353คณาจารย์-นักวิชาการ หนุนชุมนุมแบบสันติในสถานศึกษา พร้อมเรียกร้อง 3 ข้อ ขอทุกฝ่ายรับฟังไม่ตั้งข้อหาดำเนินคดีผู้ชุมนุม
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 ส.ค. 2563 แฟนเฟซบุ๊กเพจ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. ที่นำโดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ในนามกลุ่ม คนส. เรื่องมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม โดยมีรายชื่อ นักวิชาการ และคณาจารย์ จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 353 คน ร่วมสนับสนุน
ทั้งนี้ แถลงการณ์ คนส. มีใจความระบุว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เพียงฝึกคนให้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพ ไม่ได้เป็นโรงงานผลิตแรงงานตามความต้องการของตลาด และไม่ได้เป็นหน่วยงานหล่อหลอมเจ้าหน้าที่ตามการบงการของรัฐ หากแต่เป็นแหล่งบ่มเพาะสมาชิกที่มีคุณภาพให้กับสังคม ซึ่งไม่ได้หมายถึงทักษะในการท่องจำสิ่งที่สืบทอดกันมาในตำรา แต่หมายถึงความสามารถในการคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ เพราะสังคมจะไม่สามารถเผชิญวิกฤติ ความเปลี่ยนแปลง หรือความท้าทายใหม่ๆ ได้ หากสมาชิกปราศจากคุณสมบัติเหล่านี้ จะมีก็แต่ผู้ที่ต้องการแช่แข็งสังคมหรือฝืนการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่ไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่เช่นนี้
สังคมไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ บทบาทของมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะสมาชิกที่มีความสามารถในการคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์จึงยิ่งทวีความสำคัญตามไปด้วย นอกจากนี้ บทบาทดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้กับนิสิตนักศึกษาในสถาบัน หากแต่หมายรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่มอื่นในสังคมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล มีประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมไทยมีความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์เช่นนี้ ไม่มีสถานที่ใดเหมาะสมไปกว่ามหาวิทยาลัยสำหรับการให้สมาชิกในสังคมได้ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบร่วมกันอย่างสันติ
ข้อเรียกร้องของการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการหยุดคุกคามประชาชน การยุบสภา หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการตั้งคำถามและพยายามพาสังคมไทยไปให้พ้นจากวิกฤติทางการเมืองที่สั่งสมมากว่าทศวรรษ เช่นเดียวกับข้อเสนอ 10 ข้อของ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นการตั้งคำถามและพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยอย่างสันติเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการปราศรัยเกินกว่าที่แจ้งไว้ ด่วนตัดสินเอาเองว่าการปราศรัยไม่เหมาะสมขัดศีลธรรม หรือจะไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยต่อไป หากแต่ควรคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้เป็นหลัก
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง พร้อม 353 รายชื่อ จึงเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ในสังคมและรัฐดังนี้
1. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้นิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ไม่หวาดกลัวต่ออำนาจอธรรม ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด รวมทั้งต้องไม่ถือว่าการจัดกิจกรรมทางการเมืองดังกล่าวเป็นความผิด เพราะการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมในการตั้งคำถามและเสนอทางออกให้กับสังคมนอกจากจะเป็นบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ยังเป็นการป้องกันนิสิตนักศึกษาจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากผลักไสให้พวกเขาไปจัดกิจกรรมด้านนอก
2. ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมพึงพิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาอย่างมีสติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง พร้อมกับแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ มิใช่ปฏิเสธที่จะรับฟังด้วยอคติ ใส่ร้ายป้ายสีหรือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับนิสิตนักศึกษาและประชาชน
3. รัฐต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสันติของประชาชนที่ได้รับการรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ต้องไม่ขัดขวางการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสถานศึกษา ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติและแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม และป้องกันไม่ให้มีการประทุษร้ายนิสิตนักศึกษาเพียงเพราะพวกเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันในครรลองระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ยังได้ระบุช่วงท้ายด้วยว่า "ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวคิดสันติวิธี 3 สำนักคือ สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรงนั้นยังมองไม่เห็นทางว่าจะสามารถจะยุติสงครามทั้งแบบมีรูปแบบและไร้ตัวตนในยุคปัจจุบันได้เลย และแม้แต่กระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาษาก็ยังไม่มีรูปแบบทักษะที่เป็นมาตรฐานสากล คงจะมีเพียงสำนักเดียวเท่านั้นที่พอจะเยียวยาได้ นั่นก็คือสำนัสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต
และที่ปรากฏชัดก็เห็นจะมีแต่เพียงสำนักพุทธสันติวิธี ที่เน้นการสร้างสันติภายใน เพราะมีหลักธรรมที่ตรงกับธรรมนูญของยูเนสโกที่ว่า "สงครามและสันติภาพเกิดขึ้นที่ใจของมนุษย์" เป็นสำคัญ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า "นาหํภิกฺขเวโลเกน วิวทามิ" แปลความว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลกแต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ ในโลก"
เพราะหากทุกคนรักสงบมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำ "สิทธิสัญญาสงบศึก" เพราะทำสนธิสัญญาสงบศึกแล้วพากันละเมิด จึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก" และรู้จักเลือกคบกัลยาณมิตร สร้างเครือข่ายพระพุทธศาสนามีพุทธธรรมอยู่หมวดหนึ่ง ชื่อว่า "มงคลสูตร" คือเคล็ดลับการสร้างความสุขความเจริญ สูตรแห่งความสำเร็จข้อแรกของพระพุทธเจ้าคือ "ต้องหลีกเลี่ยงคนพาล สังสรรค์บัณฑิต" แล้วโลกให้คำสัญญากับการสร้างสันติภาพภายในมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตามสามารถสรุปแนวคิดสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังนี้ (1) การจัดการความขัดแย้งโดยวิธีทางการทูตเชิงสันติ สามารถจำแนกสันติวิธีตามแนวนี้ได้ 4 วิธี กล่าวคือ การเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย และการประนีประนอม (2) การจัดการความขัดแย้งโดยวิธีทางกฎหมายเชิงสันติ สามารถจำแนกสันติวิธีตามแนวนี้ได้ 3 วิธี กล่าวคือ อนุญาโตตุลาการ กระบวนการทางศาล และกระบวนการออกกฎหมาย (3) ทางเลือกเชิงสันติอื่น ๆ ตามที่มักจะมีการใช้ในโลกนี้ ประกอบด้วย การหลีกเลี่ยง หรือการถอนตัว การเผชิญหน้า การโน้มน้าว การสนับสนุน การบังคับและการผลักดัน การโอนอ่อนผ่อนตามหรือทำให้ราบรื่น การร่วมมือกัน หรือการแก้ปัญหา และการมีส่วนรวม ทั้งนี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในหลักสูตรสันติศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น