ที้งนี้กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดปัญหาหมอกและควันไฟ” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – เดือนกันยายน 2564 เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่จะเกิดขึ้น โดยการส่งเสริมการไถกลบเศษวัสดุแก่เกษตรกร ถ่ายทอดองค์ความรู้การไม่เผาในพื้นที่ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนลดการเผาเศษใบไม้ เศษหญ้า วัชพืช ไม่จุดไฟเผาป่า สร้างแรงจูงใจในการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานให้เกษตรกรไว้ใช้เอง โดยการนำเศษวัสดุ จากพื้นที่การเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น มาผลิตปุ๋ยหมักซึ่งจะลดปัญหาการเผาเศษวัสดุ ได้ทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหล่านั้นในรูปของปุ๋ยอินทรีย์และช่วยเพิ่มศักยภาพสมบัติปรับปรุงอินทรียวัตถุให้แก่ดินด้วย โดยในปีงบประมาณ 2564 กรมพัฒนาที่ดินดำเนินการ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือกิจกรรมการไถกลบพื้นที่ประมาณ 60,000 ไร่ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ3,500 ตัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง และตาก ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องและตำบลต้นแบบที่จะแสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการในการไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดและแก้ปัญหาหมอกควัน และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน รักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทาง
สำหรับการดำเนินงานโครงการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟ จะแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ให้ความร่วมมือในการใช้วิธีไถกลบตอซังแทนการเผาทำลายทิ้ง นำเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ถ้าไม่เผาเลยจะช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างดี ไม่เป็นการทำลายโครงสร้างและลดความหลากหลายทางชีวภาพของดิน ซึ่งการไถกลบตอซังข้าว ข้าวโพด ซังอ้อย และตอซังพืชต่างๆ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะเป็นการเพิ่มธาตุอาหารลงดิน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) คิดเป็น มูลค่าประมาณ 900 บาท/ไร่ จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้
กรมพัฒนาที่ดิน ขอความร่วมมือจากประชาชนให้เลิกพฤติกรรมการเผาเศษไม้ ใบไม้ เศษหญ้า วัชพืชในพื้นที่โล่งเตียน และไม่จุดไฟเผาป่า พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง สูตรพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรนำใช้ในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย พื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารจัดการเศษวัสดุตามหลักวิชาการในพื้นที่ของตนเอง และให้ปรับเปลี่ยนความคิดตลอดจนวิธีการทำเกษตรกรรมจากเดิมที่เป็นการเผาทำลายทิ้ง ให้เป็นการใช้วิธีไถกลบแทน โดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการทำเองใช้เองเพื่อช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพที่ดี ที่สำคัญยังช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่อความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น