วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
"วิษณุ-คุณหญิงกัลยา" เปิดโครงการปั้น "ชลกร" จัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ
"วิษณุ-คุณหญิงกัลยา" เปิดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ยิ่งใหญ่ ปั้นวิทยาลัยเกษตรฯ ทั่วประเทศ สร้าง "ชลกร" สร้างงาน สร้างรายได้ แก้จน อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เปิดโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ อย่างยิ่งใหญ่ ได้มูลนิธินโยบายสาธารณะไทยสนับสนุนงบประมาณตั้งต้น 100 ล้านบาท ปั้นวิทยาลัยเกษตรฯ ทั่วประเทศ สร้าง "ชลกร" ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการจัดการน้ำในชุมชนรุ่นใหม่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ยั่งยืน พร้อมจัดกิจกรรม Workshop ดึงเยาวชนสร้างจิตสำนึกในการรักน้ำผ่านสื่อสมัยใหม่
นายวิษณุ กล่าวว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้น้อมนําแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติโดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก คือมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง นั่นคือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้าน มีพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพอย่างมั่นคงและยั่งยืนโดยชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ในการขับเคลื่อนและร่วมกับอาชีวะเกษตร เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจน โดยมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย ที่มีนายโชติ โสภณพนิช เป็นประธาน ได้บริจาคเงินให้โครงการเพื่อเป็นทุนแรกเริ่มในการตั้งกองทุน จำนวน 100 ล้านบาท ในการนำไปบริหารโครงการโดยรวมและสร้างโมเดลต้นเเบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝน บนพื้นที่อาชีวะเกษตรก่อนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกิน ช่วยสร้างงานสร้างเงินสร้างคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเเละนวัตกรรม ให้กับนักศึกษาอาชีวะเกษตรรวมทั้งคนในชุมชน
สำหรับหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ประสบความสำเร็จนั่นก็คือชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยมูลนิธินโยบายสาธารณะไทยจะสนับสนุนด้านเงินทุน ส่วนรัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้องค์ความรู้ และกระทรวงศึกษาจะใช้กลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ และจะมีการหลักสูตรสร้างชลกร คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชน ให้สามารถดำเนินการต่อเองได้ นอกจากนี้ ในโครงการฯ จะมีการจัดกิจกรรม Workshop โดยคัดเลือกนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรฯ นำเสนอแนวความคิดเรื่อง "น้ำของเรา" โดยมีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำไปจนถึงผลิตชิ้นงานโฆษณาออกมา เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรู้ถึงความสำคัญ และคุณค่าของน้ำ
"เมื่อมีน้ำ ก็มีชีวิต คือแนวคิดหลักของโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ สร้างการเรียนรู้ ในการ มี-ใช้-จัดสรร "น้ำ" ในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพตามศาสตร์พระราชา ที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ของน้ำให้กับชุมชนนอกเขตชลประทาน เพื่อใช้ในการทำการเกษตร บริโภคและอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยสร้างการเรียนรู้ผ่าน "ชลกร" นักศึกษาอาชีวะเกษตร จากวิทยาลัยเกษตรฯ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับการฝึกทักษะให้เชี่ยวชาญด้านการบริการจัดการน้ำในชุมชน ส่งต่อความรู้ไปยังผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป ให้สามารถดูแลบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยตนเอง สร้างประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อชีวิตที่พอเพียง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน" คุณหญิงกัลยา กล่าว
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลกรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต โดยจะเป็นฐานปฏิบัติการที่สำคัญในการเดินหน้าโครงการนี้ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มนำร่องที่ 5 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ ซึ่งทุกวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งในส่วนของครูและนักศึกษาที่จะเป็นแกนนำในการเร่งดำเนินโครงการสร้างโมเดลต้นแบบบนพื้นที่วิทยาลัยเกษตรฯ ก่อนจะขยายผลไปในชุมชนโดยรอบ
ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน นอกจากจะใช้หลักการองค์ความรู้ที่ผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาถิ่น ปราชญ์ชุมชน และทีมผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังจะต้องนำหลักการทางวิชาการมาใช้ควบคู่กันไปด้วย โดยจะมีการจัดทำหลักสูตร "ชลกร" เพื่อยกระดับและต่อยอดองค์ความรู้การจัดการระบบน้ำ เกษตรชลประทาน เพื่อให้เข้าใจในศาสตร์พระราชาในมิติของน้ำเพื่อการเกษตร การบริโภค สำหรับชุมชน ส่งเสริมเกษตรกรมีน้ำทำกิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร
"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น