เมื่อวันที่ 2 ก. ค.2563 ที่ผ่านมา คณะวิจัยภายใต้แผนการวิจัย เรื่อง การพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบสันติสุข (พุทธ ศริสต์ อิสลาม) และแผนงานวิจัย แผนการวิจัยเรื่อง สันติภาพไร้รอยต่อ : การพัฒนากระบวนทัศน์และความเข้าใจทางพหุวัฒนธรรมกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับการจัดสรรผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม "การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์โดยใช้หลักคำสอนทางศาสนา" ปีงบประมาณ 2563
ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ เช่น ชุมชนบ้านตลาดแขก ชุมชนบ้านคันธง ชุมชนหลังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ชุมชนบ้านบางปู ชุมชนบ้านปากยิง ชุมชนบ้านโพธิ์เสด็จ ชุมชนสี่แยกบ่ออ่าง เป็นต้น มีชาวไทยนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม อาศัยในชุมชนอย่างสงบสุขโดยใช้หลักคำสอนทางศาสนา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมานับพันปี เป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ 1 ใน 5 เมืองของประเทศก็ว่าได้ ได้รับการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรม จนกลายเป็นหลากหลายอารยธรรม ผสมผสานสืบเนื่องความเจริญรุ่งเรือง
ปรากฏหลักฐานเด่นชัดจวบจนปัจจุบัน คำว่า "อารยะ" หมายถึงความเจริญ ส่วนคำว่า "ธรรม หรือธรรมะ" หมายถึงความดีงาม มีเอกลักษณ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาดังคำกล่าวที่ว่า "นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม เราชาวนคร คือ อารยชน มุ่งมั่น สร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาเมืองนคร "จังหวัดนครศรีธรรมราช" ถือว่าเป็นดินแดนแห่งพหุสังคม สมานฉันท์ ปรองดอง เมืองศูนย์กลางทางการศึกษาทางศาสนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมของตักศิลาทางการศึกษาชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน เป็นแหล่งบ่มเพาะการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไร้รอยต่อมาเป็นเวลานาน เป็นแหล่งกำเนิดปูชณียบุคคลผู้สร้างคุณูปการทางด้านการศาสนา สังคม และการเมือง ทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก กล่าวได้ว่าชาวนครศรีธรรมราช มีชีวิตแบบสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไร้รอยต่อมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
ในโอกาสนี้ นายศิริพัฒพัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้ทางคณะผู้วิจัยได้เข้าพบที่ห้องทำงาน ในศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ผศ.ดร.กมลาศ ภูวชนาธิพงศ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธจิตวิทยา ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นตัวแทนของคณะโครงการวิจัยฯ ได้สรุปวัตถุประสงค์ของโครงการและขอแนวทางการสืบสานความเป็นเอกลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแบบพหุวัฒนธรรม 3 ศาสนา สืบสานเอกลักษณ์ไปสู่เยาวชนรุ่นต่อไปอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้แนวทางการทำโครงการไว้ดังนี้
"….ผลผลิตที่ออกมาคือกิจกรรม ที่แสดงให้เห็นความเป็นรูปธรรม ถึงความเป็นสันติสุข ที่แสดงออกทางวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมที่วัดได้จริงควรต้องมีตัวชี้วัด ที่แสดงออกถึง 1) ความไม่ขัดแย้ง 2) ความรัก ต้องพยายามใช้ข้อมูลทางสถิติมาเป็นตัวชี้วัด เช่น การทะเลาะวิวาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความรักใคร่กลมเกลียว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม มีหลักคิดที่แสดง spirit ของชุมชนขึ้นมา นี่คือสิ่งที่เป็น ผลลัพธ์ที่ได้มา นอกเหนือจากกิจกรรม activities แต่ไม่ต้องวัดผลมากมาย เอาแค่ ข้อเสียลดลงอย่างไร ข้อดีเพิ่มขึ้นอย่างไร…"
สำหรับการทำกิจกรรมสำหรับเยาวชน ควรเป็นกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความน่าสนใจ เช่น การใช้ application มาใช้ส่งเสริมกิจกรรมเยาวชนเกิดจิตสำนึกในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมและมองว่า การที่นักวิจัยมาลงพื้นที่ จัดกลุ่ม เขียนผังชุมชนให้กับชาวบ้าน แค่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง แต่อาจไม่ได้สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ไม่ได้ทิ้งไว้เป็นสมบัติของชุมชน แต่เป็นเพียงผลงานวิจัยเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการความมั่นคงหรือสันติภาพในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แสดงความคิดเห็นว่า "ความไม่มั่นคง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น มนุษย์ที่ขี้เกียจ ขี้โกง ขี้เมาในอบายมุข มันเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมสั่นคลอน มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย น่ากลัว มีความรู้สึกว่าลำบาก ความลำบากคือจน เจ็บป่วย โจรผู้ร้ายเยอะ ยาเสพติดเยอะ นี่คือความไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิตของคน ไม่ใช่ความมั่นคงในการรบราฆ่าฟัน แต่รู้สึกว่าอยู่แล้วไม่รู้สึกสบาย
นี่คือความไม่มั่นคงและมองว่า การสร้างสังคมสันติสุข ทุกคนก็ต้องรู้หน้าที่ของตนเองเช่น ประชาชนรู้หน้าที่ พระรู้หน้าที่ นักบวชรู้หน้าที่ โต๊ะอิหม่ามรู้หน้าที่ โจรรู้หน้าที่ สาธารณสุขมีหน้าที่ให้คนหายเจ็บ ถ้าทุกคนรู้หน้าที่ ทุกคนมีวินัยคือ กรอบความดี เมื่อทุกคนรู้หน้าที่มีวินัย ก็จะมีพลัง คือ เสียสละเป็นจิตอาสา ช่วยเงิน ช่วย แรงกาย เสียสละเวลา และสามัคคี ร่วมกันพัฒนาแบบบูรณาการเกิดเครือข่ายความปรองดองสมานฉันท์ ก็จะเกิดสันติภาพได้ ถ้าทุกคนเป็นคนที่ดี รู้หน้าที่ มีวินัย เสียสละเพื่อส่วนรวม เกิดสำนึกในหน้าที่ของแต่ละคนในการมุ่งมั่น สร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนาชุมชนมีจิตอาสา และมีความสามัคคี ก็สามารถทำงานอยู่ร่วมกัน สร้างสังคมอย่างสันติสุขได้
ดังนั้น การพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบสันติสุขตามหลักคำสอนทางศาสนา(พุทธ คริสต์ อิสลาม)มีการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน หมู่บ้าน ที่มีความเข้มแข็งสามารถพึงตนเองได้ และมีความสามัคคีในชุมชนแม้ว่าจะมีพื้นฐานความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน สามารถก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งด้วยการใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนทำให้ชุมชนเกิดสันติภาพและสันติสุขเป็นแนวทางในการพัฒนาเพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญนำไปสู่การสร้าง "สังคมแห่งสันติสุข" ในสังคมไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น