เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม ที่ผ่าน ณ โรงเรียนมัธยมจุลมณีศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้บริาหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เดินทางไปร่วมเปิดอาคารปฏิบัติธรรม “พระเทพปวรเมธี (ป.อ. พฺรหฺมรํสี) โดยมีพระเทพศาสนาภิบาล เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ประธานโครงการขับเคลื่อนหมู่บ้านศีล ๕ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมี พระราชกิตติรังษี เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมด้วย นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และดร.แม่ชี ระเบียบ ถิรญาณี ในฐานะประธานบริหาร โรงเรียนมัธยมจุลมณีศรีสะเกษ คอยต้อนรับ
โดยภาคเช้ามีการเปิดป้ายอาคารปฏิบัติธรรม “พระเทพปวรเมธี (ป.อ. พฺรหฺมรํสี)” และเจริญพระพุทธมนต์ ฉลองอาคารอาคารปฏิบัติธรรม
สำหรับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ เดิมชื่อ โรงเรียนอาชีวศึกษาจุลมณีกันทรารมย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ โดยมีแม่ชี ดร.ระเบียบ ถิรญาณี เป็นประธานโครงการจัดตั้งและเป็นผู้รับใบอนุญาต ต่อมาในปีการศึกษา ๒๕๕๕ ได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ ”
วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ ได้ดำเนินการจัดการบริหารการศึกษา วิชาการงานอาชีพ และคุณธรรมจริยธรรม แก่เด็กและเยาวชน เป็นวิทยาลัยประเภทอาชีวศึกษาแนววิถีพุทธ เน้นให้ผู้เรียนมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา นำไปพัฒนาทักษะวิชาการงานอาชีพด้วยคุณธรรม ดำรงชีวิตในสังคมอย่างถูกวิธี จึงได้รับพิจารณาคัดเลือกให้เป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิถีพุทธพระราชทาน เมื่อปี ๒๕๖๐ ปัจจุบันมีนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน ๑,๒๐๐ คน (หนึ่งพันสองร้อยคน)
ต่อมา ในปี ๒๕๕๘ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ ได้ขยายมาเปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา และได้รับอนุญาตให้ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนมัธยมจุลมณีศรีสะเกษ” ดำเนินการพัฒนาสถานที่บริเวณแห่งนี้เป็นที่ทำการของโรงเรียนมัธยมศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ โดยมี พระเทพปวรเมธี, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ เป็นผู้อุปถัมภ์ในการดำเนินการ ปัจจุบันมีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ – ๓ จำนวน ๔๕๐ คน และในปี ๒๕๖๓ ได้ขยายเปิดรับนักเรียนระดับอนุบาลเพิ่มอีก จำนวน ๔๒ คน ซึ่งจะขยายผลต่อยอดไปถึงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๑ – ๖ ในอนาคต
พระเทพปวรเมธี, รศ.ดร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งส่งเสริมการศึกษา จึงรับเป็นเจ้าภาพระดมทุนสร้างอาคารปฏิบัติธรรมพระเทพปวรเมธี (ป.อ. พฺรหฺมรํสี) ณ โรงเรียนมัธยมจุลมณีศรีสะเกษ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม ปฏิบัติธรรมของนักเรียนนักศึกษาโรงเรียนมัธยมจุลมณีศรีสะเกษ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ รวมถึงเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเป็นสถานที่จัดอบรม ประชุมสัมมนา ของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่สนใจมาใช้อาคารปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้อย่างกว้างขวาง
อาคารปฏิบัติธรรม "พระเทพปวรเมธี (ป.อ. พฺรหฺมรํสี)" เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ตรีมุข โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๒ ชั้น ก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสี หลังคาส่วนนอกตกแต่งคลุมพื้นที่อาคาร มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์เคลือบสี มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น ๒,๒๐๐ ตารางเมตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง เป็นเงินจำนวนประมาณ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามสิบห้าล้านบาท) รวมเวลาในการก่อสร้างอาคาร จำนวน ๒๕ เดือน
ทางด้านแม่ชี ดร.ระเบียบ ถิรญาณี กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดตั้งสถานศึกษาแห่งนี้ว่า
"จากการที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติด้วยการเป็นครูเด็กและเยาวชนมาตลอด ๑๖ ปี ได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียน พบว่า สภาพครอบครัวของนักเรียน นักศึกษาบางครอบครัว มีพ่อแม่พี่น้องอยู่กันพร้อมหน้า บางครอบครัวมีพ่อ ไม่มีแม่ บางครอบครัวมีแม่ไม่มีพ่อ บางครอบครัวอยู่กับตายาย อยู่กับปู่ย่า หรือญาติ แต่บางครอบครัวมีพ่อแม่เหมือนไม่มี คือ ต่างแยกไปมีสามี ภรรยาใหม่ บางคนถูกพลัดพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่เล็กด้วยมัจจุราชมาร แทบไม่เห็นหน้าพ่อแม่เลย ทุกชีวิตล้วนมีสุขมีทุกข์ปะปนกัน แต่ทุกครอบครัวจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ให้ลูกให้หลานได้เรียน มีความรู้ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่อยากให้ลูกหลานลำบากเหมือนพ่อแม่ผู้ปกครอง และฝากลูกหลานให้อยู่ในความดูแลของครู ด้วยความไว้วางใจที่สุด และนับถือครู ดุจเทวดาที่จะดูแล เลี้ยงดู ลูกหลานของตนให้ดี
แต่ในขณะเดียวกันลูกหลานบางครอบครัว พ่อแม่ญาติที่น้องเอาใจใส่ดีเยี่ยม ตามใจทุกอย่างแต่ลูกหลานก็ยังเพลิดเพลินเจริญใจ หลงใหล สังคมที่ยั่วยุ จนเสียผู้เสียคน ผู้ที่เสียใจที่สุด คือ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ทั้งทุกข์ใจที่ลูกหลาน เกเร และเศร้าใจที่คนในสังคมนินทาว่าร้าย แล้วใครเล่าจะช่วยลูกหลานท่านเหล่านั้น หวังพึ่งแต่ว่า ครูให้ครูดูแลลูกให้ เสียงขอร้อง เสียงบอกกล่าวที่ฝากให้ลูกหลานให้ครู ดูแลสั่งสอนลูก ๆ กับครู ช่างน่าภูมิใจนัก ครูจะทำหน้าที่ครู เป็นพ่อแม่คนที่สองให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ท่านสุขใจได้หรือไม่ทั้ง หมดที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง จากการไปสัมผัสชุมชน ข้าพเจ้า หันกลับมาคิดและกลับมาดูตนเอง ผู้ปกครองวางใจและมอบความไว้วางใจ
จึงมีปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือการที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือการให้ปัญญาแก่เขาเหล่านั้น นั่นก็คือการเป็นครูนั่นเอง วันนี้รู้สึกภูมิใจมากกับสิ่งที่ได้ทำลงไป ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และทั้งได้สนองงานกิจการคณะสงฆ์.."
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น