วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

"ส.ป.ก."หนุนปลูกป่าด้วยไม้เศรษฐกิจหลังปลดล็อค



ส.ป.ก. ส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจหลังปลดล็อคไม้หวงห้ามในเขตปฏิรูปที่ดินขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) เพิ่มรายได้เกษตรกร 

วันที่ 6 มกราคม 2564 นายวิวิรรธน์ สงประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพท.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้เกษตรกรและเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส.ป.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจโดยเฉพาะไม้หวงห้ามและสิทธิประโยชน์ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร

อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า คือ ข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 6 มีสาระสำคัญกำหนดไม้หวงห้ามไว้ 2 ประเภท ดังนี้ 1) ประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ได้แก่ ไม้ซึ่งการทำไม้จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับสัมปทานตามความในพระราชบัญญัติ ประกอบด้วยไม้จำนวน 158 ชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ไม้กระพี้เขาควาย และไม้ชิงชัน เป็นต้น และ 2) ประเภท ข. ไม้หวงห้ามพิเศษ ได้แก่ไม้หายากหรือไม้ที่ควรสงวนซึ่งไม่อนุญาติให้ทำไม้ เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตในกรณีพิเศษ ประกอบด้วยไม้จำนวน 13 ชนิด เช่น กระเบา มะแข่น จันทน์หอม ตีนเป็ดแดง และกำยาน เป็นต้น

โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ในมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับบที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 7 ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม”

กล่าวคือเป็นการปลดล็อคไม้หวงห้ามในที่ดิน 2 ประเภท คือ 1) หนังสือกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” และ 2) หนังสือแสดงสิทธิครอบครองในที่ดิน ได้แก่ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ใบจอง (น.ส.2 และ น.ส.2 ก.) แบบหมายเลข 3 (ที่ออกหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ) หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข.)

ต่อมามีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาต ให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิเพื่อให้ไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่เป็นไม้หวงห้าม พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญตาม ข้อ 2 ให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประเภทหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามแบบ ส.ป.ก.4-01 ส.ป.ก.4-01 ก ส.ป.ก.4-01 ข ส.ป.ก.4-01 ค และ ส.ป.ก.4-01 ช เป็นที่ดินซึ่งไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้าม

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวส่งผลหลายประการ ได้แก่ 1) การตัดหรือโค่นไม้ ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 2) การแปรรูปไม้ที่ตัดหรือโค่น ในที่ดินดังกล่าวไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ เว้นแต่ กรณีใช้เลื่อยวงเดือน ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ 3) การมีไม้แปรรูปหรือไม้ท่อนไว้ในครอบครอง ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ 4) การเคลื่อนย้ายไม้ สำหรับที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถนำไม้เคลื่อนที่ได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ต้องแจ้งผ่านด่านป่าไม้ เว้นแต่ที่ดิน ส.ป.ก. ผ่านด่านป่าไม้ต้องเสียค่าธรรมเนียมและขอออกใบเบิกทาง และ 5) การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ยังคงต้องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งการปลดล็อคไม้หวงห้ามยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาปลูกไม้เพิ่มมากขึ้น เป็นการสร้างรายได้และเป็นมรดกให้กับครอบครัวในอนาคต อีกทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกและลักลอบตัดไม้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลง: กลิ่นธรรม

 ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1)   ยามเช้าแสงทองจับขอบฟ้า ไอหมอกบางพัดพาเบา ๆ หอมกลิ่นบุปผา…อาบใจ...