วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

"ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" ผู้รู้ทันทักษิณ รู้ทันทรัมป์


วันที่ 12 มกราคม 2564  ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ผู้เขียนหนังสือ"รู้ทันทักษิณ" ได้นำเสนอบทความเรื่อง"รู้ทันทักษิณ รู้ทันทรัมป์" ความว่า 

พฤติกรรมของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัล ทรัมป์ ที่ปลุกระดมมวลชนสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นที่รัฐสภา  หลังความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและต้องการมีอิทธิพลเหนือวุฒิสภาไม่ได้ผล จึงอดไม่ได้ที่จะคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สมัยระบอบทักษิณเรืองอำนาจ

1. ทักษิณ ชินวัตร เจ้าของธุรกิจผูกขาดขนาดใหญ่ ประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ขณะที่ผู้คนถวิลหานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาบริหารประเทศ เพราะมุ่งหวังว่าจะได้ช่วยนำพาเศรษฐกิจ

    

โดนัล ทรัมป์ เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาหลังวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ที่คนอเมริกันแสวงหาผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมานำพาประเทศ

2. ทั้งทักษิณและทรัมป์ ยึดนโยบายประชานิยม ชาตินิยม ผลประโยชน์ที่ให้เฉพาะกลุ่มคนที่เลือกเขาเป็นหลัก เยียดคนกลุ่มน้อยและใช้ความรุนแรง 

3. ทั้งสองคนพูดจาโผงผางไม่เกรงกลัวอะไร ใช้ระบบพรรคพวก เอื้อประโยชน์คนรอบข้าง  คนในครอบครัวทั้งภรรยา น้องสาว  ลูกสาว ลูกเขย มีส่วนในการเข้าแทรกแซงการบริหาร

4. ทักษิณพยายามแทรกแซงวุฒิสภา แจกจ่ายผลประโยชน์ให้ ส.ว. พยายามเปลี่ยนประธานวุฒิสภาและประธานกรรมาธิการให้เป็นคนของตน  

ไม่ต่างอะไรกับทรัมป์ที่แทรกแซงวุฒิสภา พยายามกดดันผ่านรองประธานาธิบดีที่ ทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา 

5. ทักษิณแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ครอบงำองค์กรอิสระ ถึงกับเคยกล่าวว่า  “กกต. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นคนของเรา” 

    ทรัมป์พยายามแทรกแซงกระบวนการสอบสวนที่ตรวจสอบพฤติกรรมของตน และสุดท้ายพยายามส่งคนของตนไปเป็นศาลสูงสหรัฐอเมริกา ก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญ

6. ทั้งทักษิณและทรัมป์แทรกแซงและครอบงำสื่อมวลชน จนกระทั่งสื่อมวลชนแตกแยกเป็นฝักฝ่าย แยกเป็นสองค่าย กลายเป็นสื่อเลือกข้าง (แดงกับฟ้า) 

7. ทักษิณและทรัมป์ถูกกล่าวหาว่าหลบเลี่ยง ไม่จ่ายภาษีเป็นจำนวนมากมหาศาล และทั้งคู่ก็แอบอ้าง บิดเบือนประเด็นไปว่า ตนจ่ายภาษีมากกว่าใครๆในประเทศเสียอีก

8. ทรัมป์และทักษิณเป็นนักธุรกิจระดับเศรษฐีที่นิยม ครอบครองบ้านหลายหลังอยู่ในหลายประเทศ และอวดร่ำอวดรวยไม่ต่างกัน 

9. จิตแพทย์หญิงชาวสหรัฐอเมริกาเคยอัดคลิปแสดงความเป็นห่วงว่าทรัมป์ว่าน่าจะมีปัญหาทางจิต หากปล่อยให้เป็นผู้นำประเทศบ้านเมืองจะเสียหาย

เช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งทักษิณดำรงตำแหน่งนายกฯของไทย จิตแพทย์ได้เขียนในหนังสือ “รู้ทันทักษิณ”แสดงความเป็นห่วงในพฤติกรรมว่า ผู้นำสมัยนั้นอาจเป็นคนสองบุคคลิก และเป็นคนบ้าใหญ่บ้าโต (Megalomania)

10. เมื่อจะสูญเสียอำนาจ ทักษิณปลุกระดมคนเสื้อแดง ผ่านวีดีโอคอล “ผมแพ้ไมได้”  “ให้ออกมากันให้มากๆ หากมีการใช้กำลัง ให้ปฏิบัติการได้ทันที”  

 เช่นเดียวกับทรัมป์เมื่อจะสูญเสียอำนาจก็ปลุกระดมมวลชนมาบุกรัฐสภา โดยใช้วีดิโอคอลเช่นเดียวกับทักษิณ และบอกให้มวลชนต้องแข็งกล้า ไม่ยอมแพ้ต่อ

11. การปลุกระดมของทักษิณและทรัมป์ นำมาซึ่งความรุนแรง มีการเผา มีการทำลายทรัพย์สิน มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะของทั้งสองฝ่ายในทั้งสองประเทศ

12. แม้ทักษิณ และทรัมป์จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งแล้ว สังคมของทั้งสองประเทศก็เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่ายและมีทีท่าว่าจะลุกลาม ส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต 

ข้อสังเกตส่งท้าย : ระบอบทักษิณเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำมาซึ่งรัฐประหาร  สร้างเงื่อนไขให้กองทัพอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจ ต่างกับสหรัฐอเมริกาที่ทหารเคร่งครัดในหน้าที่และอาชีพของตน ไม่ฉวยโอกาสเข้ามายึดอำนาจด้วยปืน 

ขณะเดียวกันวุฒิสภาและรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาได้พยายามใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการทางรัฐสภา เพื่อแก้ปัญหาด้วยมาตรการในระบอบประชาธิปไตย 

ระบอบการปกครองที่ดี ก็ยังต้องประกอบด้วยคนดีที่มีจิตสำนึกมาบริหารประเทศ   จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจ  และสร้างสังคมให้คนดีได้ทำหน้าที่และกีดกันคนไม่ดีไม่ให้มีโอกาสทำร้ายสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...