เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร่อนจดหมายเปิดผนึก ข้อเสนอ ฝ่าวงล้อม “มรดกเลือด” ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นอกสภาหาทางออกประเทศไทย อ้าง เพื่อไม่ให้พวกเราหลงกล ตกหลุมพรางผู้มีอำนาจ ความว่า
ตามที่ข้าพเจ้า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้เสนอทางออกประเทศไทยด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วนำรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ มาใช้บังคับทันที แล้วยุบสภาเลือกตั้งภายใน ๖๐ วัน ปลายปีนี้ ผลปรากฏว่าได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากและตามคาดหมายคือกลุ่มพิทักษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาคัดค้านว่าข้อเสนอของข้าพเจ้าไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงขอชี้แจงและเสนอหลักการและเหตุผลของการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที เพื่อเป็นการ “ฝ่าวงล้อมมรดกเลือด อันจะเป็นการหาทางออกให้ประเทศไทย” ดังนี้
หลักการและเหตุผล
ข้อ ๑. ผู้สั่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้มุ่งหมายให้ตนเองสืบทอดอำนาจ ๒๐ ปี ดังนั้น จึงสร้างกลไกและหมากค่ายกลในรัฐธรรมนูญไว้มากมายที่สำคัญ คือ ส.ว. มีอำนาจมหาศาล และเบ็ดเสร็จ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ยุ่งยากมาก คือ แก้ไขไม่ได้เลย และประการสำคัญ หากมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ก็จะได้ ส.ส. ตามความประสงค์ของ “ผู้มีอำนาจ” โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี
ข้อ ๒. ดังนั้น เมื่อประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ใช้แรงงานออกมาเรียกร้องดังที่ปรากฏขณะนี้ด้วยข้อร้องเรียน ๓ ประการ คือ (๑) แก้ไขรัฐธรรมนูญ (๒) ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ (๓) หยุดคุกคามประชาชน จึงเข้าทาง “ผู้มีอำนาจ” ตามแผนการที่วางไว้ เรียกว่าทุกฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือปลดแอกล้วนตกหลุมพราง “ผู้มีอำนาจ” ทันที
ข้อ ๓. ที่ว่าตกหลุมพราง เพราะรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจะพร้อมใจกัน ประกาศว่า เปิดรับ ยินดี ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ใช้แรงงานทันที หรือเพียบพร้อมถ้วนหน้าภายในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้อย่างแน่นอน วิธีนี้คือ การบล็อกกลไกหรือสร้างเวทีหลุมพรางให้ทุกฝ่ายต้องเดินทางตามวิธีการหรือหมากกลที่ “ผู้มีอำนาจ” ได้สร้างไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกมันคือ “มรดกเลือด”
ข้อ ๔. เป็นที่ชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกติกาหรือบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้จะเป็นเพียงปาหี่หรือละครหลอกลวงเพราะนอกจากการแก้ไขจะต้องใช้เวลาประมาณ ๓ - ๔ ปี แล้ว ผลการแก้ไขก็จะเป็นไปเช่นเดิม เพราะขั้นตอนวิธีการเสียงของ ส.ว. และการต้องจัดรับฟังประชามติ ล้วนถูกออกแบบไว้แล้วว่าทุกอย่างทุกประการรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะคุมได้ ๒
แบบเบ็ดเสร็จ แม้แต่จะยกเลิก ส.ว. หรือจำกัดอำนาจ ส.ว. ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น และนี้คือ “มรดกเลือด” ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในชาติไทย
ข้อ ๕. ที่ว่า “มรดกเลือด” เพราะในที่สุดแล้วประชาชนจะถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงใหม่ กับฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญเดิม และจะเดินไปสู่ความขัดแย้งถึงปะทะกัน แล้วฝ่ายถืออาวุธก็จะออกมาปราบปรามฆ่าประชาชนอีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะเลวร้ายกว่าที่เคยปรากฏมาก่อน
ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจและเป็นทุกข์มากเมื่อได้รับรู้ว่า กลุ่มผู้มีอำนาจและผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังยินดีปรีดามากที่ทุกอย่างเดินไปตามแผนที่วางไว้ เป็นความภูมิใจสูงสุดที่ได้สร้างหลุมพรางได้สำเร็จและทุกฝ่ายก็หลงทาง
ข้อ ๖. การล้างมรดกเลือด ครั้งนี้มีทางเดียวคือ ต้อง “ไม่เล่นตามเกมส์ของผู้มีอำนาจ” ต้องไม่ต่อสู้หรือชกบนเวทีที่เขาสร้างไว้ เพราะเราไม่มีวันชนะ แต่เราต้องเปิดเกมส์ใหม่หรือสร้างเวทีใหม่ ข้าพเจ้าจึงเสนอวิธีการที่เรียกว่า “คิดใหม่หรือคิดนอกกรอบ” เพื่อสร้างโอกาสใหม่ เพื่อประชาชนเจ้าของแผ่นดินจะได้มีโอกาสชนะ และ “ผู้มีอำนาจ” ไม่สามารถรักษามรดกเลือด ไว้ได้อีก
ข้อ ๗. หลักการและเหตุผลสำคัญ คือ ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทันที นำรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ (ซึ่งเรายอมรับว่าดีที่สุดกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ประเทศไทยเคยมีมา) มาบังคับใช้แทนทันที เป็นการชั่วคราว แล้วประกาศยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน ๖๐ วัน โดยการเลือกตั้งใหม่จะเป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่อย่างใด จากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วัน
ข้อ ๘. นี้คือ วิธีเดียวเท่านั้นที่จะล้าง “มรดกเลือด” เพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยในวันนี้ และต้องทำทันทีก่อนการล้มสลายของชาติบ้านเมือง
ข้อ ๙. ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าวิธีการของข้าพเจ้าที่เสนอนี้สามารถดำเนินการได้และชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ
หากเราจะได้ใช้สติไตร่ตรองให้ดีแล้วจะพบว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ถูกบันทึกว่า รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ เมื่อได้ใช้ไประยะหนึ่งก็มักจะถูกยกเลิกโดยวิธีฉีกทิ้งด้วยการปฏิวัติรัฐประหารเสมอๆ ดังเช่น เมื่อ คสช. ปฏิวัติก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเช่นกัน แล้ว คสช. ก็ใช้บทบาทที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับเลย เสนอประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๗ เป็นการชั่วคราวเช่นกัน ๓
แม้ว่าบ้านเมืองขณะนี้วิกฤตยิ่งกว่าก่อนการปฏิวัติเมื่อปี ๒๕๕๗ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ส่งเสริม ให้มีการปฏิวัติเพื่อฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญนี้อีก แต่การออกใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีเพื่อยกเลิก ฉบับปี ๒๕๖๐ นี้แล้วนำเอาฉบับปี ๒๕๔๐ มาใช้ก่อนเป็นการชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้ง สามารถกระทำได้ทันที
หากจะมีผู้กล่าวอ้างว่าวิธีนี้ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าขอเรียนว่าถูกต้อง เพราะมีแต่บทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความจริงที่ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม กรณีจึงเป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีบทบัญญัติเขียนให้กระทำได้ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำ ซึ่งย่อมต้องถือว่ากระทำได้ เพราะได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ นี้ ไว้ในมาตรา ๕ วรรคสองว่า
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ข้อ ๑๐. ข้าพเจ้าขอเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องประกาศใช้ทันทีซึ่งน่าจะมีเพียง ๕ มาตรา ดังที่ปรากฏข้างท้ายนี้ (โปรดดูเอกสารแนบท้าย)
ข้อ ๑๑. แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแล้วเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งข้าพเจ้า ขอเสนอและเรียกร้องให้ประชาชน นักศึกษา นักธุรกิจ ผู้ใช้แรงงาน และทุกภาคส่วนเห็นชอบด้วยกับวิธีการนี้ แล้วช่วยกันเรียกร้องผลักดันผู้รับผิดชอบ “เพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น” ดังต่อไปนี้
ฝ่ายที่ ๑ รัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี และ ครม. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัยประกาศใช้
ฝ่ายที่ ๒ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ แล้วผู้นำฝ่ายค้าน นำขึ้นทูลเกล้าฯ
ฝ่ายที่ ๓ ภาคประชาชน กลุ่มผู้เรียกร้องซึ่งรวมตัวกันเป็นภาคประชาชนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ (เป็นการจัดตั้ง ส.ส.ร. นอกสภา)
ข้อ ๑๒. จะเห็นได้ว่าทั้ง ๓ ฝ่าย ที่ข้าพเจ้าเสนอนี้ล้วนเป็นการดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นอกสภาทั้งสิ้น ก็ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นเอง ว่าต้องเป็นการดำเนินการนอกกรอบ นอกเวที เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางหมากกลที่เขาสร้างไว้ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ๔
ซึ่งข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ทำได้เพราะมาตรา ๕ แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวและนี้คือ วิธีเดียวและอาจเป็นวิธีสุดท้ายที่จะล้างมรดกเลือดเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทย โดยหลีกเลี่ยงการปฏิวัติ การนองเลือด และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเหมือนอดีตที่เคยผ่านมา “พวกเราจะยอมหลงกลลวงโดยปล่อยพวกเขายินดีปรีดาที่หลอกลวงพวกเราอยู่เช่นนี้หรือ....ผมคนหนึ่งละที่ไม่ยอมและจะไม่หยุดพูดเด็ดขาด”
ด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๓ ๕
- ร่าง –
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช ๒๕๖๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ตราไว้ ณ วันที่ พุทธศักราช ๒๕๖๓
เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๕๖๓
มาตรา ๑ ให้ยกเลิก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ตั้งแต่วันที่ พุทธศักราช ๒๕๖๓ และให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาใช้บังคับแทนไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับถาวรต่อไป
มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งนำมาใช้ไปพลางก่อน บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณี การปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา ๓ ให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ
มาตรา ๔ ให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่นำมาใช้ไปพลางก่อนภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร
มาตรา ๕ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยให้แล้วเสร็จและประกาศใช้ภายใน ๑๒๐ วัน นับแต่วันจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ