วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
"ธนาธร"อัดนอกสภาฯ! รบ.ไทยจัดงบฯอุ้มกลุ่มทุน-หมางเมินคนจน
"ธนาธร" ร่วมเวทีถก "365 วัน รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า กางการจัดสรรงบฯ อัดรัฐไทยเอาเงินภาษีอุ้มกลุ่มทุน-หมางเมินคนจน ย้ำประเทศมีทรัพยากรเพียงพอจัด "สวัสดิการ" ให้ทุกคน - ชี้อยู่ที่เจตจำนงทางการเมือง "ษัษฐรัมย์" คาดหลังโควิดยิ่งเหลื่อมล้ำ ชนชั้นกลางล่มสลาย- กลุ่มทุนยิ่งผูกขาด
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่อาคารห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมวงเสวนา "365 วัน รัฐสวัสดิการไทย ถดถอยหรือก้าวหน้า?" จัดขึ้นโดยเครือข่าย We Fair โดยยืนยันว่าระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องเงินไม่พอ พร้อมย้ำอีกครั้งว่าประเทศไทยมีเงินมากพอที่จะดูแลคนไทยทุกคนได้ แต่รัฐเลือกที่จะเอาไปหนุนกลุ่มทุนโดยไม่เหลียวแลประชาชน
นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งที่ตนต้องการแสดงให้เห็นในการพูดวันนี้ คือ รูปธรรมจากงบประมาณที่เกิดขึ้นจริงในงบประมาณปี 2563 และร่างงบประมาณปี 2564 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อยืนยันสองเรื่อง 1) ที่ว่ารัฐบาลดูแลแต่กลุ่มทุนไม่เหลียวแลประชาชน พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง จากงบที่รัฐบาลใช้ 2) ตนต้องการทำลายมายาคติที่ว่า เรามีเงินไม่พอสร้างสวัสดิการให้ประชาชนที่ดีกว่านี้ การจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำสามารถทำได้ทันที ไม่ใช่เรื่องเงินไม่พอ เป็นเรื่องเจตจำนงทางการเมืองล้วนๆ
ซัดนโยบายรัฐ "อุ้มกลุ่มทุน" มากกว่าช่วยเหลือ "คนจน"
นายธนาธร กล่าวว่า ประเทศไทยมีสวัสดิการสังคม 6 ตัวใหญ่ๆ ที่กระจายไปในแต่ละช่วงอายุของคนที่ต่างกันไป คือ 1) สวัสดิการเด็กยากจน 2) สวัสดิการเรียนฟรี 3) บัตรคนจน 4) เบี้ยผู้สูงอายุ 5) ประกันสังคม และ 6) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2563 งบประมาณสวัสดิการ 6 ตัวนี้รวมกันเป็นงบประมาณ 3.52 แสนล้านบาท ส่วนปี 2564 รวมกัน 3.85 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเราเอาเรื่องรัฐสวัสดิการไปพูดกับฝั่งอนุรักษ์นิยม สิ่งที่เขาจะบอกตลอดแค่นี้ก็พอแล้ว คนจนให้ไม่เคยพอ คนจนขี้เกียจไม่คิดจะหาเลี้ยงดูตัวเอง ต้องพึ่งพิงจากรัฐตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมจะพูดตลอด แต่ตนจะพิสูจน์ให้เห็นว่านี่คือคำโกหก ในความเป็นจริง คือเรายังดูแลคนในประเทศเราน้อยไปด้วยซ้ำ แต่กลับไปอุ้มชูกลุ่มทุนแทน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายล่าสุดที่รัฐบาลลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDFหรือกองทุนที่ทุกธนาคารต้องส่งเงินประมาณ 0.46% ของยอดเงินฝากทุกปี เพื่อใช้หนี้ที่กู้มาสมัยวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้ทุนธนาคารได้ประโยชน์ , การผยุงหุ้นกู้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับ ผู้ประกอบการ SMEs และมี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ได้วงเงินไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง หรืออีกตัวอย่าง การลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ขณะที่ประชาชนยังไม่เริ่มล็อกดาวน์ ยังไม่ได้เงินอะไรเลย
ใช้งบฯ หล่อเลี้ยงระบบราชการ ไม่ตอบสนองความต้องการ "ประชาชน"
นายธนาธร กล่าวว่า รัฐราชการรวมศูนย์ คือ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้งบประมาณไม่ได้ถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่กลับเอามาหล่อเลี้ยงระบบรัฐราชการที่ใหญ่โตมโหฬาร ที่ไม่ตอบสนองความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐราชการที่ใหญ่ขึ้นนี้เป็นปัญหาจริงๆ กับเงินภาษีของเรา ยกตัวอย่าง ในปี 2560 บุคลากรในกระทรวงกลาโหมในอัตราที่ไม่ใช่ทหารเกณฑ์มีอยู่ 3.96 แสนคน พอมาปี 2563 เพิ่มเป็น 4.8 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 9 หมื่นคน แต่ในเวลาเดียวกัน พยาบาลวิชาชีพในประเทศไทยเมื่อปี 2559 มีอยู่ 1.08 แสนคน ส่วนปี 2564 เพิ่มขึ้นมาเป็นแค่ 1.18 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนเท่านั้น
"นี่คือเรื่องของสามัญสำนึกพื้นฐาน มีใครคิดว่าช่วงนี้ ในช่วงรอบ 4 ปีมานี้เราต้องการทหารมากกว่าพยาบาลบ้าง ใช้สามัญสำนึกพูดกันเลยง่ายๆ ว่าคนที่คุณจะต้องควรเอางบไปเพิ่ม ควรจะเป็นใครระหว่างทหารกับพยาบาล แล้วนี้คุณเพิ่มทหารมา 8-9 หมื่นคนในช่วงเวลานี้ ขณะที่พยาบาลเพิ่มหมื่นคน นี่มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่แค่ใช้สามัญสำนึก ว่าถ้าคุณเป็นนายกคุณจะเพิ่มอัตราที่ไหน ที่สำคัญคือบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องมาดิ้นรนวันนี้เพื่อให้ได้รับการบรรจุ นี่คือคนที่มีคุณค่าของสังคม แต่คุณไม่ให้เขาบรรจุ แล้วไหนล่ะที่คุณบอกว่าเขามีคุณค่าต่อสังคม" นายธนาธร กล่าว
ชี้ช่องดึงเงินนอกงบจัดสวัสดิการ - มั่นใจ ปท.มีทรัพยากรเพียงพอดูแลทุกคน
นายธนาธร กล่าวอีกว่า เวลาเราพูดถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท มันมีงบที่รัฐบาลจัดสรรโยกย้ายได้ 1.1 ล้านล้านบาท ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำที่จัดสรรโยกย้ายไม่ได้ ใครเป็นรัฐบาลขึ้นมาก็ต้องใช้จ่าย แต่เวลาตนพูดว่าประเทศเรามีเงินพอ ยังมีอีกตัวที่เรามองไม่เห็น ตรวจสอบไม่ได้ คือเงินนอกงบประมาณ 4 ล้านล้านบาทต่อปี เรามองไม่เห็น แม้กระทั่งผู้แทนราษฎร เป็นงบที่ไม่ต้องสำแดงต่อสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องแสดงต่อกรรมาธิการ มากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก นี่เป็นประเด็นที่ใหญ่มากที่เราต้องต่อสู้กัน จะมีงบแบบนี้ให้หน่วยงานรัฐเก็บกันเองแล้วไม่ต้องสำแดงไม่ได้
"เพราะฉะนั้น การสร้างรัฐสวัสดิการ มันเป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมืองล้วนๆ เลยว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร ถ้าไอ้ 4 ล้านล้านบาทที่อยู่ข้างนอกนั่นเอากลับมาได้สัก 10% เราจะได้งบเพิ่มอีก 4 แสนล้านบาท เราจะจัดสรรสวัสดิการได้อีกเยอะ แนวคิดที่เราบอกว่ารัฐอุ้มคนรวย ไม่เห็นหัวคนจน มันแสดงผ่านงบประมาณ จับต้องได้ว่าป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่คำพูดที่จะเอามาลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลคนไทยด้วยกันได้ดีกว่านี้ ถ้าเราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อการนั้น" นายธนาธร กล่าว
"ษัษฐรัมย์" ขี้หลังโควิดชนชั้นกลางล่มสลาย - กลุ่มทุนขนาดใหญ่ยิ่งผูกขาด
ด้าน นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ภาควิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ช่วงหาเสียง แทบทุกพรรคพูดเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างกว้างขวาง เพราะที่ผ่านมาสวัสดิการของประเทศไทยแทบไม่คืบหน้า เราเผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่หน้าตาเหมือนเดิมหลายสิบปี แต่อำนาจรัฐและทุนเติบโตขึ้นทุกปี แอกที่อยู่บนหลังเราเป็นแอกเดิมและวัวยังเป็นวัวตัวเดิม มี 4 เสาที่ค้ำยันความสิ้นหวังของประเทศไทย คือ 1.ความเหลื่อมล้ำ 2. ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ 3.ความไร้เสรีภาพทางทางการเมืองและการแสดงออก และ 4.การถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด คนไทยร้อยละ 30 มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท แต่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 27,000 บาท นำมาซึ่งความไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการแบ่งลำดับชั้นที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่นถ้าคุณเป็นข้าราชการ คุณจะได้รับสวัสดิการสูงกว่าประชาชนสูงกว่า 4-5 เท่า และภายใต้วิฤติโควิด-19 ได้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น แต่ทว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้ กลับไม่มีการแก้ไขในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเลย ภาวะความเสี่ยงของการไร้รัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้น คือการขยายตัวของกลุ่มแรงงานเสี่ยงที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่สามารถเลื่อนลำดับชั้นในองค์กรได้ และเมื่อมีวิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้น ก็ยิ่งตอกย้ำปัญหานี้ให้หนักหน่วง
"แรงงานนอกระบบและในระบบกำลังจะตาย คนระดับล่างลงมาได้รับส่วนแบ่งตลาดที่น้อยลง แต่การผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีมากขึ้น อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เรากำลังจะเห็นคือ ชนชั้นกลางที่กำลังจะล่มสลาย ประจักษ์ชัดจากเด็กจบมหาวิทยาลัยใหม่กำลังจะไม่มีงานทำนับแสนคน นี่คือข้อพิสูจน์ว่าในสังคมนี้ ไม่ว่าคุณจะขยัน อดทน ทำงานหนักขนาดไหน คนก็ไม่สามารถขยับขยายได้ จากการสำรวจของธนาคารโลก ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทในประเทศไทยเพียง 7% เท่านั้นที่จะสามารถเลื่อนลำดับชั้นขึ้นไปสูงกว่าที่เป็นอยู่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจนลง กลับกัน กลุ่มทุนขนาดใหญ่ผูกขาดและขยายตัวมากขึ้นผ่านเมกะโปรเจคของรัฐบาล และพวกเราจะถูกจัดลำดับชั้นมากขึ้น" นายษัษฐรัมย์ กล่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น