วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ทึ่ง!ป.2ทำวิจัย'ดินสอยางลบหายไปไหน'


กสิกรและสกว.หนุนมรภ.ลำปางเตรียมความพร้อมให้ครูปฏิวัติการเรียนรู้เชิงวิจัย ทึ่งเด็กป.2ทำวิจัยเรื่อง'ดินสอยางลบหายไปไหน'พร้อมเสนอผลงานเอง

4พ.ค.2556 นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการเวทีเรียนรู้ "แผนการสอนการสร้างโจทย์วิจัยและเขียนข้อเสนอโครงงาน" ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย)  ภายใต้การสนับสนุนของที่ธนาคารกสิกรไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ระหว่างวันที่ วันที่ 4-5 พฤษภาคม 2556 นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

              นายธวัชชัย กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ทำให้คุณครูและผู้บริหารนำความเข้าใจแบบที่เรียกว่า "รู้จริง" สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการปฏิบัติไปฝึกทักษะให้ลูกศิษย์ที่โรงเรียน และปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้โครงงานบนฐานวิจัย (Research Based Learning RBL)

              "และทำให้เด็กและเยาวชนมีลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งยังเป็นการพัฒนานักวิจัยรุ่นเยาว์ ซึ่งเป็นการเตรียมกำลังพลเข้าสู่แวดวงการวิจัยไทยในอนาคตได้ นำแนวคิดที่ได้รับไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำงานพัฒนานักเรียนและการศึกษาของชาติ เพราะต่อไปจ.ลำปางจะเป็นจุดศูนย์ของการคมนาคมทางภาคเหนือ" ผู้ว่าฯลำปางกล่าว

              อาจารย์ชุติมา  คำบุญชู  หัวหน้าโครงการศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มรภ.ลำปาง กล่าวรายงานว่า  โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว.และ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเป็นศูนย์พี่เลี้ยง 1 ใน 8 ศูนย์ทั่วประเทศนั้น

              นับว่าเป็นโครงการวิจัยที่มีคุณค่าต่อเด็กและเยาวชน และชุมชนท้องถิ่นทั้งประเทศ ช่วยให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เน้นการพัฒนา "ทักษะกระบวนการทางปัญญา" เพื่อให้ลูกหลานเยาวชนไทยมีความเข้มแข็งทั้งทางจิตใจและความรู้ ก้าวสู่อนาคตของชาติอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการทำโครงงานบนฐานวิจัย เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้บนฐานวิจัย ( Research-Based Learning ) ใน 8 พื้นที่ทั่วประเทศรวม 80 โรงเรียน มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทั้งห้องเรียน โดยเริ่มต้นจากห้องเรียนเลือกประเด็นหลักมา แล้วแยกย่อยเป็น 10 โครงการใน 3 มิติ อันได้แก่ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ และมนุษยศาสตร์-ประวัติศาสตร์

              ทั้งนี้โครงงานทั้งหมดจะทำโดยหลักการวิจัย เพื่อฝึกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่ครูและนักเรียนพร้อมทั้งได้รับความรู้เชิงบูรณาการ หัวใจของการวิจัยมุ่งเน้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน และวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์

              นอกจากนี้โครงการนี้ยังคำนึงถึงคุณธรรมเป็นหลัก ทั้งนี้คุณูปการของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจึงก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาด้วยการปฏิรูปความคิดทำให้เยาวชนรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีคุณธรรม เป็นการพัฒนาเยาวชนอันส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศต่อไป

              การทำงานเริ่มจากการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา 8 แห่ง  ได้แก่  มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง   มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ   มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหิดล   มหาวิทยาลัยศิลปากร   มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี   และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นศูนย์พี่เลี้ยงให้ครูสามารถจัดการสอนแบบโครงงานบนฐานวิจัยได้ ไม่น้อยกว่าปีละ 80 โรงเรียน (ศูนย์พี่เลี้ยงละประมาณ 10 โรงเรียน) แต่ละโรงเรียนจะมีครูเข้าร่วมโครงการ 4-5 คน และนักเรียน 40 คน ร่วมกันทำวิจัยโรงเรียนละ 10 เรื่อง

              ในแต่ละปีจึงจะมียุววิจัย ทั้งสายวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์/สังคมศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 3,200 คน ได้ชิ้นงานที่เป็นผลงานของยุววิจัยประมาณ 600-800 ชิ้นต่อปี ได้เครือข่ายครูที่มีทักษะการจัดการเรียนรู้ด้วยการวิจัย ประมาณ 320 คนต่อปี ได้โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีทีม ขณะนี้การงานอยู่ในช่วงการเตรียมครูเพื่อให้มีความพร้อมก่อนเปิดเทอม ซึ่งจะต้องจัดการเรียนรู้แบบ RBL ให้แก่นักเรียนภายใต้ทุนสนับสนุนการทำงานโรงเรียนละประมาณ 80,000 บาท

              ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูแกนนำจากโรงเรียนในจังหวัดลำปาง ลำพูน และแพร่ รวม 12 โรงเรียน มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 80 คนโรงเรียนในจังหวัดลำปาง มีจำนวน 8 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนวิชชานารี  โรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคม โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา โรงเรียนวังเหนือวิทยา โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา โรงเรียนเสริมงามวิทยา โรงเรียนแม่พริกวิทยา

              โรงเรียนในจังหวัดลำพูน 2 โรงเรียน ประกอบด้วยโรงเรียนจักรคำคณาทรจังหวัดลำพูน โรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม และโรงเรียนในจังหวัดแพร่ 2 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่ และโรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ และได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้ดูแลโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาทั้งประเทศ ของ สกว.คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และรองศาสตราจารย์ไพโรจน์ คีรีรัตน์  

              อาจารย์ชุติมา กล่าววด้วยว่า โครงการคาดหวังว่า ครูและรร.ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้รูปแบบนี้จะสามารถทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จริงในระบบการศึกษาไทย

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอผลงานจากการเรียนการสอนเชิงวิจัยในโรงเรียนที่ผ่านมาพร้อมการชี้แนะของรศ.ดร.สุธีระและรศ.ไพโรจน์ แต่ที่น่าสนใจก็คือว่าช่วงของการชี้แนะให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการวิจัยนั้นรศ.ดร.สุธีระได้เปิดคลิปประกอบโดยเป็นคลิปการนำเสนอผลงานวิจัยของนักเรียนชั้นป.2 จากโรงเรียนในจังหวัดสตูลเรื่อง "ดินสอยางลบหายไปไหน" ทำให้ผู้เข้าร่วมครั้งนี้ถึงกับทึ่งในความสามารถของเด็กและเข้าใจการวิจัยมากขึ้น

              รศ.ดร.สุธีระ กล่าวว่า คลิปดังกล่าวเกิดขึ้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสตูลเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้น และได้ขยายแนวความคิดเพิ่มไปได้อีก 11 โรงเรียนในจังหวัดสตูล และวันที่ 7 มิถุนายนนี้จะเป็นการปิดโครงการโดยสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจะเดินทางไปถ่ายทำรายงานเวธีสาธารณะเปลี่ยนประเทศไทยด้วย

              รศ.ดร.สุธีระ กล่าวด้วยว่า กระบวนการเรียนรู้เชิงวิจัยตามโครงการเพาะพันธุ์ปัญญานี้ได้รับความสนใจจากโรงเรียนปริยัติธรรมใน 4 จังหวัดภาคเหนือด้วย โดยวันที่ 5 พ.ค.นี้จะมีการประชุมให้ความรู้กับพระที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการจำนวน 60 รูป แต่น่าเสียดายที่ทางกรมการศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่ได้เข้าร่วมครั้งนี้ด้วย

Cr.http://www.komchadluek.net/news/edu-health/157655

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.มหานิยม" พาไปไหว้ พระวัดงามตามรอยพระอริยะ วัดป่าโสมพนัสสกลนคร

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา อดีต สส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย  หรือ "ดร.มหานิยม" ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที...