"ศักดิ์สยาม" ร่วมประชุม JCC ครั้งที่ 9 ประกาศเดินหน้าโครงการ ท่าเรือน้ำลึกทวาย มั่นใจเพิ่มมูลค่าการค้ารวมตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจนี้สูงถึง 4 ล้านล้านบาท หรือ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
วันที่ 3 ตุลาคม 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานร่วมฯฝ่ายไทย การประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้น ที่ที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 9 (JCC ) ว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพิจารณาความคืบหน้าการดําเนินงานการพัฒนาโครงการเขต เศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง และร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนากลไกความร่วมมือสามฝ่าย (เมียนมา-ไทย-ญี่ปุ่น) เพื่อเร่งรัดการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้ดําเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยยืนยันว่ารัฐบาลไทยจะมีการผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายต่อไป เนื่องจากการดำเนินการในโครงการดังกล่าว ถือเป็นแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ20ปี ของประเทศไทย และยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นลำดับต้นๆ เพราะการเร่งรัดพัฒนาโครงการทวายถือเป็นการพัฒนาที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของอาเซียน
ทั้งนี้จะได้มีการนําเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายไทยและรองประธานาธิบดี ของฝ่ายเมียนมาเป็นประธานร่วมกัน เพื่อให้ความเห็นชอบ ต่อไป ส่วนความร่วมมือรัหว่างไทย พม่า ที่ผ่านมานั่น ไทยได้มีการอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้กับพม่า เพื่อให้มีการก่อสร้าง ถนนจาก พุน้ำร้อน ไปทวาย นอกจากนั้นรัฐบาลไทย -เมียนมา จะมีการหารือร่วมกันในการพัฒนาทวายต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้โครงการทวายเกิดขึ้นโดยเร็ว และในกลางปี63 จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อผลักดันโครงการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับประโยชน์ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย จะเป็นการเปิดช่องทางลัดโลจิสติกส์ฝั่งตะวันตกของภูมิภาค เชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจ ระหว่างเมียนมา–ไทย–กัมพูชา– เวียดนาม สู่ตลาดฝั่งตะวันตก ทั้งนี้จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการค้า การขนส่งระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายดังกล่าวจะเป็นการเปิดพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ ถือเป็นทางเลือกสำหรับการตั้งฐานทางธุรกิจใหม่ รวมถึงเป็นโอกาสในการขยายฐาน การผลิต ของอาเซียน อุตสาหกรรมเชื่อมโยงกิจกรรมตามห่วงโซ่อุปทาน กับพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ของไทย และภูมิภาค และเป็นพื้นที่รองรับฐานการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เป็นปัจจัยสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเมียนมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ พัฒนา เศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้เติบโตและเข้มแข็ง ทั้งนี้จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากการลงทุนด้านการก่อสร้าง อุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า การค้า การขนส่ง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่นอกเหนือจากการจ้างงานในพื้นที่แล้ว ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา บริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเมียนมาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม ผลที่คาดว่าจะเกิดต่อเมียนมา และไทย หลังการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและเส้นทางคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจนี้คาดว่า จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมการผลิตของประเทศ หรือ GDP ของเมียนมา จะโต 4.8% และของไทยโต 1.9% ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการค้ารวมตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจนี้สูงถึง 4 ล้านล้านบาท หรือ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
นอกจากนั้นจะเกิดการสร้างงานภายในนิคมอุตสาหกรรมทวายประมาณ 9แสนคน และจะมีการจ้างงานรวมถึง 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมถึงการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ถือส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง อาเซียน (ASEAN Connectivity) และเส้นทางเชื่อมประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงกับอินเดีย (Mekong-India Economic Corridor) เป็นการเปิดเส้นทาง การค้าและประตู เชื่อมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ของภูมิภาค ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ Greater Mekong Sub-region (GMS) สร้างทางลัดโลจิสติกส์เชื่อมโยงอาเซียนกับ โลกตะวันออกและโลกตะวันตก สู่ตลาดในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป
สำหรับท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นท่าเรือที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศเมียนมา พื้นที่บริเวณดังกล่าวในปัจจุบันมีการธุรกิจด้านยาง น้ำมันปาล์ม เหมืองแร่ การประมง ท่องเที่ยว และการค้า จากประเทศไทยมีถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมจากกรุงเทพไปจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามพรมแดนไทยเมียนที่ด่านบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันได้มีการประกาศเป็นจุดผ่านแดนถาวรเมื่อปี 56 ท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นโครงการที่อยู่ในแนวระเบียงเศรษฐกิจใต้ตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS เชื่อมโยงเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น