วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563

พท.เพิ่งตื่น! เล็งเสนอนโยบาย "ความมั่นคงทางอาหาร" สู้ภัยโควิด-19




วันที่ 17 เมษายน 2563 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อการแก้ปัญหาไวรัสโควิด - 19 ของรัฐบาลว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคซึ่งมาจากพี่น้องประชาชนยินดีให้ความร่วมมือในการเปิดสภาสมัยวิสามัญ ขอเพียงรัฐบาลใจกว้างร่วมมือกันดำเนินการให้เป็นวาระแห่งชาติเหมือนที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้จริง ๆ อย่าเพียงแต่พูด แต่ข้อเท็จจริง ยังแบ่งเขา แบ่งเรา แล้วบ้านเมืองจะออกจากวิกฤตได้อย่างไร

พรรคเพื่อไทยจะได้เสนอแนะต่อไปในนโยบายเรื่อง "ความมั่นคงทางอาหาร" (Food security) หลักคิดในเรื่องนี้ก็ คือประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตข้าวปลาอาหารป้อนคนไทยและป้อนชาวโลกมาช้านาน  ในวิกฤตไวรัสโควิด - 19 ครั้งนี้ ประเทศไทยควรแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการผลิตอาหารสุขภาพ ป้อนคนไทย และป้อนชาวโลก ซึ่งนโยบาย "ความมั่นคงทางอาหาร" (Food security) เป็นเรื่องสำคัญที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยจะได้นำเสนอในโอกาสอันใกล้ต่อไป

"ธนาธร"แนะ 2 ทางเลือกสู้

เพจคณะก้าวหน้าแรงงาน จัดไลฟ์พูดคุยกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า ในหัวข้อ "มองเศรษฐกิจไทย หลังภัยโควิด -19"
          
โดยตอนหนึ่ง นายธนาธร กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทั้งในทางคุณภาพและปริมาณ ตอนนี้มีปัญหา ตนคิดว่าควรเยียวยาประชาชนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ประเทศก่อน จากนั้นค่อยขยับมาสู่เอสเอ็มอี ชนชั้นกลาง แล้วค่อยไปช่วยเหลือกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ไม่ได้ทำให้ทุนใหญ่ล้มละลายแน่ๆ อย่าง กรณีบริษัทขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายขนาดว่าถ้าไม่ช่วยเหลือแล้วจะล้มละลาย นี่เป็นมายาคติ บริษัทเหล่านี้ แต่ละปีกำไรพันล้าน หมื่นล้าน ดังนั้น ขาดทุน 2-3 เดือนไม่พังแน่ๆ และที่สำคัญ บริษัทปลอดภาษีเหล่านี้ก็ไม่ได้จ้างงานคนมากมาย ความเสียหายจำกัดมาก ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลผิดมากๆ
          
นายธนาธร กล่าวด้วยว่า กรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท วิเคราะห์ผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือโดยเอไอ ไม่มีใครมั่นใจหรือรู้ว่าเอไอนั้นเขียนข้อมูลอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเปิดเผย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือถ้าใช้เอไอแบบนี้แล้วต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ประชาชนถึงจะได้เงินก้อนแรก ตนนี้ถือว่าให้ความสำคัญผิดมากๆ เพราะจากที่มีโอกาสไปพูดคุยกับคนในชุมชนแห่งหนึ่ง สิ่งที่ได้ยินมาคือ พวกเขาไม่มีอันจะกินแล้ว ในชุมชนส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อยู่ในระบบประกันตน แต่ก็ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ในชุมชนนี้แทบทั้งหมดมีอาชีพเกี่ยวเนื่องกันกับการร้อยพวงมาลัยขาย เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจที่เรามองไม่เห็น ซึ่งพอมีการเคอร์ฟิว ได้รับผลกระทบ ระบบงานพังลง คนกลุ่มนี้ไม่มีแม้แต่จะกินข้าว คือ ถ้าปล่อยอย่างนี้ไปอีก 2-3 อาทิตย์ เขาบอกว่าตายแน่ ดังนั้น เขาจึงพร้อมที่จะยอมออกไปค้าขายปกติ แม้จะเสี่ยงกับการติดไวรัส ดีกว่าจะอยู่แล้วอดตายอย่างนี้เพราะไม่ได้รับการเยียวยา พวกเขาลำบากจริงๆ แต่มาตรการช่วยเหลือของรัฐก็ไปไม่ถึง มีแต่มมาตรการบอกให้เขาอยู่บ้าน แล้วไม่บอกเลยว่าจะเยียวยาเขาอย่างไร
          
"เรื่องไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่าแพร่ระบาดไม่เลือกชนชั้น ทุกคนมีสิทธิติดเชื้อได้เหมือนกันหมด แต่ทว่า นี่เป็นเรื่องชนชั้น คือ ส่งผลกับคนแต่ละชนชั้นแตกต่างกันไป คนที่มีรายได้สูง คนที่ที่บ้านมีพื้นที่ การกักบริเวณของพวกเขาไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ในขณะที่คนที่อยู่ในห้องแคบๆ 3-5 ตารางเมตรอยู่กัน 5 คน ลดค่าไฟเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ ไม่ช่วยอะไรเลย เพราะพวกเขายังต้องใช้ไฟเพิ่มขึ้น และที่สำคัญการถูกบังคับให้อยู่บ้านก็ทำให้พวกเขาขายของไม่ได้ ไม่มีรายได้ และถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็คงไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ โดนตัดน้ำตัดไฟ วุ่นวายแน่อน" นายธนาธร กล่าว
          
นายธนาธร กล่าวว่า รัฐบาลมีทางเลือก 2 ทางเกี่ยวกับการช่วยเหลือ คือ ทางเลือกแรก ถ้ายังเป็นมาตรการ เซมิ-ล็อกดาวน์ หรือกึ่งเปิดกึ่งปิดแบบขณะนี้ต่อไป จำเป็นต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยอัดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อช่วยพยุงซึ่งจะใช้น้อยกว่าการปล่อยพังแล้วอัดเข้าไป เพราะการจะดึงความเชื่อมั่นกลับมา ดึงนักลงทุนกลับมา เกิดการจ้างงาน เกิดการบริโภคอีกครั้งยากมาก ดังนั้น ต้องยอมเสียเงินพยุงดีกว่าปล่อยให้พัง เพราะถ้าดูแลตอนนี้ คนจะอดตายก่อนจะตายเพราะติดเชื้อ
          
และสำหรับทางเลือกที่ 2. คือ คลาย-ล็อก-คลาย-ล็อก สลับกันไป ทั้งนี้ ถ้าจำได้ตอนไวรัสเริ่มใหม่ๆ ในคลื่นลูกแรกนั้นทำทุกคนเป๋เพราะไม่ได้เตรียมรับมือ จึงเกิดเซมิ-ล็อกดาวน์ กราฟผู้ป่วยคนตายลดลงแต่คนจะอดตาย ดังนั้น ถ้าคลายแน่นอนว่ากราฟอาจจะกลับขึ้นไป จึงต้องล็อกซึ่งในช่วงล็อกนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมประเทศ ด้านสาธารณสุข เรื่องดูแล คนเข้ามาเมือง การสอบทานคนติดเชื้อ ซึ่งต้องทำ เพื่อให้การคลายครั้งต่อไปจะมีทุกอย่างพร้อมรับมือดูแลได้
          
"สำหรับคำแนะนำผู้ประกอบธุรกิจ มองว่าต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน เงินเดือนพนักงาน ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับการอยู่ได้ ควรคิดไว้ 6 เดือน ซึ่งไม่ว่าเราจะเลือกปฏิบัติการแบบไหน จะเป็นแบบแรกหรือแบบหลัง อาจต้องมองต้นทุน 6 เดือนนี้ ซึ่งในไตรมาสที่ 4 อาจจะกลับมาได้ แต่ทว่า ถ้าเรายังใช้กึ่งเปิดกึ่งปิดแบบนี้ แล้วไม่มีเยียวยา หรือยังเป็นการเยียวยาแบบที่เป็นอยู่ เชื่อว่าตายทั้งประเทศ การช่วยเหลือเยียวยาตอนนี้ ผมเห็นว่าต้องดึงสวัสดิการทุกก้อนร่วมกัน แล้วจ่ายออกไปแบบเดียวกัน ถ้วนหน้า เพราะวันนี้เอไอไม่อาจพิสูจน์ว่าใครควรได้รับ ดูอย่างเหมือนบัตรคนจน คนที่ได้รับก็ไม่ได้มีแต่คนจนอย่างเดียว คือเกิดการแข่งขันกันจน เกิดการพิสูจน์เพื่อลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปลี่ยนจากพลเมืองกลายเป็นผู้สงเคราะห์จากรัฐ ดังนั้น ต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ และต้องคิดทั้งระบบแยกส่วนไม่ได้ สวัสดิการถ้วนหน้านี้อาจไม่จำเป็นต้องถึง 5,000 บาท เพื่อเป็นการลดภาระของรัฐ แต่ต้องกระจายรายหัวให้ได้มากขึ้น" นายธนาธร กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พระภิกษุประมาณ 500 รูป และพุทธศาสนิกชน ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามโครงการจาริกธุดงค์ธรรมยาตราเผยแผ่ธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่

ค่ำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่บริเวณลานหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวชิรมงคล หรือวัดบางโทง ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ พระอาจารย์จร...