วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562
"นิพนธ์"ร่วมถกรมต.อาเซียนว่าด้วยการจัดการด้านภัยพิบัติที่"เมียนมา"
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่กรุงเนปิ ดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมคณะ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 7 โดยมีนายเฮนรี่ บันทียู รองประธานาธิบดีแห่งสธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และผู้แทนจาก10 ประเทศอาเซียนร่วมด้วย
นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้ ไทยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานประชาคมอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและร่วมมือ ตลอดจนเชื่อมโยงอาเซียนในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ไทยได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายและแผนงานที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนในครั้งที่แล้ว โดยเฉพาะปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเป็นเจ้าภาพคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียนสำหรับใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติ ที่ จ.ชัยนาท ประเทศไทย ทั้งนี้ตนขอยืนยันในความตั้งใจและความพร้อมของประเทศไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงาน ด้านการจัดการภัยพิบัติ และสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในการรับมือภัยพิบัติ ดังนี้
1.การนำแนวความคิดในการสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิมมาใช้ในการฟื้นฟู กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยได้ขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มีเป้าหมายในการปรับสภาพระบบสาธารณูปโภค การดำรงชีวิต และสภาวะวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาวะปกติ หรือพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิมตามความเหมาะสม โดยประเทศไทยในขณะนี้ประสบกับสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งนอกจากที่ทุก ภาคส่วนจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้วนั้น รัฐบาลยังได้กำหนดมาตรการในการให้ความช่วยเหลือที่ครอบคลุมทั้งในด้านการดำรงชีวิต ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ตลอดจนการฟื้นฟูที่คำนึงถึงการป้องกันผลกระทบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือระยะเร่งด่วน การฟื้นฟูภาคการเกษตร การพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า การใช้มาตรการทางการเงินและการคลังในการเยียวยาผู้ประสบภัย การฟื้นฟูสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แข็งแรงกว่าเดิม โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณรวมเกือบ 25,000 ล้านบาท โดยส่วนแรก จำนวน 7,642 ล้านบาท เพื่อให้ท้องถิ่นนำไปใช้ในการการฟื้นฟูซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างขั้นพื้นฐาน และแจกจ่ายให้กับครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยโดยตรง และส่วนที่สอง จำนวน 15,800 ล้านบาท ในการจัดทำโครงการเพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาวอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งการช่วยเหลือที่กล่าวมานี้ ยังไม่รวมถึงค่าเยียวยาอื่น ๆ เช่น เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เป็นเกษตรกรโดยเฉพาะตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดลองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เป็นต้น
2.ความพร้อมในการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการตอบโต้ภัยพิบัติและสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนได้รับผลกระทบจากทั้งภัยธรรมชาติ ภัยจากความขัดแย้ง และเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ส่งผลให้พวกเราต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น การทำงานเพื่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราจะต้องให้ความสำคัญ ขอขอบคุณ AHA Centre (อะ-ฮ่า-เซ็น-เตอร์) ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งในการนำความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปสู่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ และต้องการความช่วยเหลือมาโดยตลอด
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งคลังสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน ภายใต้โครงการ DELSA (เดล-ซ่า) ซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญในการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมของอาเซียน คลังสิ่งของช่วยเหลือทางไกลที่ตั้งที่จังหวัดชัยนาทนั้นจะสามารถเปิดใช้งานได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ AHA Centre (อะ-ฮ่า-เซ็น-เตอร์) ในการจัดตั้งคลังสิ่งของช่วยเหลือทางไกลดังกล่าว
“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการสนับสนุน ให้ความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ ร่วมกับอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในการสร้างชุมชนให้ปลอดภัยและเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ประชาคมอาเซียนที่ปลอดภัย สามารถรู้รับ ปรับตัว และฟื้นคืนกลับจากภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วให้เป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยพร้อมและตั้งใจจะร่วมมือกับทุกประเทศอย่างเต็มที่” นายนิพนธ์ กล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ
วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแ...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น