วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2562

"ธนาธร"ยกตลาดน้ำยะกังนราธิวาส สอนเชิงแก้เศรษฐกิจที่ยั่งยืน"บิ๊กตู่"



"ธนาธร"ยกตลาดน้ำยะกังนราธิวาส สอนเชิงแก้เศรษฐกิจที่ยั่งยืน"บิ๊กตู่" 5 ต.ค.แนะแนวจัดการปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562  นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ความว่า [ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและตอบสนองประชาชน : ตัวอย่างตลาดน้ำยะกัง นราธิวาส 

ตลาดน้ำยะกังในจังหวัดนราธิวาส เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและยาเสพติดพร้อมกันได้ด้วยการลงทุนที่ท้องถิ่นต้องการและมีส่วนร่วมในการบริหาร

ตอนที่แล้ว ผมให้ความเห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ล้มเหลวในการบริหารประเทศ งบการลงทุนในห้าปีที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมายและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ผลของการที่งบลงทุนไม่ถูกนำไปใช้ทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน การพัฒนาประเทศช้ากว่าที่ควรจะเป็น นี่คือส่วนเหนึ่งของเหตุผลว่าทำให้เศรษฐกิจไทยถึงย่ำแย่

แต่แทนที่รัฐบาลจะมุ่งแก้ปัญหาที่พื้นฐานเช่นการทำให้การลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลกลับมุ่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการแจกเงิน ผมเห็นว่าการแก้ปัญหาการลงทุนให้มีประสิทธิภาพขึ้น จะตอบสนองกับการพัฒนามากกว่าเน้นการแจกเงิน เพราะระยะยาวสิ่งที่เพิ่มรายได้ให้ประเทศคือการลงทุน ไม่ใช่การบริโภค

เราจะลงทุนอะไร? คำตอบอยู่ที่ท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วที่เราจะคิดถึงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ “ว้าว” ให้น้อยลงและหันมาสนใจกับการลงทุนขนาดเล็กที่ยกระดับสาธารณูปโภคต่างๆของท้องถิ่นให้ทันสมัย เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับกรุงเทพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัด, สร้างงาน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

นราธิวาสเป็นจังหวัดมีรายได้ต่ำ ผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับจังหวัดอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นอันดับที่ 56 จาก 77 จังหวัดในประเทศไทย นราธิวาสเป็นส่วนหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดความรุนแรงเป็นระยะ ไม่มีงานและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีพอกับความต้องการของคนในจังหวัด และยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดด้วย

คนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา พวกเขาไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเอง และนั่นคือการก่อเกิดตลาดน้ำยะกัง

ตลาดน้ำยะกัง อยู่ที่อำเภอเมืองนราธิวาส ตั้งอยู่ริมคลองยะกัง เป็นสาขาของแม่น้ำบางนรา ซึ่งไหลออกทะเลที่อ่าวนราทัศน์ ตลาดถูกสร้างโดยคนในชุมชนเมื่อปี 2559 ด้วยเงินลงทุน 2 ล้านบาท คนในชุมชนลงขันกันสร้างตลาด 1.2 ล้านบาท ขณะที่รัฐร่วมลงทุน 8 แสนบาท เกิดร้านประมาณ 60 ร้านค้า ซึ่งขายขนมและอาหารท้องถิ่นดั้งเดิม จุดเด่นคือขนมหวานพื้นเมือง 100 ปี ตลาดตั้งอยู่บนริมตลิ่งราดปูน ร้านค้าตั้งเป็นแผงติดกันยาวประมาณร้อยกว่าเมตร ด้านล่างลงไปริมตลิ่งมีการต่อชานชาลาและแพยื่นออกไปริมน้ำเพื่อให้ประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยได้นั่งรับประทานอาหารหรือพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ ตลาดยังบริการเรือถีบให้ผู้มาใช้บริการชมความสวยงามของคลองยะกังอีกด้วย

ตลาดบริหารโดยคณะกรรมการตลาดซึ่งไม่รับค่าตอบแทน กรรมการตลาดมาจากตัวแทนชุมชน มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง คณะกรรมการตลาดดูแลและบริหารตลาดกันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ การประชาสัมพันธ์ทำได้อย่างดีทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกตลาดน้ำยะกังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

บรรยาศน่ารัก เรียบง่าย สบายๆ ของตลาดยะกังสามารถจูงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้ถึง 3 พันคนในวันสุดสัปดาห์ นักท่องเที่ยวที่มาตลาดมาจากทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน เงินหมุนเวียนในสุดสัปดาห์มากถึง 1.5 แสนบาทต่อวัน การเกิดขึ้นของตลาดทำให้แม่บ้านที่เดิมไม่มีงานทำ สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ร้านค้าหนึ่งเกิดการจ้างงานสองถึงสามคน กรรมการตลาดดึงเยาวชนมาช่วยในงานจราจรโบกรถ, ดูแล/ซ่อมแซม/ต่อเติมอาคารสถานที่, ดูแลกิจการให้เช่าเรือถีบ, ดูแลจัดการเรื่องขยะ เยาวชนมีรายได้และภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของชุมชน ส่งผลให้ปัญหายาเสพติดในชุมชนจึงลดน้อยลงด้วย

คณะกรรมการตลาดและชุมชนเล่าเรื่องราวนี้ให้ผมฟังด้วยความภาคภูมิใจ ผมเองก็ภูมิใจกับความสำเร็จของพวกเขา อย่างไรก็ตาม พวกเขายังมีปัญหา ทางเข้าออกของตลาดถูกบังด้วยอาคารพานิชย์ของเอกชน พวกเขาต้องการอยากให้มีทางเข้าออกที่เป็นสาธารณะ และมีที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ผมประเมินด้วยสายตา ทั้งสองรายการอาจต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านบาท

หน้าที่ของรัฐบาลคือการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทำมาหากินได้ ไม่ใช่ขัดขวาง/เอาเปรียบ/รีดไถ/รังแก ประชาชนอย่างที่เห็นเกลื่อนกลาดทั่วไป การลงทุนเพิ่มอีกสักนิดในการสร้างทางเข้าออกและที่จอดรถ เพื่อดึงศักยภาพของตลาด, ชุมชน และท้องถิ่น ให้ออกมาใช้ได้เต็มที่ ไม่มากเลย เราต้องการการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน มีความต้องการการลงทุนเช่นนี้อีกมาก การลงทุนเล็กๆ ที่จะทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นมีอยู่เต็มไปหมดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน, ถนนหนทาง, สถานที่ท่องเที่ยว, การคมนาคมสาธารณะ, การจัดการขยะ, การรักษาสิ่งแวดล้อม, สวนสาธารณะ ฯลฯ

การลงทุนประเภทนี้ ทั้งแรงงานและวัตถุดิบหาได้ในท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงานและเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นเอง มากกว่าโครงการลงทุนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ทำได้ทันที ดังนั้นการลงทุนในลักษณะนี้จึงแก้ปัญหาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคมไปในคราเดียว ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะให้ความสำคัญกับการลงทุนระดับพื้นฐานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ดีขึ้น

พรุ่งนี้ ผมจะใช้วิธีคิดเดียวกันพูดถึงตัวอย่างของการจัดการปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในภาคอีสาน 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

"สกลนครดีกว่าเดิม"  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงที่นี่ (Intro)   แดนธรรมพุทธา สกลนครเมืองงาม โค ข้...