื่อถือของทีมวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศที่สะสมบารมีมายาวนาน แลกมาด้วยความหวาดกลัวของผู้ปกครอง และนักเรียนที่มีต่อพระสงฆ์และที่สำคัญยิ่ง คือการบั่นทอนศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง และโดยอ้อม
บางท่านอาจจะกล่าวว่า ลำพังเพียงแค่ทีมวิทยากร 1 ชุดที่ทำให้เกิดสถานการณ์นั้น ย่อมไม่อาจสรุปภาพรวมของทีมพระวิทยากรทั้งประเทศที่มีศักยภาพอีกมาก คำกล่าวนั้นถูกต้องและไม่อาจคัดค้านได้ คำถามเร่งด่วนที่จะต้องตอบก็คือ เราจะเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนพรหมานุสรณ์ได้อย่างไร? เพราะงานค่ายคุณธรรมเพิ่งจัดได้แค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ชั้นเดียว แต่ยังเหลืออีก 5 ชั้นซึ่งยังไม่ได้จัดขึ้น
จากเงื่อนไขและตัวแปรดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสที่ดีและเหมาะสมที่คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จะได้นำประเด็นดังกล่าวมาพูดคุย และจัดวางรูปแบบการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรในรูปแบบของค่ายคุณธรรมจริยธรรมในโรงเรียนมาพูดคุยกันอย่างเร่งด่วน เพราะนับตั้งแต่ก้าวย่างของการปฏิรูปฯนั้น ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร โดยมีนางอาลัย พรหมชนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสตรีมหาพฤฒาราม เป็นประธานอนุกรรมการ และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขึ้นพื้นฐาน(สพฐ.) เป็นเลขานุการ อีกทั้งมีผู้ทรงคุณวุฒิจาก มจร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร) โรงเรียนทอสี และโรงเรียนรุ่งอรุณ รวมถึงวิทยากรกลุ่มต่างๆ เช่น ธรรมะอารมณ์ดี รักษ์ธรรม ธรรมะโอดี เป็นต้น ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ
พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการฝ่ายอำนวยการฯ จะถือโอกาสนี้ได้เรียนเชิญและเจริญพรคณะกรรมการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรฯ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในการจัดค่ายต่างๆ ในสังคมไทย ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์มาร่วมการระดมสมอง และผนึกกำลังกันออกแบบค่ายคุณธรรมจริยธรรมที่สอดรับกับการปฏิรูปกิจกรรมเสริมหลักสูตร ภายใต้กรอบการเรียนรู้ที่มีสติและสมาธิเป็นฐาน เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับนักเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา อันจะส่งผลต่อการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ให้มีประสิทธิผลต่อการพัฒนายาวชนของชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการเกี่ยวกับสมณศักดิ์ 4 ฉบับ
วันที่ 28 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ ที่เกี่ยวข้องกับสมณศักดิ์ดังนี้
1.พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์
2.พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ [พระราชาคณะ จำนวน 65 รูป]
3.พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ [พระครูสัญญาบัตร จำนวน 1,084 รูป]
4. พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์บรรพชิตอนัมนิกายและบรรพชิตจีนนิกาย
รมต.ศธ.เห็นแสงพระทำ! ชมบูธร.ร.ศรีแสงธรรม โชว์โซล่าร์เซลล์ควบคุมด้วย IOT
วันที่ 28 ก.ค.2562 เพจพระครูวิมลปัญญาคุณ ศรีแสงธรรม ได้โพสต์ข้อความว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ได้มาเยี่ยมชมบูธโรงเรียนศรีแสงธรรมที่ได้รับเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยท่านเลขาธิการ นายชลำ อรรถธรรม และรองเลขาธิการ ดร.กวินเกียรติ นนท์พละ ได้เห็นความสำคัญแนวทางการจัดการศึกษาแบบมีอาชีพ มีพลังงานทดแทนเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ประยุกต์ใช้จริง และจัดการศึกษาได้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ จึงได้เชิญโรงเรียนมาจัดนิทรรศการในงาน”เสมารวมใจเทอดไท้องค์ราชัน” 27-30 กรกฎาคม 2562
คณะครูและนักเรียนได้นำ 1) สื่อการสอน ”บ้านกินแดด” ที่ประยุกต์ใช้งานระบบไฟฟ้าแบบ Stand alone ในชีวิตจริงของบ้านหนึ่งหลัง 2) ชุดกู้ภัยโซล่าร์เซลล์ สำหรับการใช้งานแบบเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ มีอุปกรณ์ไฟฟ้าครบครัน และ3) สื่อการสอนกฎของโอห์มในระบบโซล่าร์เซลล์ พร้อมทั้งวงจรไฟฟ้าการต่อไปใช้งานในชุดเดียวกัน
นับเป็นโอกาสอันดีที่ สช.ได้มอบให้โรงเรียนบ้านนอกคอกนาจาก โคกอีโด่ยได้มาเปิดหูเปิดตาในเมืองหลวงบ้าง และท้ายที่สุดคือสช.ได้ปวารณาเป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคีในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 อีกด้วย ขออนุโมทนาขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
'ซูเปอร์โพล'เปิดผลโหวต 5 อันดับดาวสภา 'พิธา-ปิยบุตร-พรรณิการ์-วัน'-'ปารีณา'ที่โหล่
วันที่ 28 ก.ค. 62 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “เปรียบเทียบความพึงพอใจของประชาชนต่อการแถลงนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันแรกและวันที่สอง” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,111 ตัวอย่าง
นายนพดล กล่าวว่า หลังจากเปรียบเทียบผลโพลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากการแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันแรก กับ วันที่สอง พบว่า ประชาชนได้ประโยชน์จากการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่สองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27.2 ในวันแรกเป็นร้อยละ 55.8 ในวันที่สอง ในขณะที่คนที่ระบุไม่ได้ประโยชน์ลดลงจากร้อยละ 72.8 ในวันแรกเหลือร้อยละ 44.2 ในวันที่สอง ตามลำดับ
ที่น่าสนใจ คือ ผลโพล 5 อันดับ ดาวสภาฯคนรุ่นใหม่ ขวัญใจประชาชนในการอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาล พบว่า เป็นผู้อภิปรายของพรรคอนาคตใหม่ 3 อันดับรวด ได้แก่ อันดับที่ 1 หรือร้อยละ 16.3 ระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคอนาคตใหม่ อันดับที่สอง หรือร้อยละ 13.1 ระบุ นายปิยบุตร แสงกนกกุล พรรคอนาคตใหม่ อันดับที่สามหรือร้อยละ 11.3 ระบุ นางสาวพรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ เช่นกัน
ขณะที่ ร้อยละ 5.3 ระบุ นายวัน อยู่บำรุง พรรคเพื่อไทย และร้อยละ 2.9 ระบุ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ พรรคพลังประชารัฐ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของประชาชนต่อกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน จำแนกตามกลุ่มจุดยืนทางการเมือง ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มพลังเงียบ พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลพอใจรัฐบาลที่ 7.07 คะแนน มากกว่า กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลมีอยู่ที่ 3.87 และมากกว่ากลุ่มพลังเงียบที่ 5.73 คะแนน
ขณะที่ค่าเฉลี่ยความพอใจต่อฝ่ายค้าน พบว่า กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลพอใจฝ่ายค้านอยู่ที่ 8.46 คะแนน กลุ่มพลังเงียบที่ 6.71 คะแนนและกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลแต่พอใจฝ่ายค้านอยู่ที่ 5.52 คะแนน
นอกจากนี้ ความพอใจต่อประธานสภาฯ พบว่า กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลพอใจสูงสุดต่อประธานสภาฯ คือ 8.19 คะแนน กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลอยู่ที่ 5.53 และกลุ่มที่เป็นพลังเงียบพอใจประธานสภาฯ ที่ 6.28 ตามลำดับ
นายนพดล กล่าวอีกว่า จากผลโพลครั้งนี้ ในการอภิปรายแถลงนโยบายวันแรก อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนไม่โอเคกับบรรยากาศในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา เพราะนักการเมืองบางคนมักจะเป็นพวกพิ๊กกี้ (Picky) คือ เลือกที่จะปั่นอารมณ์และทำให้บางคนโกรธ จนกระทบต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่วันที่สองเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ดีอภิปรายในสาระประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และหาทางออกร่วมกันจนทำให้ประชาชนสบายใจขึ้น
“ในการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายที่ดี ทุกคนควรพูดได้ทั้งประชาธิปไตยและรูปแบบอื่นๆ เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่รูปแบบ แต่สิ่งสำคัญ คือ คนในรัฐสภาสร้างความเกลียดชังต่อกันขัดขวางคนที่ไม่ใช่พวกเข้ามีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประชาชน โดยลืมหลักสำคัญประการหนึ่งของประชาธิปไตยที่ดีคือ การลดความขัดแย้งในกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านรัฐสภา ไม่ใช่คนในรัฐสภาเป็นต้นตอของความขัดแย้งเสียเอง และคนบางกลุ่มตั้งกำแพงกั้นจนไม่สามารถเข้าทำงานร่วมกันได้ในวิถีประชาธิปไตยของไทยเพราะพวกเขาละเลยประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ” นายนพดล กล่าว
วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
วัดพระธรรมกายร่วมภาคีเครือข่ายทำบุญตักบาตร วันเฉลิมพระชนมพรรษา'ในหลวง ร.10'
วันที่ 28 ก.ค.2562 พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า เช้าวันนี้( 28 ก.ค. 62) เวลา 07.00 น. วัดพระธรรมกายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายและภาคีเครือข่ายจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแก่พระสงฆ์ 68 รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2562 ตามมติมหาเถรสมาคมให้วัดทั่วประเทศจัดขึ้น
พิธีเริ่มด้วย ผศ.(พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม ประธานฝ่ายฆราวาส จุดเทียนธูปเครื่องนมัสการพระรัตนตรัย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร พระครูสังฆรักษ์ รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย นำพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ต่อด้วยพิธีกล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์ให้พร จากนั้นพระสงฆ์ 68 รูปแปรแถวรับบาตร ต่อมาในเวลา 09.30 น. พระสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี ณ ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล
สมเด็จพระสังฆราช มีพระดำรัสถวายพระพรในหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ 28 กรกฎาคม 2562 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2562 เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำรัสถวายพระพร ความว่า
“อภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว อาตมภาพในนามคณะสงฆ์ ขอตั้งกัลยาณจิตร่วมกับปวงชนชาวไทย สำแดงความปีติโสมนัส และขอถวายพระพรชัยมงคล
บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ทรงรับพระบรมราชาภิเษก ตามโบราณขัตติยราชประเพณีทุกประการ พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการที่จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร ดุจเดียวกับที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงปฏิญาณพระองค์ เป็นแนวทางดำเนินพระราชจริยาสืบมาทุกรัชสมัย
อันว่าพระราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นมี 10 ประการ เรียกว่า ‘ทศพิธราชธรรม’ ประกอบด้วย การให้, การสังวรระวังกายวาจา ให้เป็นปรกติ, การบริจาคเพื่อบรรเทาความโลภ, ความซื่อตรง, ความอ่อนโยน, การกำจัดความเกียจคร้านและความชั่ว, ความไม่มักโกรธ, ความไม่เบียดเบียน, ความอดทน และการดำรงความยุติธรรม
เมื่อใด พระมหากษัตริย์ทรงดำรงทศพิธราชธรรม ให้บริบูรณ์ด้วยดีในพระองค์ เมื่อนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และราษฎร ย่อมสวามิภักดิ์ พร้อมพลีกำลังกาย กำลังความคิด สนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์สุจริตและกตัญญู ปรากฏพระปีติโสมนัสมาสู่ดวงพระราชหฤทัย ในขณะเดียวกัน ประชาชนทุกคนก็พึงทำความแยบคายในใจให้ถ้วนถี่ว่า ทศพิธราชธรรมนี้ หาได้เป็นพระราชปฏิบัติสำหรับพระมหากษัตริย์แต่ฝ่ายเดียวไม่ ด้วยเหตุที่ความรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง จำเป็นต้องอาศัยกำลังพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ช่วยกันทำหน้าที่ ตามฐานะของตนๆ เพื่อสนองพระบรมราโชบาย จนบังเกิดผลสัมฤทธิ์ได้สมพระราชปรารถนา เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้อาศัยใต้พระบรมโพธิสมภาร จึงพึงศึกษาและน้อมนำธรรมะทั้ง 10 ประการข้างต้น มาเป็นวิถีการดำรงตนโดยทั่วหน้ากัน
ณ อุดมสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา อาตมภาพขออัญเชิญนิพนธคาถาแห่งสุขาภิยาจนคาถา มากล่าวอ้างเป็นสัจจวาจา ว่า
มาตา ปิตา จ อตฺรชํ นิจฺจํ รกฺขนฺติ ปุตฺตกํ
เอวํ ธมฺเมน ราชาโน ปชํ รกฺขนฺตุ สพฺพทา ฯ
ความว่า ‘มารดาและบิดา ย่อมถนอมบุตรน้อยอันบังเกิดในตนเป็นนิตย์ฉันใด พระราชาจงทรงรักษาประชาราษฏร์โดยชอบ ในกาลทั้งปวงฉันนั้น’
ด้วยเดชะแห่งสัจจวาจานี้ ขอประชาราษฎร์ทั้งปวง จงสมัครสมานสามัคคี ประพฤติปฏิบัติตนเป็นเสมือนลูกที่ดี พร้อมเพรียงกันทำนุบำรุงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้วัฒนาสถาพร เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่น ในอันที่จะทรงรักษาประชาราษฎร์โดยชอบ ดุจดั่งบิดรมารดา จักได้ทรงปลอดโปร่งพระราชหฤทัย ทรงบริบูรณ์ด้วยพระกำลังที่จะทรงยังราชอาณาจักรไทย ให้ร่มเย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบารมีสืบไป
ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และพระราชกุศลธรรมจริยา จงอภิบาลรักษาสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ให้ทรงพระเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย เสด็จสถิตเป็นมิ่งขวัญหลักชัยแห่งราชอาณาจักรไทย ตราบจิรัฏฐิติกาล เทอญ”
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก"
โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่องธรรม...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...