วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

กมธ.ศาสนาฯเป็นปลื้ม! ผลักดันที่ดินพุทธมณฑลเชียงรายสำเร็จหลังยื้อ 50 ปี




เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐ เพื่อให้ทบวงการเมืองใช้ประโยชน์นั้น เนื่องจากมีการผลักดันจากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย นำโดยเจ้าคณะจังหวัดเชียงรายหลายสมัย จนล่าสุดพระรัตนมุนี (ปุณณมี วิสารโท) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ใน 2 ประเด็น 

โดยประเด็นแรกเรื่องการเช่าที่ดินของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  ในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่าจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ข้อสรุปว่าจะจัดสรรงบประมาณของ "มจร" ในการเช่าที่ดินจากสำนักงานราชพัสดุ และประเด็นที่สอง ถือว่าเป็นประเด็นที่ยากคือ เรื่องการดำเนินการยกที่ดินพุทธมณฑลจังหวัดเชียงรายที่เป็น ที่ดิน นสล. ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาดำเนินการให้เป็นพุทธมณฑลจังหวัด


 

โดยคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้มอบให้อนุกรรธิการพิจารณาศึกษาพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ นำไปพิจารณา โดยได้ข้อสรุปว่าจะต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีการนำเสนอเอกสารอย่างถูกต้องตามลำดับ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ แห่งกฎหมายที่ดิน โดยหลังจากพระรัตนมุนี ได้เข้ามาชี้แจงในชั้นกรรมาธิการ ในวันที่ 23 กันยายน 2563 หลังจากนั้นมีประกาศในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ใช้เวลาโดยรวมประมาณ 45 วัน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ดร.เพชรวรรต กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ได้ดำเนินงานปิดทองหลังพระในหลายๆ ชิ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการหารือโดยผ่านการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้มีทางออกสำหรับทุกฝ่าย ที่มีข้อพิพาทหาทางออกไม่ได้ ในปัจจุบันคนไทยเราจะใช้การฟ้องร้องเพื่อเป็นการชี้ทางออก ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยในอดีต ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ใช้การพูดคุยกันเพื่อได้หนทางออกที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่อำนาจกลางที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเป็นผู้เชื่อมประสานภายหลังได้หายไป 

ดร.เพชรวรรต กล่าวด้วยว่า  ตนจึงอยากจะให้กรรมาธิการทุกกรรมาธิการ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เป็นอำนาจนิติบัญญัติ ถือเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ได้มามีส่วนร่วมที่จะทำให้ประเทศไทยมีทางออกอย่างสมานฉันท์ร่วมกัน ตัวอย่างสำหรับพุทธมณฑลเชียงรายนี้ ที่ค้างคา มากว่า 50 ปี เพราะเราไม่หันหน้าเข้ามาคุยกันและร่วมกันหาทางออก ในครั้งนี้ได้ใช้กรรมาธิการเป็นผู้ประสานให้ จึงมีทางออกที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย ทั้งนี้ผลงานของพุทธมณฑลเชียงราย ถือเป็น 1 ใน 100 ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในการตั้งใจทำงานของกรรมาธิการการศาสนาฯ ตนขอฟันธงว่าทุกเคสหากผ่านกรรมาธิการศาสนา สำเร็จแน่นอน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...