วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
พระคติธรรม สมเด็จพระสังฆราช เนื่องในวันอาสาฬหบูชา
วันที่ 4 ก.ค.2563 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันอาทิตย์ ที่ 5 กรกฎาคม 2563 ความว่า
"ดิถีอาสาฬหบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว การบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษในนักขัตฤกษ์นี้ มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ‘ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร’ โปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อันเป็นการเริ่มประกาศพระศาสนา กระทั่งบังเกิดมีพระอริยสงฆ์ ครบถ้วนพร้อมเป็น ‘พระรัตนตรัย’วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่พุทธบริษัทจักได้น้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ย้ำเตือนจิตใจตนให้มุ่งประพฤติตามหนทางแห่งอริยมรรค มุ่งไปสู่ความเกษมปราศภัยจากสังสารวัฏ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา
เมื่อแรกที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงพระดำริว่าธรรมะที่ทรงบรรลุ ช่างละเอียดลุ่มลึกเหลือประมาณ จึงมิได้มีพระทัยน้อมไปในทางที่จะทรงแสดงธรรม แต่ด้วยอานุภาพแห่ง ‘พระมหากรุณาคุณ’ อุปมาดุจมหาพรหมผู้ประเสริฐ ยังให้ทรงพิจารณาเล็งเห็นว่า ‘สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยยังมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่’ จึงทรงตัดสินพระทัยประกาศพระธรรม เพื่อสัตว์ทั้งหลายจักได้สดับธรรมและรู้ตาม บรรดาที่จมอยู่ในความทุกข์โศก ถูกความเกิดแก่เจ็บตายครอบงำ ย่อมได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ ตามลำดับสติปัญญาอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับแต่นั้นก็ทรงพากเพียรบำเพ็ญพระพุทธกิจโดยมิทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากตรากตรำอยู่ถึง 45 ปี ตราบกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพานวัน
อาสาฬหบูชา นอกจากจะเตือนใจให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อันเป็นสรณะสูงสุดของพุทธบริษัทแล้ว ยังนำพาให้เราทั้งหลายมั่นคงแน่วแน่ด้วยปณิธานแห่ง ‘ความกรุณา’ เพราะฉะนั้น หากท่านกำลังเผชิญความเหนื่อยยากจากการบำเพ็ญกรณียกิจด้วยความกรุณา ขอจงอย่าลดละหรือท้อแท้ ขอให้ตระหนักแน่วแน่ว่าท่านกำลังเจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ผู้ทรงพระมหากรุณาเป็นที่พึ่ง แล้วจงประคับประคองจิตใจให้อาจหาญร่าเริง เบิกบานด้วยเมตตาการุณยธรรม พร้อมกระทำคุณประโยชน์ ด้วยการพลีกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ และกำลังสติปัญญา เกื้อกูลให้เพื่อนร่วมชาติ ร่วมสังคม สามารถก้าวพ้นจากทุกข์ภัย นำมาซึ่งสันติสุขร่วมกันของสรรพชีวิตบนโลกนี้สืบไป ตลอดกาลนาน เทอญ."
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์
วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น