วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

"อนุทิน"เอาด้วย! ลั่นไม่สนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ขณะที่พาณิชย์ยืดอกรับคนชง



"อนุทิน"เอาด้วย! ลั่นไม่สนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ขณะที่พาณิชย์ยืดอกรับคนชง ผลศึกษา CPTPP เข้าครม.เคาะไทยเข้าร่วมหวังได้แต้มต่อทางการค้าหนุน  GDP โตห่วงช้าเสียโอกาส

          
วันที่ 27 เม.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ CPTPP เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการนำเสนอข้อมูล และพิจารณากันหลายประเด็นที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ และการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศ
          
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายอนุทิน ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทย ตัดสินใจเป็นสมาชิกของ CPTPP โดยให้มีการระบุให้ชัดว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่สนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิก CPTPP
          
พร้อมระบุว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจะนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีข้อห่วงใยและความกังวล ที่จะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ดูแลรักษาชีวิต และสุขภาพของคนไทย ทั้งเรื่องผลกระทบต่อการผลิตยา ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญ สำหรับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีโดยจะนำข้อห่วงใยและข้อกังวล ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 28 เม.ย. ทราบ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าคณะรัฐมนตรี จะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร
          
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายอนุทิน กล่าวในที่ประชุมด้วยว่าการจะแลกมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวทางการค้า การส่งออก กับ ความมั่นคงของระบบสาธารณสุขไทย เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า การเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP ประเทศไทย จะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ อีกทั้งขณะนี้มีเพียง 11 ประเทศ เท่านั้นที่เป็นสมาชิก และส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นประเทศที่เป็นตลาดส่งออก ที่สำคัญของเรา ประกอบกับ มิติการค้าระหว่างประเทศ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และหลังการระบาดจบลง ยังไม่มีข้อมูลว่าเหตุใดจึงต้องรีบเร่งพิจารณาในช่วงนี้
          
นอกจากนี้ ในที่ประชุม ได้มีการนำข้อเสนอขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชน ได้ยากขึ้น และทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ 3 ด้านได้แก่ 1.ด้านสิทธิบัตรและยา  ด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เกิดการผูกขาดสายพันธุ์พืชเป็น 20-25 ปี และด้านจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ไทยไม่สามารถกำหนดมูลค่าและจะผ่อนผันได้

พาณิชย์ชงผลศึกษา CPTPP เข้าครม.เคาะไทยเข้าร่วมหวังได้แต้มต่อทางการค้าหนุน  GDP โตห่วงช้าเสียโอกาส

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เสนอผลศึกษาและระดมความเห็นในงการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว
          
ทั้งนี้ ผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% (คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท) การลงทุนขยายตัว 5.14% (คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท)
          
แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบ GDP ไทยลดลง 0.25% (คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท) และกระทบการลงทุน 0.49% (คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท) รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน อาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว
          
นางอรมน กล่าวว่า ตั้งแต่ที่ความตกลง CPTPP หาข้อสรุปได้ในปี 58-62 การส่งออกของเวียดนามไปประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.85% และของสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.92% ขณะที่การส่งออกของไทยไป CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23% ส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) ของเวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 62 มีมูลค่า 16,940 และ 63,939 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีมูลค่าเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐ
          
เมื่อพิจารณาการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสมาชิก CPTPP มาโดยตลอด ในปี 62 ไทยได้เปรียบดุลการค้ ที่ 9,605.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และไตรมาสแรกปี 2563 ได้เปรียบดุลการค้า 3,934 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงถือว่า CPTPP เป็นตลาดที่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน
          
ผลการศึกษายังชี้ว่า กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดสมาชิก CPTPP เช่น ญี่ปุ่น (เนื้อไก่แปรรูป เนื้อสุกรแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ข้าว น้ ตาล) แคนาดา (อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ผลไม้ปรุงแต่ง ยางพารา ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องทำความร้อน) เม็กซิโก/เปรู/ชิลี (ข้าว น้ำตาล เนื้อไก่สด ตู้เย็น รถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องซักผ้า ยางรถยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องปรับอากาศ) เป็นต้น
          
สำหรับสาขาบริการและการลงทุน กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สาธารณสุข ก่อสร้าง ท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไทยต้องเตรียมปรับตัว จะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตน้อยกว่าประเทศสมาชิก CPTPP เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าต้นทุนต่ำ แต่ก็จะมีเวลาในการปรับตัวเช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ที่ขอเวลาปรับตัวสูงถึง 21 ปี ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่จะต้องเร่งพัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และอาจนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนการผลิตของไทยมากขึ้น
          
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเร่งให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน เจ้าของกิจการ โดยเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตเพราะไทย เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตโลก ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้า ที่มีก ลังการผลิตเพียงพอเกินความต้องการในประเทศ และสามารถเติบโตจนเป็นผู้ส่งออกที่ติดอันดับท๊อปเทนของโลกในสินค้าต่างๆ และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก เช่น อาหาร รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
          
ภายหลังโควิด-19 รูปแบบการค้า กฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของสินค้าที่สูงขึ้น การให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การให้แต้มต่อทางการค้า และเปิดตลาดให้กับกลุ่มพันธมิตรทางการค้าหรือประเทศที่มีมาตรฐานเดียวกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไทยต้องหาพันธมิตรใหม่ๆ หรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าสมัยใหม่ อาทิ CPTPP เพื่อช่วยให้ไทยได้แต้มต่อทางการค้า และเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน รวมทั้งไม่ตกขบวนรถไฟของกระบวนการหรือห่วงโซ่การผลิตโลก และเป็นฐานการผลิตและการลงทุนในภูมิภาค ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
           
ในส่วนระเด็นที่มีผู้กังวลว่าความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย นางอรมน กล่าวว่า ผลการศึกษาข้อในบทความตกลง CPTPP และข้อผูกพันของประเทศสมาชิก CPTPP พบว่า
          
(1) ความตกลงฯ ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลง CPTPP จึงไม่มีข้อบทนี้ และสมาชิก CPTPP ไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.6 กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา(CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า (public noncommercial use) อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL          
          
นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP
          
(2) เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
          
(3) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี
          
นอกจากนี้ สำหรับข้อกังวลอื่นๆ ที่มีหน่วยงาน ภาคเกษตร ภาคประชาสังคมหยิบยก ไทยก็จะต้องเข้าไปเจรจา ต่อรองเพื่อขอข้อยืดหยุ่น และข้อยกเว้น ที่จะไม่รวมเรื่องที่ไทยมีข้อกังวล หรือไม่พร้อมจะเปิดตลาด หรือไม่พร้อมจะปฏิบัติตามพันธกรณีไว้ในข้อผูกพันของไทย ดังเช่นที่ประเทศสมาชิก CPTPP มีการขอเวลาปรับตัว และขอข้อยกเว้นไว้ ซึ่งในส่วนการทำหนังสือถึง ครม.ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงขอพิจารณาให้ไทยเคาะประตูไปเจรจากับสมาชิก CPTPP ซึ่งเป็นเพียงก๊อกแรก หรือขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น เป็นการขอโอกาสไปคุยกับสมาชิก CPTPP เพื่อเตรียมตัวรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และรูปแบบการค้าที่จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19  
          
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการเตรียมกลไกช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร SMEs และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความตกลงโดยอยู่ระหว่างศึกษาและหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุน FTA ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความต้องการต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ
          
นางอรมน กล่าวว่า หาก ครม.เห็นชอบให้ไทยขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน คือ ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม หลังจากนั้น จะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และในระหว่างการเจรจาจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ

Cr. https://www.banmuang.co.th/news/politic/190005
  

1 ความคิดเห็น:

รัฐบาลขับเคลื่อนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเวลเนส ดัน "นวดไทย-อาหารไทย-สมุนไพรไทย" เป็น Soft Power

วันที่ 20 เมษายน 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐม...