วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

"อุตตม"ยันออกพ.ร.ก.กู้เงินแก้โควิด ไม่ได้อุ้มนายทุนรายใหญ่บางกลุ่ม



"อุตตม"ยันออกพ.ร.ก.กู้เงินพยุงเศรษฐกิจ รักษาเอสเอ็มอี ไม่ได้อุ้มนายทุนรายใหญ่บางกลุ่ม  "สุทิน"อัดมาตรการการช่วยเหลือ SME มุ่งชายรายใหญ่ รายเล็กตายแถมมีข่าวกลุ่มทุนจีนสามารถเข้าถึงได้ด้วยยิ่งถ้าประเทศไทยเข้าสู่การเป็น CPTPP อีกยิ่งตายสนิท

นายอุตตม สาวนายน รมว. คลัง ชี้แจงต่อการอภิปรายของนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ถึงการจัดการเกี่ยวกับภัยโควิด โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการเกิดผลกระทบรุนแรงจนกระทบเศรษฐกิจ จึงได้จัดการด้านสาธารณสุขเป็นอันดับแรกและดำเนินการไปได้ดี ส่วนด้านเศรษฐกิจเรามุ่งเน้นเรื่องการเยียวยาปัญหาขาดสภาพคล่องสำหรับประชาชน ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs โดยมีมาตรการต่างๆออกมา และส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วันนี้รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการ เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการรายเล็กเพื่อให้ก้าวสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะมาถึง ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาเงินเยียวยาให้ประชาชนเท่านั้น แต่มีทั้งเรื่องเยียวยาและฟื้นฟูที่ได้พยายามให้ดำเนินการต่อเนื่องและสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ แต่ก็จำเป็นต้องมีตัวเงินใส่เข้าไปในแผนฟื้นฟู แต่จะไม่ใช่มาตรแต่เรื่องเยียวยา เพราะ ขณะที่ผู้ประกอบพยายามปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่หรือ New Normal ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สภาพคล่องในการปรับตัวเอง โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการกับภาคส่วนต่างๆในการออกมาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงินออกมา เช่นการเสริมทักษะสร้างงาน สร้างบุคลากร โดยเน้นในพื้นที่ในระดับชุมชนเป็นหลักโดยภาคเครือข่ายต่างๆไปพร้อมกัน มีพรก.เงินกู้เพื่อการเยียวยา 4 แสนล้านบาท มาสอดรับกับสิ่งเหล่านี้

"การดำเนินมาตรการเยียวยาเราพยายามให้ตรงเป้าหมายที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องความเร่งด่วนที่จะต้องเข้าไปดูแลอย่างรวดเร็ว ภายใต้ระบบของประเทศที่มีอยู่ และข้อมูลที่มี หลายอย่างเราอยากทำให้เร็วกว่านี้แต่ก็จำเป็นต้องเยียวยาให้ถูกคน และใช้งบประมาณอย่างรัดกุมคุ้มค่าเพราะเป็นเงินของชาติ จึงจำต้องใช้เวลา แต่เมื่อดำเนินการไปก็มีการปรับปรุง และรับฟังคำติชม ทักท้วงและปรับจนสามารถดำเนินการอย่างที่ได้เห็นผลแล้วในวันนี้สำหรับการดูแลกลุ่มต่างๆด้วยกลไกและมาตรการที่มีอยู่" 

ส่วนประเด็นการกู้เงินและการบริหารจัดการภาระหนี้ของประเทศ ขอชี้แจงว่ากระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีแผนการระดับสากลเพราะมีประสบการณ์พอสมควร โดยจะใช้ตราสารการเงินในรูปแบบที่ดี เพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความสมดุลย์ ไม่กระทบส่วนใดของตลาดเงินมากเกินไป เช่นเครื่องมือระยะยาวมีการออกพันธบัตรรัฐบาล และพัมธบัตรออมทรัพย์ที่ออกไป โดยต้องการให้ประชาชนมีโอกาสได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาโควิดครั้งนี้ โดยผ่านการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ และยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงทุนในภาวะนี้ที่ดอกเบี้ยธนาคารต่ำ ประชาชนเข้าถึงกำหนดได้เพราะกำหนดซื้อได้อย่างต่ำ1 พันบาท ไม่เกินคนละ 2 ล้านบาท เพราะต้องการให้กระจายไปถึงประชาชนรายย่อย 

ส่วนการกู้ระยะสั้นก็มีเครื่องมืออื่นเช่น ตั๋วเงินคลัง สัญญาใช้เงินต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการกู้ไปแล้ว 1.7 แสนล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ1.5 เป็นอัตราที่สอดคล้องกับภาวะตลาดเงิน ตลาดทุนในปัจจุบัน หากในอนาคตมีการเปลี่ยนไปก็จะดูแลให้การระดมเงินผ่านการกู้ต่างๆให้สอดรับกับสภาวะของตลาดด้วย ส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 อัตราส่วนอยู่ที่ร้อยละ 40 แต่เราจำต้องกู้เพื่อมาสู้กับโควิดได้ ทำให้อัตราส่วนจำเป็นต้องขึ้นไปสูงขึ้น มิเช่นนั้นจะสู้ภัยไม่ได้ แต่หากไม่มีภัยนี้แล้วตนเชื่อว่าหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับร้อยละ40 กว่าต่อไป


สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่ว่าพ.ร.ก. บีเอสเอฟ ฉบับที่ 3 ให้อำนาจรมว. คลังมากเกินควร ขอเรียนว่าไม่ได้ให้อำนาจเกินควร เพราะในมาตรา 5 แม้จะให้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อให้การดำเนินการตามพ.ร.ก.ความสามารถดำเนินการได้โดยไม่เกิดอุปสรรคและความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่อาจปล่อยให้เนิ่นนานล่าช้าในภาวะเช่นนี้ อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจของรัฐมนตรีนี้ยังต้องอยู่ภายใต้หลักของการสุจริตโปร่งใส และการขัดกันของผลประโยชน์ แม้จะให้ถือว่าคำ”วินิจฉัย”ของรัฐมนตรีถือเป็นที่สุด แต่ก็ในเชิงบริหารเท่านั้น การใช้อำนาจการบริหารยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมของศาลตามหลักการแบ่งแยกอำนาจตามปกติ ไม่ได้ให้อำนาจสูงสุดแต่รัฐมนตรีเทียบเท่าศาล เนื่องจากการวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ตัดสิทธิ์ในกระบวนการทางศาลแต่อย่างใด หากไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยก็สามารถใช้กระบวนการทางศาลตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐมนตรีคลังได้ในทุกเวลา และรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบ

ส่วนมาตรา19 วรรคหนึ่งที่มองว่าการกำหนดให้ธปท.โดยความเห็นชอบของรมว. คลังมีอำนาจซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่ตราสารหนี้ออกใหม่นั้น เป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีที่ขัดต่อมาตรา 77 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ ขอชี้แจงว่ามาตรา 19 วรรคหนึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้ดุลพินิจไว้ 2 เงื่อนไข คือ 1 .ต้องเป็นกรณีที่ตราสารหนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากโควิด19 และ2.มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวม ถือเป็นกรณีที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของธปท.และรมว. คลังไว้แล้ว และยังกำหนดให้มีผู้พิจารณา2 ขั้นตอน เพื่อความรอบคอบโดยผ่านการพิจารณาของธปท.และรมว.คลัง ส่วนเรื่องระยะเวลาการใช้ดุลพินิจ เนื่องจากเป็นกรณีเร่งด่วน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการพิจารณาของธปท.และรมว. คลัง จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้บริการในภาวะเช่นนี้ จึงยืนยันว่าบทบัญญัติมาตรา 19 ของพรก.นี้ไม่ได้ต่อมาตรา 77 วรรค 3แต่อย่างใด

"ผมขอยืนยันว่ากองทุนบีเอสเอฟไม่ได้อุ้มบริษัทใหญ่หรือบริษัทที่ออกตราสารใด แต่มีความจำเป็นจริงที่เราต้องดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ออกหุ้นกู้เท่านั้นไม่ว่าขนาดแค่ไหน แต่สำคัญคือเกี่ยวข้องกับประชาชนที่ถือตราสารหนี้ที่มีจำนวนมากในปัจจุบัน การดำเนินการของกองทุนดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลไกการรักษามูลค่าเงินออม และเงินทุนของประชาชน และเป็นการช่วยเหลือผู้ออกหุ้นกู้โดยคิดดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษหากเทียบกับพรบ.ฉบับที่ 2 หรือซอฟท์โลนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME s ที่ให้ดอกเบี้ยถูกเป็น แต่ฉบับที่3 จะให้ดอกเบี้ยแพงเป็นพิเศษถึงจะได้รับความช่วยเหลือ" นายอุตมมกล่าว

น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พ.ร.ก.ซอล์ฟโลน วงเงิน 5แสนล้าน มีเอสเอ็มอีเข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือ 1.9 ล้านราย หรือเฉลี่ยได้รับการช่วยเหลือรายละ 263,158บาท ต่างกันถึง12,167เท่า บ่งบอกว่ารัฐบาลลำเอียงเข้าข้างทุนใหญ่ชัดเจน ที่สำคัญหน้าตาของทุนใหญ่ที่ 125บริษัทมีมูลค่าตราสารหนี้รวม 8.9แสนล้านบาทพบว่าทุนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นของทุนใหญ่จาก 4 บริษัท ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องอุ้มเศรษฐกิจ กลัวเศรษฐีไม่มีเงินใช้หนี้ ทุนใหญ่เหล่านี้ล้วนใกล้ชิดรัฐบาล อยากให้ทุนใหญ่ประกาศว่า จะไม่ใช้ผลประโยชน์จากกองทุนนี้ เพื่อให้กันวงเงิน 400,000 ล้านบาทของพ.ร.ก.ฉบับนี้ไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปข้อเสนอแนะการอภิปราย ประกอบการลงมติพระราชกำหนด 3 ฉบับ เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 แม้จะเป็นการกู้เงินโดยตรง 1 ล้านล้านบาท และอีก 900,000 ล้านบาท เป็นการสภาพคล่อง แต่ถือเป็นเงินที่ประชาชนต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด จึงเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนควรจะรู้ ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัว CP บอกว่าจำเป็นต้องกู้ 3 ล้านล้านบาท ด้วยซ้ำ แต่หากกู้มาแล้วเจ๊ง ก็ไม่ต้องกู้ หรือกู้แค่ 600,000 ล้านบาท เพื่อการเยียวยา นอกนั้นก็ให้เป็นไปตามงบประมาณปกติ แต่หากรัฐบาลยังสับสน ไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัด สุดท้ายจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับการบินไทย รวมถึงไม่มีความชัดเจนว่าจะกู้จากแหล่งเงินที่ใด หากจะกู้ IMF หรือ World Bank ก็เสี่ยงเกิดการแทรกแซงกำกับประเทศ แต่ก็เป็นไปได้ยากที่จะสามารถกู้ได้ หากระบบตรวจสอบภายในยังเป็นแบบนี้
          
นายสุทิน กล่าวว่า โควิด-19 โจมตีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ไม่ใช่เฉพาะแนวรบด้านสุขภาพเท่านั้น แต่กระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้วย แต่รัฐบาลประมาท หลงตัวเองว่าควบคุมได้ จึงมีความเสี่ยงหากมีการระบาดรอบ 2 พร้อมเทียบหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และยังไม่มีการกู้เงิน พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่หลายประเทศแถบอาเซียนสามารถควบคุมการระบาดได้ดี เพราะภูมิอากาศร้อน ควบคุมการระบาดได้ง่าย แต่ก็ต้องรับมือหากระบาดอีกในหน้าหนาวจะเอาอยู่หรือไม่ พร้อมเตือนถึงหมอและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำงานได้ดีแล้ว แต่อย่าตกไปเป็นเครื่องมือของรัฐบาล
          
นายสุทิน ยังกล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเปรียบประเทศเหมือนคนป่วยโรคเบาหวาน ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นหมอรักษา ให้ยาโดยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเมือง จนได้ผลน้ำตาลลดลง แต่กลับเกิดผลข้างเคียงที่ไตคือระบบเศรษฐกิจพังทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ถูกต้องแล้วที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเยียวยาให้คนรอดตายก่อน แต่ก็เกิดปัญหาเยียวยามาครอบคลุม ไม่ทันเวลา ล้มเหลว การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่สามารถทำให้ดีได้ ขณะเดียวกันไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ส่วนหนี้สาธารณะวันที่นายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่ปี 2564 หนี้สาธารณะจะถึงร้อยละ 57 ของ GDP เป็นการกู้เงินจนเต็มโควตา ไม่เหลือให้รัฐบาลต่อไป ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเอาเงินไปฝากธนาคารไว้ถึง 800,000 ล้านบาทแล้ว
          
นายสุทิน อภิปรายถึงการตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ว่านายกรัฐมนตรียังใช้วิธีคิดแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นการอบรมสัมมนาภาคการเกษตร จึงขอให้นำงบประมาณไปพัฒนาแห่งน้ำ สร้างการตลาดให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้ถูกทิศคิดให้ถูกทาง ถ้าใช้เกษตรอัจฉริยะก็แค่ครอบคลุมไม่กี่กลุ่ม กล้าหรือไม่ ที่จะใช้งบ 7 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะไม่เชื่อว่าการอบรมจะทำให้ภาคการเกษตรแข็งแกร่งจริง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เมื่อประชาชนไม่มีเงิน ก็ไม่มีอารมณ์ไปเที่ยว เกิดเป็นปัญหา สุดท้ายงบประมาณส่วนนี้ก็จะล้มเหลวอีก ขณะที่งบฟื้นฟูด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ก็เชื่อว่าจะทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการแพทย์ได้
          
นายสุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการการช่วยเหลือ SME เป็นการช่วยเหลือรายใหญ่เยอะ รายเล็กตกไปเยอะ และมีข่าวว่ากลุ่มทุนจีนสามารถเข้าถึงได้ด้วย ยิ่งถ้าประเทศไทยเข้าสู่การเป็น CPTPP อีก ยิ่งตายสนิท เพราะจะไม่เหลือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจไว้เลย ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่มีสิทธิ์เอามาปลูกใหม่ รัฐวิสาหกิจในประเทศเปิดช่องให้ต่างชาติมาถือหุ้นได้ โดยกลุ่ม SME แห่มาหาตนเองที่พรรคเพื่อไทย มาปรับทุกข์ขอให้ออกกฎหมายตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะองค์กรไม่แข็งแรงไม่มีอำนาจต่อรอง รวมตัวกันไม่ติด จึงมีการเสนอต่อสภาแล้ว เป็นเรื่องที่รออยู่ในวาระ
          
นายสุทิน กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้จากภาคเอกชน การใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย สุดท้ายก็มาเป็นภาระหนี้ของประเทศ ซึ่งในประวัติศาสตร์ แบงค์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เคยสร้างเคยมีการตั้งกองทุนไปซื้อหนี้เสียจากบริษัทเอกชนโดย รปส. จนต้องขายหนี้เสียราคาต่ำในที่สุดประเทศ เป็นหนี้ 8 แสนล้านบาทจนวันนี้ แล้ววันนี้จะไปซื้อหุ้นกู้เอกชน ถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งมีเหตุผลว่าตลาดทุนพวกนี้มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท แต่มองว่าหลายบริษัทใหญ่ๆ สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่จน มีสินทรัพย์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รายงานสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่ามีทุนใหญ่ของไทยระดมเงินฝากร่วม 800,000 ล้านบาท แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กล่าวว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ทันเขา และกำลังจะสร้างตำนานล้มบนฟูกอีกรอบ แกล้งจน แกล้งไม่มีใช้ แกล้งล้มละลาย แล้วให้คนอื่นไปใช้หนี้แทน แล้วตัวเองก็หอบทรัพย์ออกไป จึงมองว่าแบงค์ชาติต้องสร้างความเชื่อมั่น ไม่จำเป็นอย่าลงไปทำเอง
          
นายสุทิน กล่าวว่า การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อยู่ที่เป้าหมายของรัฐบาล หากอยากให้วงล้อทางเศรษฐกิจหมุน ก็สามารถทำได้โดยการลงเม็ดเงินในระบบ แต่ถ้าวงล้อเศรษฐกิจไม่หมุน ทุกอย่างจะตีกลับ กลายเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นทันที หนี้สาธารณะอาจสูงถึงร้อยละ 70 ของ GDP พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจัยโลกเปลี่ยนไป เป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ตราบใดที่ยังไม่ปฏิรูปประเทศ ก็ยังมีเรื่องให้ต้องบ่นกันอยู่ การปฏิรูปที่สำคัญคือระบบราชการและจะลองรับ New Normal ได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ สุดท้ายจะเป็นการใช้ชาวบ้านคนจนเป็นที่ผ่านเงินเท่านั้น จึงมองว่ารัฐบาลต้องการแค่รอบหมุนทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นอะไรที่ใจร้ายมาก เพราะเงินกู้นี้สุดท้ายจะไม่ฟูและเป็นหนี้ เชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะหนีก่อนที่จะเศรษฐกิจจะล้มต่อหน้า และให้คนอื่นมาอุ้มศพต่อ ประเทศต้องรับกรรมรับผิดชอบ ชาวบ้าน 70 ล้านกว่าคนต้องมาใช้หนี้ มาตรการทุกอย่างจะรีดเงินถึงชาวบ้านหมด
          
สำหรับการตรวจสอบ นายสุทิน กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้มีปัญหา โดยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการปฏิบัติจัดซื้อจัดจ้าง ไปแก้ระเบียบปกติ ว่าไม่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างระบบ E-Bidding ไปตลอดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเหมือนการเปิดทางให้มีการทุจริต จึงควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาตรวจสอบ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเงียบ มีเพียงเงื่อนไขให้รายงานต่อสภาฯ ปีละครั้งเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตปัญหาการใช้กองทุนประกันสังคม ที่ประชาชนฝากไว้ แต่ยังไม่สามรถนำเงินออกมาใช้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บิ๊กเนมเพียบทั้ง "อดีต รมต. - สว." สนใจสมัครหลักสูตรดับทุกข์ผู้บริหาร

มูลนิธิสุญญตาวิหารเผยหลักสูตรการดับทุกข์สำหรับผู้บริหารระดับสูงรุ่นแรก มีผู้สนใจในช่วงสองอย่างล้นหลาม รองประธานมูลนิธิฯเผยมีทั้งอดีตรัฐมนตรี...