วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

"ข้าวเป็นเจ้า"! ศิลปะชุมชนแห่งใหม่แม่สรวยเชียงราย



"ข้าวเป็นเจ้า" ศิลปะประยุกต์หลักพุทธธรรมชุมชนแห่งใหม่ โป่งน้ำพุร้อนสามสี แม่สรวยเชียงราย สะท้อนความมั่นคงทางอาหารและจิตใจ

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.00 น.-16.00 น" พระสุธีรัตนบัณฑิต รศ.,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมเป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมพัฒนาและเปิดงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ศิลปะ ที่โป่งน้ำพุร้อนสามสี บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 22 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ภายในงานได้มีมีการเสวนาเรื่อง "ข้าวเป็นเจ้า" ซึ่งเป็นชุดงานประติมากรรมที่สร้างสรรค์จากงานวิจัย



พระสุธีรัตนบัณฑิต กล่าวว่า กิจกรรมพัฒนาและเปิดงานวิจัยเชิง สร้างสรรค์ศิลปะครั้งนี้ เป็นงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการ "การพัฒนาเมืองศิลปะเชิงสร้างสรรค์ในล้านนา"  ซึ่งเป็นชุดโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ได้สนับสนุนให้ดำเนินการใน 8 จังหวัดภาคเหนือโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง Community Art เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยว ของชุมชน ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้นำเสนองานศิลปะภายใต้แนวคิด "ข้าวเป็นเจ้า" เป็นศิลปะที่อยู่กับท้องทุ่งนาในตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายบ่งบอกถึงศิลปะกับชาวนาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ หลักคิดอันหนึ่งต้องการให้ศิลปะที่มีอยู่ในตัวคนไปสู่ ชุมชน วัด และพื้นที่สาธารณะ




ด้านอาจารย์มานิตย์ กันทะสัก อาจารย์สาขาพุทธศิลปกรรมวิทยาลัยสงฆ์เชียงราย ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ "ข้าวเป็นเจ้า" กล่าวถึงแนวคิดในการสร้างว่า ได้แรงบันดลใจจากบริบทของชุมชนที่เป็นเมืองอู่อารยธรรม เป็นเมืองยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ประกอบด้วยแหล่งโบราณคดีดอยเวียง ดอยวง และตำนานเมล็ดข้าวจากเกาะแม่ม่ายที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาของหมู่บ้าน จากตำนานแม่ม่ายทุบข้าว จึงนำมาสู่การออกแบบศิลปะงานประติมากรรมสู่ชุมชนทั้งสามชิ้น ใช้ตำนานและใช้ปัจจุบันในการออกแบบเมล็ดข้าวงอก มีส่วนที่เป็นใบและรากงอกออกมาจากเมล็ดข้าว ทั้งสองส่วนเท่ากัน หมายถึง รากเหง้าหยั่งลึกแค่ไหน ก็จะสูงงดงาม 

ต้นกล้ามีสามต้น มีลักษณะเป็นต้นข้าวที่อ้วนใส่ความรู้สึกที่มีต่อข้าวถึงความอุดมสมบูรณ์ซึ่งความสมบูรณ์โดยความหมาย ต้นที่ 1 หมายถึง อดีต คือ ตั้งแต่บรรพบุรุษของเรากินข้าว มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ท้าวความไปถึง การพบเมล็ดข้าวใน ภาชนะดินเผาในยุคบ้านเชียง นั่นก็ 3,000 - 3,500 ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นถึง การบริโภคข้าว มีมาก่อน พระพุทธเจ้า เสด็จมาโปรดสัตว์ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าพระองค์เอง ยังฉันข้าว เป็นภัตตาหาร นั่นเป็นนัยยะ ของต้นข้าวต้นที่ 1 คืออดีต ต้นที่ 2 คือปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกข้าวของเราคนไทย ยังมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และคนไทยยังบริโภคข้าวเป็นปกติ ถือว่าเป็นอาหารหลัก และมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขึ้นมา เพื่อตอบสนอง ความต้องการ ของประชาชน สืบมา ต้นที่ 3 ยังสื่อความหมาย ไปถึงอนาคต ว่ามวลมนุษยชาติ ยังคงบริโภคข้าว เป็นอาหารอยู่ ตราบเท่า มนุษย์จะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ประติมากรรมในชิ้นที่ 2 นี้ จึงสื่อความหมายถึงความสำคัญของต้นกล้าที่แข็งแกร่ง จากอดีตปัจจุบัน สู่อนาคตให้รวมเป็นกอข้าวอันสมบูรณ์ 




ประติมากรรมอีก ชิ้นหนึ่งคือรวงข้าว รวงข้าวจะมี เม็ดข้าวอยู่ 9 เม็ด อันมีหลายระยะที่ต้องการสื่อสารและแสดงออกคือ รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรง มีโครงการ หลวง ที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างไม่หยุดยั้ง ถือว่ารัชกาลที่ 9 พระองค์ทรง มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และตัวศิลปินเอง ยังมีความศรัทธาต่อรัชกาลที่ 9 นัยที่2 เลข 9 เป็นเลขที่มีความเป็นมงคล ในหลักธรรมของพุทธศาสนา มรรคมีองค์ 8 + นิพพาน 1 ก็คือเลข 9 และคำว่าเก้า เมื่อพูดออกไป พ้องเสียงคำว่า 9 ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ สมบูรณ์คือก้าวต่อไปของมวลมนุษยชาติ ศิลปินมีความเชื่ออย่างยิ่งว่าในอนาคต เม็ดข้าว หรือการทำนาข้าว จะกลับไปเหมือนในอดีตซึ่งเป็น การทำนาแบบอินทรีย์ รูปทรง ที่โค้ง ล้มลง อย่างเห็นได้ชัด ของประติมากรรมชิ้นนี้ แสดงถึง ความนอบน้อม ถ่อมตน ไม่เย่อหยิ่ง เสมือน ผู้ที่อยู่สูง หรือเป็นผู้ใหญ่หรือมีความสำเร็จ ถ้าบุคคลนั้นมีธรรมะ มีการฝึกฝน ที่ดีมีการอบรมที่ดีย่อม ถ่อมเนื้อถ่อมตน น้อมตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ต่อมา จะพูดถึงฐานของประติมากรรมทั้ง 3 ชิ้น เป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 120 ซม. ที่มีรูวงกลม 2 วงจรทะลุให้เห็นอีกฝั่งนึง มีนัยยะที่สื่อความหมายสำคัญคือ วงกลม คือวัฏจักร ของชีวิต ของธรรมชาติ ของจักรวาล และเป็นสากล จักรวาล นี้ อันประกอบด้วยวงกลมเล็กๆ อนุภาคเล็กๆ จนไปถึง อานุภาพใหญ่ๆ เรียกว่าวัฏจักร เสมือนการทำนา ที่ มีวัฏจักรตามเวลาฤดูกาลในการเพาะปลูกข้าวเป็นต้น การใช้วงกลม ใน การแก้ไขปัญหา ทางความรู้สึกในงานประติมากรรม วงกลมในฐาน ข้าวเป็นเจ้าทั้งสามนี้ สามารถเชื่อม ระหว่าง คนดู ประติมากรรม และสิ่งแวดล้อม ให้ไม่สามารถ แบ่งแยกออกจกกัน เสมอเหมือนลมหายใจของเรา ที่มีลมหายใจ เป็นตัวเชื่อม ระหว่าง กาย กับสภาวะ ภายนอก ภายใน ทำให้ เกิดคำว่า"ชีวิต"  วงกลมนี้ ยังสามารถให้ผู้ชม ได้มาสัมผัส ด้วยตัวของตัวเอง ในประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ เมื่อพบเห็น งานประติมากรรมโดยตรง 

อาจารย์มานิตย์ กล่าวด้วยว่า การจัดวาง หรือ installation จัดวางไปตาม เหตุการณ์ คือ จากซ้ายไปขวา เหมือนเขียนตัวอักษรไทยเป็นประโยคเริ่มมาจากด้านซ้ายคือ เมล็ดข้าวงอก ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่ม การเจริญเติบโต ขยับมาด้านขวาหรือตรงกลางเป็น ต้นกล้าข้าวที่กำลังเติบโต จากนั้นเป็นรวงข้าว ที่โดนลม ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมหนาว ลมหนาวเป็นสัญญาณของการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ตลอดมา ศิลปิน จึงจัดวาง ไปตามแนวยาวของภูเขาจากซ้ายไปขวา ให้วิวทิวทัศน์ เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเชื่อมโยง ประติมากรรมกับท้องทุ่ง รวมไปถึงอากาศเมฆฝน แม้กระทั่งเงาน้ำที่กระทบ จากบ่อน้ำพุร้อน 3 สี ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นบริบทที่สวยงามของท้องทุ่ง เป็นวัฏจักร ของ อาชีพ มนุษย์ ส่งผลไปถึงความรู้สึก ที่ผ่อนคลายของผู้ที่ได้มาเยี่ยมชม ประติมากรรมข้าวเป็นเจ้า ในท้องทุ่ง บ้านเหล่าพัฒนาแห่งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...