ขุดแล้ว!"โคกหนองนา-ธ.น้ำใต้"ปรางค์กู่ อำเภอที่เคยแห้งแล้งที่สุด ผอ.สันติศึกษา"มจร"เล็งกระตุ้นเยาวชนสนใจเกษตรทางรอด
วันที่ 28 มกราคม 2564 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า ทำอย่างไร? โรงเรียนจึงจะหันมาสนใจโคกหนองนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนฐานราก
คำถามนี้ ได้ฝากถึงผู้อำนวยการโรงเรียนสองแห่ง คือ นายชินพงศ์ พิมจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบึงกะโพธิ์ และนางสาวินี พิมพ์จันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพอก ที่สละเวลาอันมีค่าเดินทางมาแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเกษตรผสมผสานตามแนวทางโคกหนองนาและธนาคารน้ำ เพื่อนำเยาวชนให้หันกลับมาสนใจเกษตรทางรอด อันจะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ครอบครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืน
ส่วนตัวของท่านผู้อำนวยการทั้งสองนั้น สนใจโครงการโคกหนองนามาเป็นทุนเดิม เพียงแต่ที่ผ่านมานั้นได้ทำแบบไม่เติมยศ ด้วยหมายมุ่งจะพัฒนาโครงการนี้แบบเต็มยศจึงมาศึกษาจากสถานที่จริง เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของท่านเองต่อไป เมื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้จึงมีพลังและเกิดแรงบันดานใจที่จะกลับไปพัฒนาโครงการโคกหนองนา
ความจริงแล้ว เมื่อผู้อำนวยการเห็นความสำคัญของเกษตรผสมผสานตามแบบโคกหนองนา จึงเป็นมงคลต่อครูและนักเรียนจำนวนมาก ที่จะได้รับการขยายผลไปสู่การบูรณาการกระบวนการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ เพื่อที่จะทำให้นักเรียนได้ตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของเกษตรผสมผสานแทนที่จะเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ยิ่งกว่านั้น เด็กๆ จะได้เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาผ่านน้ำ ดิน พืชป่า และอาหาร เป็นต้น ว่ามีคุณค่าและความสำคัญต่อชีวิตอย่างไร อีสานไม่ได้แห้งแล้งเพราะธรรมชาติซ้ำเติมมาแต่เดิม หากแต่กลุ่มคนจำนวนมากตัดไม้ทำลายป่า ดิน และผืนน้ำ หลายคนตัดไม้ออกจากผืนนาเพราะกลัวต้นไม้จะทำลายการเติบของต้นข้าว ผลตามมาคือแดดที่เผาดิน จนขาดความชุ่มชื่น จนกลายเป็นความแห่งแล้งที่แผดเผาตัวเองในที่สุด
อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้เคยชื่อว่าเป็นอำเภอที่แห้งแล้งที่สุด ก็มาจากหนึ่งในตัวแปรเหล่านั้น หากนักเรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาหันมาสนใจศึกษาตัวแปรดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและครูคอยกระตุ้น เชื่อว่าในที่สุดจะเกิดผลจากบวกต่อการพัฒนา แล้วเมื่อนั้น ดิน น้ำ ป่า และอาหาร จะมีความอุดมสมบูรณ์ในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น