วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

"พระมหาไพรวัลย์"แนะพศ.เอาเวลาเยียวยาพระจากภัยโควิด ดีกว่าสอบสวนพระวิจารณ์การเมือง



เมื่อวันที่  18 มกราคม 2564  จากกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีหนังสือส่งถึงพระธรรมสุธี ผู้รักษาการเจ้าคณะกรุงเทพฯ หลังจากพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความเห็นการเมืองทางรายการทีวี สนับสนุนการชุมนุมของพระเณรปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะเขตบางซื่อ เจ้าคณะแขวง และรักษาการเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง เพื่อดำเนินการถวายคำแนะนำ ตักเตือนพระมหาไพรวัลย์          

โดยพระมหาไพรวัลย์ ได้ออกมาตอบว่าสำนักพุทธฯ ทำงาน 2 มาตรฐาน เนื่องจากเคยมีพระรูปหนึ่งออกทีวีพูดสนับสนุนเรื่องค่านิยม 12 ประการ สามารถทำได้ และไม่มีใครส่งจดหมายไปเตือนว่า ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ที่พระมหาไพรวัลย์พูดเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของพระเณรโดยตรง กลับมีจดหมายมาหาและบอกว่า ทำไม่ได้ ทำให้นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)ในฐานะโฆษกพศ. กล่าวว่า 

ตามที่พศ.ได้มีหนังสือส่งถึงพระธรรมสุธี ผู้รักษาการเจ้าคณะกรุงเทพฯ เรื่อง กรณีพระภิกษุให้สัมภาษณ์หรือแสดงความเห็นที่อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยพบว่า มีสื่อออนไลน์ได้อัพโหลดคลิปวิดีโอ รายการถามตรงๆ ของช่องไทยรัฐทีวี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2563 โดยมีการเชิญพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ วัดสร้อยทอง และนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร่วมพูดคุยกรณี ห้ามพระ - เณร เอี่ยวการเมือง โดยพบว่า การพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นของพระมหาไพรวัลย์ อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับการเมือง เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์กรุงเทพฯ จึงขอถวายเรื่องแด่ผู้รักษาการเจ้าคณะกรุงเทพฯ เพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการในทางปกครองคณะสงฆ์ และขอความเมตตาแจ้งผลให้พศ.ทราบด้วยนั้น ขณะนี้ทางผู้รักษาการเจ้าคณะกรุงเทพฯ ยังไม่ได้แจ้งผลการดำเนินงานมายังพศ.แต่อย่างใด          

นายสิปป์บวร กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามจากการที่พระมหาไพรวัลย์ โพสต์ข้อความตอนหนึ่งถึงกรณีดังกล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพศ.นั้น ทางพศ.ได้พิจารณาแล้ว หากไม่ชี้แจง ทำความเข้าใจที่ถูกต้องในอำนาจหน้าที่ของพศ. เกรงว่าคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน จะสับสนและเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในประเด็นที่เผยแพร่ออกไป จึงขอชี้แจงดังนี้ พศ.เป็นหน่วยงานราชการมีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐ และพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2535 ขณะเดียวกันมหาเถรสมาคม(มส.) ได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อพศ.มีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ หากมีประเด็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับกิจการคณะสงฆ์ที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎ คำสั่ง ระเบียบ ประกาศ มหาเถรสมาคม พศ.ต้องประสานงานในการดำเนินการเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าวร่วมกับเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในแต่ละระดับ ตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ที่กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อปกป้องมิให้เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นการที่พระมหาไพรวัลย์ โพสต์ว่า พศ.เป็นบิดา หรือเจ้านายคณะสงฆ์ ออกคำสั่งให้คณะสงฆ์ทำนั่นทำนี่นั้น ตนยืนยันว่าพศ.ไม่มีการออกคำสั่งใดๆ เป็นเพียงการประสานงานกับเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามระบบราชการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในการสนองงาน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยของคณะสงฆ์ตามคำสั่งมหาเถรสมาคมเท่านั้น          

ทำให้พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งโดยระบุว่า “คนอย่างนายสิปป์บวรไม่เข้าใจเลยว่า การที่คุณออกจดหมายในนามของผู้ตรวจราชการ การสั่งให้เจ้าคณะ กทม. สอบสวนอาตมา (ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก) เพียงเพราะอาตมาแสดงความเห็นในพื้นที่สื่อสาธารณะ มันก็คือการใช้อำนาจ คือการคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของคนอื่น          

คุณอ้างเรื่องการพูดเรื่องการเมือง ทั้งที่ประเด็นเรื่องที่มาของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่มาของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่องการให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับพระให้ลาสิกขา การไม่อนุญาตให้พระที่พ้นมลทินในทางคดีความกลับมาครองจีวรใหม่ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องในทางการเมืองทั้งสิ้น          

สำนักงานพุทธไม่ได้งอกขึ้นมาจากพระไตรปิฎก แต่สำนักงานพุทธโผล่ขึ้นมา เพราะพระเณรออกไปเรียกร้องทางการเมือง พวกคุณอ้างว่า พวกคุณมีหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ แต่พวกคุณไม่เคยเป็นปากเป็นเสียงให้กับคณะสงฆ์ที่ถูกรังแกเลย ไม่เคยทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของพระเณรอย่างที่ควรจะทำ          

แต่ไหนแต่ไรพวกคุณทำเป็นอยู่เรื่องเดียว คือประจบประแจงพระผู้ใหญ่ และคนมีอำนาจ มิหนำซ้ำที่หนักไปกว่านั้น คือตอนนี้พวกคุณกำลังเปลี่ยนองค์กรที่มีหน้าที่รับใช้การพระศาสนา รับใช้พระสงฆ์องค์เณร ไปเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับใช้คนในทางการเมืองอย่างเต็มที่ แล้วไหนล่ะคำขวัญของสำนักงานพระพุทธศาสนาที่เขียนว่า "พร้อมเคียงข้างในหลักธรรม" เปลี่ยนใหม่เถอะนะ เปลี่ยนเป็นว่า "พร้อมเคียงข้างคนมีอำนาจ" แบบนี้น่าจะถูกต้องกว่า          

อาตมาขอถามคุณอีกครั้งว่า สำนักงานพุทธเป็นเจ้าทุกข์ต่อเรื่องการให้สัมภาษณ์โดยสุจริตของอาตมาอย่างไร สำนักงานพุทธถึงได้เดือดร้อนหนักหนาที่จะต้องออกหนังสือให้มีการสอบสวนเช่นนี้ แล้วไม่เพียงแค่ให้สอบสวนเท่านั้นนะ แต่ยังให้รายงานผลกลับไปอีก แล้วแบบนี้ จะมาบอกว่าตนเองไม่ใช่เจ้านายคณะสงฆ์ได้อย่างไร งานที่ควรทำ พวกคุณไม่ทำเลย ปัจจัยเยียวยาพระเณรและวัดเล็กๆน้อยๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งบอกว่าจะจัดการถวายให้ไปถึงไหนแล้ว หน้ากากอนามัยที่ประทานมาจากสมเด็จพระสังฆบิดรแจกจ่ายอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง ความยุติธรรมที่อดีตพระผู้ใหญ่หลายรูปไม่ได้รับ พวกคุณเคยคิดจะทวงคืนให้ท่านบ้างหรือเปล่า ?          

ที่อ้างว่าทำตามหน้าที่ก็ขอให้ทำตามหน้าที่ให้จริงเถอะนะ และขอให้ทำโดยธรรมด้วย ไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ หรือทำเพราะถูกสั่งให้ทำ ขอให้ทำโดยเห็นแก่ความถูกต้องเถอะนะ ไม่ใช่ว่าทำเพราะความถูกใจหรือความพอใจของเจ้านาย อย่าทำตนเหมือนแมวหงอยเวลาอยู่กับคนมีอำนาจ แต่ส่งเสียงคำรามเอ็ดอึงเหลือเกินเวลาที่จะจัดการกับพระเณรผู้น้อย สำนึกบุญคุณกันเสียบ้างเถิด ถ้าไม่มีพระเณรผู้น้อยที่ไปร้องแรกแหกกระเชออย่างเสียสมณสารูปอยู่หน้ารัฐสภา ถ้าไม่มีพระเณรที่กล้าเจรจาเรื่องการเมือง พวกคุณไม่มีเก้าอี้ ไม่ภาษี (ที่น่าเสียดาย) ของชาวบ้านกินเป็นเงินเดือนอย่างทุกวันนี้หรอก”..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...