วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ผอ.สันติศึกษา"มจร" ถอดบทเรียนชีวิตพระพุทธเจ้า ผ่านวันอาสาฬหบูชา แนะนำมาปรับปรุงก่อนจะสายเกินแก้




เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ผู้คนมากมายเพียรพยายามอธิบายและตีความ "วันอาสาฬหบูชา" ในแง่มุมที่ต่างกัน แต่ที่เห็นบ่อยๆ คือการย้ำเตือนว่า "เป็นวันแสดงปฐมเทศนาด้วยกัณฑ์ธรรมจักกัปปวัตนสูตร และเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบ 3 ประการ" มาบัดนี้ ขอเสนอมุมมองเพิ่มเติมดังนี้

1.เพราะเคยหลงทางผิด จึงคิดหาทางถูก  ทางเส้นนี้ เริ่มจากมิจฉาทิฐิ หรือมิจฉาสติ และสมาธิ เป็นต้น สู่สัมมาทิฐิ สัมมาสติและสมาธิ

2. เพราะเคยใช้ชีวิตแบบสุดโต่งจึงถอยมาใช้ทางสายกลาง ชีวิตเริ่มต้น และถูกฉาบมาด้วยกามคุณตามแนวทางกามสุขัลลิกานุโยคจนพบทางตัน แล้วหันไปหาการทรมานตนเองแบบอัตตกิลมถานุโยค 

3. เพราะเคยทุกข์อย่างแสนสาหัส จึงค้นหาทางดับทุกข์ เพราะพระองค์เคยผ่านความทุกข์ทรมานจากการเผชิญหน้ากับการหมกมุ่นกับกามคุณ และทุกข์อย่างแสนสาหัสกับการทรมานร่างกายตัวเอง สุดท้ายจึงใช้ทางสายกลางมาช่วยดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง

4. เพราะทำอะไรด้วยตัณหา จึงเผชิญหน้ากับความทุกข์  ไม่ว่าจะใช้ชีวิตตอนเป็นสิทธัตถกุมาร หรือหลังจากออกบวชไปใช้ชีวิตในป่าเขานั้น พระองค์ใช้ตัณหาเป็นแรงขับ อยากมีอยากเป็น และแปลกแยกกับสิ่งที่มีและเป็นแล้ว เพราะหยุดดูและหยุดอยาก จึงค้นพบพุทธะในเรือนใจ

พระองค์ไม่ได้เอาอะไรหรือชีวิตของใครมาจำแนกแจกแจงแสดงธรรมให้แก่ปัญจวัคคีย์ฟัง  แต่ถอดเอาบทเรียนชีวิตของพระองค์นั่นแหละมาสอนปัญจวัคคีย์ได้เรียนรู้และเข้าใจ กาลเวลาผ่านไป 2,600 ปี บทเรียนดังกล่าวยังดังก้องกังวาลมาจนถึงบัดนี้ 

#มองชีวิตพุทธองค์ 
#เห็นชีวิตของตนเอง
#ปรับปรุงก่อนจะสายเกินแก้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...